ชีวิตชาว 'มองตานญาด' ลี้ภัยจากเวียดนามมาไทย สภาพบีบคั้น อยู่อย่างจนตรอก

สื่ออิสระจากเวียดนามนำเสนอชะตาชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมองตานญาด ที่ถูกข่มเหงปราบปรามจากทางการเวียดนามมาเกือบ 20 ปีจนถึงวันนี้ก็ยังมีอยู่ การพยายามลี้ภัยมาไทยกลายเป็นเหมือนติดกับดัก หาทางออกไม่ได้ แม้มีอิสระในการนับถือศาสนามากกว่าที่เวียดนาม แต่ก็เจอสภาพชีวิตย่ำแย่ ไม่มีสิทธิหางานทำ เสี่ยงถูกส่งตัวกลับไปถูกลงโทษจากการที่เวียดนามพยายามกดดันทางการไทย

2 ก.ย. 2562 สื่อ "เดอะ เวียดนามมิสต์" นำเสนอเรื่องราวการประท้วงของกลุ่มชนพื้นเมืองมองตานญาตในอดีต ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2551 พวกเขาประท้วงเรียกร้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยที่ผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนั้นเป็นชาวคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ แต่พวกเขาก็ถูกทุบตีโดยกลุ่มคนแปลกหน้าที่รอพวกเขาอยู่ด้วยไม้กระบอง ไม่มีใครนรู้ว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงทุบตีพวกเขา

ในเหตุการณ์คราวนั้นคนในหมู่บ้านพากันหนีกระจัดกระจายไปคนละทิศละทางยกเว้นแต่เนย์ เทม ที่ถูกจับกุม แม้ว่าเขาจะไม่ได้เข้าร่วมประท้วงเลยก็ตาม เนย์ เทม เล่าถึงเหตุการณ์หลังถูกจับกุมตัวว่าเขาถูกทารุณกรรมด้วยการที่ตำรวจมัดตัวเขาไว้กับเก้าอี้ด้วยสายไฟ มีตำรวจเดินไปเดินมารอบตัวเขาขณะที่เขาดิ้นทุรนทุรายหลังถูกเตะ ตบ และทุบตีที่หัวด้วยไม้กระบองตำรวจ ปฏิบัติต่อเขาเหมือนไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติอีกต่อไป หรืออาจจะเป็นเพราะ เนย์ เป็นชาวชาติพันธุ์เชื้อสายจรายที่ถูกมองว่าไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ เลย ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิจะอ้าปากพูด

เจ้าหน้าที่ตำรวจทารุณกรรมเนย์เพื่อให้เขาบอกว่าผู้ประท้วงซ่อนตัวอยู่ที่ไหน เขาถูกทุบตีหนักมาจนกระทั่งเลือดออกทางจมูกและปาก เขาถูกทุบตีอย่างหนักจนสลบไปจนกระทั่งอีกวันหนึ่งตื่นมาในเรือนจำแล้วลืมตาไม่ได้ เขากินอะไรไม่ได้ไป 5 วัน

คนที่เป็นพี่เขยของเนย์ชื่อซิววิวเป็นคนจัดการประท้วงในครั้งนั้น เขาเป็นชาวจรายผิวเข้มที่หนีไปอยู่ในป่าลึกหลังเกิดเหตุการณ์เขาเคยถูกส่งตัวไปยังค่ายปรับทัศนคติในปี 2547 เพราะจัดการชุมนุม เขาต้องทำงานแบกต้นอ้อยตั้งแต่เข้าร่วมกับชาวจรายคนอื่นๆ อีก 180 คนในค่ายกักกัน ทุกคนมักจะถูกทุบตีไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือคนชรา ซิวให้สัมภาษณ์ว่าเขาถูกจับกุมไม่ใช่เพราะคดีลักขโมยหรืออะไรแต่ถูกจับกุมเพราะต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินของตัวเองและเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ซิวอยู่ในค่ายกักกันเป็นเวลา 2 ปี จนกระทั่งได้รับอิสรภาพ ทางการให้เงินเขาแค่พอเป็นค่ารถกลับบ้านเท่านั้น เขาไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออะไรกินระหว่างทาง แต่เรื่องก็ยังไม่จบเท่านั้น ครอบครัวของซิวที่เป็นโปรแตสแตนท์เริ่มถูกรังควาญ ถูกจับกุมคุมขังอยู่เรื่อยๆ เพราะเข้าร่วมการประท้วง

การประท้วงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่เขตที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามในช่วงปี 2544-2551 มีผู้ประท้วงจำนวนมากที่อพยพหนีไปอยู่กัมพูชาเพราะกลัวการล้างแค้นของรัฐบาล

จากกรณีการประท้วงในปี 2551 นั้นซิวถูกจับกุมในเวลาต่อมาหลังจากพยายามซ่อนอยู่ในป่า 1 เดือน เขาถูกทารุณกรรมอย่างหนักด้วยการจับมัดและทุบตีเขาจนปากบวม เลือดนองหู ลืมตาไม่ได้ เขาถูกตัดสินให้จำคุก 10 ปี เนย์ได้รับการปล่อยตัวหลังจากจับกุมซิวได้ เนย์เล่าว่าในตอนนั้นตำรวจบอกกับเขาว่า "ผมเข้าใจว่าคุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการประท้วง แต่ผมกลัวว่าคุณจะซ่อนข้อมูลบางอย่างไว้ ถึงต้องทุบตีคุณก่อน"

นี่คือสิ่งที่ผู้คนในที่ราบสูงทางตอนกลางของเวียดนามต้องเผชิญ แม้แต่ระบบกฎหมายก็ไม่เป็นมิตรกับพวกเขา ไม่มีใครกล้าเป็นทนายความให้พวกเขา พวกเขาไม่ได้รับการตัดสินคดีอย่างเป็นธรรม ที่ๆ พวกเขาอยู่จึงเปรียบเสมือนเป็นคุกใหญ่ที่ทางการเวียดนามเอาไว้กักกันคนพื้นเมือง แม้แต่คนที่รับความผิดครบแล้วได้รับการปล่อยตัวออกมาก็ยังถูกจับตามองจากทางการ ในเวลาต่อมาเนย์ก็ช่วยเหลือให้ครอบครัวของเขาที่ถูกเล่นงานจากทางการเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศไทย และตัวเนย์เองก็หนีมาที่ไทยด้วยเมื่อถูกตำรวจจับเพราะรู้ว่าช่วยคนหลบหนี

อยู่ในไทยก็เป็นคนไร้สัญชาติ

ชาวมองตานญาดเป็นคำในภาษาฝรั่งเศสที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเคยใช้เรียกกลุ่มชนชาติพันธุ์มากกว่า 20 กลุ่มในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งชาวจรายก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยที่ในตอนนี้ทางการเวียดนามไม่ได้ใช้คำว่า "มองตานญาด" เรียกพวกเขาอีกแล้ว แต่ใช้คำว่า "ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์" แทน

สำหรับครอบครัวของเนย์แล้ว พวกเขามองว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งที่พวกเขาได้รับการปลดปล่อยจากการกดขี่ชั่วคราว ในช่วงกลางเดือน ก.ค. ปีนี้ผู้เขียนรายงานในสื่อ เดอะ เวียดนามมีสต์ ได้เข้าพบกับเนย์และครอบครัวที่ค่ายผู้ลี้ภัยชานเมืองของกรุงเทพฯ เนย์ดูเหนื่อยและหงุดหงิด เขามีกล่องกระดาษแขวนอยู่ที่หน้าอก ตัวเนย์และลูกสาว 2 ขวบที่เกิดในไทยเดินร่อนเร่ไปตามสำนักงานเอ็นจีโอหลายแห่ง เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ขอร้องให้ช่วยเหลือภรรยาของเขาที่ถูกคุมขังมาเป็นเวลา 1 ปี แล้ว

กลุ่มชาติพันธุ์หนีการกดขี่ ไล่ล่าสารพัดในเวียดนามเพียงเพื่อมาถูกจับขังในไทย

สยามเมืองยิ้ม? ประวัติการส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะลี้ภัยในประเทศไทย

เกรซ บุย ทนายความเกษียณอายุจากสหรัฐฯ กล่าวว่ามีชาวมองตานญาดในพื้นที่ชานเมืองดังกล่าวมากกว่า 500 คน มีเด็กประมาณ 120 คน เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาปี 2494 ว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ทำให้ถึงแม้ว่าชาวมองตานญาดจะได้รับการจัดว่าเป็นผู้ลี้ภัย แต่พวกเขาก็ไม่มีสถานะผู้อาศัยอย่างถูกกฎหมายในไทยทำให้พวกเขาไม่สามารถทำงานได้และตำรวจจะจับและลงโทษพวกเขาถ้าพวกเขาทำงาน นั่นทำให้เกรซเป็นอาสาสมัครให้กับค่ายผู้ลี้ภัยของมองตานญาดมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และเธอก็เป็นผู้ขอรับบริจาคข้าวจากชาวเวียดนามโพ้นทะเล ขอให้องค์กรผู้ลี้ภัยของยูเอ็นด้วยเหลือในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างหนักโดยเฉพาะกรณีคนที่ถูกจับกุมตัว

ในรายงานฉบับนี้เล่าถึงสภาพชีวิตของ เซน เนียง ชาวจรายผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพข้นแค้น มีห้องเล็กๆ 20 ตร.ม. ไม่มีเตียงนอน เขาอาศัยอยู่กับภรรยาและลูกๆ แต่เขาก็บอกว่าอย่างน้อยเขาก็ได้นับถือคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์อย่างอิสระ ภรรยาของเซนเย็บผ้าขนหนูให้กับชาวเวียดนามที่บริจากข้าวสารให้ ขณะที่ตัวเซนเองอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถหางานทำได้ ลูกสาวของพวกเขาแขนหักทำให้เซนต้องดิ้นรนหาความช่วยเหลือในการรักษาลูกของเขา

แม้จะอยู่ในสภาพลำบากเช่นนี้แต่ชาวมองตานญาดก็ไม่อยากอพยพไปอยู่ที่อื่นอย่างกัมพูชาที่คอยสอดแนมพวกเขาอย่างจริงจัง และไม่อยากกลับไปเวียดนาม อีวาน โจนส์ ผู้ประสานงานของเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่าสาเหตุที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่อยากกลับเนื่องจากเวียดนามมักจะลงโทษผู้ที่กลับไปทั้งโดยการจำคุก การรังควาญ การทำร้ายร่างกาย และการข่มขู่คุกคาม

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการสาขาเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็บอกว่าอนาคตของชาวมองตานญาดดูน่าเป็นห่วง ทางการเวียดนามพยายามกดดันทางการไทบให้บังคับชาวมองตานญาดให้กลับประเทศ ทำให้โรเบิร์ตสันเรียกร้องให้ UNHCR เพิ่มการคุ้มครองชาวมองตานญาดให้มากขึ้นและต่อต้านความพยายามบีบให้กลับประเทศจากทางการเวียดนาม

แต่ถึงแม้จะมีการกดดันจากเวียดนาม ในสภาพความเป็นจริงยังมีชาวมองตานญาดข้ามแดนมาสู่ไทยเพิ่มขึ้น เซนกล่าวว่าในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีชาวมองตานญาดเข้ามาในไทยอีกมากกว้า 20 คน ทำให้ชุมชนของพวกเขาไม่มีข้าวมากพอจะให้ผู้มาใหม่เหล่านี้

ในเดือน ส.ค. ปี 2561 ทางการไทยจับกุมตัวผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดจำนวนกว่าร้อยคนที่อาศัยอยู่ในเขตรอบนอกของกรุงเทพฯ โดยองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์รายงายว่าในจำนวนนี้มี 50 คนเป็นเด็ก และส่วนมากมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ UN ให้การรับรอง ผู้ลี้ภัยจำนวน 34 คนถูกส่งตัวไปสถานกักกันที่สวนพลู และมีความเสี่ยงว่าจะถูกส่งตัวกลับหรือถูกควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนด ผู้ลี้ภัยอีก 38 คนถูกส่งตัวไปที่ศาลแขวงนนทบุรีและถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยทั้งสองกลุ่มอยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุก และมีรายงานว่าผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กต้องถูกแยกจากพ่อแม่ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงว่าพวกเขาจะพบเจอกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงถ้าหากถูกส่งตัวกลับกัมพูชาหรือเวียดนาม

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของผู้ลี้ภัยมองตานญาดคืออุปสรรคทางด้านภาษา พวกเขาไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย และพูดเวียดนามได้น้อยมาก ทำให้กระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ใช้เวลายาวนานขึ้น และต้องผ่านการรอคอยการอนุมัติจากประเทศที่สามที่พวกเขาจะไปตั้งรกรากใหม่ โอกาสที่จะได้ตั้งรกรากใหม่ของพวกเขาก็ไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป

เจนนิเฟอร์ แฮร์ริสัน โฆษก UNHCR ในกรุงเทพฯ กล่าวว่าเธอไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีจำนวนชาวมองตานญาดที่ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยกี่ราย แต่ทาง UNHCR จะพยายามอย่างดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ แฮร์ริสันกล่าวว่า UNHCR มีความคงเส้นคงวาในการส่งเสริมผู้ลี้ภัยและผู้ขอตั้งรกรากใหม่ผู้ที่ควรจะได้รับการคุ้มครองจากนานาชาติ และตามหลักการว่าด้วยการไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ (non-refoulement) แล้ว จะเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐขับไล่หรือส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับสู่ที่ๆ จะเป็นภัยต่อชีวิตหรือคุกคามเสรีภาพของพวกเขา

เรียบเรียงจาก

Montagnards: Persecuted in Vietnam, Living in Limbo in Thailand, The Vietnamese, Sep. 1, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท