Skip to main content
sharethis

สื่อนิคเคอิเอเซียนรีวิววิจารณ์ไทยอ้างใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองยุคเก่าตั้งแต่สมัยสงครามเย็น บังคับให้คนต่างชาติต้องแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมงทุกครั้งที่มีการเดินทางเข้าประเทศ นักวิเคราะห์มองในช่วงที่ผ่านมาการก่อการร้ายในประเทศไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น การอ้างใช้กฎหมายเก่า 40 ปีที่แล้ว จึงไม่เข้ากับสภาพชีวิตผู้คนในปัจจุบัน


ที่มาภาพประกอบ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา สื่อนิคเคอิเอเซียนรีวิวรายงานว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยสร้างความสะพรึงให้กับประชาคมธุรกิจจากต่างชาติ ชาวต่างชาติผู้อาศัยในประเทศไทยระยะยาว รวมถึงนักศึกษาจากต่าชาติและผู้อาศัยเกษียณอายุ จากการที่ทางการไทยอ้างใช้กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งในมาตรา 38 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุให้ เจ้าของบ้าน หัวหน้าของที่พักอาศัย เจ้าของที่ดิน หรือผู้จัดการโรงแรม ที่ให้บริการที่พักชั่วคราวแก่ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศอย่างถูกกฎหมาย ต้องแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ทุกครั้งเมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาภายใน 24 ชั่วโมง โดยสามารถกระทำได้หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นแจ้งด้วยตนเองที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปจนถึงใช้ระบบออนไลน์ โดยชาวต่างชาติที่ไม่ได้แจ้งจะต้องถูกปรับเป็นวงเงิน 800-2,000 บาท

ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้จะระบุถึงความรับผิดชอบที่ตัวผู้ให้ที่พักอาศัย แต่ทนายความด้านคนเข้าเมืองคนหนึ่งของ ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าผลกระทบหลักๆ จะไปตกอยู่ที่ชาวต่างชาติเองเพราะชาวต่างชาติเป็นคนที่ต้องจ่ายค่าปรับเหล่านี้

เอเซียนนิคเคอิรีวิวระบุว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นซากอารยธรรมจากสมัยสงครามเย็นถูกขุดออกมาจาก "กรุราชการนิยม" อีกครั้ง คล้ายกับกฎหมายเก่าของพม่าในช่วงที่นายพลเนวินยึกอำนาจปี 2505 อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทางการไทยก็ลดทอนความสำคัญของปัญหานี้และอ้างใช้ประโยคเดิมๆ คือ "กฎหมายย่อมเป็นกฎหมาย" รวมถึงอ้างว่าเพื่อเป็นการต่อต้านการก่อการร้าย

พล.ต.ต.ปฏิพัทธ์ สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 กล่าวในทำนองนี้ไว้ในเวทีอภิปรายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย (FCCT) โดยบอกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา "มีกรณี (ก่อการร้าย) เกิดขึ้นจำนวนมากในไทย"

แตนักวิเคราะห์จากตะวันตกก็โต้แย้งว่าภัยก่อการร้ายในไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่การที่ทางการไทยทำเช่นนี้เพราะมาจาก "ความรู้สึกรวมๆ ที่ว่ามีอาชญากรรมจากต่างชาติที่ไม่ใช่การก่อการร้ายกำลังเพิ่มขึ้นในระดับควบคุมไม่ได้" ทั้งนี้เขาก็วิจารณ์ว่ามันเป็นความรู้สึกแบบข้าราชการอนุรักษ์นิยมจัดมาก และการอาศัยกฎหมายเมื่อ 40 ปีที่แล้วมาจัดการกับปัญหาในปี 2562 ก็ถือเป็นการวิ่งถอยหลัง

การใช้กฎหมายนี้ส่งผลกระทบกับคนที่มีวีซาแบบระยะยาวกว่าวีซา 30 วัน พวกเขาต้องรายงานตัวทุกครั้งที่กลับมาถึงแม้ว่าจะออกจากพื้นที่ไปพักผ่อนสุดสัปดาห์หรือทำธุระส่วนตัวก็ตาม โดยต้องมีกาใช้เอกสาร TM30 ในการรายงานตัว

กฎหมายดังกล่าวนี้ออกมาตั้งแต่ช่วงปี 2522 ที่ในตอนนั้นประเทศไทยยังคงมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่า 2 ล้านคนต่อปี แต่ก็มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากกัมพูชา, ลาว, เวียดนาม เข้ามาในประเทศไทย หลังจากที่แถบอินโดจีนตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงกลางปี 2518 และมีเหตุการณ์บุกโจมตีประเทศกัมพูชากับเวียดนามในปี 2521 ต่างจากในทุกวันนี้ที่มีการประเมินว่าจะมีผู้เข้าประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายมากกว่า 39 ล้านคนในปี 2562 โดยที่มีจำนวน 11 ล้านคนมาจากจีนและ 2 ล้านคนมาจากอินเดีย

ทั้งนี้ในรายงานข่าวของนิคเคอิยังระบุถึงความไม่คงเส้นคงวาของการบังคับใช้กฎหมายนี้ รวมถึงมีความยุ่งยากในการเข้าถึงเอกสาร TM30 จากที่เมื่อไม่นานนี้มีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเดินทางเข้าประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิและถามหาแบบฟอร์มนี้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ และเมื่อชาวต่างชาติไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้องแม่นยำก็ยากที่จะทำให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายนี้ 

แม้กระทั่งกับระบบออนไลน์ก็มีปัญหาความล่าช้าที่ผู้ยื่นคำร้องบางคนต้งรอ 6 สัปดาห์ถึงจะได้รับรหัสผ่านทั้งที่ระบบให้สัญญาว่าจะส่งรหัสผ่านให้ภายใน 7 วัน และเมื่อผู้ใช้งานสามารถใส่รหัสผ่านเข้าไปในระบบออนไลน์ได้แล้วก็ต้องเจอกับเว็บไซต์ที่ออกแบบมาแย่ๆ มักจะเกิดข้อผิดพลาดและอัพโหลดส่งต่างๆ ได้ยาก สิ่งเหล่านี้ขัดกับการพยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" ที่ให้ความสำคัญต่อ "นวัตกรรม เทคโนโลยี และความความคิดสร้างสรรค์"

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแค่กระทบชาวต่างชาติเท่านั้น ยังกลายเป็นปัญหาสำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำงานในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย จากการที่ระบบงานทำให้เกิดการ "โหลดงาน" ที่คนในตำแหน่งล่างๆ โดยที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ได้ใยดีพวกเขา

เรื่องนี้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาจาก เซบาสเตียน บรูสซูว ชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศสผู้อำนวยการบริหารบริษัททนายความอิสานลอว์เยอร์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไม่นานนี้เขาได้ตั้งเว็บไซต์ที่ชวนให้ตระหนักถึงปัญหาของการร้องขอเอกสาร TM30 จากทางการ ซึ่งเว็บไซต์ของเขาสามารถล่ารายชื่อร้องเรียนได้อย่างน้อย 5,000 รายชื่อใน 10 วัน บรูสซูวบอกว่ากฎหมายควรจะ "มีตรรกะ มีเหตุผล และมีประสิทธิภาพ" และชาวต่างชาติที่แม้จะไม่มีสัญชาติไทยก็มีสิทธิมีเสียง พวกเขาควรจะสามารถหารือกับหน่วยงานคนเข้าเมืองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาได้ สำหรับบรูสซูวแล้วในตอนนี้เขาเห็นแต่ความล้าหลังและลูกค้าของเขาก็พากันออกจากประเทศไทยเพราะรู้สึกว่าไทยไม่ต้อนรับพวกเขา

ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยอีกรายหนึ่ง ริชาร์ด แบร์โรว ระบุในบล็อกของเขาว่ามีบางคนเปรียบเทียบระบบกฎหมายคนเข้าเมืองนี้ว่าเหมือน "เอาฆ้อนยักษ์มาไล่ทุบยุง" และดูเหมือนว่าทางการไทยจะไม่แยแสว่าพวกเขาได้สร้างความเสียหายอะไรไว้บ้าง

คริส ลาร์กิน ผู้อำนวยการของสภาหอการค้าออสเตรเลียกำลังหาหนทางแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเสนอให้มีการออกบัตรประจำตัวระบุตัวตนสีชมพูให้กับคนต่างชาติที่อาศัยในไทยระยะยาว แบบเดียวกับที่ออกให้กับแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา ลาว และเวียดนาม 2 ล้านคน 


เรียบเรียงจาก
Thailand's Cold War immigration tactics unnerve long-term foreigners, Nikkei Asian Review, 21-08-2019
https://asia.nikkei.com/Politics/Thailand-s-Cold-War-immigration-tactics-unnerve-long-term-foreigners

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net