Skip to main content
sharethis

รายงานจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) เตือน เลือกตั้งสหรัฐฯ 2563 อาจมีการใช้วิดีโอปลอมหรือการสร้างข้อมูลเท็จทำให้เกิดความไขว้เขว ทั้งจากในและนอกประเทศสหรัฐฯ รวมถึงเรื่องน่ากังวลจากโปรแกรมตัดต่อใบหน้าคนอื่นเข้ากับวิดีโอหรือ "ดีปเฟค" ซึ่งอาจจะถูกนำมาใช้ในการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองได้

ที่มาภาพ: Mark Zuckerberg

6 ก.ย. 2562 ในรายงานที่ชื่อ "การบิดเบือนข้อมูลและการเลือกตั้งปี 2563 : โซเชียลมีเดียควรจะเตรียมตัวอย่างไร" (Disinformation and the 2020 Election: How the Social Media Should Prepare) ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุถึงความน่าเป็นห่วงที่ว่าเทคโนโลยีการทำสำเนาใบหน้าบุคคลลงไปแปะในวิดีโอต่างๆ เพื่อสร้างข้อมูลเท็จเกี่ยวกับบุคคลนั้นๆ ในแบบที่เรียกว่า "ดีปเฟค" (deepfake) อาจจะถูกนำมาใช้เผยแพร่ตามหน้าสื่ออินเทอร์เน็ตต่างๆ เพื่อ "แสดงให้เห็นว่าผู้แทนฯ ได้พูดหรือทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยพูดหรือทำจริงๆ" และด้วยเหตุนี้เองอาจจะส่งผลให้ชาวอเมริกันถูกชักจูงให้เชื่อตามหรือมีปฏิบัติการในโลกความจริงได้

มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับ "ดีปเฟค" ในหน้าสื่อเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยที่สื่อวิทยุกระจายเสียงสาธารณะของสหรัฐฯ (NPR) รายงานว่า ดีปเฟค คือ "วิดีโอปลอมที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์หรือวัตถุดิบดิจิทัลอื่นๆ ที่นำภาพหลายๆ ภาพมาตัดต่อเข้าด้วยกันจนกลายเป็นวิดีโอใหม่ซึ่งนำเสนอเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง"

เคยมีการใช้วิดีโอตัดต่อทำปลอมแบบที่ว่านี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากที่มีคนเผยแพร่วิดีโอตัดต่อปลอมเป็นภาพประธานสภาผู้แทนฯ พรรคเดโมแครต แนนซี เปโลซี ซึ่งถูกเผยแพร่ไปทั่วในโลกออนไลน์ วิดีโอในรูปแบบดังกล่าวนี้บางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ชีพเฟค" หรือ "ชาลโลว์เฟค" รายงานของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุว่าสื่อตัดต่อปลอมเหล่านี้เป็นภัยต่อการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

รายงานของ NYU ระบุว่าวิดีโอปลอมเหล่านี้มักจะมีการนำเสนอในสื่อโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นบริการส่งข้อความ WhatsApp หรือโซเชียลมีเดียสำหรับรูปภาพกับวิดีโออย่างอินสตาแกรมซึ่งทั้งสองบริการนี้มีเฟสบุ๊คเป็นเจ้าของ ในการเลือกตั้งปี 2559 ก็เคยมีรายงานจากคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองของวุฒิสภา (Senate Intelligence Committee) กล่าววหาว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดียในการชักจูงความคิดเห็นทางต่อผู้ลงสมัครเลือกตั้ง เช่น มีการใช้อินสตาแกรมเพื่อส่งอิทธิพลต่อความคิดเห็นของกลุ่มคนดำในสหรัฐฯ

รายงานฉบับเดียวกันนี้ประเมินการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในครั้งถัดไปว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ อย่างรัสเซีย จีน และอิหร่าน อาจจะเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อพยายามชักจูงผู้คนในการเลือกตั้งปี 2563 เช่นกัน แต่ทว่าสิ่งที่จะส่งผลมากกว่าคือการอาศัยเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่มาจากภายในประเทศสหรัฐฯ เอง ซึ่ง NYU เตือนว่าแหล่งแพร่กระจายข้อมูลเท็จแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสหรัฐฯ เองมีเป้าหมายหลักเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองออกเสียงเลือกตั้ง (voter suppression)

มีข้อเสนอ 9 ประการจาก NYU ต่อบริษัทโซเชียลมีเดียใหญ่ๆ ในการจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จไม่ว่าจะจากแหล่งใดก็ตาม

  1. ให้คอยตรวจจับและลบวิดีโอแบบ "ดีปเฟค" ออก
  2. ให้คอยนำเนื้อหาที่หลอกลวงออก
  3. ให้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญคอยสอดส่องดูแลเนื้อหา
  4. ให้จัดการปัญหาการกระจายข้อมูลเท็จในอินสตาแกรม
  5. จำกัดการส่งต่อข้อมูลในวอทส์แอพพ์ให้สามารถส่งต่อได้ 1 กลุ่มต่อ 1 ครั้ง
  6. ให้เตรียมรับมือกับข้อมูลเท็จจากบริษัทรับจ้างในเรื่องนี้
  7. สนับสนุนกฎหมายการกำกับดูแลโฆษณาทางการเมืองและลงโทษการสกัดกั้นไม่ให้คนไปลงคะแนนเสียง
  8. พัฒนาความร่วมมือในการขจัดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จให้มากขึ้น
  9. การสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อโซเชียลออนไลน์ในแบบที่ตรงไปตรงมากกว่าและยั่งยืนกว่า

พอลล์ เอ็ม แบร์เร็ตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์กวดขันด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของ NYU ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่าบริษัทโซเชียลมีเดียควรจะมีความรับผิดชอบกับการที่มีคนนำเว็บของพวกเขาไปใช้ในทางที่ผิดและมีการลบเนื้อหาที่เป็นเท็จซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันประชาธิปไตย รวมถึงจัดให้มีการนำเนื้อหาข้อมูลเท็จเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและศึกษาได้แต่ไม่ให้เผยแพร่ต่อ

อย่างไรก็ตามการเรียกร้องให้ลบเนื้อหาที่เป็นเท็จนั้นอาจจะฟังดูเป็นมาตรการที่ดีในการสกัดกั้นข้อมูลเท็จ แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเรียกร้องเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการเซนเซอร์เกิดขึ้นจากที่เมื่อไม่นานนี้เฟสบุ๊คและยูทูบเคยมีการปิดกั้นเนื้อหาหรือปิดบัญชีผู้ใช้งานที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นตรงกับความจริง

ทั้งนี้ ไมเคิล พอสเนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์กวดขันฯ จาก NYU ก็เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าการต่อกรกับการให้ข้อมูลเท็จไม่เพียงแค่เป็นเรื่องถูกต้องแต่ยังเป็นการช่วยรักษาภาพลักษณ์ยี่ห้อของโซเชียลมีเดียนั้นๆ เองด้วย และการให้โซเชียลมีเดียคอยสอดส่องในเรื่องนี้ยังจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลอ้างเรื่องข้อมูลเท็จในการออกกฎหมายกำกับดูแลของพวกเขาเองซึ่งจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สื่อคอมมอนดรีมส์ยกตัวอย่างกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามออกคำสั่งพิเศษที่จะเป็นการปิดกั้นข้อมูลอินเทอร์เน็ตและให้อำนาจตัวเองตัดสินใจเอาเองว่าข้อมูลไหนควรเผยแพร่หรือไม่ควรเผยแพร่ แต่ร่างคำสั่งพิเศษดังกล่าวรั่วไหลออกมาต่อหน้าสื่อเสียก่อนในเดือน ส.ค. ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมด้านเสรีภาพสื่อและด้านไอทีตื่นตัวในเรื่องนี้

ในรายงานของ NYU นำเสนอผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันเกี่ยวกับเรื่องความคิดเห็นต่อปัญหาการกระจายข้อมูลเท็จในสื่อ ซึ่งผลระบุว่าชาวอเมริกันร้อยละ 50 มองว่า "การกุข่าวหรือข้อมูลขึ้นมาเอง" ถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมอเมริกันตอนนี้ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 64 มองว่าสื่อโซเชียลมีเดียที่มีส่วนช่วยเผยแพร่ข้อมูลเท็จจำพวกนี้คือเฟสบุ๊ค รองลงมาคือทวิตเตอร์ (ร้อยละ 55) และยูทูบ (ร้อยละ 48)

สำหรับ "ดีปเฟค" นั้นมีที่มาจากโปรแกรมสับเปลี่ยนใบหน้าของแอพพลิเคชันจากจีนที่ชื่อ "Zao" ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สื่อกิซโมโดก็ระบุว่าโปรแกรมนี้ทำให้เกิดความน่ากังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวจากการที่มันทำให้ใบหน้าของผู้ใช้งานกลายเป็นสิ่งที่ถูกฉกฉวยนำไปใช้ผิดๆ ได้ โดยที่โปรแกรมตัวนี้สามารถนำรูปภาพบุคคลไปตัดต่อเข้ากับรูปใบหน้าบุคคลอื่นในวิดีโอและนำเสนอออกมาดูสมจริง เช่น ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่ชื่อ AllanXia สาธิตวิธีการใช้งานโดยการตัดต่อรูปใบหน้าของตัวเองเข้ากับดาราฮอลลีวูด ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ในบทบาทการแสดงภาพยนตร์เรื่องต่างๆ โดยอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ในการสับเปลี่ยนใบหน้าผ่านรูปถ่ายของผู้ใช้งานเอง

เรียบเรียงจาก

New Report Warns of Deepfakes and Social Media Disinformation Campaigns That Aim to Undermine 2020 Election, Common Dreams, Sep. 3, 2019

Another Realistic Deepfake App Goes Viral Before Majorly Creeping People Out, Gizmodo, Sep. 2, 2019

รายงานฉบับเต็มจาก NYU

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net