เปิดคำพิพากษาคดี 'บิลลี่' หายสาบสูญ อาจเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐาน สืบหาว่าใครฆ่า

เปิดคำพิพากษาการดำเนินคดี ป.วิอาญา ม.90 ในคดีบิลลี่หายสาบสูญ อาจเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานในการสืบหาว่าใครฆ่าบิลลี่

 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 เป็นวันที่เปลี่ยนเหตุการณ์ในกรณีการหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ จากการเป็นบุคคลที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า บิลลี่เสียชีวิตลงอย่างไร และใครเป็นผู้กระทำ เนื่องจากในวันดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้แถลงถึงเบาะแสการหายตัวไปของบิลลี่ โดยเปิดเผยว่าพบกระดูกซึ่งได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกบริเวณกะโหลกศีรษะ และได้มีการตรวจสอบสารพันธุกรรมในชิ้นส่วนดังกล่าวแล้วพบว่า มีสารพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับสารพันธุกรรมของแม่ของบิลลี่ จึงเห็นได้ว่าบิลลี่น่าจะเสียชีวิตลงแล้ว

ตลอด 5 ปีของการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรองของบิลลี่นั้น ทางครอบครัวของบิลลี่ รวมถึงหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ร่วมกันออกตามหามาโดยตลอด โดยกลไกทางกฎหมายในประเทศไทย ยังไม่ได้เอื้ออำนวยในการตามหาคนหายมากเท่าที่ควร โดยหลังจากที่บิลลี่หายไปได้ไม่นาน นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ พร้อมด้วยความช่วยเหลือจากทนายความ และองค์กรภาคีต่างๆ ได้ยื่นคำร้องมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายกคำร้อง เนื่องจากคำร้องไม่มูลให้เชื่อได้ว่าบิลลี่ยังอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว

จากเหตุการณ์ที่พบเบาะแสการเสียชีวิตของบิลลี่เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในการตอบคำถามกับนานาชาติว่าบิลลี่หายไปไหน และเมื่อพบว่าบิลลี่เสียชีวิตลงแล้ว การสืบหาผู้ที่กระทำต่อไปก็ถือว่าเป็นข้อท้าทายที่สำคัญสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และการพิพากษาของศาลในคดีมาตรา 90 นั้นอาจจะเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ชิ้นหนึ่งในการตามหาความจริงว่าใครเป็นผู้ที่ทำให้บิลลี่เสียชีวิตลง

มึนอยื่นคำร้องมาตรา 90 ขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ออกจากการควบคุมตัว

พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ภายหลังจากที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเหตุมีน้ำผึ้งป่า 6 ขวดไว้ในครอบครอง ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ควบคุมตัวบิลลี่นั้นได้ทราบภายหลังว่าคือ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก 4 คน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้อ้างว่า ปล่อยตัวบิลลี่ไปหลังจากเรียกมาตักเตือน เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย และหลักจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นบิลลี่อีกเลย

หลังจากวันที่บิลลี่หายไปเพียงวันเดียว นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอยของบิลลี่แต่อย่างใด จนกระทั่งล่วงเลยไปกว่า 7 วัน วันที่ 24 เมษายน 2557 มึนอ พร้อมด้วยทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวบิลลี่ออกมาจากการควบคุมโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากมึนอเชื่อว่า ชัยวัฒน์ ยังควบคุมตัวบิลลี่ไว้โดยไม่มีอำนาจ เพราะวันที่บิลลี่หายตัวไป บิลลี่ถูก ชัยวัฒน์ และพวกจับกุมไว้พร้อมรถจักรยานยนตร์ และน้ำผึ้งป่าเป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือติดต่อบิลลี่ได้อีก

ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน โดยให้มีการสืบพยานรวมทั้งสิ้นจำนวน 12 ปาก ได้แก่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ ในฐานะผู้ร้อง และ กระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยคือ บิลลี่ถูกชัยวัฒน์ควบคุมตัวโดยมิชอบหรือไม่?

กระทง ผู้ใหญ่บ้าน เกษม หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.6 (เขามะเร็ว) และนายแพทย์นิรันดร์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความประกอบกันว่า ก่อนเกิดเหตุ บิลลี่มีเหตุขัดแย้งกับชัยวัฒน์ เนื่องจากบิลลี่เป็นสมาชิกอ.บ.ต.ห้วยแม่เพรียง และเป็นผู้ประสานงานให้แก่ชาวกะเหรี่ยงในการเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัยและใช้พื้นที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนมีการยื่นฟ้องชัยวัฒน์และพวกในคดีเผาไล่รื้อบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

แต่พยานปากชัยวัฒน์ และผู้ที่ร่วมจับกุมบิลลี่ในวันดังกล่าว ยืนยันตรงกันว่า หลังจากที่ควบคุมตัวบิลลี่ไปถึงแยกหนองมะค่า ชัยวัฒน์ได้ตักเตือนบิลลี่เกี่ยวกับการมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และได้ปล่อยตัวบิลลี่พร้อมของกลางไป

พยานปากนักศึกษาฝึกงาน กลับคำให้การในชั้นพิจารณาคดีในศาล

นักศึกษาฝึกงาน 2 คน ที่เดินทางไปกับชัยวัฒน์และพวกที่ด่านเขามะเร็ว ได้ให้การในชั้นสอบสวน ซึ่งพันตำรวจโทกลยุทธ วงเพ็ชร์ พนักงานสอบสวนมาเป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นสอบสวน นักศึกษาฝึกงานไม่มั่นใจว่าบุคคลที่ขับรถจักรยานยนตร์อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับตนคือบิลลี่

แต่ในชั้นศาล นักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คน กลับเบิกความว่า หลักจากที่ตนเห็นชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวบิลลี่พร้อมของกลาง ขึ้นรถกระบะของชัยวัฒน์ออกจากด่านเขามะเร็วไปแล้ว อีกประมาณ 5 นาที พยานทั้งสองได้โดยสารรถกระบะของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ออกจากด่านเขามะเร็ว ระหว่างทางทั้งสองเห็นบิลลี่ขับรถจักรยานยนตร์อยู่ในเส้นทางเดียวกัน

คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีก็ได้มีพิพากษายกคำร้องของนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ โดยระบุว่า พยานทั้งปากชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แม้ทนายความฝ่ายผู้ร้องจะนำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาเบิกความต่อศาลได้ความว่าคำให้การนักศึกษาฝึกงานในชั้นพนักงานสอบสวนขัดกับคำให้การในชั้นศาล แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานปากพนักงานสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าจึงไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น จากการไต่สวนพยานทั้งหมดแล้วยังฟังไม่ได้ว่าบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ยกคำร้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น หลักฐานเพิ่มเติมเพียงว่าไม่มีการส่งตัวบิลลี่ให้สภ.แก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 กระทง ผู้ใหญ่บ้านได้รับโทรศัพท์จากพี่ชายของบิลลี่ บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯจับกุม ขอให้ช่วยประกันตัว วันถัดมากระทงจึงไปที่สภ.แก่งกระจาน แต่ไม่พบตัวบิลลี่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าจากคำเบิกความนี้ได้ความเพียงว่า ไม่มีการส่งตัวบิลลี่ไปดำเนินคดีที่สภ.แก่งกระจานเท่านั้นโดยไม่ทราบว่าบิลลี่อยู่ที่ใด

และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดเพชรบุรีให้ยกคำร้อง โดยเนื้อหาในคำพิพากษาระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่ ส่วนพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาพิจารณาเฉพาะคำเบิกความของพยานผู้ร้อง

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2558 ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องเช่นเดียวกับศาลจังหวัดเพชรบุรี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และข้อเท็จจริง ดังนี้

1. การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวบิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้อง และพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่

หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียกชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามคำร้องและทางไต่สวนของผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้คุมขังบิลลี่และให้นำตัวนายบิลลี่ผู้ถูกคุมขังมาศาล และให้นายชัยวัฒน์กับพวกดังกล่าวแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของชัยวัฒน์ และร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันมาไต่สวนโดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้

2. ศาลฎีกาพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก

ศาลฎีกาพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ นางสาวพิณนภา และกระทง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่าชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด

ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น

อ่านเพิ่ม : http://naksit.net/2019/09/billy-article90/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท