Skip to main content
sharethis

นักการเมืองพรรครัฐบาลท่องคาถา ประชาชนกำลังเดือดร้อน ต้องช่วยน้ำท่วมก่อน อภิปรายถวายสัตย์ฯ ไม่ครบเอาไว้ทีหลัง เศรษฐกิจกำลังแย่ ต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อน แก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ทีหลัง หมายโทษฝ่ายค้านว่าเอาแต่ “เล่นการเมือง” ไม่สนใจความทุกข์ยากของประชาชน

ทั้งที่โดยตรรกะ มันแปลว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่ดี เราก็ต้องมี 250 ส.ว.ตู่ตั้ง ไว้เลือกตู่เป็นนายกฯ ต่อไป ตราบใดที่ยังมีน้ำท่วมภัยแล้งภัยหนาวฝุ่นควัน เราก็ไม่ควรสนใจว่า รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นี่คือการจับประชาชนเป็นตัวประกัน อ้างประโยชน์เฉพาะหน้า มาปกป้องความไม่ชอบธรรมทางการเมือง เพื่อรักษาเครือข่ายอำนาจ ที่อยู่เหนือประชาชน เป็นภาระประเทศ เป็นภาระเศรษฐกิจ ขัดขวางการเดินไปข้างหน้า แต่อาศัยดราม่า แอคติ้งทางการเมือง มาทำให้ดูว่ารัฐบาลกำลังกระตือรือร้นแก้ปัญหาประชาชน

ซึ่งมันก็แหงละ เป็นคุณเป็นผมเป็นรัฐบาลเกิดน้ำท่วม เป็นใครก็ต้องเห็นใจประชาชน นำคณะเป็นโขยงไปตรวจเยี่ยม ลงเรือท้องแบนท้องกลม แจกถุงยังชีพ แจกงบประมาณ แจกเงินกู้ สั่งการแข็งขัน ให้ราชการช่วยนั่นช่วยนี่ แล้วก็มีแม่ยกโผเข้ามากอด น้ำตาไหลพราก อยากให้อยู่ 8 ปีตามคำทำนายซินแสประจำตัว (แต่กินเงินเดือนหลวง)

ทำกันจนแยกไม่ออกแล้วว่างานรูทีน หรือแอคติ้งทางการเมือง ใครมีเครื่องบินส่วนตัวก็บึ่งไปโลด ได้คะแนนท่วม ขณะที่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน “ไพร่หมื่นล้าน” โดนถามว่าหายไปไหน

พูดอย่างนี้ต้องแยกให้ออกว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อเกิดภัยพิบัติ เกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน นักการเมืองต้องไปรับฟังปัญหา เป็นรัฐบาลจะเอาแต่สั่งข้าราชการจากทำเนียบไม่ได้ แต่รับฟังแล้วต้องแก้เชิงระบบ เชิงนโยบาย ขณะที่ฝ่ายค้านก็ต้องไปเพื่อสำรวจจุดอ่อนข้อบกพร่องมานำเสนอ เพียงแต่ฝ่ายค้านสั่งราชการไม่ได้ ไม่มีงบให้ใช้ อย่างมากก็ขอบริจาคเพื่อติดไม้ติดมือไปช่วยเหลือ

2 เดือนของรัฐบาล ประชาชนได้เห็น “แอคติ้งทางการเมือง” ค่อนข้างเยอะ เพราะรัฐมนตรี 2 ใน 3 เป็นนักการเมืองที่อดอยากบทบาทมานาน เดินสายสั่งการโน่นนี่ โชว์ไอเดียชิงพื้นที่สื่อ เป็นอะไรที่เหมือนแปลกใหม่เพราะประชาชนเบื่อหน่ายอยู่ใต้รัฐบาลทหารมา 5 ปี

พูดในแง่ดี ก็เหมือนได้กลไกประชาธิปไตยกลับมาระดับหนึ่ง ดีกว่าร้องศูนย์ดำรงธรรม แต่ในด้านลบ ก็เป็นการเอาเศษเสี้ยวประชาธิปไตย มากลบการได้อำนาจโดยกติกาเอาเปรียบ “อย่างหนา” บอกว่าเห็นไหม ถึงมาไม่ชอบธรรมก็ทำให้ประชาชนพอใจ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งมากมาย

ทิศทางอย่างนี้ ก็เหมือนคิดว่าถ้าแก้ปัญหาประเทศได้ จะสามารถสลายพลังประชาธิปไตย ให้ประเทศอยู่ใต้ระบอบนี้ตลอดกาล แต่ถ้าแก้ไม่ได้ ก็คือเกิดวิกฤติวิบัติพินาศฉิบหาย จึงค่อยแก้รัฐธรรมนูญ

ระหว่างนี้ รัฐบาลก็จะแอคติ้งไปอย่างนี้ โดยไม่สนใจความถูกต้องทางกติกา เช่นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทีแรกจะขอประชุมลับ แต่โดนกระแสสังคมโต้ จำนนต่อเหตุผล ก็ถอยไปลับ ๆ ล่อ ๆ ต่อมาก็อ้างศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่คนละประเด็นกัน การอภิปรายในสภาคือการทวงถามความรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญและประชาชน

รัฐธรรมนูญไม่สำคัญ ทำผิดรัฐธรรมนูญก็อย่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่เหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แค่ย้ายเลขา สมช. ถึงขั้นโดนถอดถอน

บ้านเมืองก็จะอยู่ไปอย่างนี้ คือเอาประโยชน์เฉพาะหน้า เอาใจสังคมดราม่า แต่ไม่ต้องสนใจถูกผิด แล้วคิดว่าจะแก้ปัญหาประเทศได้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/315143

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net