สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25-31 ส.ค. 2562

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าหารือกับผู้แทนบริษัทจีเอ็ม กรณีการปรับลดพนักงาน ให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีการปรับลดพนักงานของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด หรือจีเอ็มว่า กระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีดังกล่าวได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้การช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ ยังได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่จังหวัดระยองเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจากการเข้าไปหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนบริษัทฯ โดยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง พบว่า บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่ 111/1 หมู่ที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการผลิตเครื่องยนต์ประกอบรถยนต์เชฟโรเลต มีลูกจ้างประจำ 1,553 คน และลูกจ้างรับเหมาค่าแรง 186 คน บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กร โดยการปรับลดพนักงาน เนื่องจากปัจจุบันประสบปัญหาไม่มีคำสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศ ทำให้ยอดการผลิตลดลงอย่างมาก จำเป็นต้องปรับลดกระบวนการผลิตจาก 16 แผนก เหลือ 12 แผนก เพื่อปรับลดลูกจ้างให้เหมาะสมกับปริมาณและกำลังการผลิต จาก 1,553 คน เหลือประมาณ 900 คน โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาจากประสิทธิภาพการทำงานและความเหมาะสมของพื้นที่การปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานบวกเงินพิเศษ ซึ่งรวมถึงลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่จะได้รับเงินส่วนต่างพิเศษของการยกเลิกสัญญา รวมสิทธิประโยชน์ที่บริษัทจ่ายให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 394 คน ซึ่งมีอายุงานระหว่าง 3-20 ปี โดยเป็นลูกจ้างของ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กับ บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 208 คน และลูกจ้างรับเหมาค่าแรง บริษัท สกิล พาวเวอร์เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด จำนวน 186 คน มูลค่าประมาณ 300 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดูแลพนักงานที่ถูกเลิกจ้างโดยจัดทีมงานที่ปรึกษาเพื่อหางานใหม่และเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์งานให้กับลูกจ้าง สำหรับการเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทำงานวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เป็นวันสุดท้ายและไม่ต้องมาทำงานอีก โดยบริษัทฯ จะจ่ายค่าจ้างให้ถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองได้ประสานสำนักงานจัดหางานและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยองเพื่อดำเนินการหาตำแหน่งงานว่างให้กับลูกจ้างและให้ลูกจ้างได้รับการสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองที่เหมาะสมตามกฎหมายต่อไป

กรณีลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3

ที่มา: สยามรัฐ, 30/8/2562

14 ลูกเรือประมงไทยถูกลอยแพในโซมาเลีย ชุดสุดท้ายกลับถึงไทยแล้ว

30 ส.ค. 2562 ลูกเรือประมงไทยที่ถูกลอยแพกลางทะเลในเขตประเทศโซมาเลียที่เหลืออีก 14 คน เดินทางกลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว เมื่อเวลา 07.25 น. จากนั้นจึงเดินทางมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อเข้า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแสดงความขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยสวัสดิภาพ หลังจากที่ก่อนหน้าได้ช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยล็อตแรก 18 คน

ม.ร.ว.จัตุมงตล กล่าวว่า วันนี้เป็นการเดินทางกลับของลูกเรือประมงไทยที่ถูกลอยแพในประเทศโซมาเลีย เรือวาดานี 2 จำนวน 14 คน ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย เป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ 5 คน สุรินทร์ 2 คน สมุทรสาคร 2 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน นครพนม 1 คน อุทัยธานี 1 คน และระนอง 1 คน เดินทางไปโดยไม่ได้แจ้งกับกรมการจัดหางาน และพบว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศของกรมการจัดหางาน จำนวน 6 คน โดยแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนเพื่อช่วยหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เป็นค่าพาหนะ (ในต่างประเทศ) ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้ กรมการจัดหางานจะได้ประสานกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) ให้การช่วยเหลือค่าพาหนะ ค่าอาหาร ให้แก่แรงงานไทยในการเดินทางกลับภูมิลำเนา ตลอดจนติดตามสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานไทย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย เป็นต้น และจะดำเนินการทางคดี หากตรวจสอบพบว่ามีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ส่วนที่เหลืออีก 6 คน ทำงานต่อกับนายจ้างอิหร่าน

