'Romance Scam พิศวาสอาชญากรรม(ออนไลน์)' งานวิจัยชี้นักต้มตุ๋นมักสร้างบุคลิก 'คนดี 7 ลักษณะ' ให้เหยื่อเชื่อใจ

งานวิจัยชี้ 'นักต้มตุ๋นพิศวาสออนไลน์' (Romance Scammer) มักสร้างบทบาท บุคลิก ลักษณะของ 'คนดี' 7 ลักษณะ 1.คนดีมีศีลธรรม 2.เนื้อคู่/คู้แท้ ไว้ใจได้ 3.ผู้ที่มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาสูง และถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี 4.คนมีเสน่ห์ น่าหลงใหล 5.เหยื่อเป็นคนสำคัญ 6.เหยื่อมีคุณค่า น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ และ 7.คนที่รู้จักสำนึกบุญคุณ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค 2562 ที่โรงแรมวิคทรี กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยโครงการวิจัย 'ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' จัดเวทีเสวนา 'พิศวาส อาชญากรรม : แนวทางป้องกันและปราบปราม' โดยมี ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เป็นผู้นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยฯ โดยมุ่งหวังว่าจะประโยชน์ต่อการป้องกันตัวของประชาชนและตระหนักรู้ถึงภัยอาชญากรรมที่มาจากโลกไซเบอร์

ผศ.ดร.ทศพล ระบุว่าพฤติกรรมด้านการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีประชาชนจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีในการหา 'คู่' หรือแสวง 'รัก' ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการกระทำความผิดที่เรียกว่า Romance Scam หรือ 'พิศวาสอาชญากรรม' โดย Romance Scam คือการที่ 'นักต้มตุ๋น' (Scammer) ได้ใช้เทคนิคทางจิตวิทยาผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆในการหลอกลวงให้ 'เหยื่อ' (Victim) หลงเชื่อ จนกระทั่งยินยอมให้สิ่งต่างๆ ที่นักต้มตุ๋นต้องการ

โดยการตั้งคำถามในงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบไปด้วย อาชญากรอาศัยช่องทางอินเตอร์เน็ตในการล่อลวงประชาชนให้หลงเชื่อในตัวตนอำพรางของตน จนก่อพิศวาสอาชญากรรมได้ด้วยรูปแบบและวิธีการใดบ้าง, อาชญากรเรียนรู้เหยื่อได้อย่างไรและนำข้อมูลจากแหล่งไหนมาคิดค้นกลยุทธ์ในการล่อลวงให้เหยื่อหลงเชื่อจนตกบ่วงกล จนเหยื่อสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและถูกละเมิดสิทธิในชีวิตเนื้อตัวร่างกายอย่างร้ายแรง, รัฐและผู้ดูแลระบบจะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรมอย่างไรให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีความไว้วางใจในการใช้ชีวิตบนโลกไซเบอร์ องค์ความรู้ใดบ้างที่ควรเผยแพร่ไปสู่ประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทันพิศวาสอาชญากรรม

สำหรับสมมติฐานงานวิจัย ผศ.ดร.ทศพล ระบุว่าการสื่อสารในยุคดิจิทัลเอื้อให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่ายด้วยข้อมูลที่ผู้ใช้แสดงออกในโลกไซเบอร์ ข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกเองนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงให้อาชญากรนำมาเป็นฐานข้อมูลในการล่อลวงทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวบุคคลและลดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถป้องปรามการจู่โจม หรือเยียวยาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิผลโดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้นการสร้างมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าและสร้างความตระหนักรู้อาจจะเป็นผลดีกว่าการเยียวยาเหยื่อและตามดำเนินคดีอาชญากรหลังเกิดความเสียหายแล้ว

โดยระเบียบวิธีวิจัยนั้น งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) ที่มุ่งสะท้อนข้อเท็จจริงทางสังคมที่เกิดขึ้น (Social Facts) โดยมีระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้แสวงหาคำตอบให้โจทย์วิจัยทั้ง 2 แบบ คือ 1.การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) ศึกษาจากเอกสารชั้นต้นทั้งหลายและเก็บหลักฐานบางส่วนจากกรณีศึกษาที่เป็นคดี การวิจัยเอกสารจะศึกษาเอกสาร หลักฐานชั้นต้นจากคำพิพากษา สำนวนคดีที่เข้าถึงได้ (ซึ่งไม่รวมคดีเกี่ยวกับการโอนเงิน เปิดบัญชี การออกเงิน) และ 2.การเก็บข้อมูลวิจัยด้วยวิธีการการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จากแหล่งข้อมูลผู้มีศักยภาพสูง (interviewing high potential sources) อาทิ เหยื่อ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ดูแลระบบ (admin) ซึ่งสัมผัสกับเหตุการณ์จริง (แต่ไม่รวมเจ้าหน้าที่ปราบปรามออกเงิน สถาบันการเงิน)

