แอมเนสตี้-ICJ ร้อง DSI นำตัวผู้สังหาร 'บิลลี่' มาลงโทษ - กะเหรี่ยงโต้ 'ชัยวัฒน์' ไม่มีพิธีลอยอังคาร

แอมเนสตี้ฯ และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล เรียกร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำตัวผู้สังหาร 'บิลลี่' มาลงโทษ ตามกระบวนการยุติธรรม ด้าน 'ชัยวัฒน์' ขอพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด ชี้กระดูกที่พบนั้นอาจจะเป็นเศษซากกระดูกชาวกะเหรี่ยงในแก่งประจานนำเถ้าอัฐิมาลอยอังคาร ขณะที่ชาวกะเหรี่ยง โต้ไม่มีพิธีลอยอังคาร

5 ก.ย.2562 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า วันนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ออกแถลงการณ์ร่วมหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) การแถลงว่าได้ค้นพบชิ้นส่วนร่างกายของร่างกายของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ทำให้การเฝ้ารอบนความไม่แน่นอนมาเป็นเวลาหลายปีของครอบครัวเขาจบลงด้วยความเศร้าโศก ความคืบหน้านี้ควรนำไปสู่ความพยายามที่จะหาตัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังการบังคับบุคคลให้สูญหายซึ่งเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและนำตัวผู้เกี่ยวข้องที่กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ในวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม แถลงว่าเจ้าหน้าที่ได้พบชิ้นส่วนกระดูกซึ่งจากการตรวจสอบแล้วน่าเชื่อว่าเป็นของบิลลี่ โดยพบอยู่ในถังน้ำมันที่จมน้ำบริเวณสะพานแขวนในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

เฟรเดอริก รอว์สกี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ICJ ย้ำว่า ดีเอสไอควรเพิ่มความพยายามมากขึ้นเพื่อระบุตัวผู้ที่กระทำการสังหารบิลลี่และนำตัวพวกเขามาสู่กระบวนการยุติธรรม

“ถ้าประเมินพยานหลักฐานและพบว่าบิลลี่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย ผู้กระทำความผิด รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่ในการบังคับบัญชาบุคคลดังกล่าว ควรถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เหมาะสมและร้ายแรงโดยสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ มิใช่การตั้งข้อหาตามความผิดอาญาที่เบากว่าและไม่สะท้อนความร้ายแรงของความผิดที่เกิดขึ้น” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ICJ กล่าว

สำหรับ บิลลี่ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

นิโคลัส เบเคลัง รักษาการผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต้องเผชิญ ทั้งการถูกทำร้าย ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหาร

“คดีนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ถูกเพิกเฉยมาอย่างยาวนาน รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายในประเทศ หากไม่ทำเช่นนั้น ย่อมส่งผลให้ขาดกลไกที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพในการที่จะสอบสวนคดีเหล่านี้ ทั้งยังทำให้บรรยากาศการลอยนวลพ้นผิดเลวร้ายลง” นิโคลัส กล่าว

อนึ่ง ดีเอสไอระบุว่าชิ้นส่วนกระดูกที่ค้นพบมีสารพันธุกรรมตรงกับแม่ของบิลลี่ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นกระดูกที่มาจากผู้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับเธอ อย่างไรก็ดี ดีเอสไอปฏิเสธที่จะระบุชื่อผู้ต้องสงสัย และขอเวลาเพิ่มเติมในการสอบสวนคดีนี้และการตรวจสอบเศษชิ้นส่วนที่ค้นพบต่อไป

ข้อมูลพื้นฐาน

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced  or Involuntary Disappearance -WGEID) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในไทย 86 คน (เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประมาณเกือบ 40 ราย สถานการณ์ภาคใต้ประมาณ 31 การปราบปรามยาเสพติดในภาคอีสาน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ ประมาณ 10 กว่าราย ในกรุงเทพฯ มีกรณีสมชาย นีละไพจิตร ทนง โพธิ์อ่าน และผู้สูญหายจากความขัดแย้งทางการเมือง) ซึ่ง ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นลำดับ 3 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

'ชัยวัฒน์' ขอพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด 

กรณีการเสียชีวิตของ พอละจี สื่อมวลชนหลายสำนักตั้งข้อสังเกตุถึง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ก่อนที่เขาจะหายตัวไป ซึ่ง ชัยวัฒน์ ชี้แจงกับกับสื่อมวลชนว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการฆาตรกรรม พอละจี เรื่องนี้ได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุดไปแล้ว พร้อมกับบอกว่าตนมีความน้อยใจที่ถูกโยงไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนกระดูกที่พบนั้นอาจจะเป็นเศษซากกระดูกชาวกะเหรี่ยงในแก่งประจานนำเถ้าอัฐิมาลอยอังคาร นั้น

ยันไม่มีพิธีลอยอังคาร

ขณะที่ เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN) รายงานว่า ทีมข่าว IMN จึงได้ติดต่อสอบถามไปยังผู้รู้ชาวกะเหรี่ยง ทั้งกะเหรี่ยงสะกอว์ และกะเหรี่ยงโผล่ง เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้

โดย ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร นักพัฒนาอาวุโสชาวกะเหรี่ยง (สกอว์) จังหวัดเชียงใหม่  ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไอเอ็มเอ็นว่า  ตามฐานวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ไม่มีพิธีลอยอังคาร เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่บนภูเขา ไม่ได้อยู่ใกล้น้ำหรือทะเล เมื่อคนตายแล้วก็จะนำไปฝัง หรือเผา แต่ไม่เคยพบประวัติศาสตร์ว่ามีการเก็บกระดูกมาลอยน้ำ

สิทธิพล บุญชูเชิด เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี จังหวัดเพชรบุรี ก็ยืนยันว่าชาวกะเหรี่ยงไม่มีพิธีลอยอังคาร โดยวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ไม่มีลอยอังคาร เผาทึ่ไหนก็จบที่นั่นเลย กะเหรี่ยงเพชรบุรีไม่มีการลอยอังคาร เช่น พิธีศพของปู่คออี้ที่ผ่านมา ได้เผาบนเชิงตะกอน เสร็จแล้วทุกคนก็เดินทางกลับลงมา ไม่มีลูกหลานคนไหนไปเก็บอัฏฐิมาลอยเลย

ต่อประเด็นคำถามที่ว่าเป็นไปได้ไหมที่ชาวกะเหรี่ยงที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธจะรับเอาพิธีนี้มาปฏิบัติด้วยนั้น สิทธิพล ชี้แจงว่า  ก็อาจจะเก็บอัฐิมาไว้ในโกฏบ้าง แต่มีน้อยมาก เพราะคนจะไม่คุ้นชินกับการมีชิ้นส่วนของคนตายอยู่ในบ้าน แม้แต่เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ของคนตาย ก็มักจะนำไปเผาหรือฝังด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท