สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธไทยกับความล้มเหลวทางศีลธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักวิชาการด้านพุทธปรัชญาบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ที่คนทุกวันนี้กระแนะกระแหนเวลาได้ยินใครพูดเรื่อง “คนดี” อาจเป็นเพราะไม่ได้ศึกษาจริยศาสตร์คุณธรรม หรือ “virtue ethics” เช่น จริยศาสตร์คุณธรรมของโสกราตีส หรือทางตะวันออกก็เช่นจริยศาสตร์พุทธ, ขงจื้อ เป็นต้น ซึ่งจริยศาสตร์เหล่านี้มุ่งสร้างคนดีหรือคนที่มีคุณธรรมต่างๆ ถ้าเราศึกษาจริยศาสตร์คุณธรรมก็จะเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมสังคมมนุษย์จึงต้องพัฒนาคนให้เป็นคนดี และคนดีหรือคนมีคุณธรรมคือคนเช่นไร มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร

คำถามของผมก็คือ ถ้าคนทุกวันนี้ไม่รู้จักและไม่เห็นคุณค่าของ “คนดี” ตามกรอบคิดจริยศาสตร์พุทธมันแปลว่าอะไร เพราะเราเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่อง “คนดี” ตั้งแต่ ป.1-ม.6 พระสงฆ์สอนเรื่องคนดี พระบรมราโชวาทของกษัตริย์ก็เน้นเรื่องคนดี ครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ละครหลังข่าวล้วนแต่ตั้งใจเป็นพิเศษในการสอนให้เราเป็นคนดี ซึ่งโดยมากก็พูดถึงคนดีจากอิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาแทบทั้งนั้น

ในสังคมไทยเวลาเรานึกถึงหรือยกตัวอย่าง “คนดี” เรานึกถึงคนแบบไหน คนแบบคุณเปรม, คุณอานันท์, คุณชวน, หมอประเวศ และฯลฯ คือไม่ว่าจะนึกถึงหรือยกตัวอย่างคนดีในปัจจุบันหรือไล่ย้อนไปในอดีต คนดีส่วนใหญ่ที่สังคมยกย่องกันเป็นทางการมากหรือน้อย ก็คือคนที่อยู่ฝ่ายอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม สังคมเราไม่ได้ยกย่องฝ่ายซ้ายและเสรีนิยมว่าเป็นคนดี หรืออันที่จริงคนพวกนี้อาจถูกมองเป็นคนไม่ดี ไม่รู้คุณแผ่นดิน หรือกระทั่งเป็น “พวกชังชาติ” ทำลายชาติเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ในระยะหลังที่คนเขากระแนะกระแหน “วาทกรรมคนดี” ก็เพราะบรรดาคนดีระดับ “บิ๊กเนม” และ “เสียงดังกว่า” ทั้งหลายในสังคมมักละเมิดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หรือเป็นพวกที่อยู่ในฝ่ายที่ทำและสนับสนุนรัฐประหาร ก็เลยสับสนว่าคนดีตามนิยามแบบบ้านเราคือคนแบบไหนกันแน่

ในทางทฤษฎี เวลาเราพูดถึงทฤษฎีคุณธรรมแบบโสกราตีส มันชัดเจนว่าเป็นทฤษฎีที่แนะนำ (ไม่ใช่สั่งสอน) บุคคลให้ฝึกตนเองเพื่อสร้างบุคลิกภาพที่มี “ความเป็นเลิศ” (คุณธรรมคือความเป็นเลิศ หรือ virtue = excellence) ด้านปัญญา, ความกล้าหาญ, การควบคุมตนเอง และความยุติธรรม

เวลาเรานึกถึงโสกราตีสเราจะเห็นภาพของคนที่มุ่งความเป็นเลิศด้านปัญญา ด้วยรักการแสวงหาความรู้มากกว่าที่จะบอกว่าตนเป็นสัพพัญญู เก่งในเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และมีความกล้าหาญทางศีลธรรม (moral courage) กระทั่งยอมสละชีวิตเพื่อรักษาความถูกต้องที่ตนเองยืนยัน 

เช่นเดียวกันสำหรับศาสนาคริสต์ที่เจริญในตะวันตก เวลาเขานึกถึงเยซูก็จะนึกถึงความรัก การให้อภัย และความกล้าหาญทางศีลธรรม แม้แต่เมื่อนึกถึงนักปรัชญาสมัยใหม่ที่เสนอจริยศาสตร์แบบเน้นหลักการทางศีลธรรม เราก็จะเห็นความกล้าหาญทางศีลธรรมของพวกเขาในการยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทางการเมืองและศาสนจักร (แน่นอนย่อมจะมีนักคิด นักปรัชญาจำนวนหนึ่งสนับสนุนเผด็จการด้วยเช่นกัน)

คำถามก็คือ เวลาเรานึกถึงพุทธะ เรานึกถึงภาพจำแบบไหนที่พอพูดขึ้นมาแล้วคนทั่วไปเห็นตรงกันแบบที่ชาวตะวันตกพูดถึงบุคลิกภาพของโสเครตีสและเยซู (เป็นต้น) ผมคิดว่าชาวพุทธบ้านเรานึกถึงพุทธะด้วยภาพจำที่หลากหลายมาก จากที่สังเกตจากการอ่าน การฟัง และพฤติกรรมทั่วๆ ไปของชาวพุทธ แต่ในความหลากหลายนั้น จะมีที่เหมือนกันอยู่อย่าง คือมองว่าพุทธะคือ “ศาสดาเอกของโลก” ผู้สูงส่งกว่าพระศาสดาอื่นๆ ทั้งในแง่ตรัสรู้สัจธรรมหลุดพ้นจากกิเลสและมีชาติกำเนิดสูงส่งในวรรณะกษัตริย์ (พระและผู้รู้พุทธศาสนาบ้านเรามักเทศนาทำนองนี้บ่อยๆ) เช่นเดียวกันเวลาเรานึกถึงพระราชาแห่งสยามเราก็จะนึกถึง “ราชาเหนือราชา” (ราชาธิราช) และอันที่จริงประวัติศาสตร์ของราชาเหนือราชาก็คือประวัติศาสตร์ของราชาที่เป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว สมมติเทพตามคติพุทธผสมพรามหณ์นั่นเอง

อะไรคือ “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” เมื่อเรานึกถึงพุทธะ ผมไม่ได้บอกว่าพุทธะไม่ได้โดดเด่นในเรื่องความกล้าหาญทางศีลธรรม แต่บ้านเราไม่ได้เน้นภาพพุทธะในแง่ความกล้าหาญทางศีลธรรม 

จะว่าไปภาพของ “คนดี” ตามคำสอนพุทธศาสนาและในวัฒนธรรมคนดีในบ้านเราก็ไม่ได้เน้นความกล้าหาญทางศีลธรรม (อ.สุลักษณ์พูดคำว่า “ความกล้าหาญทางศีลธรรม” บ่อยๆ แต่ไม่เคยอ้างที่มาจากคำสอนพุทธ ผมเดาว่าน่าจะได้อิทธิพลจาก virtue ethics แบบโสกราตีสมากกว่า)

แต่ที่น่าประหลาดใจมากคือ ความคิดทางศีลธรรมในบ้านเราเน้นเรื่อง “เจตนาดี” ถึงขนาดว่าถ้ามีเจตนาดีแล้วก็สามารถจะทำผิดหลักการที่ชอบธรรมได้ เช่น ผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสสนับสนุนรัฐประหาร ด้วยข้ออ้างว่า การทำรัฐประหารทำจาก “เจตนาดี” เพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง และคนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดีจากสาขาอาชีพต่างๆ ก็ยินดีเข้าไปร่วมทีมกับคณะรัฐประหารด้วย “เจตนาดี” เพื่อประโยชน์ของชาติ บางทีเราก็อ้างกันว่า เผด็จการโดยคนดี ทำด้วยเจตนาดีเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก็คือ “เผด็จการโดยธรรม” อะไรแบบนั้น

แต่นั่นคือ “เจตนาดี” ตามคำสอนพุทธะจริงหรือ ด้วยความรู้น้อยนิด ผมคิดว่าเจตนาดีที่พุทธะสอนไม่ใช่เจตนาดีที่เป็นอิสระจาก “มรรค/วิถีที่ถูกต้อง” ถ้าตัวมรรค(แปด) คือตัวหลักศีลธรรม เจตนาดีก็คือเจตนาหรือเจตจำนงทำตามมรรคนั่นเอง 

ดังนั้น เจตนาดีจึงต้องยึดโยงกับมรรคหรือวิถีที่ถูกต้องเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงอ้างเรื่องเจตนาดีตามหลักพุทธสนับสนุนการทำรัฐประหารไม่ได้ เพราะการทำรัฐประหารผิดหลักมรรค กล่าวคือ การปล้นอำนาจ สิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนมันผิดมรรคข้อ “การกระทำที่ถูกต้อง” (สัมมากัมมันตะ) ที่มีการเว้นจาก “อทินนาทาน” เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่ถูกต้องนั้นด้วย