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าปี 2558 ผู้ร้องเรียนคดีลักษณะพิศวาสอาชญากรรมนี้ 80 คดี มูลค่าความเสียหาย 150 ล้านบาท และตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. 2561-พ.ค. 2562 ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีพิศวาสอาชญากรรม หรือ การถูกล่อลวงให้โอนเงิน ผ่านการรู้จักและพบรักกันบนสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 332 ราย มีมูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท 

"ผู้ที่ตกเป็นหยื่อมากที่สุดจะเป็นหญิงโสดอายุ 40-60 ปี การศึกษาดี หน้าที่การงานมั่นคงและมีฐานะดี โดยหากย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2558 พบเหยื่อที่สูญเสียมากที่สุดคือ 33 ล้านบาท โดยถูกหลอกโอนเงินไปให้คนรักออนไลน์ถึง 26 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและอินสตราแกรม เป็นช่องทางที่ทำให้เหยื่อพบเจอคนร้าย เนื่องจากคนร้ายจะเข้ามาทำความรู้จักเหยื่อ จากการเข้าไปในกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายกันในโลกโซเชียล" ผศ.ดร.ทศพล ระบุ

ทั้งนี้กิจกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการล่อลวง ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook/Instagram ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพบเจอผู้คนที่รู้จัก หรือ การสร้างกลุ่มของคนที่มีความคิด ความชอบที่เหมือนหรือคล้ายกัน ให้เข้ามาพบเจอกัน โดยจะเป็นการเน้นการสร้างชุมชน หรือ Community บนโลกออนไลน์ ในลักษณะ Look at Me จึงมีข้อมูลส่วนบุคคลปริมาณมาก แอพพลิเคชั่นอีกตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่ากัน อย่างทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นแพลตออร์มในรูปแบบ Look at This คือ การที่ผู้ใช้งานเลือกที่จะเห็นว่าตนเองอยากเห็นอะไร สนใจเนื้อหา (Content) ในเรื่องใด ก็จะติดตามหรือเลือกที่จะเห็นเนื้อหาที่ตนสนใจ มากกว่าการเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้ผู้อื่นล่วงรู้ รวมทั้งแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานที่ต้องการหาคู่ หาเพื่อนทานข้าว หรือหาเพื่อนเที่ยว

ผศ.ดร.ทศพล ระบุถึงกลยุทธ์ในการยั่วยวนเหยื่อให้หลงเชื่อ โดยในยุคแรกๆ นั้น มักจะเป็นการหลอกลวงทาง E-mail โดยวิธีการนี้เป็นการส่ง E-mail ที่มีการติดต่อซื้อขาย การหลอกลวงเรื่องการจัดหางาน รวมถึงเป็นการหลอกลวงที่เป็นการปลอมอีเมล์ โดยส่วนมาก อาชญากรจะส่งอีเมล์ไปให้เหยื่อที่เป็นเป้าหมาย จะไม่มีการพบปะหรือนัดเจอกัน ซึ่งอีเมล์ที่ส่งจะเป็นเอกสารจากส่วนงานต่างๆ ส่วนในยุคต่อมา การหลอกลวงมักจะมาทาง Social Media เช่น Facebook, Line, Instagram ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ถูก อาชญากร ใช้มากที่สุด เนื่องจากว่า Social Media ดังกล่าวมีผู้คนเข้าใช้งานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพฤติกรรมของผู้ใช้งานยังถูกเปิดเผยถูกสาธารณะได้ง่าย จึงทำให้อาชญากร สามารถเลือกเหยื่อ หรือ เลือกเป้าหมายได้ไม่ยากนัก

“การสื่อสารในยุคดิจิทัล เอื้อให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่ายด้วยข้อมูลที่แสดงออกในโลกไซเบอร์ ข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกเองนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงให้อาชญากรนำมาเป็นฐานข้อมูลในการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวบุคคลและลดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถป้องปรามการจู่โจม หรือเยียวยาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิผลโดยเฉพาะอาชญากรข้ามชาติ ดังนั้นการสร้างมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าและสร้างความตระหนักรู้ อาจจะเป็นผลดีกว่าการเยียวยาเหยื่อและตามดำเนินดีอาชญากรหลังเกิดความเสียหายแล้ว" ผศ.ดร.ทศพล ระบุ

ในด้านความปรารถนาส่วนบุคคลหรืออคติทางสังคม งานวิจัยฯ ยังค้นพบว่าผู้ต้องหาจะเป็นกลุ่มชาวแอฟริกันที่สร้างโปรไฟล์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยมักอ้างว่าตนเป็นชายหรือหญิงผิวขาว มีอาชีพเป็นทหาร สังกัดกองทัพสหรัฐ ซึ่งผู้เสียหายก็มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งผู้ต้องหากลุ่มนี้จะใช้แอพพลิเคชั่น Facebook พูดคุยกับหญิงไทย มักอ้างตนว่าเป็นฝรั่งผิวขาวลูกครึ่ง สำหรับโปรไฟล์ผู้ชายปลอมนั้น จะเป็นคนมีเสน่ห์ ลักษณะฐานะมั่นคง บางรายอ้างว่าเคยมีครอบครัวแต่ล้มเหลว ซึ่งเป้าหมายก็จะเป็นผู้หญิงวัยเกษียณ เป็นม่าย หย่าร้างแล้ว ใช้วิธีที่ดึงดูดใจแต่ละคนแตกต่างกันไป ส่วนมากจะทำเป็นกิจวัตร เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ดูน่าเชื่อถือ ทั้งนี้การหลอกลวงให้ส่งเงินนั้น อาชญากรจะสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เหยื่อหลงกลอาชญากร ร้องขอให้เหยื่อแสดงกิจกรรมทางเพศหน้า Webcam บางคนจะโดนขู่ว่าจะ Blackmail มีการซ้อนแผนของ อาชญากร เมื่อเหยื่อรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอกโดยอาชญากรจะปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ผศ.ดร.ทศพล ระบุถึงประเด็น 'มานุษยวิทยาและสังคมวิทยาของการสร้างความไว้ใจ' เอาไว้ว่าผู้เสียหายถูกหลอกด้วยภาษา ทั้งที่ผู้เสียหายบางคนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านภาษาเป็นอย่างดีอาชญากร ใช้วิธีการสร้างบทบาท บุคลิก ลักษณะของ 'คนดี' 7 ลักษณะ คือ 1.คนดีมีศีลธรรม 2.เนื้อคู่/คู้แท้ ไว้ใจได้ 3.ผู้ที่มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาสูง และถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี 4.คนมีเสน่ห์ น่าหลงใหล 5.เหยื่อเป็นคนสำคัญ 6.เหยื่อมีคุณค่า น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ และ 7.คนที่รู้จักสำนึกบุญคุณ

สำหรับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายแบบรัฐสมัยใหม่ พบว่า Romance Scam ยากที่จะป้องกันเพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะแบ่งปันเรื่องราวกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของตนเองลงไปในสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็ไม่ได้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ไม่ตรวจสอบ ไม่ตักเตือน 

มีการปราบปรามยากเพราะการติดตามตัวผู้ต้องหามารับโทษมีความยากลำบากเนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว Romance Scam จะเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาจะกระทำความผิดอยู่นอกราชอาณาจักรเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้การร้องทุกข์ต่อความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมนั้นมีต้นทุน เช่นเดียวกับการสืบสวนทำสำนวนร้อง ประเทศไทยยังขาดแคลนข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อการดำเนินคดีไซเบอร์ อยู่นอกเขตอำนาจศาล กระบวนการของรัฐใดรัฐหนึ่งย่อมไม่อาจดำเนินคดีกับอาชญากรและเยียวยาเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งขั้นตอนและความซับซ้อนของระบบราชการในการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ผู้ให้บริการเอกชน

ผศ.ดร.ทศพล ยังระบุว่าคดีละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากพิศวาสอาชญากรรมที่เกิดขึ้นมีจำนวนน้อยมากที่คดีจะผ่านจากชั้นตำรวจ อัยการขึ้นไปสู่ศาล ถ้าหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่าไม่ถึง 10% เท่านั้นที่ไปคดีเหล่านี้จะไปถึงอัยการ และมีเพียง 2% เท่านั้นที่จะรอดไปถึงศาล ซึ่งเปอร์เซ็นต์เหล่านี้ยังไม่นับรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ไม่กล้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดทางทั้งทางกระบวนการยุติธรรม เช่น ข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ในการเก็บรวบรวมหลักฐาน รวมทั้งความรู้ในวิธีการและขั้นตอนในหารสืบหาพยานหลักฐาน การเลือกใช้กฎหมายในการดำเนินคดี ระยะเวลาในการดำเนินคดี และยังพบว่าเมื่อผู้เสียหายตัดสินใจไปแจ้งความก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบกลับว่า “ก็คุณเป็นคนโอนเงินให้เขำเอง” “ทำไมคุณเชื่อคนง่าย” รวมถึงความไม่รู้กฎหมายและความรู้สึกของการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายเอง

เนื้อหาบางส่วนจากผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท