Skip to main content
sharethis

'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจ 1,260 ตัวอย่าง พบคนส่วนใหญ่ 32.14% ไม่เชื่อแก้ รธน. แล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น ระบุปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับการแก้ รธน. เลย 46.67% ชี้ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

8 ก.ย. 2562 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง 'แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น?' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย. 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจ เมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.67 ระบุว่า รัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รองลงมา ร้อยละ 29.21 ระบุว่า สินค้าแพง รายได้ต่ำ , ร้อยละ 24.13 ระบุว่า เป็นผลกระทบจากภาวการณ์เศรษฐกิจโลก , ร้อยละ 22.54 ระบุว่า นักการเมืองไม่สนใจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง , ร้อยละ 20.79 ระบุว่า ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ , ร้อยละ 13.65 ระบุว่า เป็นผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม

ร้อยละ 9.60 ระบุว่า ประชาชนไม่รู้จักพอเพียง ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป , ร้อยละ 8.49 ระบุว่า ส่งออกไม่ค่อยได้ , ร้อยละ 6.03 ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง , ร้อยละ 3.73 ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ดี , ร้อยละ 2.14 ระบุว่า เศรษฐกิจไม่ดี เป็นแค่ความรู้สึกของประชาชนเอง , ร้อยละ 1.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ , ร้อยละ 1.43 ระบุว่า เป็นการปั่นกระแสให้ประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดี และร้อยละ 0.16 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.14 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะ ปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญเลย ขณะที่บางส่วนระบุว่า แก้ไปก็ไม่มีประโยชน์แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล และขึ้นอยู่กับประชาชนมากกว่า

รองลงมา ร้อยละ 22.38 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลน่าจะสนใจ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นการดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศมากขึ้น , ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับรัฐบาลมากกว่า และเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่อยู่ที่ตัวบุคคลกับนิสัยการใช้จ่ายของคนไทยมากกว่า , ร้อยละ 16.43 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะ คิดว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น , ร้อยละ 4.13 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และร้อยละ 2.78 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

สวนดุสิตโพลระบุคนห่วงการบริหารประเทศ-การพัฒนาประเทศของรัฐบาล

ด้าน สวนดุสิตโพล ระบุว่า 'การเมือง' เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นหรือแย่ลง โดยมี 'นโยบาย' เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของประชาชน หากสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่นิ่ง ขาดความชัดเจนย่อมก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องความวิตกกังวลของคนไทย ที่มีต่อ 'การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม' ณ วันนี้ จากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,172 คน ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย. 2562 สรุปผลได้ ดังนี้

1.สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล “ด้านการเมืองไทย” ณ วันนี้ มีเรื่องใดบ้าง? พร้อมเสนอวิธีแก้ไข

อันดับ 1 การบริหารประเทศ การพัฒนาประเทศของรัฐบาล 43.76%
วิธีแก้ไขควรเร่งดำเนินงานตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา แก้ให้ตรงจุด สร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่าย เลือกคนให้เหมาะกับงาน ฯลฯ

อันดับ 2 พฤติกรรมของนักการเมือง การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้งแตกแยก 38.83%
วิธีแก้ไขนึกถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ ยุติการทะเลาะเบาะแว้ง ควรใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาหักล้างกัน มีข้อตกลงร่วมกันที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ยอมรับได้ ฯลฯ

อันดับ 3 การทุจริต คอรัปชั่น แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ33.20%
วิธีแก้ไขควรเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ มีการติดตามดำเนินการอย่างเคร่งครัด ควบคุมการใช้งบประมาณ มีบทลงโทษรุนแรง ไม่ละเว้น ฯลฯ

อันดับ 4 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 14.19%
วิธีแก้ไขต้องยึดความถูกต้อง ไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มีเนื้อหาเหมาะสมกับบริบทของไทย ไม่สองมาตรฐาน ใช้ได้ในระยะยาว ฯลฯ

อันดับ 5 เสถียรภาพทางการเมือง 12.27%
วิธีแก้ไขรัฐบาลต้องมีจุดยืน ทุกฝ่ายตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน เร่งสร้างผลงาน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จ ทำงานให้สอดคล้องกับนโยบาย ฯลฯ

2.สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล “ด้านเศรษฐกิจ” ณ วันนี้ มีเรื่องใดบ้าง? พร้อมเสนอวิธีแก้ไข

อันดับ 1 ของแพง ค่าครองชีพสูง 62.39%
วิธีแก้ไขภาครัฐต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง ควบคุมราคา การเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลาง ประชาชนต้องประหยัด วางแผนการใช้จ่าย ฯลฯ

อันดับ 2 รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สิน 35.05%
วิธีแก้ไขมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดดอกเบี้ย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องหารายได้เสริม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ

อันดับ 3 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ 22.75%
วิธีแก้ไขรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเกิดการจ้างงาน ฯลฯ

อันดับ 4 ปัญหาการตกงาน ว่างงาน 16.15%
วิธีแก้ไขหาอาชีพเสริม สร้างงานสร้างรายได้ มีนโยบายช่วยเหลือช่วงว่างงาน มีโครงการจัดหางานช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ

อันดับ 5 ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 14.22%
วิธีแก้ไขมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร พยุงราคา มีตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า ประชาชนช่วยกันอุดหนุน ฯลฯ

3.สิ่งที่ประชาชนวิตกกังวล “ด้านสังคม” ณ วันนี้ มีเรื่องใดบ้าง? พร้อมเสนอวิธีแก้ไข

อันดับ 1 อาชญากรรม การใช้ความรุนแรง 54.81%
วิธีแก้ไขบทลงโทษต้องรุนแรง ดำเนินการทางกฎหมายอย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น ฯลฯ

อันดับ 2 คุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกของคนในสังคม 29.45%
วิธีแก้ไขครอบครัวปลูกฝัง อบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเยาว์ ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี พัฒนาการศึกษา ฟื้นฟูศาสนาให้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ฯลฯ

อันดับ 3 สถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง 23.31%
วิธีแก้ไขรัฐบาลควรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รณรงค์ให้ทุกคนมีจิตสำนึก ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

อันดับ 4 ปัญหาเด็กแว้น เสพยา ทะเลาะวิวาท 17.38%
วิธีแก้ไขสถานศึกษาและครอบครัวควรช่วยกันดูแลบุตรหลาน มีเวลาให้กัน ให้ความรักความอบอุ่น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ฯลฯ

อันดับ 5 การใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิด 11.55%
วิธีแก้ไขมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่แชร์สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ภาพที่ไม่เหมาะสม ควรใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อ ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net