ทวี สอดส่อง: แนวทางการปฏิรูปที่ดินเอกชนทิ้งร้าง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐต้องนำที่ดินและพื้นที่ป่าที่เอกชนเช่าทำประโยชน์กลับคืนมาเพื่อการปฏิรูปและต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมตรวจสอบในการออกเอกสารสิทธิฯ

จากที่ได้เข้าร่วมงานเสวนา "ปฏิรูปที่ดินเอกชนทิ้งร้าง สร้างประชาธิปไตย และความเป็นธรรม" จัดโดยสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และเครือข่าย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ณ อาคารประชาธิปก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น ขอนำบางประเด็นที่ผู้เขียนได้เสนอในเวทีมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมในที่นี้อีกครั้ง
 
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อมาในปี พ.ศ.2551-2553 ได้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้มีการร้องเรียนจากชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตำบลคลองน้อย และ ชุมชนคลองไทรพัฒนา ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ว่ามีกรณีพิพาทที่ทำกินกับกลุ่มนายทุนบริษัทที่ได้รับสัมปทานพื้นที่ทำสวนปาล์ม โดยมีชาวบ้านถูกยิงตายและได้รับบาดเจ็บหลายราย
 
ที่น่าตกใจมากก็คือ หน่วยงานรัฐภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินรัฐเป็นจำนวนมาก โดยมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่แสนถูก ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีที่ทำกินและต้องมาเรียกร้องต่อรัฐ

กรณีการให้บริษัทเอกชนเช่าที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในเขตตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี กินเนื้อที่มากถึง 8,250 ไร่ ระยะเวลาการเช่านาน 30 ปี โดยเริ่มเช่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2536 สัญญา และจะสิ้นสุดการเช่าเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.2566 เป็นที่น่าสังเกตว่ามีค่าเพียงเช่าไร่ละ 50 สตางค์ต่อปี หรือไร่ละ 15 บาทต่อ 30 ปี หรือ  123,750 บาท ต่อที่ดิน 8,250 ไร่ ต่อ 30 ปี เท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทผู้เช่า คือ บริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำมันและสวนปาล์ม จำกัด ซึ่งต่อมาได้ควบรวมกับอีกบริษัทซึ่งที่ได้รับสัมปทานเช่นกัน โดยรวมเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน  (ขอไม่เปิดเผยชื่อ)

อนึ่ง สิ่งที่รัฐควรจะทำกับที่ดินแปลงที่กำลังจะครบสัญญาเช่าที่ให้กับนายทุนก็คือ ต้องรับคืนที่ดินกลับมาเป็นของรัฐเพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ต่อไป นอกจากที่ดินที่ตำบลบางสวรรค์แล้ว ยังมีพื้นที่ป่าที่รัฐให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนเพื่อปลูกปาล์มในแบบเดียวกันในอีกหลายแปลงจำนวนหลายหมื่นไร่  บางส่วนครบกำหนดสัญญาสัมปทานแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่นำกลับคืนมา
 
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดกับคนไร้ที่ทำกินและไร้ที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ซึ่งควรเป็นทรัพย์สมบัติของประชาชน 

นอกจากนั้นก็ยังมีประเด็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ที่ควรต้องทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อการนำที่ดินที่ได้ให้เช่าไปกลับมาเป็นของรัฐเพื่อการปฏิรูปต่อไป
 
กรณีการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้เอกชนนั้น ประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320 ล้านไร่ โดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยสามารถออกเอกสารสิทธิ โฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก และอื่นๆ ให้เอกชนได้ ปัจจุบันมีเอกสารสิทธิที่กรมที่ดินออกให้แก่เอกชนไปแล้วประมาณ 128 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินในความดูแลของรัฐในลักษณะต่างๆ เช่น ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ราชพัสดุ หรือที่สาธารณะ เป็นต้น
 
