Skip to main content
sharethis

เปิดงานวิจัย 'การพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21' เสนอ ‘สร้างหลักประกันสิทธิให้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า’ ด้วย Universal Basic Income (UBI)

เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยโครงการวิจัย 'การพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21' ได้จัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย โดยมี ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เป็นผู้นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยฯ

ผศ.ดร.ทศพล ได้ระบุถึงสมมติฐานงานวิจัย และคำถามงานวิจัยของโครงการไว้ว่าความท้าทายอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์แบบลัทธิเสรีนิยมใหม่ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการผลักดันของเทคโนโลยีสารสนเทศได้เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารเวลาและพื้นที่อย่างลึกซึ้ง จนสร้างผลกระทบต่อผู้คนและสังคมไทยอย่างกว้างขวาง เมื่อระบอบกฎหมายภายในเดิมไม่อาจจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นยังผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมแก่กลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ไม่ได้รับการประกันสิทธิ ซึ่งหากรัฐไทยจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม จำต้องปรับปรุงระบอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับกับความท้าทายที่ก่อตัวขึ้นอย่างไร

โดยขอบเขตของโครงการวิจัย โฟกัสไปที่สิทธิ 2 กลุ่มใหญ่ที่แรงงานรับจ้างอิสระอาจได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ความเสี่ยงต่อสิทธิทางสังคม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิ, ความไม่มั่นคงในความสัมพันธ์, ความไม่มั่นคงทางสุขภาพจิต และความเสี่ยงสิทธิทางเศรษฐกิจ ความไม่มั่นคงในการทำงานและผลตอบแทนที่เป็นธรรมจากเศรษฐกิจดิจิทัล, ความไม่มั่นคงในกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินดิจิทัล

Disruptive Technology และ Neo-Liberalism สร้างภัยคุกคามใหม่ให้ผู้ด้อยสิทธิ

ภาพจากเวทีเวทีนำเสนอผลงานวิจัย 'การพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21'

ผศ.ดร.ทศพล ได้ระบุถึงสภาพปัญหาอันเนื่องมาจากความท้าทายในโลกศตวรรษที่ 21 ไว้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันในโลกศตวรรษ 21 ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม (Disruptive Technology) และแนวคิดลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) แม้จะสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สร้าง 'โอกาส' ใหม่ๆ แต่ก็ได้สร้าง 'ภัยคุกคาม' ด้วยเช่นกัน ให้กลุ่ม/ชนชั้น/อาชีพ/เพศ หลากหลาย อย่างแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง ก็คือ 'ผู้ทรงสิทธิตามระบอบกฎหมายเก่า' ส่วนกลุ่มเสี่ยง คือ 'ผู้ด้อยสิทธิตามระบอบกฎหมายเก่า' ความเหลื่อมล้ำสังคมอาจเพิ่ม

ทั้งนี้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) คือ การแปลงอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองให้เป็นแนวปฏิบัติของรัฐผ่านนโยบายสำคัญที่ประกอบด้วย 1) การลดข้อบังคับ (Deregulation) 2) การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน (Privatization) และ 3) การลดรายจ่ายภาครัฐเพื่อการรัดเข็มขัดทางการเงิน (Austerity) การสะสมทุนโดยผ่านการยึดทรัพย์ (Accumulation by Dispossession) ด้วยโครงสร้างเสรีนิยมใหม่ ซึ่งมีลักษณะสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ การแปลงทรัพย์สินของรัฐให้เป็นของเอกชน (Privatization) มีการบริหารเศรษฐกิจในแบบรัฐวานิช (Financialization and Economic Speculation) โดยฉวยใช้โอกาสจากวิกฤตกาลที่สร้างขึ้น (Manipulation of Crisis) เพื่อการจัดส่งความมั่งคั่งขึ้นไปสู่ชนกลุ่มบนมากกว่ากระจายลงสู่มวลชนฐานรากปีระมิด (Upward Distribution) โดยฉวยใช้ เทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม (Disruptive Technology) ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนำความเปลี่ยนแปลง Disruptor กับ Disruptee และ คนที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีได้ กับ ผู้ที่ขาดโอกาสใช้สอยเทคโนโลยี (Digital Dividend)

'อิสระ' แต่ 'ไร้ความมั่นคง'

สำหรับประเด็น 'แรงงานรับจ้างอิสระในยุคดิจิทัลกับความเสี่ยงในศตวรรษที่ 21' นั้น ผศ.ดร.ทศพล ได้ระบุว่า การนิยามความหมาย ‘การจ้างงานที่ไม่มั่นคง’ เพื่อให้สถานะคนทำงานยังมีการถกเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็น ฟรีแลนซ์ การจ้างงานนอกระบบ การจ้างงานภายนอก หรือการจ้างงานระยะสั้น เป็นต้น แต่มุมมองทางกฎหมายจะเห็นว่าเป็น แรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันจากกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายประกันสังคม ทั้งนี้คนทำงานผู้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งไม่อยู่ภายใต้โครงสร้างหลักประกันสิทธิอย่างเป็นทางการของรัฐ การทำงานในสถานประกอบการที่เป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการรวมถึงการจ้างงานตนเอง ซึ่งความต่างระหว่าง ‘ฟรีแลนซ์’ กับ ‘เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก’ ยังไม่ชัดเจน ยากจะกำหนดแนวทางพัฒนาสิทธิได้

ทั้งนี้สหภาพยุโรปจัดให้ฟรีแลนซ์อยู่ในขอบเขตของ ‘แรงงานที่พึ่งพิงทางเศรษฐกิจ’ (economically dependent workers) ส่วนสหรัฐอเมริกาจัดว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีรับทำงานอิสระ, องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดอยู่ในกลุ่ม “คนที่ทำกิจการของตนเอง” (own account workers) อาจทำคนเดียวหรือหุ้นส่วน แต่ไม่มีพนักงาน และ The UK Standard Occupational Classification (SOC) ไม่จัดฟรีแลนซ์อยู่ในกลุ่มของอาชีพตามทักษะความสามารถและทักษะเฉพาะทางจำนวน 9 กลุ่มหลัก

แนวโน้มที่น่ากังวล คือ ไม่ถือเป็นแรงงาน ที่อยู่ภายใต้หลักประกันสิทธิแรงงาน ทั้งการประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ ความปลอดภัยในการทำงาน การรวมตัวของแรงงาน และสวัสดิการแรงงาน โดยการจ้างงานฟรีแลนซ์มักจะมีลักษณะการจ้างงานแบบไม่มั่นคง จ้างงานยืดหยุ่น (Flexible = Vulnerable), ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน ได้-ไม่ได้ สูง-ต่ำ (zero hours contracts = Exploitation - No Minimum Standard), มีการผลักภาระความเสี่ยงให้คนทำงานแบบรับ (Outsourcing = Externalized), ฟรีแลนซ์มักเข้าเข้าไม่ถึงหลักประกันสิทธิแรงงาน (Subcontracting = Non-Employment Legal Rights) และงานถูกกระจายไม่ผ่านสมาคมที่มีข้อมูลสมมาตร แข่งขันกันเองจนไม่อาจรวมกลุ่มได้ (Divide & Rule = No Labour Association)

ซึ่งในงานวิจัยฯ นี้ ผศ.ดร.ทศพล ระบุว่าได้นิยาม 'แรงงานรับจ้างอิสระ' (Freelancer) ไว้คือ คนทำงานตามสัญญารับจ้างทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 587 มิใช่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ม. 575 | ให้บริการผ่านทางระบบสื่อสารอินเตอร์เน็ตหรือเข้าให้บริการร่วมในแพลตฟอร์มดิจิทัล | การผลิตผลงานทางความคิด ความรู้ ศิลปะที่ต้องใช้ทักษะ แบบแรงงานคอปกขาว (White Collar) | มิจำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา | ไม่รวมถึงผู้ประกอบวิชาชีพพิเศษที่ต้องมีใบอนุญาตรับรองสถานะในการทำงาน | พิเคราะห์ พ.ร.บ.ประกันสังคม มีลักษณะเป็นผู้ประกันตนเพื่อรับสิทธิแรงงานตามมาตรา 40 หรืออาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 หากปัจจุบันเป็นแรงงานอิสระที่เคยมีนายจ้างและสถานประกอบการ ดังนั้นแรงงานรับจ้างอิสระจึงมิใช่แรงงานผู้ได้รับการประกันสิทธิตามมาตรา 33

ทั่วโลกคนทำงานรับจ้างอิสระเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


ที่มาภาพประกอบ: Andrew Neel on Unsplash

สำหรับสถานการณ์ระดับโลกนั้น พบว่ามีการจ้างงานไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น ในรายงาน World Employment and Social Outlook – Trends 2017 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าผลมาจากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจส่งผลให้ขาดการลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลให้การจ้างงานที่ไม่มั่นคง (vulnerable employment) เพิ่มขึ้น จำนวนคนที่ทำงานที่ไม่มั่นคงจะเพิ่มขึ้นจาก 1,396.3 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2016 เป็น 1,407.9 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2017 และ 1,419.2 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2018 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเพิ่มขึ้นสูงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ในยุโรป ข้อมูลจาก Labour market and Labour force survey (LFS) statistics ของสหภาพยุโรป (EU) 28 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2016 ยุโรปมีกำลังแรงงานเป็นพนักงานประจำ 188.4 ล้านคน เป็น 'ลูกจ้างตนเอง' (self-employed) 32.7 ล้านคน นอกจากนี้คนทำงานในยุโรปทำงานเต็มเวลา 178.2 ล้านคน ทำงาน ‘พาร์ทไทม์’ 45.3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วคนทำงานในยุโรปทำงานสัปดาห์ละ 37.1 ชั่วโมง ส่วนสมาคมผู้เชี่ยวชาญอิสระและผู้จ้างงานตนเอง (Association of Independent Professionals and the Self Employed - IPSE) ประเมินว่าจำนวน ‘ฟรีแลนซ์’ ในสหภาพยุโรป 28 ประเทศ เพิ่มขึ้นมาถึง 2 เท่า ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2014 โดยเฉพาะในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์

ในสหราชอาณาจักร ข้อมูลจาก ‘Labour force survey data’ สำรวจผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 120,000 คน มากกว่า 50,000 ครัวเรือน พบว่าจำนวนรวมของผู้รับจ้างอิสระมีเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี ค.ศ. 1992 กับ 2011 โดยเพิ่มจาก 1.04 ล้านคน เป็น 1.56 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้รวมผู้ที่รับจ้างอิสระเพียงอย่างเดียว ผู้ที่เป็นทั้งลูกจ้างและรับจ้างอิสระ ผู้ที่เป็นทั้งนายจ้างและรับจ้างอิสระ และผู้ที่รับจ้างอิสระมากกว่า 1 งาน

สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2015 จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 70 ของบริษัทในสหรัฐฯ ใช้งานภาคบริการด้วยการจ้างงานต่างประเทศ และรวมกิจกรรมจำนวนหนึ่งไว้ในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนของบริษัท Upwork และ Freelancers Union เปิดเผยผลสำรวจที่ทำร่วมเมื่อปี 2018 ระบุว่าคนอเมริกันทำงานแบบฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นจาก 53 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2014 เพิ่มเป็น 56.7 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2018 จำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยในการทำงานฟรีแลนซ์ของคนอเมริกันจาก 998 ล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี ค.ศ. 2015 เพิ่มเป็น 1.07 พันล้านชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2018

อาเซียน ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับงานรับจ้างเป็นครั้งๆ โดยมีคนทำงานแบบฟรีแลนซ์กว่า 1 ล้านคน รั้งอันดับ 4 ของโลกรองจากอินเดีย สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน สิงคโปร์ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 8-10 ของกำลังแรงงานทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจาก 167,900 คน ในปี ค.ศ. 2006 เป็น 179,700 คน ในปี ค.ศ. 2016, Grab ผู้นำแพลตฟอร์มด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มี 'ฟรีแลนซ์ภาคขนส่ง' คอยให้บริการในกว่า 103 เมือง 7 ประเทศ ระบุว่าคนขับรถที่อยู่ในแพลตฟอร์มของ Grab ในปี ค.ศ. 2017 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 226 จากปี ค.ศ. 2016 ทั้งนี้ Grab ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขแบ่งเป็นแต่ละประเทศ บอกได้เพียงรวมทั้งภูมิภาคว่ามีอยู่ 1.3 ล้านคน

ตลาดฟรีแลนซ์ไทยมีแนวโน้มเติบโต เท่าที่เก็บข้อมูลได้มีฟรีแลนซ์ในระบบกว่า 1.9 ล้านคนแล้ว

ส่วนประเทศไทย พ.ศ. 2553 จากจำนวนลูกจ้าง 17 ล้านคน มีเพียง 9 ล้านคน ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ส่วนที่เหลือ 8 ล้านคนได้รับค่าจ้างในลักษณะต่างๆ กันไป เช่น ค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง และค่าจ้างต่อชิ้นงาน | พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ทำงานนอกระบบ 24 ล้านคน และคิดเป็นร้อยละ 61 ของผู้มีงานทำทั้งหมด | พ.ศ. 2560 แรงงานบางส่วนทำงานเพียง 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีอายุระหว่าง 45 – 59 ปี จำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน | พ.ศ. 2560  มีการประเมินว่าร้อยละ 44 ของผู้มีงานทำทั้งหมดของไทยทำงานอยู่นอกระบบ เช่น ช่วยกิจการในบ้าน ทำงานในภาคเกษตรกรรม หรือค้าขายขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน เป็นต้น | พ.ศ. 2560  จากผลสำรวจแบบสอบถามประชาชน 9,387 คน ประเมินว่าคนไทย 3 ใน 10 คน ทำงานภายใต้ระบบ Gig Economy, 2 ใน 3 คนนั้น มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม, 1 ใน 3 คนนั้น รับงานอิสระหรืองานครั้งคราว (ฟรีแลนซ์) อย่างเต็มตัว | พ.ศ. 2561 ตลาดฟรีแลนซ์ไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 3.9 ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และมีจำนวนฟรีแลนซ์ราว 1.9 ล้านคน

สำหรับปัญหาที่แรงงานรับจ้างอิสระต้องเผชิญ เกิดจากการจ้างงานไม่มั่นคง สำหรับผู้ที่ต้องตกอยู่ในลักษณะการทำงานแบบนี้ต้องเผชิญกับปัญหานับตั้งแต่ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าผู้ที่เป็นพนักงานประจำ ไม่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ ขาดโอกาสเข้าถึงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะการทำงานและอาชีพ ปัญหาเรื่องสวัสดิการบำนาญ ชั่วโมงการทำงาน ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยจากการทำงาน ไปจนถึงการเอารัดเอาเปรียบจากผู้จ้างงานและตัวกลางในการจ้างงาน การถูกแรงกดดันอย่างหนักให้ยอมรับกับความยืดหยุ่นของการจ้างงานอย่างเต็มที่ (เช่น มักถูกขอให้เตรียมตัวไว้เพื่อรอคอยงานปัจจุบันทันด่วนจากผู้ว่าจ้าง ซ้ำร้ายยังต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงลักษณะงานหรือหน้าที่ต่างๆ ตามความต้องการของผู้ว่าจ้างแทบจะทั้งหมด) การแบกต้นทุนในการทำงานทั้งหมดไว้เอง รวมถึงการตัดราคาแข่งขันกันสู่ค่าจ้างที่ต่ำสุด เป็นต้น

เสนอใช้ UBI สร้างหลักประกันสิทธิให้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า

แอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang) ผู้เสนอตัวเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 ก็มีนโยบายการจัดสรรเงินขึ้นพื้นฐานให้ประชาชนแบ Universal Basic Income – UBI ให้ชาวอเมริกันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เดือนละ 1 พันเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3 หมื่นบาท) โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ด้วยเช่นกัน ที่มาภาพ: Collision Conf (CC BY 2.0)

ในด้าน 'ทางเลือกในการลดความเหลื่อมล้ำให้กลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ' ผศ.ดร.ทศพล ระบุไว้ 6 แบบ ได้แก่ 1.การใช้ผู้จัดการนักกฎหมายอาชีพมาเป็นตัวแทนในการต่อรองเรียกร้องสิทธิ 2.การสร้างกลุ่ม สมาคม สหพันธ์ ที่มีตัวแทนเจรจาหรือนักกฎหมายองค์กรเจรจาให้ 3.รัฐกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ดึงแรงงานรับจ้างอิสระกลับเข้าสู่ระบบ 4.การหาเส้นกำหนดรายได้พื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี (Minimum Basic Income – MBI) 5.การเสริมรายได้ประชาชนให้ถึงมาตรฐานที่รัฐให้หลักประกันไว้ (Guaranteed Basic Income – GBI) และ 6.การสร้างหลักประกันสิทธิให้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า (Universal Basic Income – UBI)

ซึ่งในงานวิจัยฯ ฉบับสมบูรณ์ ได้เสนอทางเลือกคือ 'การสร้างหลักประกันสิทธิให้แก่แรงงานรับจ้างอิสระอย่างถ้วนหน้า' หรือ 'UBI' เพราะว่าในการวิจัยเอกสารและการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้งานวิจัยได้ค้นพบข้อสังเกตสำคัญที่สอดคล้องกันประการหนึ่ง คือ แรงงานรับจ้างอิสระไม่ต้องการให้รัฐและบุคคลอื่นมายุ่งกับชีวิตส่วนตัว ยิ่งต้องไปเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลพิสูจน์ความยากจนต่อรัฐให้รู้สึกด้อยศักดิ์ศรีก็ยิ่งอยากหลีกเลี่ยง จึงมีความเห็นไปในทิศทางตอบรับกับข้อเสนอแบบ UBI ที่จ่ายเงินจ้านวนหนึ่งเป็นการประกันรายได้พื้นฐานต่ำสุดไปเลยโดยไม่ต้องมาสำแดงรายได้ทุกๆ เดือน เงินจำนวนนี้จะช่วยในข่วงที่ขาดแคลนได้ดีมากเมื่อเทียบกับระบบกฎหมายสวัสดิการแรงงานที่มีอยู่

เพราะการเข้าประกันตนตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ผู้ประกันตนจะไม่ได้รับเงินทดแทนในกรณี 'ว่างงาน' (แรงงานรับจ้างอิสระที่ไม่มีนายจ้าง/สถานประกอบการ) ซึ่งแรงงานรับจ้างอิสระต่างเห็นตรงกันว่าหากเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดเป็นแรงจูงใจให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 เพราะสิ่งที่แรงงานรับจ้างอิสระต้องการมากที่สุด ก็คือ เงินทดแทนช่วงว่างงาน หรือก็คือ ช่วงขาดแคลนเงิน จากการว่างงานนั่นเองเพราะจะเกิดช่วงนี้ แรงงานจะสภาวะยากจนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานได้เลย (Absolute Poverty) หากมีหลักประกันในลักษณะรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นเบาะรองรับอยู่ก็จะช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนได้มาก

แม้ข้อเสนอเกี่ยวกับการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานนี้ จะมิใช่ข้อเสนอใหม่ทางเศรษฐกิจการเมือง แต่ได้รับการบรรจุเป็นวาระสำคัญของหลายรัฐมากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของภาวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโลกทั้งการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและความเสี่ยงไร้งานถาวรจากเทคโนโลยีซึ่งจะส่งผลกระทบทางสังคมอย่างรุนแรง โดยรูปแบบและวิธีการให้หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานมีหลายตัวแบบขึ้นอยู่กับทางเลือกของรัฐบาล ภูมิภาค หรือประชาคมทางเศรษฐกิจที่อาจมีนโยบายร่วมกันในประเด็นข้างต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net