Skip to main content
sharethis

'ถังแดง' จากอุปกรณ์ฆาตกรรมอำพรางคดี 'บิลลี่' ประชาไทขอย้อนทวนไปช่วงสังหารผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ ทางตอนใต้ของพัทลุงช่วงสงครามเย็น ภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอมที่ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตราว 3,000 คน โดยไม่สามารถเอาผิดรัฐที่ละเมิดสิทธิฯ อย่างร้ายแรงนี้ได้จนกลายเป็น 'วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด' 

ภาพซ้ายแสดงให้เห็นวิธีการฆ่าผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ ที่ถูกจับยัดลง 'ถังแดง' และแสดงภาพอนุสาวรีย์รำลึกการฆาตกรรมถังเเดง ภาพ: บางกอกโพสต์ เดือนตุลาคม พ.ศ.2546 / ขณะที่ภาพขวา เป็นถังน้ำมันที่ใช้ในการอำพรางคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ แถลงโดยดีเอสไอ (ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo)

3 ก.ย.2562 กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงความคืบหน้าคดีการหายตัวไปของ พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ภาพหลักฐานหนึ่งคือ ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน พร้อมทั้งชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ซึ่งระบุในการแถลงว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.62 และเมื่อวันที่ 22-24 พ.ค.62 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำ จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน

และสิ่งที่พบดังกล่าว ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่า “วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับ โพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของ พอละจี เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของ “นายพอละจี รักจงเจริญ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี” และ สภาพกระดูกผ่านการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200 – 300 องศาเซลเซียส  

ภาพถังน้ำมันที่ใช้ในการอำพรางคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ แถลงโดยดีเอสไอ (ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo)

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทวีตผ่านทวิตเตอร์ @bkksnow พร้อมติดแฮชแท็ค #บิลลี่ ว่า ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร (2506-16) การเผาอำพรางศพในถังเป็นปฏิบัติการความรุนแรงนอกรูปแบบของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยจับคนใส่ถังซึ่งใส่น้ำมันไว้ประมาณ 20 ลิตร แล้วเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น บางคนถูกทรมานจนเสียชีวิตก่อนหน้านั้น ในขณะที่บางคนถูกเผาทั้งเป็น

 

ประชาไท ขอย้อนเปิดรายงาน "อุ้มหายและการลอยนวลพ้นผิด: อาชญากรรมจากน้ำมือรัฐ" ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 เขียนโดย ทวีพร คุ้มเมธา ถึง 'วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด' ที่เป็น วัฒนธรรมที่เอื้อต่อการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยยกการบังคับให้บุคคลสูญหายหมู่ การทรมาน และการสังหารผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ ทางตอนใต้ของจังหวัดพัทลุงในช่วงสงครามเย็น ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า การสังหารด้วย "ถังเเดง" เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายใต้การปกครองแบบเผด็จการต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

ภาพด้านบนขวาแสดงให้เห็นวิธีการฆ่าผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ ที่ถูกจับยัดลง 'ถังแดง' ส่วนภาพด้านซ้ายแสดงภาพอนุสาวรีย์รำลึกการฆาตกรรมถังเเดง ภาพ: บางกอกโพสต์ เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2546  

ชื่อเรียก "ถังเเดง" มาจากวิธีการสังหารผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เชื่อว่ามีผู้ต้องสงสัยหลายพันคนเสียชีวิตเพราะถูกจับเผาทั้งเป็นในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ในขณะที่ทำการเผาจะมีการเร่งเครื่องยนต์รถบรรทุกเพื่อกลบเสียงกรีดร้องของผู้ถูกสังหาร ฮาร์เบอร์คอร์น เขียนไว้ในหนังสือ "ฆ่าลอยนวลในประเทศไทย: ความรุนแรงจากน้ำมือรัฐและการลอยนวลพ้นผิดที่พัทลุง” ว่า เมื่อ พ.ศ. 2515 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกเผาในถังแดงราว 3,000 คน   

ความโหดร้ายนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่การเปิดโปงอาชญากรรมนี้กลับดำเนินการโดยนักศึกษานักกิจกรรมช่วงที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ เมื่อ พ.ศ.2518 เพียงสองปีหลังจากการลุกฮือเมื่อ 14 ตุลาคม 2516  

ฮาร์เบอร์คอร์น กล่าวในงานวิจัยว่า การเปิดโปงนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย สื่อรายงานกรณีถังแดงอย่างแพร่หลาย ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนลงโทษผู้กระทำผิด กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีดังกล่าวช่วงกลาง พ.ศ.2518 ประมาณหนึ่งเดือนให้หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ข้อสรุปว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกสังหาร แต่มีผู้เกี่ยวข้องเพียงเจ็ดสิบหรือแปดสิบคน แทนที่จะเป็นจำนวนหลายพันคน แม้ว่ามีการระบุจำนวนผู้ได้รับผลกระทบแต่ไม่มีใครถูกลงโทษ หน่วยงานของรัฐที่พึงรับผิดต่อการสังหารยังคงทำงานตามต่อไปปกติ 

ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวว่า "การลอยนวลพ้นผิดและการบังคับให้บุคคลสูญหาย มีความสัมพันธ์กันโดยตรง ดิฉันประหลาดใจเสมอๆ เพราะมีการบังคับให้บุคคลสูญหาย การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และสังหารหมู่มากมาย แต่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำได้น้อยมาก"   

อนุสาวรีย์ "ถังแดง" ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง  (ภาพ: บล็อก แม่โขง ทราเวลเลอร์)

ในรายงานของ ทวีพร ครั้งนั้น ย้ำตอนท้ายว่า เนื่องจากไม่มีใครต้องรับผิด การบังคับให้บุคคลสูญหายและการวิสามัญฆาตกรรม ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นบรรทัดฐานและอาจเฟื่องฟูท่ามกลางวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเสียด้วยซ้ำ 

และเมื่อดีเอสไอมีความคืบหน้าคดีมาถึงขนาดนี้แล้ว หวังว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net