มีคำถามว่าที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิให้เอกชนไปประมาณ 128 ล้านไร่นั้น เพียงพอหรือยัง คำตอบคือ เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ถือว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” หรือ เงินตรา โดยกฎหมายที่ดินทำหน้าที่เป็นกฎหมายเพื่อออกเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็น โฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก ให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินเพื่อให้สามารถนำไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้มีการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรและเพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายที่ดินของไทยไม่มีแนวคิด/หลักการเรื่อง “การปฏิรูปที่ดิน” อยู่เลย

อีกทั้งประมวลกฎหมายที่ดินของไทยไม่ได้มองว่า “ที่ดินคือปัจจัยการผลิต” หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่สังคม หากมองว่า ที่ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ก็จะต้องมีการลงทุนลงแรงอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดิน อันจะลดการแย่งชิงกันเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อนำมาเป็นสินทรัพย์ และจะช่วยทำให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด
 
เมื่อที่ดินเป็นสินทรัพย์ เราจึงพบว่าที่ดินเอกชนที่มีโฉนดหรือมี น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก ได้ถูกปล่อยรกร้าง ทอดทิ้ง ไม่มีการทำประโยชน์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันกรรมสิทธิของที่ดินรกร้างเหล่านี้ถูกใช้ไปในการกู้เงินหรือทำนิติกรรมเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้ถูกนำไปทำประโยชน์ด้านการเกษตรหรือใช้เป็นปัจจัยในการผลิตอาหารแต่อย่างใด
 
ส่วนในเรื่องการปฏิรูปที่ดินนั้น มีคำกล่าวว่า “ไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้วใดที่สถาบันการถือครองที่ดินทำงานล้มเหลว และไม่มีประเทศที่ด้อยพัฒนาใดที่สถาบันการถือครองที่ดินที่ทำงานได้สำเร็จ”
 
กรณีประเทศไทยมีความแตกต่างในให้คุณค่าต่อที่ดิน กล่าวคือ สำหรับชุมชน/ท้องถิ่น/เกษตรกร มองว่า “ที่ดินคือที่ทำกินเพื่อผลิตอาหาร” ส่วนรัฐและกลุ่มนายทุนมองว่า  “ที่ดินคือสินทรัพย์เพื่อเก็งกำไรและสร้างความมั่งคั่ง”
 
อันที่จริงเราควรต้องให้คุณค่าแก่มิติทางสังคมของที่ดินด้วย เพราะที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ทางสังคม การใช้ประโยชน์ในที่ดินส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม ตลอดจนต้องให้คุณค่ากับมิติทางนิเวศน์ของที่ดิน เพราะที่ดินเป็นสินทรัพย์ทางสิ่งแวดล้อม การใช้ที่ดินต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์
 
สำหรับที่ดินเอกชน ตามกฏหมายที่ดิน หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ถ้าเป็น โฉนดที่ดินเกินสิบปีติดต่อกัน และหนังสือรับรองการทำประโยชน์เกินห้าปีติดต่อกัน ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป
 
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่บัญญัติกฎหมายนี้มาในปี พ.ศ. 2497 รัฐยังไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเลยแม้แต่แปลงเดียว ทั้งๆ ที่มีที่ดินเอกชนรกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก
 
การมองว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” จึงเป็นต้นตอของการบุกรุกป่าและที่สาธารณประโยชน์ โดยการเอื้ออำนวยของประมวลกฎหมายที่ดิน เนื่องจากมาตรา 58 ระบุให้มีการเดินสำรวจออกเอกสารสิทธิ  โดยเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ก็ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่อะไร

นอกจากนั้นประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59  ระบุว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย ไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58  แล้วหรือไม่ก็ตาม เจ้าพนักงานมีอำนาจ นั่นคือ เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจเต็มที่ในการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก
 
ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการมีการแก้ไขหรือปฏิรูปมาตรา 58 และ มาตรา 59 ในประมวลกฎหมายที่ดิน โดยในการออกเอกสารสิทธิ  ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส. 3 หรือ น.ส.3 ก ในที่ดินแปลงที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือต่อชุมชน รวมทั้งในแปลงที่มีประเด็นพิพาทอื่นๆ นั้น ต้องให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่ที่ดินตั้งอยู่ได้มีส่วนร่วมในการอนุญาตออกเอกสารสิทธิ และต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนด้วย  
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท