Skip to main content
sharethis

พรรคการเมืองส่วนใหญ่เมินรับฟังปัญหาเขื่อนราษีไศล มีเพียง 4 พรรคการเมือง 'เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ประชาชาติ-อนาคตใหม่' ลงพื้นที่พูดคุยชาวบ้าน ที่เหลือติดธุระหาเสียงแจกของน้ำท่วมอีสาน

• หลังชาวบ้านราษีไศลยืนยัน หากที่ผ่านมา ไม่เรียกร้องกรมชลประทานเร่งพร่องน้ำ จากเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อาจสร้างวิกฤติน้ำท่วมพื้นที่อีสานในหลายจังหวัด มากกว่าที่เป็นอยู่ 
• โดยเครือข่ายชาวบ้าน ยืนยันแก้ปัญหาน้ำอีสานระยะยาว ต้องมองถึงปัญหาที่แท้จริง รับฟังความเห็นประชาชน แก้ปัญหาเยียวยาจริงจัง มากกว่าโยนภาระบาปให้ชาวบ้านต้องเสียสละ
• เกรงโมเดล โคก หนอง นา ทาม ตามแนวทางพระราชดำริ ในพื้นที่ราษีไศล จะถูกพับเก็บ
• ด้านสมัชชาคนจน ยืนยันจัดเวทีสัญจรต่อเนื่องทั่วประเทศ 11 จังหวัด 25 กรณีปัญหา ก่อนจัดชุมนุมใหญ่ เดือน ต.ค. 2562 นี้ 

เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. 2562 สมัชชาคนจนร่วมกับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ จัดเวทีสัญจร 'พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ครั้งที่ 1' ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูน (สันเขื่อนราษีไศล) ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยเชิญรัฐบาล และทุกพรรคการเมือง เข้าร่วมพูดคุยในเวที “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน ตอน คนลุ่มน้ำมูน – ผลกระทบโครงการผันน้ำ โขง-ชี-มูล

ซึ่งมีเพียง 4 พรรคการเมือง ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน ที่เกิดจากการเยียวยาที่ล่าช้า ไม่เป็นธรรม สร้างผลกระทบ ในโครงการเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยตัวแทน 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายสงัด แก้วคำ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นายบุญคง วิลัยเลิศ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ นายนิวัฒน์ พรหมรัตน์ ตัวแทนพรรคประชาชาติ และนายคำทอง เทพา พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งระบุว่า จะเร่งนำปัญหานี้รวบรวมเสนอต่อพรรค พร้อมตั้งกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งต้อง รวมการแก้ไขปัญหาที่ซ้ำซากยาวนาน ให้เป็นรูปธรรม และจริงจังมากยิ่งขึ้น

ด้านตัวแทนภาคประชาชน ได้เสนอภาพรวมสถานการณ์ เพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีสาน โดย นายปัญญา คำลาภ นายกสมาคมประมงน้ำจืด ระบุว่า โครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน คือ โครงการโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการขนาดใหญ่ในการผันน้ำ แต่จนถึงปัจจุบันชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังไม่มีรายละเอียด ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้รับทราบโครงการ ทำให้มีข้อสงสัยมากมาย พร้อมระบุ 3 ข้อเสนอ เพื่อการจัดการน้ำเขื่อนราษีไศล

1. นโยบายจัดการน้ำขนาดใหญ่ ต้องมองประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คือกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากมีรายงานศึกษาความเป็นไปได้โครงการ แล้วมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อประชาชน ก็ไม่ควรสร้างหรือทำโครงการ 2. ข้อเสนอจัดการน้ำต้องทำในระดับชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้าถึง และสามารถจัดการน้ำในระดับชุมชนได้ มากกว่ารอคอยผลกระทบ ที่ไม่ได้รับการเยียวยา และ 3. ข้อเสนอจัดการน้ำขนาดเล็ก พื้นที่ตัวอย่าง โคก หนอง นา ทาม โมเดล ในพื้นที่ราษีไศล ทดลองใช้พื้นที่จำนวน 9 ไร่ ต้องได้รับการสานต่อ เพื่อที่ชาวบ้าน และชุมชนจะพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งต้อง กระจายโครงการให้เป็นนโยบายสาธารณะ

ขณะที่สมัชชาคนจน ยืนยันว่า จะจัดเวทีสัญจรต่อเนื่องทั่วประเทศ 11 จังหวัด 25 กรณีปัญหา เพื่อเชิญชวนให้ทุกพรรคการเมือง เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน และรับฟังปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งยืดเยื้อยาวนาน ขาดความเข้าใจ และจริงจังในการแก้ปัญหา ก่อนที่จะจัดชุมนุมใหญ่เพื่อเจรจากับรัฐบาล ในวันที่ 7 ต.ค. 2562 ตามที่สมัชชาคนจนได้นัดหมาย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net