เป็นอันว่า ถ้าเรายืนยันว่า “เจตนาดี” อย่างแยกขาดจาก “มรรค” ไม่ได้ ที่บรรดาคนดีอ้างพุทธศาสนา ธรรมะ ศีลธรรม สนับสนุนการทำรัฐประหารจึงเป็นการทำผิดหลักการพื้นฐานทางศีลธรรมของพุทธศาสนาเสียเอง พูดอีกอย่างคือ การตีความพุทธศาสนาสนับสนุนรัฐประหาร มันทั้งเป็นทำลายหลักการประชาธิปไตยและหลักการทางศีลธรรมของพุทธศาสนาเสียเอง

ถ้าผมพูดถูกว่า “เจตนาดีทางศีลธรรมแบบพุทธแยกขาดจากมรรคไม่ได้” เมื่อแยกจากมรรคหรือวิถีที่ถูกต้องไม่ได้ ก็ย่อมอ้างเจตนาดีตามหลักพุทธเพื่อทำหรือสนับสนุนรัฐประหารไม่ได้ แต่ทำไมบรรดาผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสจำนวนไม่น้อยจึงนิยมอ้างเจตนาดีแบบพุทธสนับสนุนรัฐประหาร (หรือเพิกเฉยไม่ต่อต้านการอ้างเช่นนั้นว่าผิดหลักพุทธศาสนา) แถมยังอ้างเจตนาดีเข้าไปร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารอีกด้วย

เพื่อจะตอบคำถามดังกล่าว ผมจะไม่บอกว่าผมเข้าใจ “พุทธที่เป็นแก่นแท้” คนอื่นเข้าใจพุทธไม่แท้ จริงๆ ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้น เพราะพุทธศาสนาไทยเป็นศาสนาของรัฐ (state religion) มายาวนาน ชนชั้นปกครองผูกขาดการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจของพวกเขาจนเป็นประเพณีมายาวนาน คุณธรรมของผู้ปกครองที่พุทธศาสนาสอนถูกใช้ในความหมายของศีลธรรมแบบมาคิอาเวลเลียน (ศีลธรรมที่เป็นเพียงเครื่องมือรักษาอำนาจและผลประโยชน์) มายาวนาน โดยปราศจากเสรีภาพในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบ มันจึงไม่เคยเป็นศีลธรรมที่เป็น “มรรคที่ถูกต้อง” ได้จริงในทางปฏิบัติ 

เพราะอิทธิพลของพุทธแบบรัฐ จึงทำให้แม้แต่ผู้รู้พุทธที่ดูเหมือนจะก้าวหน้า หรือ “ราษฎรอาวุโส” ที่พยายามตีความพุทธธรรมเสนอทางออกจากวิฤตต่างๆ ของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะไม่เฉลียวใจว่า ตนเองกำลังใช้ “เจตนาดี” ที่ยึดโยงกับ “มรรค/วิถีที่ถูกต้อง” หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วตนเองกำลังแสดงบทบาท “นักศีลธรรมแบบมาคิอาเวลเลียน” เท่านั้น และนี่ก็คือภาพสะท้อนความล้มเหลวทางศีลธรรมของพุทธศาสนาไทย 

เพราะเป็นพุทธศาสนาแบบที่ผลิตสร้างศีลธรรมมาคิอาเวลเลียน และสร้างคนดีมีคุณธรรมที่อ้างเจตนาดีในการกระทำอย่างไม่ยึดโยงกับมรรคหรือวิถีที่ถูกต้องทางศีลธรรมตามคำสอนพุทธะ และขาด “สามัญสำนึก” เคารพความถูกต้องชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย 

หรือมองอีกแง่หนึ่ง ถึงแม้จะมีชาวพุทธจำนวนหนึ่งพยายามนำเสนอคำสอนที่ถูกต้อง แต่ถ้าบรรดาผู้เสนอเช่นนั้นแสร้งมองไม่เห็น “ช้างในห้อง” ที่เป็นต้นเหตุทำให้การอ้างศีลธรรมทางสังคมไร้ความหมาย หรือกลายเป็นการสร้าง “สองมาตรฐานทางศีลธรรมทางสังคม” เสมอ ก็ย่อมยากที่จะคาดหวังได้ว่าศีลธรรมพุทธจะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้จริง 
 

ที่มาภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Devadatta_-Inciting_an_elephant_to_charge_at_the_Buddha.jpg

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท