Skip to main content
sharethis

เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล ออกแถลงการจี้รัฐต้องเร่งหาฆาตรกรและผู้อยู่เบื้องหลังฆาตรกรรม 'บิลลี่' มาลงโทษ สร้างสวัสดิภาพและคุ้มครองครอบครัวของบิลลี่อย่างเป็นรูปธรรม แอมเนสตี้ฯ ย้ำผู้เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากลและต้องได้รับโทษ 

4 ก.ย.2562 จากกรณี วานนี้ (3 ก.ย.62) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงความคืบหน้าคดีการหายตัวไปของ พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ภาพหลักฐานหนึ่งที่คือ ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน พร้อมทั้งชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น จากที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน ตรวจพบสารพันธุกรรม ยืนยันว่าตรงกับ พอละจี ชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี อีกทั้ง ดีเอสไอ ยังได้ชี้ว่า พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับนั้น

ล่าสุดวันนี้ (4 ก.ย.62) ที่ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย ออกแถลงการณ์กรณีดังกล่าว เรียกร้องให้รัฐต้องเร่งหาฆาตรกรและผู้อยู่เบื้องหลังฆาตรกรรมมาลงโทษ สร้างสวัสดิภาพและคุ้มครองครอบครัวของบิลลี่อย่างเป็นรูปธรรม

เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย ซึ่งได้มาร่วมประชุมเพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 และ 2 มิถุนายน 2553 ให้มีผลในเชิงปฏิบัติเพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ณ สถานที่แห่งนี้ ขอแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. เราขอชมเชยและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และองค์กรที่เป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ทุกท่านที่ทุ่มเทการทำงานด้วยความมานะพยายามจนสามารถชี้วัตถุพยานหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนในคดีอุ้มหาย “นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” อันจะมาซึ่งการคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวและชุมชน รวมถึงเครือข่ายกะเหรี่ยงและทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับธรรมทั้งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีและถูกลิดรอนสิทธิด้านต่าง ๆ

2.จากความคืบหน้าอันเกิดจากพยานหลักฐานชิ้นสำคัญดังกล่าว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดดำเนินการนำเอาตัวผู้กระทำผิดและผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษ โดยเร่งด่วน และเร่งให้เร่งดำเนินคดีกรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนกว่า 100 หลัง รวมทั้งบ้านปู่คออี้ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใด ๆ เลย

3.เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และ 2 มิถุนายน 2553 ในคุ้มครองวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน ซึ่งบิลลี่ เป็นผู้ประสานงานในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด

4.เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ์มนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติว่าด้วย อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปะติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีจึงไม่มีสภาพบังคับอย่างใด

เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย จะได้ติดตามความคืบหน้ากรณี “บิลลี่” ถูกอุ้มหายจนพบหลักฐานสำคัญว่าเขาได้เสียชีวิตไปแล้วอย่างโหดเหี้ยม ให้ได้รับเป็นความธรรมโดยเร่งด่วน ทั้งการนำคนผิดมาลงโทษ การเยียวยาครอบครัวและออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิให้เกิดขึ้นโดยเร็วต่อไป

แอมเนสตี้ฯย้ำผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับโทษ

เช่นเดียวกับ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของบิลลี่ต่อการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และแอมเนสตี้จะยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวจนกว่าทางการไทยจะสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

“นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ทางการไทยสามารถนำความคืบหน้าของคดีอาชญากรรมร้ายแรงเช่นนี้มาสู่ครอบครัวของผู้เสียหายและสาธารณชนได้”

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสืบสวนสอบสวนให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำและผู้ส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมครั้งนี้คือใคร และต้องนำบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล”

นอกจากนั้น แอมเนสตี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางการไทยจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหายต่อไปด้วย พร้อมย้ำว่า การออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายจะนำพาความยุติธรรมมาให้กับผู้เสียหายและครอบครัว และเป็นการประกันถึงความรับผิดของผู้กระทำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ยั่งยืน” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced  or Involuntary Disappearance -WGEID) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในไทย 86 คน (เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประมาณเกือบ 40 ราย สถานการณ์ภาคใต้ประมาณ 31 การปราบปรามยาเสพติดในภาคอีสาน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ ประมาณ 10 กว่าราย ในกรุงเทพฯ มีกรณีสมชาย นีละไพจิตร ทนง โพธิ์อ่าน และผู้สูญหายจากความขัดแย้งทางการเมือง) ซึ่ง ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นลำดับ 3 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net