Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรณีที่แผนกคดีเลือกตั้งศาลฎีกาได้ออกหมายเรียก สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ให้ไปพบที่ศาลฎีกา ในวันที่ 9 ก.ย. 2562 เวลา 10.30 น. เนื่องจากถูกกล่าวว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จากการเขียบบทความวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลที่พิพากษาตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทซึ่งปรากฎในหนังสือบริคณห์สนธิระบุวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อฯ โดยที่ความจริงไม่ได้ประกอบกิจการสื่อฯ เพียงแต่กิจการสื่อเป็นเพียงหนึ่งในวัตถุประสงค์ในการขึ้นทะเบียนบริษัทเท่านั้น และตามข้อเท็จจริงผู้สมัครคนดังกล่าวประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยสฤณี กล่าวถึงกรณีนี้ว่าเป็นการกระทำที่มักง่าย และใช้กฎหมายอย่างตะพึดตะพือ

ประกอบกับกรณีที่ รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้รับหนังสือจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญโดยขอเชิญให้ไปพบเลขาธิการสํานักงานศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 30 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่ทําการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ kovitw@kovitw1 ซึ่งปรากฏรูปถ่ายของ รศ.โกวิท เป็นรูปโปรไฟล์ของทวิตเตอร์ดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ ศาลรัฐธรรมนูญด้วยถ้อยคําที่ไม่เหมาะสมว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้อง 32 ส.ส. ปมหุ้นสื่อแต่ไม่ต้องหยุด ปฏิบัติหน้าที่น่าจะเกินคําว่า “ด้าน” เสียแล้ว” เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงขอเชิญมาพบ

ประชาไทจึงถือโอกาสรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดี และกระบวนการพิจารณาคดีทั้ง 3 คือ คดีตัดสิทธิผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ถือหุ้นสื่อ คดี 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือหุ้นสื่อ และคดีธนาธรถือหุ้นวีลัคมีเดีย โดยมีลายละเอียดดังนี้

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่

คดีนี้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียง 5 วัน โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร เป็นผู้ร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยขอให้พิจารณาตัดสิทธิ ภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดสกลนคร เขต 2 เบอร์ 11 เนื่องจากเป็นผู้ขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 98 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ..." ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 42 บัญญัติไว้เช่นเดียวกัน

โดยหลักฐานในคดีนี้คือ หนังสือบริคณ์สนธิ หรือหนังสือจดจัดตั้งบริษัทห้างหุ้นส่วน ซึ่งเป็นการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วน เพื่อประกอบสัมมาอาชีพโดยการยื่นจดทะเบียนนั้น ได้ใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปในการจดทะเบียน ซึ่งเป็นแบบฟอร์มของกรมพัฒนาธุรกิจเอง โดยในแบบฟอร์มสำเร็จรูปจะระบุมีวัตถุประสงค์ทั่วไปในการจดจัดตั้งห้างหุ้นส่วนทั้งสิ้น 43 ข้อ ครอบคลุมกิจการหลายประเภท ทั้ง รับเหมาก่อสร้าง, ทำเหมืองแร่, ขายเครื่องสำอาง, ทำโรงเลื่อย ฯลฯ และในข้อที่ 43 ระบุว่า ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ รับจัดทำสื่อโฆษณา สปอร์ตโฆษณา เผยแพร่ข้อมูล

โดยหุ้นที่ภูเบศวร์ ถืออยู่นั้นเป็นหุ้นของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่พักอาศัย

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงให้งดการไต่สวน พร้อมมีคำสั่งให้ถอนชื่อ ภูเบศวร์ ออกจากจากการเป็นผู้สมัคร ส.ส.

ตัดสิทธิผู้สมัครอนาคตใหม่ กกต.อ้างเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน อีกกรณีศาลชี้เป็นเจ้าของสื่อฯ ทั้งที่ทำรับเหมาก่อสร้าง

คดี 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือหุ้นสื่อ?

