Skip to main content
sharethis

6 ก.ย. 2562 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. เว็บไซต์ขบวนการอีสานใหม่ รายงานว่า ตัวแทนกลุ่มฮักบ้านเกิดและเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า ได้เดินทางไปศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ระงับเวทีรับฟังขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 หรือเวที ค.1 ของบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10-12 ก.ย. 2562 เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ที่ครอบคลุม 3 อำเภอ โดยจะมีการจัดเวทีวันแรกที่ โรงเรียนบ้านไผ่ศึกษา ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ส่วนวันที่ 11 และ 12 จะมีการจัดเวทีที่ หอประชุมที่ว่าการอำเภอชนบท ต.ชนบท อ.ชนบท กับ อ.โนนศิลา ตามลำดับ

กลุ่มฮักบ้านเกิดและเครือข่ายให้เหตุผลขอการเลื่อนการจัดเวที ค.1 ว่า ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือน และทรัพย์สินเสียหายจากอุทกภัย จึงมีความจำเป็นใช้เวลาในรักษาซ่อมแซมบ้านเรือน จึงไม่เหมาะที่จะมีการจัดเวทีในช่วงเวลานี้ เพราะอาจจะเป็นการฉวยโอกาสการมีส่วนร่วมจากประชาชน นอกจากนี้กลุ่มฮักบ้านเกิดและเครือข่าย ยังเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากสถานที่ก่อสร้างโรงงานของบริษัทยังได้รับรู้ข้อมูลของโครงการอย่างครบถ้วน

รายงานความคืบหน้าการจัดเวทีรับฟังขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ของบริษัทมิตรผล โดยนิติกร ค้ำชู สมาชิกขบวนการอีสานใหม่

อีกทั้งคณะกรรมการศึกษาศักยภาพพื้นที่ ซึ่งประชาชนได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการศึกษาว่า พื้นที่ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงงานนั้นเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะสมกับเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมมากกว่ากัน โดยข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. 2562 แม้จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางกลุ่มเสนอทั้งหมดก็ตาม ผ่านมา 4 เดือนคระกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินการการประชุม หรือปรึกษาหารือ ศึกษาข้อมูลเพื่อทราบถึงศักยภาพพื้นที่และเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชน

ทั้งหมดนี้ทางกลุ่มจึงเห็นว่า ควรเลื่อนเวทีรับฟังขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 1 ของบริษัทมิตรผลออกไปก่อน

แผนที่ก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า เวลานี้ยังไม่มีคำตอบจากจังหวัดขอนแก่นว่า จะเลื่อนการจัดเวทีดังกล่าวหรือไม่ และเมื่อสอบถามไปยัง อบต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ทราบว่าทางบริษัทได้เข้ามาประสานของใช้สถานที่เพื่อจอดรถสำหรับผู้เข้าร่วมเวทีแล้ว

ความเป็นมาโครงการโรงน้ำตาล – โรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

ปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558-2569) เพิ่มพื้นที่ปลูก 6 ล้านไร่ ภายในปี 2569 เพิ่มจำนวนโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน จาก 20 โรงงาน เป็น 30 โรงงาน และอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ หอการค้าไทย และกลุ่มมิตรผล

ปี 2559 คสช. ออกคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ในกิจการที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ขนส่ง และระบบจำหน่ายพลังงานของกิจการ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579

มติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 2559 และ 11 ต.ค. 2559 ครม. เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมบูรณาการการดำเนินการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเห็นชอบ แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559-2564

แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเริ่มขับเคลื่อนโดยการแก้กฎหมายอย่างน้อย 5 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2518

ปี 2560 ภาครัฐ เอกชน 13 ราย และสถาบันการศึกษาและการวิจัย รวม 23 หน่วยงาน ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศไทย ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2560

หลังจากลงนามในเอ็มโอยูจะเป็นการศึกษาในรายละเอียดรูปแบบการลงทุน เจาะลึกในแต่ละโครงการ โดยเบื้องต้นคณะทำงานเสนอให้ประกาศพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น 1,000 ไร่ บริเวณ อ.บ้านไผ่ เป็นพื้นที่นำร่อง ประกาศเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร” เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) เนื่องจากมีความพร้อมด้านพื้นที่ปลูกอ้อย แหล่งน้ำ แรงงาน เครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน

การลงทุนโครงการต่างๆ จะให้พื้นที่นี้ดำเนินการในรูปแบบระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่มีพ.ร.บ.จัดตั้งเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกขึ้นมารองรับ เพื่อให้เกิดความสะดวกในระเบียบเงื่อนไขในการลงทุน

ปี 2561 คสช. ออกคำสั่ง ที่ 1/2561 เรื่อง การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ข้อ 1 ให้ยกเว้นการใช้บังคับ (18) ของมาตรา 17 พรบ.อ้อยและน้ำตาลฯ 2527 เฉพาะในส่วนของการกำหนดราคาขายน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักร ตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ถึงฤดูการผลิตปี 2561/2562 (ลอยตัวราคาน้ำตาล) ข้อ 2 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559 – 2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net