"กรมการจัดหางานได้ร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อำนวยความสะดวกโดยจัดรถรับ-ส่ง พร้อมจัดหาที่พักให้แก่แรงงานก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา และจากนี้จะได้สอบข้อเท็จจริงจากแรงงานไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการ จัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป" ม.ร.ว.จเตุมงคล กล่าว

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ผู้ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศเดินทางไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และต้องแจ้งการเดินทางกับกรมการจัดหางาน พร้อมสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยมีอัตราค่าสมัครสมาชิก 300-500 บาท แตกต่างกันตามประเทศที่จะเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ดังเช่นกรณีของลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ ก็จะได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ ส่วนแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงาน นอกจากจะต้องอยู่อย่างลำบากและต้องหลบซ่อนแล้วยังถูกเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 30/8/2562

ก.แรงงานเสนอให้แรงงานไทยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานสวีเดน-ควบคุมจำนวนแรงงานให้เหมาะสมกับปริมาณผลไม้ป่าในแต่ละฤดูกาล

เมื่อวันที่ วันที่ 28 ส.ค. 2562 นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปเยี่ยมคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ราชอาณาจักรสวีเดน นำโดย พันตำรวจตรีหญิง รมยง สุรกิจบรรหาร รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า จากการที่แรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลในราชอาณาจักรสวีเดนในฤดูกาลนี้ ซึ่งมีแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า (เบอรี่) สูงถึง 6,214 คน โดยมากกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 2,000 คน ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาแย่งชิงพื้นที่เก็บผลไม้ป่า ประกอบกับในปีนี้สวีเดนเกิดสภาวะแห้งแล้งทำให้ผลไม้ป่าออกผลน้อย จึงเป็นเหตุให้แรงงานไทยที่มีแคมป์ทางภาคเหนือและภาคใต้เคลื่อนย้ายมาเก็บในภาคกลาง ซึ่งมีผลไม้ป่ามากกว่าภาคอื่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเข้าไปเก็บผลไม้ป่าของคนงาน เป็นประเภทแรงงานตามฤดูกาล (Seasonal worker) จึงได้รับการประกันรายได้ตามกฎหมายสวีเดน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 21,533 โครนาสวีเดน หรือประมาณ 68,900 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2562) ทำให้แรงงานไม่ได้รับผลกระทบจากรายได้มากนัก แต่เพี่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในฤดูกาลหน้า กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมประชุมหารือกับ นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ที่ประชุมในร่วมกันหารือในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การป้องกันและคุ้มครองแรงงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลในราชอาณาจักรสวีเดน ข้อเสนอของสหภาพแรงงานสวีเดนที่เสนอให้แรงงานไทยสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานสวีเดน การควบคุมจำนวนแรงงานไทย (Seasonal worker) ไปเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลในราชอาณาจักรสวีเดนอย่างเหมาะสม โดยที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันทั้งในเรื่องของประโยชน์ที่แรงงานไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพ และความจำเป็นในการควบคุมปริมาณแรงงานที่จะเข้าไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของแรงงานไทยทุกคนให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิและมีรายได้อย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าให้กับบริษัทผลไม้ป่า Blatand (บลาตัน) จำกัด โดยไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจคนงานไทยที่แคมป์เมือง Torpshammar (ท้อปแชมเมอร์) ซึ่งมีคนงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าจำนวน 150 คน และเยี่ยมคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าให้กับบริษัท Polarica (โพลาลิก้า) จำกัด ที่แคมป์เมือง Skivsjo (สกิโช่) มีคนงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าจำนวน 122 คน

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลว่า นอกจากจะต้องมีความขยันและอดทนต่อการเดินทางไปทำงานแล้ว ยังต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอีกด้วย และก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางไปทำงาน ขอให้ติดต่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทรศัพท์ 0 2245 6712 โทร.สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือเว็ปไซต์ www.doe.go.th

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 29/8/2562

เพจข่าวท้องถิ่นเผยโรงงาน GM จ.ระยอง เลิกจ้างพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกว่า 300 คน

เพจข่าวสารชลบุรี-ระยอง รายงานว่า วันที่ 28 ส.ค. 2562 พนักงานของบริษัท GM General Motors Thailand ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม อิสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง ได้เลิกจ้าง พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว แบบฟ้าผ่ามากกว่า 300 คน สร้างความตกใจให้แก่พนักงานเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ บริษัท จีเอ็ม มอเตอร์ส มีการประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อรุกตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าและรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ

ที่มา: ข่าวสด, 29/8/2562

ครม.ไฟเขียวให้แรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา กว่า 2 ล้านคน อยู่ต่อไม่ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 31 มีนาคม 2563 และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

โดยกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน 2562 เริ่มดำเนินการ 2 กันยายน 2562 ส่วนกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ 31 มีนาคม 2563 เริ่มดำเนินการ 16 ธันวาคม 2562 และอนุญาตให้ทำงานไม่เกิน 2 ปี

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าตามระบบ MOU) และกลุ่มที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว สามารถดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

ส่วนการอนุญาตทำงานจะอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา คือ 1.ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 2.ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565

หน่วยงานที่จะดำเนินการประกอบด้วย 1.กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานรับเอกสารในขั้นตอนแรกและออกใบอนุญาตทำงาน 2.กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ 3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไป (ขออยู่ต่อ) โดยอนุญาตครั้งละไม่เกิน 1 ปี 4.กระทรวงมหาดไทย จัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งด้านหลังบัตรจะเป็นใบอนุญาตทำงาน

สำหรับระยะเวลาดำเนินการเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรต่อไปจะเริ่มวันที่ 2 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ดำเนินการ 2 รูปแบบคือ 1.เริ่มดำเนินการวันที่ 2 กันยายน 2562 สำหรับกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 ณ สถานที่ตั้งของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.เริ่มดำเนินการวันที่ 16 ธันวาคม 2562 สำหรับกลุ่มใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) โดยในกรุงเทพมหานครมอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้พิจารณา ในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา

ด้าน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว จำนวน 2,001,379 คน แบ่งเป็น 1.กลุ่มที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 261,491 คน เป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 243,093 คน กลุ่มประมงฯ มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จำนวน 12,040 คน กลุ่มจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ จำนวน 6,358 คน

และ 2.กลุ่มที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 1,739,888 คน โดยเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 558,443 คน และกลุ่มจัดทำ/ปรับปรุง ทะเบียนประวัติ จำนวน 1,181,445 คน

ทั้งนี้ ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หากพบว่าข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน เช่น มีการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาใหม่หรือเพิ่งเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว ก็ให้แจ้งเข้า-ออกจากงานของแรงงานต่างด้าวภายใน 15 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ หากไม่พบข้อมูลการอนุญาตทำงานในฐานข้อมูล ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 27/8/2562

แนะภาคธุรกิจผนึกภาคการศึกษาแก้ปัญหาแรงงานไอทีขาดแคลน

จากสถานการณ์ตลาดแรงงานของสายงานทางด้านไอทีในประเทศไทย โดยทาง "เอ็กซ์พีริส(Experis)" บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ทำการสำรวจและเปิดเผยถึงกลุ่มงานทางด้านไอทีจากผู้ประกอบการพบว่ามีความต้องการสูงและยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและคุณภาพ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการสร้างนักศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย แนะภาคธุรกิจและภาคการศึกษาผนึกความร่วมมือในการเร่งสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์เพื่อลดปัญหาขาดแคลนบุคลากรป้อนตลาด พร้อมเสนอวิธีการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานโดยใช้โมเดลการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ หรือฟรีแลนซ์ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน

ปัจจุบัน แนวโน้มของเทคโนโลยีโลกจากข้อมูลของสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งการ์ทเนอร์(Gartner) และ PWC Global บ่งชี้ให้เห็นว่า ความก้าวล้ำและการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Autonomous things, Augmented Analytics, AI Driven Development, Edge Computing, Immersive Experience, Digital Twin, Smart Spaces, Blockchain, Security, และ Quantum Computing มีอิทธิพลในวงกว้างต่อโลกในทุกภาคส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมไปถึงเทรนด์ใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง ก็คือ การเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลลิบรา (Libra) ของทางเฟซบุ๊ค

สำหรับประเทศไทย ทิศทางบุคลากรทางด้านไอทียังคงให้ความสำคัญและมีความต้องการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีในส่วนของ AI, Robotic Process Automation (RPA), Big Data Analytics, Internet of Thing, Fintech อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเทรนด์เทคโนโลยีของโลกที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน โดยมีการใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทางด้านของภาคธุรกิจ เรายังเห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ ในการเข้ามาศึกษา ส่งเสริมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าต่อยอดการสร้างนวัตกรรมการผลิตสินค้า การให้บริการและการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด อาทิเช่น กลุ่มธนาคารและการเงิน ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์ ขนส่ง ประกันภัย และภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีบทบาทและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ทุกภาคส่วนต่างมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายในแง่ของการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่จากเทคโนโลยีในกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในวงจำกัดมาก เนื่องจากบุคลากรคุณภาพที่ยังมีอยู่น้อยและหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับบุคลากรทางด้านไอที บุคคลากรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ให้ก้าวตามทันกับเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง คนทำงานยุคดิจิทัล ต้อง "ยกระดับทักษะ(Upskill) – ปรับทักษะ(Reskill)" พัฒนาความสามารถให้มีความหลากหลาย ซึ่งเวลานี้จะเห็นว่าหลายองค์กร หันมาใช้วิธีเพิ่มทักษะการทำงานให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ด้านผลสำรวจจาก Mckinsey ก็ยืนยันไปในทางเดียวกันว่าภายในปี 2030 แรงงานกว่า 375 ล้านคนจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองและเสริมทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับการทำงานในอนาคต การพัฒนาทักษะนอกเหนือจากทักษะด้านความรู้ทางเทคนิค (Hard Skill) แล้ว ควรเร่งพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องของการฝึกอบรมทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) ควบคู่ไปด้วยกัน เช่น ทักษะการนำเสนอ การสื่อสาร และการใช้ภาษาอังกฤษในระดับธุรกิจ เพราะสายงานไอทีในยุคดิจิทัล เป็นสายงานที่ต้องทำงานใกล้ชิดและมีความเข้าใจเชิงธุรกิจมากขึ้น ทางด้านภาครัฐและภาคเอกชน จะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและยาวเพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการในการจ้างงาน

นอกจากนี้ ในการสำรวจตลาดแรงงานในสายงานไอทีของ "เอ็กซ์พีริส" ระบุว่าสถานการณ์แรงงานในสายงานด้านไอทียังคงอยู่ในภาวะขาดแคลนสูง เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ทำให้การทำงานด้วยทักษะแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ จึงต้องมีการสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในองค์กร ซึ่งปัจจุบันบุคลากรด้านนี้ในประเทศก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีทักษะที่ไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดด้วย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยมีนักศึกษาที่จบสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 5.7 แสนคนต่อปี แต่กลับทำงานตรงสายอาชีพแค่ 15% เท่านั้น โดยกว่า 81% ไม่ได้ทำงานในสายไอทีและอีก 3% ยังว่างงาน ทั้งยังระบุไว้ด้วยว่าโดยเฉลี่ยแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณภาพได้ไม่เกิน 5,000 คน

จากปัญหาดังกล่าว ระบุถึงสาเหตุสำคัญที่เกิดภาวะนี้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังตามเทรนด์เทคโนโลยีไม่ทัน หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ และผลิตบุคลากรได้ไม่ทันต่อความต้องการในตลาดแรงงาน รวมไปถึงบุคลากรผู้มีทักษะความสามารถทางด้านไอทีและเทคโนโลยี (Tech Talent) มีการถูกดึงตัวให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานก็เลือกที่จะออกไปประกอบธุรกิจอิสระ เช่น เปิดบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง หรือ รับงานอิสระ เป็นต้น

ทางแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในตลาดแรงงาน ขอเสนอแนวทางในการรับมือปัญหาดังกล่าวนี้ โดยสถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งปรับโครงสร้างและหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยี วางแผนรับมือโดยจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิรูประบบการศึกษาให้ผลิตบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยร่วมประชุมทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางระหว่างภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ เพื่อกำหนดทิศทางในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงานไอที มีการสนับสนุนอย่างครอบคลุมทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ เพื่อเพิ่มทักษะเทคโนโลยีทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรมีการลงทุนสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Eco System) ที่คล้ายกับซิลลิคอน วัลเลย์ ในอเมริกาเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ก่อให้เกิดการใช้งานจริง และสอดคล้องกับความต้องการของทุกอุตสาหกรรม จากข้อเสนอแนะดังกล่าวประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ถึงโอกาสและการเติบโตในสายงานไอที เนื่องจากตลาดของบุคลากรไอที ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนหากเทียบกับความต้องการโดยรวม ทำให้เป็นโอกาสสำหรับบุคลากรที่มีประสบการณ์และทักษะที่เป็นที่ต้องการมีโอกาสเติบโตในสายงานอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการเติบโตขึ้นไปในระดับสายบริหารหรือไปในเส้นทางของผู้เชี่ยวชาญ มีโอกาสได้รับงานโครงการใหม่ๆเข้ามา รวมไปถึงสามารถเรียกเงินเดือนได้ค่อนข้างสูงกว่าเกณฑ์ตลาด หากเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ขาดแคลนสูง โดยปกติ สายงานไอทีเมื่อเปลี่ยนงานจะได้รับฐานเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ยอยู่ในระดับ 20-25% เป็นปกติ แต่หากเป็นทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการเช่น AI/Machine Learning, Robotic Process Automation, Big Data Analytical, IOT, Blockchain จะมีโอกาสได้รับการเสนอรายได้ขึ้นไปในระดับ 30-40% และถ้าเป็นการจ้างชั่วคราวหรือสัญญาจ้างตามโครงการ ระดับรายได้ก็สามารถขึ้นไปได้ถึง 50-60%

จากสถานการณ์ความต้องการและโอกาสความก้าวหน้ารวมไปถึงการเติบโตในสายงานไอที นับว่ามีความต้องการตำแหน่งงานด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับผลสำรวจ ซึ่งในขณะที่ภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานทางไอทีมากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในสายงานไอทีมีเพิ่มสูงขึ้นและเป็นสถานการณ์เดียวกันทั่วโลกเช่นกัน ดังนั้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเดือนในกลุ่มทักษะเฉพาะ (Niche Skill) มีการปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสายงานไอที บางสายงาน อยู่ในภาวะขาดแคลน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน วิธีการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวก็คือโมเดลการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นของแรงงานกลุ่มนี้ (Flexible Workforce) มากขึ้นในสายงานดังกล่าว รวมถึงส่วนงานที่ปรึกษาทางด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจทางด้านการให้บริการดิจิทัล แบงค์กิ้ง ที่มีการใช้โมเดลการจ้างงานลักษณะนี้มากขึ้น รวมทั้งการทำงานแบบสัญญาจ้างรายโปรเจกต์และรายเดือน ซึ่งค่าจ้างแรงงานกลุ่มนี้ถือว่าไม่น้อย ทั้งนี้ กลุ่มสายงานที่มีความต้องการสูงในรูปแบบของการจัดหาพนักงานไอที (IT Staffing Business) แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ กลุ่มงานที่ปรึกษาด้านซอฟท์แวร์และระบบ ERP งานพัฒนาซอฟต์แวร์ งานไอทีซัพพอร์ทและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกลุ่มงานด้านอี-คอมเมิร์ซ

ทางด้านสถานการณ์การนำเข้าบุคลากรในสายงานนี้จากต่างประเทศ ในปัจจุบัน องค์กรขนาดกลางและใหญ่มีการนำเข้าบุคลากรไอทีจากต่างประเทศเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เนื่องด้วยประสบการณ์ ความชำนาญ และทักษะทางเทคโนโลยีเฉพาะด้าน รวมไปถึงเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพในประเทศด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สายงานบริหารระดับสูงและตำแหน่งที่ปรึกษา ที่มีการพึ่งพาบุคลากรที่มีทักษะเชิงลึกเข้ามาบริหารจัดการงานโครงการต่างๆ เช่น กลุ่มบุคลากรจากจีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อเมริกา และยุโรป ในขณะที่สายงานระบบ SAP/ERP Consultant และสายงานโปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนาโดยมีการนำเข้าบุคลากรจากประเทศอินเดีย จีนและเวียดนาม เป็นต้น

ปัจจุบัน แมนพาวเวอร์กรุ๊ปมีบริการด้านที่ปรึกษาและการสรรหาบุคลากรในสายงานไอทีทั้งประเภทงานประจำ งานชั่วคราว งานสัญญาจ้าง และงานโครงการ รวมถึงมีการขยายการให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น ดูแลตั้งแต่การสรรหา จ้างงาน การทำเงินเดือน รวมถึงบริการด้านการขออนุญาตการทำงานในประเทศ สำหรับในอนาคต แมนพาวเวอร์กรุ๊ป มองเห็นถึงโอกาสที่จะได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนในการทำโครงการ Tech Academy เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรไอทีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเติมเต็มความต้องการของตลาด อีกทั้งเป็นโครงการที่มาช่วยคัดสรรและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับบริษัทต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสายงานด้านไอทีดังกล่าว แมนพาวเวอร์กรุ๊ปในฐานะผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยหวังว่าจะเกิดความร่วมมือและพลังจากทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาแก้ไขและพัฒนากันแบบบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ที่มา: แมนพาวเวอร์กรุ๊ป, 27/8/2562

เห็นชอบคณะรัฐมนตรีต่อร่างปฏิญญาการประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 ค.ศ. 2019

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาการประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 ค.ศ. 2019 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาข้างต้น ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงแรงงานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงแรงาน เสนอ

โดยร่างปฏิญญาฯ มีสาระสำคัญประกอบด้วยประเด็นหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะกลุ่มประชากรสูงอายุในกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน โดยประชากรผู้สูงอายุจะนำมาซึ่งโอกาสการจ้างงานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “เศรษฐกิจสีเงิน” ทั้งการส่งเสริมโอกาสการจ้างงานเยาวชน 2) ระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ 3) โอกาสการจ้างงานใหม่ในสังคมผู้สูงอายุ 4) ความเสมอภาคทางเพศ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในตลาดแรงงาน คำนึงถึงผลปฏิบัติงานที่เท่าเทียมของหญิงและชาย และ 5) การจ้างงานรูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการขับเคลื่อนงานรูปแบบใหม่ สามารถขจัดอุปสรรคในการทำงานได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการกำหนดทิศทางเพื่อรองรับความท้าทายในอนาคตของ G20 ดังกล่าวข้างต้นมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดทิศทางเพื่อรองรับเรื่องอนาคตของงานของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนได้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 สิงหาคม 2562

กสศ.ลุยลดเหลื่อมการศึกษานอกระบบ นำร่องทดลองพัฒนาทักษะแรงงานด้อยโอกาส

ที่โรงแรมเดอะ ควอเตอร์ อารีย์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ นานาชาติ "การเข้าถึงและพัฒนาทักษะการทำงานให้แก่กลุ่มประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาส: บทเรียนจากภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก" (Reaching Hard to Reach Communities: Lesson Learnt from Asia-Pacific Region) มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กร

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยจำนวน 38 ล้านคน 55% เป็นแรงงานนอกระบบ หรือมีจำนวน 21.2 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ขาดทักษะในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และมีรายได้ต่ำ เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดย กสศ. มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากอยู่นอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ต้องการการพัฒนาทักษะอาชีพ กสศ.จึงได้เปิดโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีแนวคิดหลัก 4 ประการ คือ 1. การใช้ชุมชนเป็นฐานในการประกอบอาชีพ 2. การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน 3. การเสริมสร้างสมรรถนะแก่ชุมชนและภาคเอกชน และ 4.การวิจัยปฏิบัติการเพื่อประเมินผลความสำเร็จของกลุ่มเป้าหมาย

"โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในชุมชน ค้นหาตัวตนเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” นพ.สุภกร กล่าว

นพ.สุภกร กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว กสศ.ได้เปิดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบยื่นเสนอโครงการเข้ามา มีจำนวนกว่า 108 โครงการ และได้คัดเลือกราว 80 โครงการ ที่จะดำเนินการต่อไป ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนจน กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ วิสาหกิจชุมชน พ่อแม่วัยรุ่น ชาติพันธุ์ แม่บ้าน เยาวชนและผู้ต้องขัง คาดว่าจะมีผู้ได้รับการฝึกอบรมตามโครงการนี้กว่า 6,000 คน โดยมีงบประมาณช่วยเหลือ 1-2 หมื่นบาทต่อคน ทั้งนี้ในอนาคตจะมีความร่วมมือระหว่าง กสศ.และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพื่อสนับสนุนทางวิชาการ รวมถึงโปรแกรมการฝึกอมรมที่ยึดชุมชนเป็นตัวตั้งให้กับทั้ง 80 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกด้วย

ด้าน Mr. Charles Bodwell ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาวิสาหกิจ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ผู้พัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมด้านธุรกิจและการประกอบการใน 20 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรมด้านแรงงานแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาในเชิงรุก สิ่งสำคัญคือการทำงานร่วมกับชุมชน ทำกิจกรรมต่างๆ ที่กระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะแรงงาน ฝึกอบรมให้เกิดการคิดต่อยอดจะช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านแรงงาน ด้วยต้นทุนที่ถูกลง และทำให้เศรษฐกิจในชุมชนแข็งแกร่งขึ้น

ปัจจุบัน ILO มีโปรแกรมมากกว่า 80 รายการ ที่ใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน แต่ละชุมชนสามารถเลือกโปรแกรมที่เหมาะกับแต่ละชุมชนได้ ซึ่งจากการเข้าไปพัฒนาโปรแกรมให้แต่ละประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้น คือแรงงานในชุมชนสามารถตัดสินใจเลือกงานที่เหมาะกับชุมชนนั้น เกิดการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกัน ทำให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นในแต่ละชุมชน ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน

"สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน และการทำตลาด เราจะไม่สอนว่าเขาต้องทำการเกษตรอย่างไร เพราะนั่นคือสิ่งที่เขารู้ดีอยู่แล้ว แต่จะมุ่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การทำตลาด การแปรรูปเพื่อต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่ให้เกิดการขยายผลมากยิ่งขึ้น เช่น การทำฟาร์มสเตย์ โฮมสเตย์ เป็นต้น" Mr. Charles กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/8/2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท