Skip to main content
sharethis

พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวดัชนีเงินในกระเป๋าประชาชนไตรมาส 2 ชี้ GDP โต แต่เงินในกระเป๋าคนไม่เพิ่ม รายได้เกษตรกรลด 5% ค่าจ้างโตต่ำกว่า GDP แรงงานภาคท่องเที่ยวโดนผลกระทบหนักค่าจ้างไม่โต อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมองให้ไกลกว่ากระตุ้น GDP เม็ดเงินมีน้อยต้องยิงให้เข้าเป้า เลิกยิงกราด


ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2562 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ได้แถลงข่าวเปิดตัวดัชนีเงินในกระเป๋าประชาชนไตรมาส 2 โดยระบุว่าจากการที่สภาพัฒน์ได้แถลงสภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/2562 GDP ขยายตัว 2.3% โตต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 ภาคส่งออก และท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ที่น่าสังเกตคือบริโภคและลงทุนภาครัฐที่ควรจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือหลักของรัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผลปรากฏว่ากลับขยายตัวต่ำ การบริโภคภาครัฐขยายตัว 1.1% ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.4% ซึ่งเมื่อไปดูในรายละเอียดพบว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นไปได้อย่างล่าช้า อีก 2 เดือนกำลังจะหมดปีงบประมาณ แต่เบิกจ่ายไปได้เพียง 55% หรือเกินครึ่งไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แต่การมอง GDP อย่างเดียวไม่ได้สะท้อนปากท้องของประชาชน พรรคอนาคตใหม่จึงคำนวณดัชนีเงินในกระเป๋าประชาชนที่จะเป็นตัวสะท้อนรายได้ ค่าครองชีพ ภาระหนี้สินของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากผลการศึกษาพบว่าดัชนีเงินในกระเป๋าประชาชนไตรมาส 2 ไม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า รายได้เกษตรกรลด 5% จากปัญหาภัยแล้ง และราคาผลผลิตตกต่ำ ในส่วนของรายได้แรงงาน ค่าจ้างเฉลี่ยหลังหักเงินเฟ้อโตต่ำกว่า GDP แรงงานภาคท่องเที่ยวโดนผลกระทบหนักค่าจ้างไม่โต โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวโตเร็ว แต่รายได้ไม่ตกถึงแรงงาน ส่วนแรงงานก่อสร้างรับกรรมจากภาคอสังหาอิ่มตัวค่าจ้างไม่ขึ้น ที่ยังเพิ่มขึ้นคือค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมแต่มีแนวโน้มชะลอตัวในอนาคตจากพิษเศรษฐกิจ แรงงานค้าปลีกมีแนวโน้มดีขึ้นรับผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เม็ดเงินที่ประกาศ 3.16 แสนล้านบาท ราวกว่า 100,000 ล้านบาท เป็นการแจกเงินไปที่ประชาชนโดยตรง ส่วนอีก 200,000 ล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อ ซึ่งเอามารวมตรงๆ แบบนี้ไม่ได้ ทั้งที่มาของเงินงบประมาณ เม็ดเงินงบประมาณที่ใช้จริงก็ต่างกัน ผลของมาตรการก็ต่างกันด้วย วงเงินสินเชื่อนั้น หลักใหญ่ใจความของมาตรการเศรษฐกิจนี้สู้กับความท้าทาย 3 เรื่อง คือ ภัยแล้ง บริโภค ลงทุนชะลอตัว

มาตรการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือมาตรการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุนภายในประเทศ และมาตรการช่วยค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.1 มาตรการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เห็นด้วยว่าต้องมีมาตรการในส่วนนี้ ซึ่งในความเป็นจริง ควรแยกส่วนกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อดูรายละเอียดพบว่าส่วนใหญ่เป็นมาตรการสินเชื่อกว่า 55,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรนั้นมีหนี้ที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ของเกษตรกรนั้นสูงถึง 1.3 เท่า การให้สินเชื่อเพิ่มอาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก แต่ควรทำมาตรการพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หรือควรจัดเป็นเงินช่วยเหลือภัยพิบัติมากกว่า ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งที่ให้เงินชดเชยต้นทุนกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ยังไม่ครอบคลุมเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ แต่ที่น่าเสียดายคือรัฐบาลควรออกมาตรการแต่เนิ่นๆ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรที่ปลูกพืชที่ใช้น้ำมากให้หันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งถ้ามีการออกมาตรการนี้ตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถลดความเสียหายให้กับเกษตรกร ไม่ให้ต้องลงทุนเพาะปลูกและเสียหายในภายหลัง

1.2 มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการลงทุนภายในประเทศ -สำหรับการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไป เป็นมาตรการที่แจกเงินโดยตรงให้กับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นมาตรการยิงกราด ไม่เมืองหลัก เมืองรอง ไม่กำหนดร้านค้าเล็ก ร้านใหญ่ โรงแรมเล็ก โรงแรมใหญ่ โดยพรรคอนาคตใหม่เสนอว่าควรเพิ่มงบลงทุนปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองรอง สร้างงานในเมืองรอง เงินจะหมุนได้มากรอบกว่ากระตุ้นการใช้จ่าย -มาตรการส่งเสริมการลงทุน ก็ดูเหมือนจะดูดี เฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทกำลังอ่อนค่า และการลงทุนในประเทศชะลอตัว แต่ 2 เรื่องที่ต้องกังวลคือ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังต่ำอยู่ที่ 67.5% และมีแนวโน้มลดลง อาจทำให้มาตรการลดหย่อนสินค้าทุนไม่ได้ผล ที่สำคัญ SME มีปัญหาหนี้สินและ NPL ควรเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนอัดเงินกู้ เพื่อให้ SME ลืมตาอ้าปากได้ก่อนกู้เพิ่ม ไม่อย่างนั้นก็จะมี SME รายเดิมๆ ที่ดูแลตัวเองได้แล้ว ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการ และ 1.3 มาตรการช่วยค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ น่าจะเป็นมาตรการที่ได้ผลระยะสั้นดีที่สุด และช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้จริง เนื่องจากสามารถกดเป็นเงินสดรวมถึงการพักหนี้กองทุนหมู่บ้าน แต่ขอให้มีการประเมินผลเป็นระยะ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และการเข้าถึงคนรายได้น้อยให้ดีขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net