Skip to main content
sharethis

คุยกับธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ย้อนรอยที่มาของระบอบการปกครองไทยที่เราได้ยินกันตั้งแต่เล็กจนโต อยู่ในแบบเรียนทุกเล่ม รัฐธรรมนูญ (ไม่ทุกฉบับ) รู้หรือไม่ว่ามันไม่ได้มีมาแต่แรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากเป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างอำนาจ “เก่า” และอำนาจ “ใหม่” สะท้อนผ่านถ้อยคำหรือชื่อของระบอบการปกครอง หากเข้าใจคำนี้ได้ก็จะเข้าใจการเมืองไทยตลอด 87 ปีที่ผ่านมา

  • "ประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" เป็นชื่อระบอบการปกครองของไทยที่ไม่ได้มีขึ้นหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที แต่มีขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 หลังการรัฐประหารโดยคณะทหาร ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายนิยมเจ้าเมื่อ พ.ศ. 2490
  • ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มาจากต่างประเทศ
  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการต่อสู้กันเรื่องตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าว ว่าพระมหากษัตริย์จะเป็นประมุข "ใต้" หรือ "ตาม" รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ท่ามกลางบริบทร้อนระอุทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น เรื่อยมาถึงการเสด็จสวรรคตของในหลวง ร.8
  • รัฐประหาร 2490 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พระราชอำนาจ บทบาท และการรับรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์สูงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านกฎหมาย พระราชกรณียกิจและงานประวัติศาสตร์ ในขณะที่การรับรู้เกี่ยวกับคณะราษฎรค่อยๆ ถูกเปลี่ยนให้เป็นเผด็จการและผู้ชิงสุกก่อนห่ามบ้าง วาทกรรม "ล้มเจ้า" ก็ค่อยๆ ถูกก่อรูปก่อร่างขึ้นมา และการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ก็กลายเป็นข้ออ้างที่คณะรัฐประหารใช้ในการก่อรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง

หากถามว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบอะไร คุณจะตอบว่า .....

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” น่าจะเป็นคำตอบของทุกผู้ทุกนาม

คำถามคือ ชื่อระบอบนี้เป็นสิ่งที่เป็นมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ใช่หรือไม่ คนจำนวนมากน่าจะตอบว่า “ใช่” แม้ว่าที่จริงแล้วคือ “ไม่”

คำคำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มันเพิ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญไม่กี่ฉบับหลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมครองอำนาจ และคำอธิบายที่ดูจะเน้นส่วนหลังของประโยคมากกว่าส่วนหน้าก็เพิ่งผลิตมาตอกย้ำซ้ำๆ เมื่อยี่สิบสามสิบปีนี้เอง

ที่แปลกคือ ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีกษัตริย์เป็นประมุขที่มีอยู่ราว 37 ประเทศทั่วโลก (ในจำนวนนั้น 16 ประเทศเป็นเครือจักรภพ ที่มา:Times of India) เช่น อังกฤษ สวีเดน เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ทั้งหมดเรียกขานระบอบของประเทศตัวเองว่า “ประชาธิปไตย” โดยไม่มีสร้อยพ่วงท้ายเหมือนเรา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยอธิบายไว้สมัยเป็นคอลัมนิสต์ที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปี 2539 ว่า ชนชั้นนำตั้งใจเรียกขานระบอบนี้เพื่อสื่อความหมายว่า มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย (เฉยๆ) ที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นกษัตริย์ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็คือ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่มีพยายามผลักดันขึ้นสมัยสฤษดิ์

“แบบไทยๆ” นี้เป็นแบบไหน เส้นทางการแย่งชิงความหมาย แย่งชิงอำนาจนำ ระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ฝุ่นตลบขนาดไหน ประชาไทพาไปคุยกับ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อที่อย่างน้อยจะได้เห็นว่าคำนี้เป็นประดิษฐกรรมใหม่ทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้น และการแย่งชิงการนำนั้นยังดำเนินอยู่...เบื้องหน้าท่านทั้งหลาย

-อุ่นเครื่อง-

เมื่อทั่วโลกขบคิดเรื่องการจัดวางสถาบันกษัตริย์

หลากหลายไอเดีย มีหรือไม่มีสถาบันกษัตริย์

“สถาบันพระมหากษัตริย์คือสถาบันที่มีพัฒนาการมาเก่าแก่ยาวนาน ในทางปรัชญาและระบบการเมืองก็พูดคุยถึงการปกครองระบอบที่ดี การมีกษัตริย์ที่ดีและการมีสังคมที่ดีมันสัมพันธ์กัน ถ้าไปดูยุคกรีกโรมันเขาก็คุยกันเรื่องนี้ทั้งนั้น แม้แต่ในจีนโบราณก็คุยกันว่าจะได้จักรพรรดิที่ดีอย่างไร พอเข้าสู่ยุคใหม่ก็มีปัญหาว่า บุคคลก็มีความคิด มีความแตกต่างกันไปตามเจเนอเรชั่น ตามเงื่อนไขต่างๆ เลยเกิดการสร้างระบอบทางการเมืองที่มั่นคงกว่าตัวบุคคลขึ้นมา ผมคิดว่าตรงนี้คือระบอบประชาธิปไตยได้ขึ้นมาท้าทายการปกครองในแบบราชาธิปไตย”


ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ธำรงศักดิ์เริ่มเท้าความไปถึงทางเลือกในการปกครองที่เติบโตผ่านกาลเวลา แนวคิดประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ในสมการด้วยเป็นที่ถกเถียงกันในโลกตะวันตกมานานแล้ว การปฏิวัติฝรั่งเศสที่นำมาสู่การจบชีวิตทางการเมืองและชีวิตจริงๆ ของกษัตริย์สร้างความวิตกกังวลให้ประเทศที่ยังเป็นระบอบราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หลงเหลือทั่วยุโรป ส่งต่อกันเป็นทอดๆ มาจนถึงชนชั้นสูงของไทย ระบอบการเมืองการปกครองในรัสเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ เริ่มมีการศึกษาหรือปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น

ธำรงศักดิ์เล่าว่า โมเดลประชาธิปไตยแบบหลักๆ ที่พูดถึงกันในสมัย ร.6-ร.7 จนกระทั่งถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง หมุนวนอยู่กับประชาธิปไตยที่ยังมีพระมหากษัตริย์อยู่

“ในความรับรู้ของสังคมไทย ประชาธิปไตยมีสองแบบ หนึ่ง แบบอังกฤษที่ยังคงรักษาสถานภาพของกษัตริย์ไว้ กระบวนการของอังกฤษผ่านการต่อสู้ยาวนาน 700-800 ปีกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุด แต่ก็ยังมีสถาบันกษัตริย์เป็น Head of State (ประมุขแห่งรัฐ) ในขณะที่การปฏิวัติอเมริกาและต่อมาคือปฏิวัติฝรั่งเศส ได้สร้างประชาธิปไตยเป็นแบบสาธารณรัฐที่มีประมุขจากการเลือกตั้ง ดังนั้นชุดความรู้ประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงมีว่า จะเป็นประชาธิปไตยแบบอังกฤษหรืออเมริกา กบฏยังเติร์กหรือกบฏหมอเหล็งสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ก็คุยกันว่าเราควรจะเดินทางไหนระหว่างประชาธิปไตยแบบอังกฤษกับอเมริกา ความคิดนี้มีแน่ แต่เสียงของฝ่ายทหารยังเติร์กมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตยแบบอังกฤษ”

“เพราะสังคมไทยมีความสืบเนื่องของสถาบันกษัตริย์มานาน กลุ่มผู้นำที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจึงต้องตระหนักเสมอว่าการที่จะล้มเลิกสถาบันบางสถาบันลงอาจส่งผลถึงความวุ่นวายทางสังคมการเมืองได้ เราจะเห็นว่ากรณีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือของฝรั่งเศสที่อีกร้อยปีถึงจะลงตัวเพราะมีการต่อสู้ ดึงไปดึงมาตลอดเวลา”

“จากพวกยังเติร์กสมัยรัชกาลที่ 6 อีก 20 ปีต่อมาเป็นปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร คนกลุ่มนี้เลือกตั้งแต่ก่อตั้งคณะขึ้นมาก่อนปฏิวัติ 5 ปีว่าจะเลือกประชาธิปไตยแบบอังกฤษ สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดมา คือ ชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงตระหนักดีว่าไม่ได้ต้องการทำให้เกิดภาวะการต่อสู้เข่นฆ่านองเลือด เพราะยังมีเส้นทางที่จะเลือก เขาจึงเลือกในแบบที่ญี่ปุ่นเลือก”

ธำรงศักดิ์พูดถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองของญี่ปุ่นในสมัยเมจิที่จักรพรรดิรวบอำนาจจากขุนศึกที่กระจายตัวอยู่ทั่วดินแดนในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังจากไม่มีอำนาจในทางพระเดชและถูกใช้เป็นตรายางเพื่อความชอบธรรมของขุนศึกที่ขึ้นเป็นใหญ่มายาวนานหลายศตวรรษ ใน ค.ศ. 1868 ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของจักรพรรดิ ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นพัฒนาตัวเองขึ้นจนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ก่อนสิ้นสุดความรุ่งเรืองเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่2  

“ญี่ปุ่นเป็นตัวแบบของสังคมไทยเลย เพราะสามารถนำพาตัวเองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจากระบบศักดินา ระบบซามูไรเข้าสู่โลกสมัยใหม่ด้วยการเลือกประชาธิปไตยแบบอังกฤษที่ยังคงมีจักรพรรดิอยู่ มันมีอิทธิพลต่อกลุ่มชนชั้นนำรุ่นใหม่ของไทยมากทั้งทหารและพลเรือน เพราะประสบความสำเร็จจากการถูกบังคับให้เปิดประเทศพร้อมๆ กับไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่กลายเป็นมหาอำนาจของโลกได้ใน 30-40 ปีต่อมา แม้แต่คณะเจ้านายที่เสนอให้รัชกาลที่ 5 ปรับปรุงระบอบการปกครองที่เรียกว่า รศ. 103 ก็มีคำอธิบายอย่างหนึ่งคือ ดูตัวอย่างของญี่ปุ่นสิ”

-ยกที่หนึ่ง-

ชักเย่ออำนาจ สลับกันรัฐประหาร

ประมุข ‘ใต้’ หรือ ‘ตาม’ รัฐธรรมนูญ คำเชื่อมคำเดียวสะท้อนอำนาจนำ

สมการหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมีตัวตั้งว่าจะยังมีพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ปัญหาคือ บทบาท อำนาจ ของกษัตริย์ในระบอบใหม่จะอยู่ตรงไหน

เรื่องนี้สะท้อนผ่านการใช้คำในรัฐธรรมนูญยุคแรกเริ่ม ระหว่างคำว่า ราชาธิปไตย “ใต้” หรือ “ตาม” รัฐธรรมนูญ (สังเกตว่ายุคแรกยังไม่ใช้คำว่า ประชาธิปไตย) การต่อรองในคำบุพบทนี้มีบันทึกในราชหัตถเลขาของ ร.7 ต่อการยึดอำนาจของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 ว่าพระองค์ทรงยอมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ‘ตาม’ รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ ‘ใต้’ รัฐธรรมนูญ


การประชุมรัฐสภา สมัยรัฐบาล พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
ภาพถ่ายราว พ.ศ. 2480 ที่มา: รัฐสภาไทย/
Wikipedia (Public Domain)

“ตอนแรกเขาใช้คำว่า ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ นี่คือคำของคณะราษฎร แปลมาจากคำว่า constitutional monarchy ซึ่งเป็นไปตามศัพท์ที่ใช้กันในอังกฤษ ดังนั้นศัพท์ที่ใช้ในอังกฤษก็คือมีองค์พระมหากษัตริย์แน่ๆ แต่องค์พระมหากษัตริย์ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือไม่ทรงมีพระราชอำนาจอะไรที่เป็นของพระองค์ที่ออกนอกขอบเขต เมื่อคณะราษฎรนำมาใช้จึงแปลคำนี้เป็น ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดรับกับภาพที่เห็นในการปกครองของอังกฤษ”

“การใช้คำว่า ‘ใต้’ มีความหมายว่าคณะราษฎรทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็น Head of State ที่มีสถานะจำกัดด้านอำนาจหน้าที่ในแบบอังกฤษ แต่ฝ่ายระบอบเก่าต้องการที่จะแปลงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ในเสื้อคลุมของประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้คงมีอำนาจในรูปลักษณ์ใหม่ ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงสามารถเป็นได้ทั้งเนื้อหา หรือเป็นเสื้อคลุมที่ใช้ตกแต่งเรือนร่างอย่างไรก็ได้” ธำรงศักดิ์กล่าว

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองดูเหมือนอำนาจของสามัญชนจะมีมาก (และมากกว่ายุคปัจจุบัน?) โดยผ่านตัวแทนคือ สภาผู้แทนราษฎร เช่น มีการกำหนดว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หรือการบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรคือผู้วินิจฉัยคดีอาชญาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ต้องหา เนื่องจากศาลยุติธรรมไม่มีสิทธิรับฟ้องและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว (ส่วนนี้อยู่ในมาตรา 6 หมวด 2 ว่าด้วยกษัตริย์ ของ พ.ร.บ. การปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 เพียงครั้งเดียว)  หรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติกฎหมายท้ายสุด แม้กษัตริย์จะมีพระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย หรือการที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับรองรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระราชวินิจฉัยและกฎมณเฑียรบาลอีกทีหนึ่ง

แน่นอนว่า เส้นทางสายนี้ไม่มีทางราบรื่น การต่อสู้แย่งชิงอำนาจปรากฏอยู่ตลอดเวลา

รัฐประหาร 3 ครั้งใน 7 เดือน การชักเย่ออำนาจของสองฝ่าย

“การต่อสู้ในช่วงหลัง 2475 มีการรัฐประหารต่อเนื่อง 3 ครั้งภายใน 7 เดือน คือ หนึ่ง รัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อ 1 เมษายน 2476 ต่อมาอีก 81 วัน เป็นการรัฐประหารของคณะราษฎรเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 ต่อมาอีก 3 เดือนเป็นการรัฐประหารของการกู้บ้านกู้เมืองของพระองค์เจ้าบวรเดชที่ได้กลายเป็นฝ่ายแพ้”

ธำรงศักดิ์ อธิบายว่า เหตุที่ต้องรัฐประหารถึง 3 ครั้งก็เพราะต่อสู้เรื่อง ใต้’ หรือ ‘ตาม’ รัฐธรรมนูญ นี่เอง การรัฐประหารของพระยามโนฯ เป้าหมายที่สำคัญก็คือ

1.กำจัดคณะราษฎรปีกพลเรือนออกจากอำนาจของรัฐบาลและสภา เพราะปีกพลเรือนเหล่านี้กลายเป็นมันสมองและคุมกลไกของสภา คณะราษฎรวางกลไกให้สภามีอำนาจในการควบคุมรัฐบาล มีอำนาจที่จะไล่ตรวจสอบหรือกำจัดข้าราชการประจำออกได้ทุกหน่วยงาน แม้แต่ผู้พิพากษา สภาก็สามารถตรวจสอบและให้ออกจากข้าราชการได้

2.รัฐบาลสามารถจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมก็ได้ หรือจัดการเลือกตั้งให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจอันสืบเนื่องของรัฐบาลก็ได้ สิ่งที่พระยามโนฯ ต้องการทำก็คือ ควบคุมการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งให้เขาสืบทอดอำนาจต่อได้

3.พระยามโนฯ ต้องการแต่งตั้งคนอีกกลุ่มหนึ่งของสภาเพื่อเป็นฐานในการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตราเท่านั้นแล้วทำให้อำนาจกลายเป็นของใครก็ได้

“ด้วยเหตุนี้คณะราษฎรสายทหารจึงรัฐประหารกลับ เพื่อยืนยันว่าคณะราษฎรเอารัฐธรรมนูญตามที่ตนเองสร้างขึ้น คือรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ซึ่งคือฉบับวันที่ 27 มิถุนายน ส่วนฉบับที่ 2 คือ 10 ธันวาคมนั้นมันต่อเนื่องกัน คณะราษฎรยืนยันเอารัฐธรรมนูญแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือการรัฐประหารกลับ”

“อีก 3 เดือนต่อมาก็มีรัฐประหารที่นำโดยอดีตเสนาบดีกลาโหมของ ร.7 คือพระองค์เจ้าบวรเดช ใช้กำลังล้อมกรุงเทพฯ บังคับให้รัฐบาลลาออก เป้าหมายที่ชัดเจนก็คือให้พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาครึ่งหนึ่ง เป็นการชี้ชัดเลยนะ การแต่งตั้งสมาชิกสภาครึ่งหนึ่งก็เท่ากับว่าท่านมีอำนาจ 50 % ท่านดึงคนอีกไม่กี่คนท่านก็เป็นฝ่ายที่มีอำนาจเสียงข้างมากแล้ว นี่ไงคือการต่อสู้ว่าอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นของใครกันแน่”

“ดังนั้นปีที่ 2 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งมีรัฐประหาร 3 ครั้งจึงมีความหมายมาก และการพ่ายแพ้ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง (พระองค์เจ้าบวรเดช) จึงทำให้ระบอบเก่าต้องถอยร่น เป็นการพ่ายแพ้ทางการรบ และทำให้ฝ่ายคณะราษฎรสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาได้ แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2”

-ยกที่สอง-
การกลับมาของทหารและกษัตริย์ในการเมือง

รัฐประหาร 2490: ต้นกำเนิด “ประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การขยายอิทธิพลของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นและแนวคิดคอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อเอกราชและโครงสร้างการเมืองของไทย ภัยคุกคามทำให้กองทัพมีแสนยานุภาพและบทบาทมากขึ้น กระบวนการประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงทั้งสภาที่กำหนดจะให้เกิดขึ้นภายในปี 2485 ก็มีอันต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2495  (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกยังไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

เมื่อผสมกับผลสะเทือนจากกรณีสวรรคตของ ร.8 ที่มีกระแสความเคลือบแคลงสงสัยว่าใครเป็นคนทำก็นำไปสู่การรัฐประหารของฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีทั้งขุนนางและฝ่ายนิยมเจ้า นั่นคือ รัฐประหารในปี 2490 นักประวัติศาสตร์หลายคนถือว่า นี่เป็นจุดสิ้นสุดของโมเดลประชาธิปไตยคณะราษฎร และเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มพูนพระราชอำนาจกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

การรัฐประหารที่สำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 8 พ.ย. 2490 คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม   ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์โดยให้เหตุผลว่าทำการรัฐประหารเพื่อประเทศชาติ ล้มรัฐบาลเพื่อสถาปนารัฐบาลใหม่ที่เทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ทั้งยังต้องการเชิดชูเกียรติทหารที่ถูกเหยียบย่ำทำลาย  แก้ไของค์กรการปกครองให้ดีขึ้นเพื่อหาผู้ร้ายลอบปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์”  (อ้างอิง)

รัฐประหารครั้งนี้ตามมาด้วยการกวาดล้างจับกุมปีกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและฝ่ายเสรีไทยที่นำโดยปรีดี พนมยงค์ แม้จอมพล ป.เป็นผู้นำรัฐประหารที่ร่วมคณะราษฎรด้วย แต่คณะทหารที่มีอำนาจแท้จริงนั้นไม่เกี่ยวพันกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรแล้ว

หลังจากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2492 และเป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำว่า “ประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อยู่ในมาตรา 2 นอกจากนั้นยังมีการใส่ข้อความว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” อยู่ในมาตรา 5 และ 6 ตามลำดับ รวมถึงการรื้อฟื้นราชพิธีหลวงบางอย่างเพื่อส่งเสริมพระเกียรติในหลวง ร.9 ด้วย

รัฐธรรมนูญ 2492 นำมาซึ่งการมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นสภาสูง มีองคมนตรี การสร้างกลไกทางการเมืองทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ธำรงศักดิ์มองว่าการรัฐประหาร 2490 เป็นหมุดหมายที่สำคัญมากต่อการเมืองไทยจากการรัฐประหารทั้งหมด 13 ครั้ง ไม่นับรวมกบฏต่างๆ (รัฐประหารไม่สำเร็จ เรียก กบฏ)

“ความล้มเหลวในการทำรัฐประหารของกบฎบวรเดช ทำให้ความพยายามฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จนถึงการรัฐประหารปี 2490 ที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในกรอบของรัฐธรรมนูญขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐประหารปี 2490 มีการออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 ให้มีองค์กรทางการเมืองหนึ่งขึ้นมาคือ อภิรัฐมนตรี เป็นองค์กรที่เป็นผู้แทนของพระมหากษัตริย์ในการทำอะไรต่างๆ” ธำรงศักดิ์กล่าว


อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ตั้งขึ้นหลังชัยชนะของรัฐบาลเหนือกบฏบวรเดช ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ และถูกถอนออกไปเมื่อ ธ.ค. 2561 และไม่พบเห็นอีกเลย (ที่มาภาพ: เพจ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม

"เมื่อกล่าวถึงชื่อ อภิรัฐมนตรี ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือการย้อนกลับไปสู่ยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ คณะอภิรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อาวุโสก็ถูกจัดตั้งแต่งตั้งขึ้นทันทีในวันแรกๆ"

“เมื่อมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2492 จึงเปลี่ยนจากการมีอภิรัฐมนตรีมาเป็นองคมนตรี คำว่า ‘องคมนตรี’ ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ดังนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2492 มันก็คือการเอาระบอบเดิมกลับเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ รัฐประหารปี 2490 ผลของมันด้านหนึ่งคือการยอมรับสิ่งที่คณะราษฎรสร้างไว้คือการมีรัฐธรรมนูญ แต่กลับเขี่ยคณะราษฎรออกไปแล้วเอาสิ่งที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับเข้ามาใหม่ นอกจากนี้ยังมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นฐานให้กับรัฐบาลทหาร” ธำรงศักดิ์สรุป

เป็นเรื่องขำขื่นพอสมควร เมื่อการรัฐประหาร 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฐานคิดการเมืองใหม่ที่มองคณะราษฎรเป็นจุดกำเนิดของระบอบเผด็จการทหารไทย ตำแหน่งแห่งที่ของพระราชอำนาจภายใต้แนวคิดประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็เลื่อนไหลไป การเกิดขึ้นของนายกฯ คนนอก และ ส.ว. แต่งตั้ง เป็นหนึ่งในตัวสะท้อนที่ชัดเจน

-ยกที่สาม-

ท่าไม้ตาย: นายกคนนอก - ส.ว.แต่งตั้ง
และการพิทักษ์สถาบัน

หากสังเกตให้ดี ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งเสมอ นับเป็นการออกแบบระบบรัฐสภาที่จะคานอำนาจ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนแนวคิดเรื่องนายกฯ พระราชทานนั้นต่างออกไป มันทำหน้าที่ผ่าทางตันทางการเมืองด้วยการให้พระมหากษัตริย์เป็นคนเลือกนายกฯ เส้นทางนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในสมัย 14 ตุลาคม 2516 หลังรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ลาออก หลังจากนั้นมาดูเหมือนแนวคิดนายกฯ พระราชทานจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่งที่จะใช้ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

“การที่พรรคการเมืองเสนอหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มันสั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบเดิม รัฐทหาร กลุ่มอนุรักษ์นิยม การที่เรามีนายกฯ จากพรรคการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง นับจากชวน หลีกภัย ถึงทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลาเกือบ 15 ปี มันกลายเป็นการทำลายอำนาจที่เคยมีมาก่อน” ธำรงศักดิ์กล่าว

“นายกฯ พระราชทานเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้ในยุคที่เลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลจากพรรคการเมือง ในสภาพการณ์ที่พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง แต่เมื่อใดที่พรรคการเมืองอ่อนแอก็ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน แต่มีการใช้คำใหม่คือ คนกลางทางการเมือง แทน คนกลางทางการเมืองจะเข้ามาเพื่อทำให้ไม่มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายกฯ พระราชทานจะเข้ามาเมื่อต้องการล้มนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็ง และถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา”

“ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นนายกฯ พระราชทาน 2 คนคือ สัญญา ธรรมศักดิ์ กับ ธานินทร์ กรัยวิเชียร สำหรับสัญญาเข้ามาช่วงที่รัฐบาลจอมพลถนอมล้ม เวลานั้นไม่มีพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง ไม่มีผู้นำทางการเมืองที่จะต่อสู้กับกลุ่มทหารได้ สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้เป็นนายกฯ พระราชทาน ส่วนธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่ใช่นายกฯ พระราชทานทางตรง แต่เป็นการที่คณะรัฐประหารได้รับคำแนะนำให้เลือกธานินทร์ขึ้นเป็นนายกฯ”

“ช่วงหลังปี 2516 เราได้สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นองคมนตรีมาเป็นนายกฯ และพอสิ้นวาระก็กลับไปเป็นองคมนตรีต่อ ส่วนธานินทร์ เป็นนักกฎหมาย เข้าไปเป็นนายกฯ แล้วก็ได้เป็นองคมนตรี ส่วนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นทหาร เข้าไปเป็นนายกฯ แล้วก็ได้เป็นองคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นองคมนตรีแล้วได้รับเลือกเป็นนายกฯ และกลับไปเป็นองคมนตรีต่อ ฉะนั้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเรามีนายกฯ ที่มีความเกี่ยวพันกับองคมนตรีมาตลอด” ธำรงศักดิ์ตั้งข้อสังเกต

สถาบันกษัตริย์กับข้ออ้างการทำรัฐประหาร

(ดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้างหลักในการยึดอำนาจทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ จากงานเขียนของธำรงศักดิ์เรื่อง “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ รวบรวมความพยายามยึดอำนาจทั้งที่มีการใช้และไม่ใช้กำลัง (ไม่นับพลังประชาชน 2 ครั้งคือ 14 ตุลาฯ 2514 และพฤษภาฯ ทมิฬ) รวม 24 ครั้งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (รัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง) ในจำนวนทั้งหมดนี้มีถึง 10 ครั้งที่ใช้เรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้าง ไม่ว่าจะจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ การฟื้นฟูพระราชอำนาจพระราชประเพณีไปจนถึงการปกป้องพระเกียรติ อย่างข้ออ้างในการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อ 19 ก.ย. 2549 ระบุสาเหตุหนึ่งในการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ว่า มีการกระทำที่ “หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง”


ข้อความของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 2-3 ธ.ค.2548 ต่อมา พล.อ.สนธิได้กระทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 ก.ย. 2549

“ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกองทัพจะแนบชิดกันมากยิ่งขึ้นในการรัฐประหาร ทุกๆ ครั้งเราจะเทิดทูนสถานะพระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นทุกที เห็นได้ชัดตั้งแต่รัฐประหารปี 2490 คือการฟื้นสถานะนำของพระมหากษัตริย์ รัฐประหารปี 2500 และ 2501 คือการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่โดดเด่น โดยการฟื้นพระราชประเพณีต่างๆ ขึ้นมา รัฐประหารปี 2519 – 2520 คือการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีสถานะเสถียรภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” ธำรงศักดิ์กล่าว

ค่อยๆ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

สถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยเริ่มถูกผลักดันให้โดดเด่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเรื่อยมาจนถึงช่วงสงครามเย็นภายใต้แนวคิด “ธรรมราชา” คือ กษัตริย์ผู้ทรงธรรมและอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน งานของธงชัย วินิจจะกูล ระบุว่า พระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองของในหลวง ร.9 เพิ่งมีปรากฎในช่วงปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบนิยมเจ้าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในฐานะผู้ประทานระบอบประชาธิปไตยเริ่มแพร่หลายในสังคม ภาพพจน์ของพระมหากษัตริย์พุ่งสูงขึ้นในช่วงปี 2518-2519 ซึ่งมีการต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ พิธีกรรมเสริมพระบารมีถูกประดิษฐ์ขึ้นหลายอย่าง หนึ่งในพิธีกรรมที่น่าหยิบยกมาพูดถึงคือ การนำวันพระราชสมภพของในหลวง ร.9 คือวันที่ 5 ธันวาคมมาเป็นวันชาติ เมื่อปี 2503 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  (ก่อนหน้านั้นวันชาติคือ วันที่ 24 มิถุนายน หรือวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง) และต่อมาเริ่มมีการเฉลิมฉลอง “วันพ่อ” ในปี 2523 ส่วนวันแม่นั้นมีการเปลี่ยนให้ตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในปี 2519

การรัฐประหารของกองทัพยังทิ้งมรดก หรือส่งต่อแนวความคิดและวิธีการบริหารจัดการทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น หลังจากรัฐประหารที่ฝ่ายนิยมเจ้าและกองทัพสถาปนาอำนาจได้ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 ธำรงศักดิ์มองว่าการใช้สถาบันกษัตริย์สร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจยิ่งทำให้ขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไทยขยายเพิ่มขึ้น

รัฐประหารดีเด่น 2490 และ 2501 การสร้างต้นแบบบริหารอำนาจเบ็ดเสร็จ

“รัฐประหารปี 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ รัฐบาลทหารมองว่าไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร มรดกจากการรัฐประหารครั้งนั้นคือ การปกครองโดยการแต่งตั้ง นี่จึงเป็นที่มาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติของคณะรัฐประหารหลายคณะ รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติของ คสช.ก็มีลักษณะเดียวกัน เป็นการรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของทหาร รวมศูนย์อยู่ที่ผู้บัญชาการทหารบก สมัยนั้นมีมาตรา 17 เป็นเครื่องมือสำคัญ สมัยนี้ก็คือ มาตรา 44”

“การรัฐประหารปี 2501 กลายเป็นต้นแบบของการรัฐประหารหลังจากนั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารในปี 2514 2519 2520 2534 2549 และ 2557 ทุกการรัฐประหารจะย้อนกลับมาที่การรัฐประหารต้นแบบทั้งหมด จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจเบ็ดเสร็จ มีสภานิติบัญญัติเป็นสภาตรายาง และทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร เมื่อถึงเวลาต้องคลี่คลายมันก็จะกลับไปที่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง”

“ถ้าจะตอบว่าอะไรคือแม่แบบของการรัฐประหาร คำตอบก็คือ รัฐประหาร 2490 และรัฐประหาร 2501 ที่นับเป็นการสร้างวงจรอุบาทว์ของไทยในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา ส่วนการรัฐประหารครั้งสำคัญเมื่อ 6 ต.ค. 2519 ก็คือแม่แบบของความต้องการแช่แข็งประเทศอย่างน้อย 12 ปี 4 ปีแรกต้องการมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ 4 ปีต่อไปต้องการถ่ายโอนอำนาจโดยแบ่งอำนาจให้กับวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง 4 ปีถัดไปวุฒิสภาจะมีอำนาจลดลง และเพิ่มอำนาจ ส.ส. ขึ้น เมื่อครบ 12 ปีประชาชนจะกลับมามีอำนาจเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์” ธำรงศักดิ์ระบุ

แม้ในการรัฐประหาร 2519 จะไปไม่ถึงสิ่งที่ฝันไว้เพราะสถานการณ์ที่นักศึกษา ปัญญาชนเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาต้องยอมหยุดแผนที่วางไว้ พูดง่ายๆ เพราะมี พคท. และมีแรงกดดันสูงจึงมีการรัฐประหารรัฐบาลขวาจัดของธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่หากคิดดูดีๆ จากปี 2519 จนถึงช่วงสิ้นสุดรัฐบาลเปรมปี 2531 ก็เป็นระยะเวลา 12 ปีพอดี เมื่อสิ้นสุดยุคของพลเอกเปรม ถัดมาไม่นานก็มีการรัฐประหารอีก เพราะอำนาจของข้าราชการทหารเริ่มหมดไปแล้ว จึงเกิดรัฐประหารปี 2534

-ยกที่สี่-

(ยังไม่ได้ตั้งชื่อ)

ศัตรูของ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ในยุคปัจจุบัน สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ก็คือ การเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและความเท่าทันในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศตนเอง รวมถึงเชื่อมโยงมันกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้

ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลัก ย่อมพอมองเห็นกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ที่ทำให้คณะราษฎรกลายเป็นศัตรูของสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกจับคู่กับการเติบโตของประชาธิปไตย โดยเฉพาะกษัตริย์พระองค์สุดท้ายก่อนปฏิวัติได้กลายเป็นผู้มีคุณูปการกับกระบวนการประชาธิปไตย การสร้างความรับรู้เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ธงชัย วินิจจะกูลวิเคราะห์ไว้ว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 ถึงต้นทศวรรษ 2510 นักวิชาการที่โตขึ้นมาในบริบทที่มรดกการปฏิวัติของคณะราษฎรถูกทำลายล้าง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พระราชอำนาจนำเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ มักจะผลิตประวัติศาสตร์แบบนิยมเจ้าขึ้นมา งานเขียนหลายชิ้นของฝ่ายนิยมเจ้าในยุคทศวรรษ 2470 เริ่มถูกตีพิมพ์ซ้ำหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ในฐานะงานของคนที่ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย แต่ตกเป็นเหยื่อของระบอบเผด็จการ

ไม่เพียงเท่านั้น พระราชหัตถเลขาของ ร.7 เมื่อสละราชสมบัติในปี 2477 ที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ที่เขียนขึ้นท่ามกลางการชิงอำนาจคืนของฝ่ายเจ้าที่ล้มเหลว กลับถูกตัดบริบทออกไปและทำให้เป็นคำพูดของฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านอำนาจนิยม คณะราษฎรถูกให้ภาพเป็นพวกฉวยโอกาสการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนในยุคของจอมพล ป. ก็ถูกมองเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ และปรีดีก็ถูกเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาว่าลอบปลงพระชนม์ ร.8 จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

ตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นข้อโต้เถียงหลักเรื่องหนึ่งคือ การชิงสุกก่อนห่าม ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 และข้อหา “ล้มเจ้า” ที่ตามมาในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และถูกใช้เรื่อยมา เช่น เป็นเหตุผลในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ การเริ่มแปะป้ายพรรคอนาคตใหม่ ไปจนถึงการแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดคนทั่วไปด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 (สถิติตั้งแต่ปี 2550-2560 มีคดีอาญามาตรา 112 ในชั้นตำรวจอย่างน้อย 740 คดี

“วาทกรรมว่าด้วยชิงสุกก่อนห่ามถูกสร้างขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 2490 หลังจากทำลายพวกคณะราษฎรไปแล้วด้วยการรัฐประหาร 2490 เป็นการบอกว่า เห็นไหม การที่จะทำอะไรโดยรวดเร็วมันไม่ส่งผลดี เท่ากับว่าที่เราไม่เป็นประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเพราะคณะราษฎร ถ้าให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปแบบอังกฤษ ประชาธิปไตยก็จะสมบูรณ์แบบ เป็นการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่สร้างให้อังกฤษมีความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปที่น่าสนใจ และทำให้ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรเป็นการทำอะไรไม่คิดให้รอบคอบ เลยกลายเป็นสองแบบที่ย้ำเตือนว่าคนรุ่นต่อไปไม่ควรทำแบบคณะราษฎร” ธำรงศักดิ์กล่าว

“คำถามก็คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะพัฒนาตัวเองเป็นประชาธิปไตยได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะถ้าจะพัฒนาตัวเองก็หมายความว่าต้องสละอำนาจสูงสุดมอบให้กับประชาชนทั้งหมด โดยทฤษฎีทางการเมืองมันไม่ได้เลย การค้นคว้าในรอบ 40 กว่าปีบอกว่า ร.5 ทรงจะให้พระราชโอรสของพระองค์ที่จะเป็น ร.6 มอบดีโมเครซีให้ แต่คำถามคือวาทะนี้ของพระองค์มีจริงหรือไม่ มันเพียงถูกเล่าลือในวิทยานิพนธ์รุ่น 40 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เริ่มมีคำถามและศึกษากันถึงต้นตอว่ามันจะเป็นไปได้หรือ เพราะในคำแถลงการณ์ปฏิรูปการปกครองของ ร.5 สิ่งที่อยู่ในนั้นคือ พระองค์ทรงเห็นว่าการปกครองแบบมีตัวแทน มีสภา การเลือกตั้ง มันเป็นไปด้วยความล่าช้า และบุคคลต่างๆ ที่เข้ามานั้นไม่มีความสามารถที่จะบริหารประเทศได้ พระมหากษัตริย์ต่างหากที่ทรงเป็นผู้นำที่สำคัญ”

ธำรงศักดิ์ยังกล่าวว่า กระแสชิงสุกก่อนห่ามเติบโตมาเรื่อยๆ และมาเพิ่มระดับในช่วงการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น จากนั้นคอมมิวนิสต์จึงกลายเป็นปฏิปักษ์ของสถาบันกษัตริย์เรื่อยมาจนภัยคอมมิวนิสต์หมดไปช่วงรัฐประหารปี 2534 จากนั้นตำแหน่งศัตรูจึงถูกมอบให้คนหรือองค์กรที่ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างสถาบันซึ่งในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างธำรงศักดิ์ไม่เห็นว่ามีพลังเช่นนั้นอยู่

“คำว่าล้มเจ้าก็หมายความว่าล้มสถาบันระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่มีคอมมิวนิสต์แล้วจะเป็นใครล่ะ เราจึงเห็นภาพของกลุ่มบุคคล คนนั้นที่ชื่อทักษิณ กลุ่มคนนี้ที่เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่”

“เราไม่เห็นพลังที่แท้จริงของการล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ เราเห็นแต่พลังที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งไม่ใช่พลังมาจากพวกรัฐประหารด้วย แต่พลังเหล่านี้เป็นพลังที่มาจากประชาชนต่างหากที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ฝ่ายที่ทำรัฐประหารกลายเป็นกลุ่มที่เอาประโยชน์จากการใส่ร้ายคนอื่น นี่คือสิ่งที่เห็นในฐานะผู้ศึกษา การที่คนสร้างคำว่าล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มเจ้า คนที่สร้างเหล่านี้คือพวกที่จะรักษาอำนาจไว้กับตนเองมากที่สุด” ธำรงศักดิ์สรุป

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขจำนวนข้ออ้างเรื่องการรัฐประหาร ว่าใช้เหตุผลเป็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ จาก 11 ครั้ง เป็น 10 ครั้ง ในวันที่ 6 ก.ย. 2562 เวลา 10.31 น.

เอกสารเพิ่มเติม

ธงชัย วินิจจะกูล, ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง, ฟ้าเดียวกัน, 2556

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, การเมืองไทยร่วมสมัย, สถาบันพระปกเกล้า, 2560

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net