Skip to main content
sharethis

กสม. เรียกร้อง ครม. – รัฐสภา เร่งออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเร็ว พร้อมสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และเยียวยาครอบครัวบิลลี่ 'ทวี' ย้อนรอย กม.ดังกล่าว ถูก สนช.โยนทิ้ง

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ รักษาการประธาน กสม.

4 ก.ย.2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะรักษาการประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบหลักฐานเชื่อมโยงคดีการหายตัวไปของ พอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก บางกลอยว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของ พอละจี และขอแสดงความชื่นชมการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่บูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการสืบสวนสอบสวนอย่างยากลำบาก จนกระทั่งได้พบหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงว่านายพอละจีฯ น่าจะเสียชีวิตแล้ว และสนับสนุนให้เร่งดำเนินการต่อไปเพื่อนำกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว

ประกายรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พยายามผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทยโดยในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา กสม. ได้มีข้อเสนอแนะและความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  โดยเฉพาะการกำหนดเรื่องการรับผิดของผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนรับรู้การกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT ) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ตกไป

“ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว และขอให้คณะรัฐมนตรีเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ(International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันทางกฎหมายและแสดงเจตนารมรณ์ที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน” รักษาการประธาน กสม. กล่าว

ประกายรัตน์ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณามาตรการเยียวยาที่รวดเร็วและเป็นธรรมต่อครอบครัวของนายพอละจี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ครอบครัว รวมทั้งคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ที่จะทำให้สังคมไทยมีศรัทธา ยึดมั่นต่อหลักนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทย

'ทวี' ย้อนรอย กม.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ถูก สนช.โยนทิ้ง

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ยกกรณี บิลลี่ และ กรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกซัดทอดและถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวเข้าสอบปากคำ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี และมีอาการช็อกหมดสติถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นปัญหา รัฐบาล คสช. และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. เป็นยุคที่ออกกฎหมายที่ถือว่ามากที่สุด จากเว็บไซต์ของ สนช ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ได้ประกาศว่าออกกฎหมายไปแล้วถึง 412 ฉบับ แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จตั้งแต่ พ.ศ.2559 สนช. กลับพิจารณาอย่างล่าช้า ทั้งที่ปรากฏว่าในช่วงหนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2562 ถึงวันที่ 18 ก.พ.2562 เป็นเวลาเดือนเดียว สนช. ผ่านกฎหมายไปแล้วถึง 66 ฉบับ

จึงไม่แปลกใจ เพราะ สนช เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ที่เป็นระบอบเผด็จการ คำพังเพยที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย กฎหมายย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น” จึงเป็นอมตะความจริง เพราะร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..เป็นกฎหมายที่ไม่ได้รับใช้ชนชั้นคสช. จึงเป็นกฎหมายที่ สนช ไม่นำมาพิจารณา หรือโยนทิ้ง โดยสถานะปัจจุบันจึงกลายเป็น “กฎหมายที่ค้างการพิจารณาในชั้นรัฐสภา” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net