Skip to main content
sharethis

กรรมการจัดงานเวทีภาคประชาชนอาเซียนมีมติไม่รับงบสนับสนุน 10 ล้านบาทจากภาครัฐ เหตุฝ่ายความมั่นคงแทรกแซง ขอรายชื่อผู้เข้าร่วม ดูว่าใครติดแบล็คลิสต์ จะเลือกเองว่าให้ใครมา ไม่อยากให้มาชุมนุม-โจมตีรัฐบาลเพื่อนบ้านในไทย แสดงความเข้าใจการมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่ผิด ไม่ประกันสิทธิพื้นฐานคนมาร่วมงาน จัดงาน 10-12 ก.ย. ที่ศูนย์ประชุม มธ. รังสิต การพบปะกับผู้นำประเทศในประชุมซัมมิทเดือน พ.ย. ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

(ซ้ายไปขวา) วนัน เพิ่มพิบูลย์ เปรมฤดี ดาวเรือง สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ สุภาวดี เพชรรัตน์

3 ก.ย. 2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/เวทีภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดในวันที่ 10-12 ก.ย. ที่จะถึงนี้

การแถลงข่าวนำแถลงโดยสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ประธานร่วมในคณะกรรมการจัดงาน จากองค์กร Home Net SEA วนัน เพิ่มพิบูลย์ กรรมการเนื้อหา จากเครือข่ายจับตาโลกร้อน เปรมฤดี ดาวเรือง กรรมการแถลงการณ์ จากองค์กรโปรเจกต์เสวนา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้แทนสำรองประธานคณะกรรมการจัดงาน จากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  คณะทำงานด้านสื่อ-วัฒนธรรม

ที่มา: เพจ Thai Online Station

สุนทรีให้ข้อมูลว่า กรรมการจัดงานภาคประชาสังคมได้มีมติไม่รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ก็คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้ว จากเดิมที่ได้รับการสนับสนุนเป็นเงินจำนวนกว่า 10 ล้านบาท เพราะว่ามีหลักการบางอย่างที่ไม่สามารถหาข้อสรุปและปฏิบัติงานร่วมกันได้ โดยเรื่องหลักคือ ระหว่างการประชุมกับฝ่ายความมั่นคงทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรอง สันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะทำงานถูกฝ่ายความมั่นคงขอรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อตรวจสอบว่ามีใครอยู่ในบัญชีดำของฝ่ายความมั่นคง และยังถูกถามว่าจะมีใครมาต่อต้านรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ การจัดงานครั้งนี้จะมีใครออกไปชุมนุมบนท้องถนนไหม ไปไกลถึงขั้นจะตัดสินใจว่าจะให้ใครเข้าหรือไม่เข้าร่วมงาน จึงคิดว่ามากเกินไป โดยการจัดงานจะยังเป็นวันที่ 10-12 ก.ย. เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนสถานที่จากโรงแรมเบิร์กลี่ย์ ประตูน้ำ ไปเป็นหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิตแทน

สุนทรียังกล่าวว่า ที่ผ่านมา การประชุมภาคประชาชนอาเซียน ทุกคนมีเจตนาและทัศนคติที่อยากมาแสดงความเห็นในประเด็นที่ยังเป็นที่ท้าทายในภูมิภาคที่จะแก้ไขและหาทางออก และถ้าเชื่อเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิที่จะแสดงความเห็น การออกมามีกิจกรรมนอกห้องประชุมก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่ต้องกังวลแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่ใช้ความรุนแรงหรือไปกระทบสิทธิ เสรีภาพของคนอื่น คำถามของฝ่ายความมั่นคงนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นคำถามที่ไม่ให้เกียรติประชาสังคมที่จะมาจัดประชุม จึงตัดสินใจไม่รับงบประมาณของภาครัฐโดยเชื่อว่าจะทำให้การประชุมเป็นอิสระและยืนยันในศักดิ์ศรีที่รัฐจะต้องให้ความเคารพ ประชาชนทุกคนมีสิทธิแสดงความเห็นต่อประเด็นในภูมิภาค ไม่ใช่ประชาชนที่รัฐพึงพอใจเท่านั้น

“พูดให้ถึงที่สุดเรามีความกึ่งสงสัยกึ่งไม่มั่นใจว่า แท้จริงการมีสว่นร่วมของภาคประชาชน ในปีนี้ภาครัฐใช้หัวข้อในแง่ partnership ยกความร่วมมือมาเป็นประเด็นสำคัญ แม้แต่ในการประชุมซัมมิท ประชาสังคมสงสัยมาเสมอว่า พนช กินความไปถึงใครกับใคร”

“หากดูในอาเซียน คำว่า partnership (การเป็นหุ้นส่วน เป็นคำที่อยู่ในธีมของการประชุมอาเซียนในปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ) ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่การร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก 10 ประเทศ และระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่หมายความว่า partnership ระหว่างภาครัฐกับประชาชนด้วย แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่มีรูปธรรมอะไรถึงขั้นที่เราพอใจว่า partnership ระหว่างรัฐกับประชาชนได้สถาปนาขึ้น มีความร่วมมือกันอย่างแท้จริง แต่เรากำลังอยู่บนเส้นทางของการพัฒนาให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริง” สุนทรีกล่าว

ด้านเปรมฤดีกล่าวว่า การต้องแยกทางการทำงานกับรัฐบาลไทยไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การจัดเวทีภาคประชาชนอาเซียนตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะพบว่าประชาสังคมมีความผิดหวังอย่างยิ่งต่อการร่วมมือกับรัฐ ไม่มีปีไหนเลยที่สถานการณ์ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจหรือนับถือภาคประชาสังคมจะเพิ่มขึ้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้การประชุมประชาสังคมจะอิสระและมีศักดิ์ศรีได้ ไม่เป็นเพียงวาระทางการเมืองที่รัฐสมาชิกเอาไว้ประกาศได้ว่าดีใจที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน แล้วพอประชาสังคมบอกว่าทำตามที่รัฐอยากให้เป็นไม่ได้ก็ทิ้งกันไป

สุภาวดีกล่าวว่า เธอผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ เมื่อปี 2552 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียน ภาคประชาสังคมได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศและยืนยันว่าเวทีนี้เป็นเวทีของภาคประชาชน รัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนอย่างเดียว ปีนั้นไม่มีปัญหาในการประสานงานกับรัฐ แต่ในปีนี้คิดว่าประเทศไทยถอยหลัง แม้เป็นถึง 1 ใน 5 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งอาเซียน และมีการสนับสนุนบทบาทภาคประชาสังคมมาตลอด

“อนึ่ง ในประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐบางส่วนยังขาดความเข้าใจในการสร้างความร่วมมือ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากทัศนคติที่ไม่ไว้วางใจภาคประชาสังคม เกิดความหวาดระแวงว่าภาคประชาสังคมจะก่อความเสียหาย และกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี กิจกรรมของภาคประชาสังคม ประชาชนอาเซียนล้วนแต่มีท่าทีที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน และความร่วมมือกับภาครัฐเสมอมา เพื่อเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจอันนำไปสู่ความล้มเหลวในการร่วมมือระหว่างกัน

"การจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ในปีนี้ ล่าสุดได้กำหนดวันที่ 10-12 กันยายน 2562 ในสัปดาห์หน้านี้ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดงานจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ในช่วงท้ายของกระบวนการเตรียมการ กลับเกิดปัญหาอุปสรรคในประเด็นอันเป็นหลักการของการจัดงาน คือการที่ภาคประชาชน ยืนยันถึงสิทธิในการดูแลจัดการการประชุม โดยมีเสรีภาพและเป็นอิสระ โดยปราศจากการควบคุมหรือแทรกแซง รวมถึงในสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของพี่น้องประชาชนในภูมิภาค ประเด็นขัดแย้งที่ไม่สามารถเจรจากันได้นี้ จึงทำให้การจัดงานไม่สามารถเป็นความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับรัฐบาลไทย และรัฐบาลไม่ร่วมสมทบงบประมาณในการจัดงานดังที่วางแผนไว้แต่แรก อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัญหาอุปสรรค คณะกรรมการจัดงานทั้ง 11 ประเทศก็ยังเห็นร่วมกัน ให้เดินหน้าจัดกิจกรรมมหกรรมประชาชนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต่อไป โดยพยายามให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่นและมีความหมาย โดยยึดถือหลักการการมีส่วนร่วมที่หลากหลาย เป็นประชาธิปไตย เคารพในความเห็นต่าง และสร้างฉันทมติร่วมกัน ตามหัวข้อหลักของการจัดงานมหกรรมประชาชนในปีนี้คือ 'ขบวนการภาคประชาชนที่ก้าวหน้า เพื่อความยุติธรรม สันติสุขและเสมอภาค เท่าเทียม ความยั่งยืน และประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้' "

“และเพื่อให้คำขวัญการจัดประชุมอาเซียนในปีนี้ที่รัฐได้กำหนดไว้ว่า "Advancing Partnership for Sustainability"  และหลักการ "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" อันเป็นหัวใจสำคัญของอาเซียนจะเกิดขึ้นได้จริง  อีกทั้งมิให้เกิดสถานการณ์ใด ๆ ในกิจกรรมของภาคประชาชนที่ไม่พึงจะให้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยภายหลังการเลือกตั้ง และการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญย่อมต้องได้รับการเคารพ คณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายทั้ง 11 ประเทศ รวมทั้งติมอร์ เลสเต  จะยื่นหนังสือต่อรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมที่พวกเราจัดขึ้นนี้ จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กฏบัตรอาเซียน และความตกลงระหว่างประเทศ โดยปราศจากการปิดกั้น ขัดขวางหรือแทรกแซง” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

บุญแทนกล่าวว่าทางคณะกรรมการจะพยายามเข้าพบรัฐมนตรี พม. และกระทรวงการต่างประเทศ และทำจดหมายอย่างเป็นทางการจากกรรมการประชาสังคมเพื่อชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้นในเร็วๆ นี้ ส่วนกำหนดการณ์ที่ภาคประชาสังคมจะได้พบปะกับผู้นำประเทศในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือน พ.ย. ตามกลไกอาเซียนที่เรียกว่า Interface Meeting นั้นกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ก็มีข้อท้าทายเรื่องความแน่นของตารางกำหนดการ เพราะซัมมิทครั้งนั้นจะเป็นการประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาคอื่นๆ ด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจกับแนวกั้นที่สี่แยกเพลินจิต ในวันประชุมอาเซียนซัมมิท 22-23 มิ.ย. 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิม เวทีภาคประชาชนอาเซียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณก้อนหลักๆ จาก พม. เป็นจำนวนราว 10 ล้านบาท ตัวเลขผู้เข้าร่วมที่ตั้งโควตาเอาไว้มีจำนวน 1,000 คน โดยเป็นผู้ร่วมงานจากประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 500 คน และคนไทย 500 คน เมื่อไม่ได้รับงบจาก พม. แล้ว คณะทำงานภาคประชาสังคมจึงเปลี่ยนแผน โดยจะยังออกค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหารให้ผู้เข้าร่วมงานชาวไทยที่ลงทะเบียนแล้วตามเดิม และไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ในส่วนของที่พักจะเป็นห้องนอนและห้องน้ำรวม ค่าสมัครในราคา 10-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (300-600 บาท) จะยังต้องจ่ายอยู่ แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมแล้ว เพียงแต่คนที่เข้าร่วมโดยไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับการบริการอาหารและที่พัก (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมได้ที่ http://acsc-apf2019.org/)

อาเซียนซัมมิท 2562: 'ประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ฝันที่ผู้นำเป็นเจ้าของและเลือกใช้

ถ้าซัมมิทในเดือน พ.ย. นี้ไม่มีการทำ interface meeting จะเท่ากับว่าอาเซียนไม่ได้พบปะกับภาคประชาสังคมตามระเบียบที่ควรจะเป็นมาแล้วถึงสามปีติดต่อกัน โดยครั้งสุดท้ายที่มีการพบปะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ประเทศเดียวกันนี้เป็นประเทศที่จัดเวที APF เป็นครั้งแรกในปี 2548 ในการประชุม APF 2561 ที่สิงคโปร์ ก็พบว่าภาครัฐมีปฏิสัมพันธ์กับประชาสังคมที่ห่างเหิน คือไม่อนุญาตให้มี interface meeting และไม่ให้งบประมาณ สถานที่จัดจึงทำได้ในที่เล็กและจำกัดจำนวนคนอยู่ที่ราว 200 คน และไม่ให้มีการเดินชุมนุม ในส่วนของไทยนั้น เดิม ประชาสังคมกับภาครัฐได้ร่วมงานกันมาตั้งแต่ที่ไทยได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน แต่การร่วมงานต้องมาจบลงในเดือน ก.ย. นี้ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง

ในปีนี้ที่เป็นเจ้าภาพอาเซียน รัฐบาลไทยมีความอ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคงกว้างจนถึงขั้นเป็นห่วงความมั่นคงของรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน สะท้อนได้จากทั้งแนวคิดความพยายามแทรกแซงเวทีภาคประชาชนครั้งนี้ และย้อนไปได้ถึงการประชุมอาเซียนซัมมิทเมื่อ 22-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

ในการประชุมซัมมิทครั้งนั้น อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' นักกิจกรรมด้านการเมืองและพรรคพวกอีกราว 10 คนนัดเดินทางไปยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้นำอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศในเรื่องปัญหาการโกงการเลือกตั้งและการคุกคามนักกิจกรรมในไทย แต่จะนัดสัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สี่แยกเพลินจิตในเวลา 10.00 น. ทว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับอนุรักษ์ที่บ้านและนำตัวเขาไปยังกองบัญชาการสันติบาล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาอยู่ในนั้นเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมงก่อนถูกนำตัวไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อตามที่ได้ประกาศ การยื่นหนังสือและแสดงออกกิจกรรมทางสัญลักษณ์เกิดขึ้นที่ กต. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนับสิบนายคอยเฝ้าสังเกตการณ์

ซายิด อาลัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมีแผนจะเดินทางไปยื่นแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และข้อเรียกร้องต่อผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนในประเด็นชาวโรฮิงญา ณ ที่ประชุมซัมมิทและกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาได้รับสายโทรศัพท์ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นเมื่อ 2-3 วันก่อนวันงาน ด้วยความกลัวจึงตัดสินใจไม่เดินทางไปส่งหนังสือสักที่ ซายิดเล่าอีกว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามหลายครั้ง บางครั้งก็ไปพบเขาที่บ้านเพื่อสอบถามว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ชาวโรฮิงญาของซายิดด้วย

ตามปกติ APF จะจัดคู่ขนานไปกับเวทีอาเซียนซัมมิท แล้วจะมีการทำแถลงการณ์และคัดเลือกตัวแทนไปยังงานพบปะระหว่างผู้นำ แต่ปีนี้คณะทำงานที่ประกอบด้วยภาคประชาสังคม

แม้ความล้มเหลวในการมีการพบปะกับผู้นำในเดือน มิ.ย. จะมีสาเหตุจากการที่ภาคประชาชนไม่สามารถจัดงานประชุม APF ได้ทันกำหนดก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ มีตัวแทนรัฐบาลประเทศสมาชิก 2 ประเทศไม่รับรองให้มีการพบปะด้วย มติดังกล่าวต้องได้รับการรับรองแบบฉันทามติ ทำให้โอกาสการพบปะในรอบเดือน มิ.ย. เป็นอันตกไป (เดิม คณะกรรมการจัดงานภาคประชาชนจะเลือกตัวแทนไปเข้าพบ และใช้แถลงการณ์ของปีที่แล้วไปก่อนก่อน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net