Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมอยากพูดเรื่องผู้นำอาณาบารมี (CHARISMATIC LEADER) ทางการเมืองไทยมานานแล้ว แต่พูดไม่ได้เพราะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองไม่พอ ทั้งพฤติกรรมของเขาและกลุ่มที่มีความศรัทธาต่อเขา ถึงจะพูดก็พูดได้แต่ลักษณะที่สร้างอำนาจของอาณาบารมีในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่อาจยกตัวอย่างอะไรได้มากกว่านั้น

ดังนั้น หนังสือเรื่อง Charismatic Monks of Lanna Buddhism ซึ่งมี Paul T. Cohen เป็นบรรณาธิกร จึงช่วยได้มากทีเดียว เพราะผมขอใช้ตัวอย่างพฤติกรรมของพระภิกษุที่ถูกกล่าวถึงในงานศึกษาชิ้นนี้ เป็นตัวอย่างแทนการกระทำของผู้นำอาณาบารมีทางการเมือง

ก่อนอื่น จำเป็นที่ผมต้องสรุปความเห็นทางวิชาการสมัยใหม่เกี่ยวกับผู้นำอาณาบารมี ซึ่งอาจแตกต่างจากแนวคิดเดิมของเจ้าของทฤษฎี คือ Max Weber ซึ่งปรากฏในหนังสือเล่มนี้และในวงวิชาการทั่วไปไว้ก่อน

ประการแรก ดูเหมือนเจ้าของทฤษฎีจะเห็นว่าผู้นำอาณาบารมีมักเกิดในสังคมก่อนสมัยใหม่ คือเมื่อยังไม่มีอำนาจของจารีตประเพณีใดๆ เป็นกติกา หรือยังไม่มีการบริหารด้วยระบบราชการที่เป็นเหตุเป็นผล แต่นักวิชาการปัจจุบันพบว่า ผู้นำอาณาบารมีอาจเกิดได้ในสังคมสมัยใหม่ เพียงแต่ไม่ได้อำนาจจากอาณาบารมีล้วนๆ ยังอิงอาศัยอยู่กับความชอบธรรมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในสังคมเช่นสังคมไทย ซึ่งอาชญาสิทธิ์ไม่ได้อยู่กับกฎหมายหรือจารีตประเพณีเพียงอย่างเดียว และความเป็นเหตุเป็นผลในการบริหารก็ไม่พัฒนาอย่างเต็มที่

ประการที่สอง อาณาบารมีไม่ได้อยู่กับอัตลักษณ์ของผู้นำเพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วส่วนนี้อาจสำคัญน้อยกว่าเงื่อนไขทางสังคมที่ทำให้อัตลักษณ์นั้นๆ เป็นที่ถูกใจหรือเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น เมื่อสังคมเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ของผู้นำอาณาบารมีก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ความพยายามจะลอกเลียนอัตลักษณ์ของผู้นำอาณาบารมีในอดีต อาจไม่ให้ผลอย่างที่หวังเลยก็ได้ เพราะสังคมเปลี่ยนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าอัตลักษณ์ส่วนตัวของผู้นำไม่มีความสำคัญเสียเลย นั่งเครื่องบินส่วนตัว สวมแว่นเรย์แบนด์ หิ้วกระเป๋าอิตาลี ฯลฯ อาจทำให้อาณาบารมีของภิกษุบางรูปสูญเสียความเป็นอรหันต์ไปอย่างถาระเลยก็ได้

คราวนี้เรามาดูกันว่า ผู้นำทางการเมืองจะต้องสร้างคุณสมบัติหรืออัตลักษณ์อะไรบ้าง จึงจะทำให้เกิดอาณาบารมี จนเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาแก่ประชาชนอย่างกว้างขวางได้ โดยเปรียบเทียบกับคุณสมบัติหรืออัตลักษณ์ที่ “ครูบา” ผู้มีอาณาบารมีได้สร้างจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

อาณาบารมีของผู้นำทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน ต้องสร้างขึ้นเพื่อให้มีความหมายได้หลายนัยยะ ไม่เหมือนกันในประชาชนแต่ละกลุ่ม เพราะสังคมที่เป็นรัฐชาติในปัจจุบัน ย่อมประกอบด้วยคนหลายประเภท และต่างตกอยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่างกันอย่างสุดกู่ หากอาณาบารมีของผู้นำทางการเมืองจะมีอัตลักษณ์เพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ครอบคลุมผู้คนได้ทั่วถึง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร ซึ่งเป็นพระ “อรหันต์” ในสายตาของคนชั้นกลางและเศรษฐีกรุงเทพฯ เป็น “ตนบุญ” หรือพระโพธิสัตว์ในสายตาของศาสนิกพุทธนิกายยวน ไตใหญ่ในแคว้นชานนอกจากถือครูบาบุญชุ่มเป็นตนบุญแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ที่เป็นอิสระจากพม่าของไตใหญ่, เขิน และลื้อด้วย ในขณะเดียวกัน พวกลาหู่ (มูเซอ) ก็มองครูบาบุญชุ่มเหมือนอวตารของพระเจ้าซึ่งจะลงมาช่วยปลดปล่อยชาวลาหู่ให้ได้พบความสุขความเจริญ ตามคำทำนายที่มีมาแต่โบราณ

แน่นอนว่าผู้นำอาณาบารมีต้องมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ เช่น ครูบาที่ได้รับความศรัทธาอย่างกว้างขวางทั้งหลาย ถือประเพณีสร้างหรือบูรณะถาวรวัตถุทางศาสนา ดังนั้นท่านจึงต้องมีกำลังคนศรัทธาสนับสนุนการก่อสร้างจำนวนมาก จะเป็นแรงงานหรือทรัพย์ก็ตาม และท่านย่อมสร้างหรือบูรณะสิ่งเหล่านั้นได้สำเร็จให้ประจักษ์แก่ตา (ในเวลาอันสมควร หรือในเวลาที่ท่านกะและประกาศไว้)

หากเป็นผู้นำทางการเมือง โครงการที่ประกาศว่าทำอยู่ก็ต้องให้ผลเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งพิสูจน์ได้ยากกว่าครูบาเป็นอันมาก เพราะมักไม่ใช่ถาวรวัตถุ แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้นำทางการเมืองมักเข้าถึงสื่อของรัฐหรือบางครั้งเลยไปถึงสื่อเอกชนด้วย จึงสามารถใช้สื่อเหล่านั้นเพื่อทำให้ผู้คนมองเห็นหรือเชื่อว่าโครงการของเขาประสบความสำเร็จจนทำให้เกิดผลดีแก่คนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เสมอ

ปัญหามาเกิดเมื่อสื่อแบบเก่ามีอิทธิพลน้อยลง สื่อโซเชียลซึ่งบุคคลแต่ละคนทำขึ้นเองกลับมีอิทธิพลมากกว่า สื่อประเภทหลังนี้ไม่อาจนำมาอยู่ใต้การควบคุมอย่างสื่อแบบเก่า การพิสูจน์ประสิทธิภาพและความสำเร็จของผู้นำทางการเมืองจึงยากขึ้นอย่างมาก

ผู้นำอาณาบารมีจะต้องเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะแก่คนทั่วไประดับล่างซึ่งไม่มียศศักดิ์ (ส่วนผู้มียศศักดิ์อัครฐาน ย่อมเข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว) จะเห็นได้ว่าครูบาผู้มีอาณาบารมีแต่ละรูปล้วนเป็น “พระป่า” ดังนั้น จึงล้วนมีสำนักอยู่ในชนบท แต่ละแห่งมักมีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต สามารถต้อนรับผู้จาริกแสวงบุญได้จำนวนมาก (รวมทั้งที่จอดรถทัวร์กว้างใหญ่ด้วย) บางแห่งมีเรือนพักให้ “ศรัทธา” ที่มาร่วมงานได้ใช้ บางแห่งมีพื้นที่ให้กางเต็นท์นอนได้เป็นพัน

นอกจากนี้ ครูบาหลายรูปยังมี “สื่อ” โซเชียลของสำนักตนเอง คอยบอกข่าวคราวหรือรับข่าวคราวจากอุบาสกอุบาสิกาที่เป็น “ลูกศิษย์” ทั่วไปอีกด้วย

การมีลูกศิษย์ลูกหาหรือผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมากก็ช่วยเสริมอาณาบารมีของผู้นำทางการเมืองเช่นกัน ครูบาทุกรูปที่มีผู้ศึกษาไว้ในหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น ล้วนมีกลุ่มศรัทธาขนาดใหญ่เหลือประมาณทั้งสิ้น มีงานมีการอะไรจะมีผู้คนแน่นขนัด และเดินทางมาจากที่ไกลๆ หรือแม้จากต่างประเทศ หากจับ “ศรัทธา” เหล่านี้สวมเสื้อสีเดียวกัน ก็จะกลายเป็นการชุมนุมทางการเมืองไปเลย

ดังนั้น ผู้นำทางการเมืองใดที่สามารถ “ให้ภาพ” ของผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก (จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ก็เท่ากับทำให้อำนาจที่เกิดจากอาณาบารมีของตนแข็งแกร่งขึ้นไปพร้อมกัน

อภินิหารดูจะเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งของครูบาซึ่งมีอาณาบารมี ส่วนหนึ่งก็เพราะอภินิหารเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จทางจิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ด้วยเหตุฉะนั้น ผู้นำทางการเมืองซึ่งมีอาณาบารมีจึงไม่จำเป็นต้องแสดงอภินิหาร ตรงกันข้าม ผมคิดว่าในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันก็ยังคาดหวังอภินิหารจากผู้นำทางการเมืองที่มีอาณาบารมีอยู่นั่นเอง เพียงแต่ไม่ใช่อภินิหารประเภทเหาะเหินเดินอากาศ หรือปราฏตัวในสองที่ได้ในเวลาเดียวกัน หากเป็นอภินิหารในโลกแห่งเหตุผล เช่น ทำในสิ่งที่นักการเมืองทั่วไปเขาไม่ทำ (แล้วประสบความสำเร็จหรือคนอื่นเชื่อว่าสำเร็จ) เสนอทางออกจากปัญหาที่อาจขัดกับหลักการของโลกสมัยใหม่ แต่ตรงกับหลักศีลธรรมตามประเพณีซึ่งเป็นที่ชื่นชมของประชาชน (แม้ไม่คิดจะปฏิบัติตาม) หรูในที่ซึ่งควรหรู คืนสู่สามัญให้เป็นที่เลื่องลือ

เช่นเดียวกับ “ตนบุญ” ซึ่งผู้คนนับถือทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ครองผ้าฝ้ายย้อมฝาดเรียบง่าย นอนหรือใช้ชีวิตในถ้ำหรือตามโคนไม้ แต่ในคราวฉลอง กลับนั่งเสลี่ยงที่มีสานุศิษย์แย่งกันหาบหาม บางองค์ถึงทรงมงกุฎทองด้วย และหลายรูปด้วยกัน มักจัดงานวันเกิดขนาดใหญ่ที่มีคนไปร่วมงานคับคั่ง

ประเพณีการสร้างหรือบูรณะศาสนสถานของตนบุญ (เพื่อสร้างพุทธภูมิให้สง่ารุ่งเรืองก่อนที่พระศรีอาริย์จะมาตรัส) ทำให้ต้องมีเจ้าสัวและนายทุนขนาดใหญ่อุปฐากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ครูบาแต่ละรูปล้วนมีผู้ศรัทธาพร้อมสละแรงกายช่วยล้นหลามทั้งสิ้น (ส่วนใหญ่มักเป็นชนกลุ่มน้อย หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือคนระดับล่างของสังคม) แต่อย่างไรก็ต้องมีทุนทรัพย์จำนวนมาก เพราะเจดีย์หรือวัดที่ครูบาอาณาบารมีเหล่านี้สร้างขึ้น ล้วนมีต้นทุนขนาดร้อยๆ ล้านทั้งนั้น

ฉะนั้น ครูบาเหล่านี้ต่างจึงเป็น “นาบุญ” ให้แก่เศรษฐีและข้าราชการระดับสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างก็รับอุปถัมภ์โครงการขนาดใหญ่ของท่าน หรือรับเป็นนายหน้าจัดการเรี่ยไรเงินให้ได้จำนวนเป็นร้อยๆ ล้าน ถ้าถือว่าเงินบริจาคเหล่านี้เป็น “รายได้” ครูบาแต่ละรูปย่อมมีรายได้สูงอย่างไม่น่าเชื่อ

คิดดูก็แปลก พุทธศาสนาสอนให้คนละทิ้งทรัพย์สินที่เกินความจำเป็นในการดำรงชีวิต แต่ครูบาอาณาบารมีกลับเข้าถึงเงินได้ในจำนวนที่ล้นเกินความฝันของคนทั่วไป แต่ความย้อนแย้งนี้ถูกทำให้คลายลงด้วยหลักการภาระหน้าที่ ในฐานะ “ตนบุญ” ซึ่งมีภาระต้องเตรียมพุทธภูมิให้เหมาะแก่การลงมาตรัสของพระพุทธเจ้าในอนาคต ตนบุญย่อมต้องมีบารมีนานาชนิด การบำเพ็ญตบะและฝึกตนอย่างยิ่งยวด (เช่นทำสมาธิในถ้ำเป็นเวลา 3 ปี) ก็เป็นส่วนหนึ่งของบารมี แต่การมีเงินทองเพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นของการประกอบภารกิจก็เป็นบารมีอีกส่วนหนึ่งด้วย

ดูเหมือนกติกาจะอยู่ที่ว่า แม้ได้รับเงินทองเข้าของบริจาคมหาศาลสักเพียงไร ครูบาอาณาบารมีจะไม่ใช้เงินทองเหล่านั้นเพื่อบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัวเลย เพราะดังที่กล่าวแล้ว แต่ละรูปใช้ชีวิตอย่างสมถะยิ่งทั้งนั้น พูดภาษาชาวบ้านคืออยู่อย่างจนๆ หรือประหยัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึงคราวต้องหรูหราจนเหมือนฟุ่มเฟือย ครูบาอาณาบารมีจะหลีกเลี่ยง ก็พร้อมจะทำให้หรูหราสมกับฐานะของอาณาบารมี เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นบุญกุศลของคนทั่วไป

(ส่วนบุญกุศลจะตอบสนองต่อผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างไร ไม่เหมือนกันในคนแต่ละกลุ่ม ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คนบางกลุ่มอาจหวังได้เกิดใหม่ในยุคพระศรีอาริย์ บางกลุ่มได้กำลังใจเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไปภายใต้สภาวะเป็นรองถูกกดขี่ – subaltern – หรือบางกลุ่มอาจเพียงแต่ต้องการปรากฏกายในงานหรือใกล้ครูบา เพื่อจะถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กให้เป็นศรีสง่าแก่ตนเอง และ ฯลฯ)

อย่างไรก็ตาม ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ความชอบธรรมของอำนาจที่ได้จากอาณาบารมี ไม่อาจสืบทอดในตระกูลหรือแก่ลูกศิษย์ในสำนักได้ ไม่ใช่ไม่ได้เสียเลยนะครับ ก็ได้เหมือนกันแต่ไม่อาจระบุให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะได้

ครูบาอาณาบารมีเหล่านี้ ล้วนสืบ “สมณวงศ์” มาในพุทธศาสนานิกายล้านนาหรือนิกายยวน และทุกรูปต่างอ้างความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับครูบาศรีวิชัย แต่ศิษย์ของครูบาศรีวิชัยซึ่งมีจำนวนมากนั้น ได้กลายเป็นครูบาอาณาบารมีเพียงสองรูป คือครูบาขาวปีและครูบาวงศ์ ส่วนที่เหลือบางส่วนก็ยอมกลืนตนเองเข้าไปในนิกายของกรุงเทพฯ หรือถึงยังสืบประเพณีสมณวงศ์เดิมก็ไม่ได้มีชื่อเสียงจนเป็นครูบาอาณาบารมี ส่วนครูบาอาณาบารมีรูปอื่นนั้น เกิดไม่ทันครูบาศรีวิชัย จึงต้องแสดงความสืบทอดด้วยวิธีอื่น นับตั้งแต่ติดรูปถ่ายของท่านหรือสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ในวัด ตลอดจนถึงมีข่าวลือว่าครูบาอาณาบารมีรูปนั้นๆ เป็นครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิดก็มี

ฉะนั้น “วงศ์” ก็มีส่วนเสริมอาณาบารมีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดหรือปัจจัยสำคัญนัก ที่ชี้ขาดจริงมากกว่าก็คือการสร้างคุณสมบัติหรืออัตลักษณ์ดังกล่าวข้างต้น

ผู้นำอาณาบารมีทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แม้แต่ในสังคมโบราณ วิธีที่มักทำกันเป็นปรกติก็คือ นำเอาคุณสมบัติหรืออัตลักษณ์ของอาณาบารมีนั้นๆ มาแปลงให้เป็น “สถาบัน” เช่น กลายเป็นพิธีกรรม, ประเพณี, กฎหมาย ฯลฯ การกระทำเช่นนี้เรียกในภาษาอังกฤษได้อีกคำหนึ่งว่า routinize คือทำให้เป็นกิจวัตรประจำ ฟังดูก็รู้ได้เลยนะครับว่า อะไรที่กลายเป็นกิจวัตรประจำย่อมสูญเสียความหมายที่กินใจไปด้วย และดังนั้น กิจวัตรประจำจึงไม่ก่อให้เกิดอาณาบารมีได้

ในโลกปัจจุบันซึ่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้นำอาณาบารมีทางการเมืองอาจสูญเสียสถานะไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะคุณสมบัติที่จูงใจให้เกิดอาณาบารมีอาจเสื่อมความหมายลง หรือความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็อาจเข้ามาขัดขวางการสร้างอาณาบารมีได้ เช่น การขยายตัวอย่างกว้างขวางของสื่อโซเชียล (รวมโทรศัพท์มือถือและไลน์ด้วย) ทำให้การควบคุมข่าวสารข้อมูลเป็นไปได้ยาก จึงสร้างคุณสมบัติที่ทำให้เกิดอาณาบารมีได้ยากตามไปด้วย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_224884

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net