คดีนี้พรรคอนาคตใหม่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลหลักฐานคือ หนังสือบริคณ์สนธิของ 41 ส.ส.ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นอยู่ ซึ่งมีลักษณะการจดจัดตั้งห้างหุ้นส่วนประเภทเดียวกันกับ ภูเบศวร์ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคที่โดนตัดสิทธิก่อนวันเลือกตั้ง

โดยพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นคำร้องผ่านทางประธานรัฐสภา เพื่อยื่นต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 41 คนนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงดำแหน่ง ส.ส. หรือไม่ ตามรัฐรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบกับมาตรา 98(3)  พร้อมขอให้สั่งให้ 41 ส.ส. ยุติการปฎิบัติหน้าที่จนกว่าการวินิจฉัยแล้วเสร็จ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 32 คน จาก 41 คน แต่ไม่สั่งให้ ส.ส. ทั้ง  32 คนยุติการปฎิบัติหน้าที่เนื่องจาก รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค  บัญญัติเงื่อนไขว่าจะต้องมี “ปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ร้องเรียน”  ซึ่งในคดีนี้ไม่ได้มีการตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น ไม่ปรากกฎแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วน และแบบนำส่งเงินของห้างหุ้นส่วนว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด กรณีนี้จึงไม่มีความชัดเจน ว่าผู้ถูกร้องประกอบกิจการใด ศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป ดังนั้นจึงไม่เข้าเงื่อนไงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ศาลรับคำร้องเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562 ถึงตอนนี้ยังไม่มีการอ่านคำวินิฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญรับ 32 ส.ส. ถือหุ้นสื่อฯ จาก 41 ไว้พิจารณา แต่ไม่สั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่เหมือนธนาธร

คดีหุ้นวีลัค-มีเดียของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้นเหตุของการไม่ได้เข้าสภา

คดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า ความเป็น ส.ส. ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามมาตรา 101(6) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องกรณีนี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 พร้อมสั่งให้ธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีการวินิจฉัยแล้วเสร็จ

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบที่ส่งมายังศาลรัฐธรมนูญนั้น ผู้ร้องเห็นว่า ธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทวีลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ศาลจึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย  นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 สั่งให้ธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ด้วย เนื่องจากเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของธนาธร อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย และการคัดค้านโต้แย้งคคัดค้านเป็นปุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

อย่างไรก็ตามในส่วนของการถือหุ้นนั้น ธนาธร ยืนยันว่าได้โอนหุ้นดังกล่าวไป 1 เดือนก่อนการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว พร้อมทั้งมีเอกสาร “ตราสารการโอนหุ้น” ที่โอนกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด 675,000 หุ้น จำนวน 6,750,000 บาท ไปยัง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 และที่สำคัญบริษัท วี-ลัค มีเดีย คือบริษัทต้นสังกัดของนิตยสาร Who ซึ่งตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายฉบับวันที่ 15 ต.ค. 2559 ส่วนนิตยสารอื่นๆ คือ นิตยสารของนกแอร์ นิตยสารธนาคารไทยพาณิชย์ เองก็ปิดตัวลงตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ว่าจ้าง โดยฉบับสุดท้ายพิมพ์ในเดือน ธ.ค. 2561

สำหรับกรณีหุ้นวีลัคนี้ กลายเป็นประเด็นเมื่อสำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวว่า "ธนาธร-เมีย’ โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน" โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทำหนังสือถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นชุดใหม่ ลงวันที่ 21 มี.ค.2562  ไม่มีรายชื่อ ธนาธร และ รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด

อย่างไรก็ตามเอกสารที่สำนักข่าวอิศรา นำมาแสดงคือ การส่งงบการเงินประจำปีและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่บริษัท วี-ลัคฯ ใช้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น ซึ่งตามกฎหมายให้แจ้งเพียงปีละครั้ง ไม่ใช่ใบตราสารโอนหุ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net