Skip to main content
sharethis

ส่งที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ลงพื้นที่สมุทรปราการ ตรวจต่ออายุใบแรงงานข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายสุวรรณ์ ดวงตา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามการขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ของแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 31 มี.ค. 2563

รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติในครั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเปิดต่ออายุใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรให้กับแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเมื่อแรงงานต่างด้าวดำเนินการแล้วจะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 โดยเริ่มดำเนินการให้นายจ้างมายื่นความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว บัญชีรายชื่อแรงงานฯ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในท้องที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่หรือในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของนายจ้าง/สถานประกอบการตั้งอยู่ ไปแล้วตั้งวันที่ 2 ก.ย. 2562

สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่จะต้องดำเนินการในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 261,491 คน แบ่งเป็น กลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 243,093 คน กลุ่มประมงฯ มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จำนวน 12,040 คน กลุ่มจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ จำนวน 6,358 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2-5 กันยายน 2562 มีลูกจ้างมาดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งสิ้น 722 ราย เป็นนายจ้าง จำนวน 218 ราย จังหวัดที่มาดำเนินการมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร จำนวน 236 ราย 2. สมุทรปราการ จำนวน 97 ราย 3.ปัตตานี จำนวน 83 ราย 4. ชุมพร จำนวน 79 ราย 5. ระยอง จำนวน 71 ราย และ 6. อื่นๆ จำนวน 156 ราย หากจำแนกตามกลุ่มคนต่างด้าวที่มาดำเนินการ พบเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 519 ราย กลุ่มบัตรชมพู จำนวน 155 ราย และกลุ่ม MOU กรณีพิเศษ จำนวน 48 ราย โดยเป็นสัญชาติเมียนมา มากที่สุดจำนวน 383 ราย รองลงมาคือ กัมพูชา จำนวน 321 ราย และ ลาว จำนวน 18 ราย

ด้านนายสุวรรณ์ ดวงตา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องตรวจสอบข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน และหากตรวจไม่พบข้อมูลการอนุญาตทำงานในฐานข้อมูล ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 7/9/2562

ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบแพคเกจ Thailand Plus 7 ด้าน เร่งรัดการลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า นักลงทุนหลายประเทศ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังไทย แต่ยังไม่มั่นใจเรื่องแรงจูงใจการลงทุน หลายประเทศต้องเปลี่ยนไปย้ายไปลงทุนในประเทศคู่แข่งเวียดนาม โดยเมื่อรัฐบาลผลักดัน แพคเกจ Thailand Plus  7 ด้าน จะทำให้การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเร็วขึ้น ไทยจึงต้องใช้โอกาสนี้ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามายังไทย ซึ่งมาตรการดังกล่าวเตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม.ในวันอังคารหน้า

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.ศรษฐกิจ) ได้เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิต จากผลกระทบของสงครามการค้าหรือ Thailand Plus Package 7 ด้าน ดังนี้  1.การให้สิทธิประโยชน์เร่งรัดการลงทุน จากเดิมได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี  และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี  เพิ่มใหม่เป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติม  โดยกำหนดต้องเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000ล้านบาท ภายในปี 2564  ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563    2. เห็นชอบตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุนในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อตัดสินใจ และอำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุนรวมในจุดเดียว ไม่ต้องเดินทางไปหารือกับหลายหน่วยงานแล้วไม่ได้รับคำตอบชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นเมื่อได้หารือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตได้อย่างรวดเร็ว

3.ด้านพัฒนาบุคลากร  กำหนดมาตรการด้านการคลัง เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน เมื่อผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือมีค่าใช้จ่ายอบรมแรงงานด้าน  Advance Technology  สามารถไปหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้ง การออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง 

นอกจากนี้ บีโอไอยังร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  เสนอแนวทาง การนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง เพื่อให้สถาบันการศึกษา บริษัทต่างชาติหรือเอกชนจัดคอร์สการอบรมระยะสั้น เช่น Google หัวเหว่ย พร้อมเข้ามาตั้ง Academy เพื่ออบรมแรงงานทักษะสูง

4. ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มอบหมายให้กระทรวง พาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงข้อมูล อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร  กรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมที่ดิน  การปรับปรุงกฏระเบียบเรื่องวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยควมสะดวกแก่นักลงทุน และผู้มีความเซี่ยวชาญสูง เพื่อให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น

5.มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะแต่ละประเทศต้องการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น  เกาหลี จีน ไต้หวัน  ญี่ปุ่น    6.ครม. ขอให้กระทรวงพาณิชย์  สรุปผลการศึกษา  และฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลหุ้น ทางเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก (CPTPP)  ภายในปี 2562  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติว่าไทยประสงค์เจรจาทั้งสองเวทีอย่างแน่นอน และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณดูผลเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ผ่านกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย  7. ให้กระทรวงการคลัง กำหนดมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้นักลงทุนนำค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 1.5 เท่า ระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ด้วยระบบอัตโนมัติ 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการชักจูงการลงทุนของบีโอไอ ได้เตรียมร่วมกับหลายหน่วยงาน เดินทางออกไปโรดโชว์กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อตลาดเชิงรุก เน้นกลุ่มในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นต้น  เพราะไทยมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบาย New Southern Policy ของเกาหลีใต้ และนโยบาย Belt and Road Initiative Thailand (BRI) ของจีน  ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของญี่ปุ่น  และสหรัฐอเมริกา และนโยบายมุ่งตะวันออก (Look East policy) ของอินเดีย  เนื่องจากไทยมีจุดเด่น เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังกลุ่ม ACMECS หรือ CMVT การออกมาตรการ Thailand Plus ครั้งนี้  จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการดึงการลงทุนในช่วงที่นักลงทุนต้องการย้ายฐานการผลิต การลงทุนจากต่างประเทศ ขณะนี้ไทยจัดเป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยไทยมีเงินลงทุนโดยตรง (FDI) 10,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบริหารงานเศรษฐกิจ  โดยมีนายกอบศักดิ์ เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจาก คลัง ธปท. สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  และรายงานภาพรวมทางเศรษฐกิจให้ ครม.เศรษฐกิจรับทราบทุกสัปดาห์

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 6/9/2562

อธิบดี กสถ.เปิดข้อกฎหมายเหตุเลิกจ้าง 98 ครูเด็กเล็ก อปท. วุฒิฯ ไม่ตรง ชี้ช่องให้ อปท.พื้นที่ช่วยเป็นพนักงานจ้าง

5 ก.ย. 2562 มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กรณีครูผู้ดูแลเด็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 98 คน ได้ยื่นหนังสือเรื่องร้องขอความเป็นธรรมต่อหลายหน่วยงาน เพื่อขอให้ระงับหรือเพิกถอนมติของคณะกรรมการกลางข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต.) ในการประชุมครั้งที่ 8/2560 ที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กเล็ก (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) เนื่องจากไม่มีคุณวุฒิการศึกษาตามที่กำหนด และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการคุ้มครองเยียวยานั้น

ล่าสุดเพจท้องถิ่นไทย ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องนี้จกปากของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ว่า อำนาจในเรื่องการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เป็นอำนาจของคณะกรรมการกลางข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งบุคคลทั้ง 98 รายนี้ คือ ผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก กรณีมีเหตุพิเศษไม่ต้องสอบแข่งขัน โดยได้รับความเห็นชอบการบรรจุแต่งตั้งจาก ก.ท.จ./ก.อบต.จังหวัด

ต่อมาได้มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติของครูผู้ดูแลเด็ก โดยระบุว่ากลุ่มครูผู้ดูแลเด็กที่บรรจุแต่งตั้งในปี พ.ศ. 2554-2556 มีคุณวุฒิไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง

“เมื่อตรวจสอบแล้วก็ปรากฏว่า ผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กที่เข้าข่ายมีคุณวุฒิไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็ก แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่บรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาตรีทางอื่นที่มิใช่ทางการศึกษาหรือสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ พร้อมมีคุณวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิต (วิชาชีพครูหรือทางการสอน) หรือคุณวุฒิปริญญาโท ทางการศึกษา หรือสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จำนวน 460 ราย และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ที่บรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาตรีอื่นและสำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือประกาศนียบัตรวิชาการ ศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) หรือประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาหรือวุฒิบัตรวิชาชีพครู หรือหนังสือรับรองรายวิชาชีพครูและกลุ่มวิชาชีพครู จำนวน 98 ราย”

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแก่ ก.ท. และ ก.อบต. จึงเป็นเหตุให้ต้องวินิจฉัยคุณสมบัติ โดย ก.ท. ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557, วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ก็มีมติว่าคุณวุฒิปริญญาตรีอื่นที่มิใช่ทางการศึกษาหรือสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ถือว่าไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็ก

อย่างไรก็ตาม ทาง กสถ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาทางออกและให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้นเพื่อไม่ให้คุณครูกลุ่มนี้ได้รับความเดือดร้อน แต่ในขณะเดียวกัน กรมฯ เองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะตามข้อเท็จจริงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมเพื่อหาทางออกกันหลายครั้ง ล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 6/2562 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2562 ก็ได้พิจารณาคุณวุฒิการศึกษาของบุคคลทั้ง 98 คน อีกครั้งหนึ่งอย่างรอบคอบ ถูกต้อง และเหมาะสม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติยืนยันว่า บุคคลทั้ง 98 คน ไม่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กมาตั้งแต่ต้นแล้ว และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครองเยียวยา และไม่มีเหตุแห่งการเยียวยา เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ ซึ่งกรมฯ ก็ได้มีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงนี้ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบแล้ว รวมทั้งแจ้งให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทราบอีกทางหนึ่งด้วย

“ความเดือดร้อนครั้งนี้ กรมฯ เข้าใจดี ความจริงได้พยายามหาทางช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2559 โดยเสนอให้มีการเยียวยา ด้วยการคัดคนเดิมที่มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม และตรงตามสายงานด้านการศึกษาให้สามารถอยู่ปฏิบัติงานต่อไปได้ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดังกล่าว คงเหลือแต่เฉพาะผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิการศึกษาที่ตรงกับตำแหน่งดังกล่าวจำนวน 98 คน คณะกรรมการฯ เห็นว่าไม่มีกฎหมายรองรับจึงทำไม่ได้ ข้อเสนอดังกล่าวจึงตกไป ตอนนี้มีหนทางที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะช่วยได้ นั่นคือให้ อปท.ทำการจ้างเป็นพนักงานจ้างแทนเท่านั้น” อธิบดี สถ.กล่าว

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) นายสมคิด หอมเนตร ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ได้นำข้าราชการครูผู้ช่วยทั้ง 98 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ กรณีถูกเลิกจ้างเนื่องจากการบรรจุแต่งตั้งไม่ได้มาตรฐานตามหลักที่ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำให้ได้รับความเดือดร้อน และเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งที่ครูผู้ช่วยทั้ง 98 คนได้ผ่านการสมัครและตรวจเอกสารหลักฐานตามระเบียบของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมีใบประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภามายื่นประกอบในวันรับสมัคร รวมทั้งมีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กตั้งแต่ปี 2554-2556 แต่ปัจจุบันมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเลิกจ้าง โดยอ้างว่าคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จำนวน 10 คน และที่ถูกเพิกถอนคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และเลิกจ้าง 98 คน โดยระหว่างยื่นหนังสือบรรดาครูต่างร้องไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/9/2562

เจ้าของแบรนด์ 'ยูนิโคล่' จับมือ ILO หวังพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านแรงงานในเอเชีย

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายยูนิโคล่ (Uniqlo) ประกาศว่า ทางบริษัทได้จับมือเป็นพันธมิตรกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านแรงงานในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นความพยายามครั้งล่าสุดในการปกป้องแรงงานในประเทศต่างๆที่ระบบความมั่นคงทางสังคมยังไม่เอื้ออำนวย

ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จะมอบเงิน 1.8 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนเงินทุนตลอดระยะเวลา 2 ปีจนถึงปี 2564 แก่สถาบันวิจัยของ ILO เกี่ยวกับตลาดแรงงานและระบบความมั่นคงทางสังคมในบังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ทางบริษัทมีฐานการผลิตอยู่

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้ยกระดับความพยายามในการเพิ่มความโปร่งใส ผ่านทางมาตรการต่างๆ อาทิ การเปิดเผยชื่อของโรงงานผลิตสินค้ายูนิโคล่นับตั้งแต่ปี 2560 โดยมีโรงงานในจีนแห่งหนึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานที่มากเกินไป

นายทาดาชิ ยานาอิ ประธานและซีอีโอของฟาสต์ รีเทลลิ่ง กล่าวว่า "เพื่อเป็นการตระหนักถึงการเติบโตตามหลักความยั่งยืนในเอเชีย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างหลักประกันถึงสภาพแวดล้อมแรงงานที่เหมาะสม และสนับสนุนสิทธิของแรงงานในภูมิภาค"

ภายใต้การเป็นพันธมิตรครั้งนี้ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง และ ILO จะร่วมกันสนับสนุนการประกันการจ้างงานในอินโดนีเซีย ซึ่งแรงงานมีความเสี่ยงที่จะตกงานเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรม

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 5/9/2562

ขอนายจ้าง-แรงงานบ้านน้ำท่วมหยุดงานไม่ถือเป็นวันลา

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุลทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยและภัยธรรมชาติในหลายพื้นที่ส่งผลให้ประชาชน สถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้างได้รับผลกระทบไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานได้ตามปกติ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยนายจ้าง ลูกจ้างและสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสำรวจสถานประกอบกิจการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ

จากการสำรวจพบว่า จังหวัดที่มีสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร น่าน และร้อยเอ็ด , สถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบ 53 แห่ง ลูกจ้างรวม 7,586 คน และมีสถานประกอบกิจการที่ให้ลูกจ้าง หยุดงาน จำนวน 16 แห่ง ลูกจ้าง 1,867 คน

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบเช่น บ้านเรือนถูกน้ำท่วม เส้นทางตัดขาดไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ จำนวน 744 คน จากสถานประกอบกิจการ 34 แห่ง

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กสร.จึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ เพื่อขอความร่วมมือนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบสามารถหยุดงานได้ โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิด และขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย ในส่วนของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพ แวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานขอให้ร่วมมือปฎิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น

นายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ขอให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการร่วมมือกับนายจ้างในการดูแลและสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยตามความเหมาะสม สำหรับเครือข่ายด้านแรงงานขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและประสานงานช่วยเหลือ และขอให้นายจ้างลูกจ้างและองค์การแรงงานปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโดยหลักสุจริตใจและความเห็นอกเห็นใจกันเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ คลี่คลายและผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี และกำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมในพื้นที่ประสบภัยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวจนส่งผลเกี่ยวกับการทำงานและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/9/2562

80 ครู ร้องเรียนหลังถูกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลิกจ้าง

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2562 ที่รัฐสภา เกียกกาย นายสมคิด หอมเนตร ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ได้นำข้าราชการครูผู้ช่วย ในตำแหน่งครูดูแลเด็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังกัดกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กว่า 80 คน จากจำนวน 7,853 แห่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีถูกเลิกจ้างเนื่องจากการบรรจุแต่งตั้งไม่ได้มาตรฐานตามหลักที่ระเบียบข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ทำให้ได้รับความเดือดร้อน และเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ครูผู้ช่วยทั้ง98 คน ได้ผ่านการสมัครและตรวจเอกสารหลักฐานตามระเบียบ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมีใบประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภา มายื่นประกอบในวันรับสมัคร รวมทั้งมีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็กตั้งแต่ปี 2554-2556แต่ปัจจุบันมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเลิกจ้าง โดยอ้างว่าคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จำนวน 10 คน และที่ถูกเพิกถอนคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และเลิกจ้าง 98 คน

ด้านนายองอาจ กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้ไปหารือโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลความเดือดร้อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากกว่านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างยื่นหนังสือบรรดาครูต่างร้องไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจด้วย นอกจากนี้กลุ่มครูยังยื่นหนังสือดังกล่าวกับพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ด้วย

ที่มา: สยามรัฐ, 4/9/2562

กสร. เผยสถานการณ์เลิกจ้างสูงขึ้น ปี 2562 มีเลิกจ้างแล้วกว่า 7.9 หมื่นคน ให้นายจ้างต้องจ่ายชดเชยตาม กม. อายุงานเกิน 20 ปี ได้ชดเชยเพิ่มเป็น 400 วัน ยันกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่ขาดสภาพคล่อง

ที่กระทรวงแรงงาน วันที่ 3 ก.ย. นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้าง ว่า ยังไม่น่าเป็นห่วงอย่างที่มีกระแสข่าวออกไปว่า เงินกองทุนอาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมากขึ้น ขอยืนยันว่า กองทุนมีสภาพคล่อง และพร้อมช่วยเหลือลูกจ้าง โดยมีเงินหมุนเวียนกว่า 400 ล้านบาท ส่วนการถูกเลิกจ้างอาจเป็นผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานประกอบกิจการจึงมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อความอยู่รอด จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนการว่างงานของผู้ประกันตนประกันสังคม ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2561 มีขึ้นทะเบียนว่างงานเฉลี่ยเดือนละประมาณ 72,000 คน ส่วนปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ส.ค. มีขึ้นทะเบียนว่างงานเดือนละประมาณ 79,000 คน 60 % เป็นการเลิกจ้าง 40 % ลาออกเอง

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างตามอายุงาน และเงินทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จ่ายชดเชยถูกต้องตามกฎหมายหรือจ่ายให้สูงกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ได้มีการปรับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 20 ปี ยังได้ปรับเพิ่มเงินชดเชยจากเดิม 300 วัน เป็น 400 วัน เพื่อให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีพได้ สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและนายจ้างยังค้างจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือตามอายุงาน เช่น ทำงานเกิน 120 วันแต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 30 เท่าของค่าจ้างรายวัน, ทำงานเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ได้รับเงิน 50 เท่า เมื่อกองทุนฯ จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับลูกจ้างแล้ว จะไปเรียกเก็บเงินส่วนนี้คืนจากนายจ้าง

“กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยส่วนหนึ่งได้รับเงินอุดหนุนของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 400 ล้านบาท ในปี 2561 มีลูกจ้างขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 652 คน เป็นเงินประมาณ 12 ล้านบาท ส่วนปี 2562 ขณะนี้มี 845 คน เป็นเงินประมาณ 14 ล้านบาท ขอยืนยันว่ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีเงินเพียงพอสำหรับช่วยเหลือลูกจ้างอย่างแน่นอน หรือหากไม่เพียงพอ เชื่อว่ารัฐบาลก็พร้อมที่จะให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติม” นายวิวัฒน์ กล่าว

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนการว่างงานของผู้ประกันตนประกันสังคม ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2561 มีขึ้นทะเบียนว่างงานเฉลี่ยเดือนละประมาณ 72,000 คน ส่วนปี 2562 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ส.ค. มีขึ้นทะเบียนว่างงานเดือนละประมาณ 79,000 คน 60 % เป็นการเลิกจ้าง 40 % ลาออกเอง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 3/9/2562

แรงงานไทยถูกบริษัทใหญ่ในลาวสั่ง ตม. จับขังเรียกค่าไถร่วม 2 ล้าน

วันที่ 1 ก.ย. 2562 น.ส.ขวัญตา ลัทธิ อายุ 47 ปี อยู่เลขที่ 166/1 ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.ถนนหัก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ร้องสื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากไปร้องขอความช่วยเหลือเพราะสามีถูกกักขังที่ ตม.ฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว นานกว่า 10 เดือน

น.ส.ขวัญตา เล่าว่านายกิตติเดช ลัทธิ สามีตน ทำงานเป็นวิศวกรโยธา ให้กับบริษัทรับเหมายักษ์ใหญ่ระดับ Top Five ของประเทศสาธารณะรัฐประชาชนลาว ตั้งแต่ปี 2557 ได้รับค่าจ้างเงินเดือนละ 160,000 บาท

เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2561 ได้มีเฮียสุ่ย (ชาวลาว)โทรมาแจ้งว่า นายกิตติเดช สามี ถูก ตม.ฝั่งประเทศลาว กักขังไว้โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงรีบเดินทางไปพบสามีที่ ตม. ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า “ไม่มีข้อหาหนักเดี๋ยวคุยกันกับคู่กรณีก็จบแล้ว”แต่สิ่งที่ตนอยากรู้คือถูกจับในความผิดอะไร แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ

จนกระทั่งทราบว่านายบุญเที่ยง พ่อตาของบริษัทพงษ์ทรัพย์ทวี ซึ่งเป็นนายจ้างแจ้งว่า จะต้องใช้เงินในการปล่อยตัว 1,750,000 บาท ฐานทำงานผิดพลาดให้กับบริษัท ตอนนี้เรื่องอยู่กับตำรวจ ตนก็วิ่งเต้นเพื่ออยากทราบข้อกล่าวหาผ่านไป 4 เดือนมาทราบจากตำรวจลาวว่า นายกิตติเดช ลัทธิ สามีไม่มีความผิด เพราะไม่พบหลักฐานว่าช่อโกงตามบริษัทฯกล่าวอ้าง แต่ก็ยังไม่ยอมปล่อยตัว มีการเตะถ่วงกันไปมา ตนจึงสอบถามสามี จนทราบว่า ตนกับประธานบริษัทไม่มีอะไร ให้เงินเดือนสูงถึง 160,000 บาท แถมยังยกรถ BMW ให้ 1 คัน ทำให้หลายคนในบริษัทไม่ค่อยพอใจ โดยเฉพาะนายบุญเที่ยง พ่อตาประธานบริษัท จึงคิดว่าน่าจะหาวิธีกลั่นแกล้ง

น.ส.ขวัญตา กล่าวด้วยว่า จากนั้นได้ไปขอความช่วยเหลือที่กงสุลไทยประจำประเทศลาว เจ้าหน้าที่ให้เขียนคำร้องไว้ เวลาผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามีกลับถูกย้ายไปกักขังที่ “โพนต้อง”(ศูนย์กักกัน) จากนั้นได้กลับมาวิ่งเต้นเพื่อร้องขอความเป็นธรรมในประเทศไทย โดยยื่นร้องขอความช่วยเหลือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน,กระทรวงต่างประเทศ,กรรมมาธิการสิทธิ์ฯ ,รัฐมนตรีต่างประเทศ ,สำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไปกว่า 10 เดือนยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่สามีไม่ได้กระทำผิดกฎหมายในลาว น.ส.ขวัญตา ยังกล่าวด้วยความน้อยใจว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นใจคนไทยที่ไปทำงานต่างแดน เขาก็หวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยในการเข้าไปช่วยเหลือ แต่ครั้งนี้ตนและสามีไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น ขนาดตนเคยเรียนกฎหมายยังขนาดนี้ ถ้าเป็นตาสีตาสา ที่ไปได้รับความเดือดร้อนในต่างประเทศจะทำอย่างไร ตอนนี้ถ้าฝั่งบริษัทในลาวจะเรียกเงิน 1.75 ล้านตนก็พร้อมจ่าย แต่ทำไมเตะถ่วง หรือจะเป็นไปตามคำขู่ของกลุ่มอิทธิพลก่อนหน้านี้ว่า”จะให้สามีติดคุกไม่เห็นเดือนเห็นดาว 30 ปี”

น.ส.ขวัญตา กล่าวด้วยว่า จากนั้นได้ไปขอความช่วยเหลือที่กงสุลไทยประจำประเทศลาว เจ้าหน้าที่ให้เขียนคำร้องไว้ เวลาผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สามีกลับถูกย้ายไปกักขังที่ “โพนต้อง”(ศูนย์กักกัน) จากนั้นได้กลับมาวิ่งเต้นเพื่อร้องขอความเป็นธรรมในประเทศไทย โดยยื่นร้องขอความช่วยเหลือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน,กระทรวงต่างประเทศ,กรรมมาธิการสิทธิ์ฯ ,รัฐมนตรีต่างประเทศ ,สำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไปกว่า 10 เดือนยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่สามีไม่ได้กระทำผิดกฎหมายในลาว

น.ส.ขวัญตา ยังกล่าวด้วยความน้อยใจว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นใจคนไทยที่ไปทำงานต่างแดน เขาก็หวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยในการเข้าไปช่วยเหลือ แต่ครั้งนี้ตนและสามีไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น ขนาดตนเคยเรียนกฎหมายยังขนาดนี้ ถ้าเป็นตาสีตาสา ที่ไปได้รับความเดือดร้อนในต่างประเทศจะทำอย่างไร ตอนนี้ถ้าฝั่งบริษัทในลาวจะเรียกเงิน 1.75 ล้านตนก็พร้อมจ่าย แต่ทำไมเตะถ่วง หรือจะเป็นไปตามคำขู่ของกลุ่มอิทธิพลก่อนหน้านี้ว่า”จะให้สามีติดคุกไม่เห็นเดือนเห็นดาว 30 ปี”

ที่มา: ข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์, 1/9/2562

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net