Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมที่จะเข้าร่วมเวทีอาเซียนภาคประชาชนถูกอีเมล์ลึกลับขอความร่วมมือแกมข่มขู่ การพูดความจริงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์-ประเทศอาเซียน เครือข่ายโรฮิงญาถูกสันติบาลตามเช็ค ด้าน ผอ. กองต่างประเทศกระทรวง พม. แจง ภาคประชาชนไม่ใช้งบรัฐเพราะส่งชื่อผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศให้ไม่ได้จึงดำเนินเรื่องการเงินต่อไม่ได้ จัดเวทีคู่ขนาน เชิญเครือข่ายนับพันเข้าร่วมที่โรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ

ความตอนหนึ่งในอีเมล์ของศิริศักดิ์ (ที่มา: Facebook/SirisakPosh ChaitedSpice)

9 ก.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่ามีเหตุนักกิจกรรมที่จะเข้าร่วมมหกรรมการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน/เวทีภาคประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) จะมีขึ้นที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตในวันที่ 10-12 ก.ย. ที่จะถึงนี้

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ โพสท์เฟสบุ๊กว่าได้รับอีเมล์นิรนาม มีใจความกังวลว่าการแสดงความเห็นในเวที APF อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศและความขัดแย้งระหว่างประเทศ และเป็นห่วงในความปลอดภัยของเขาและผู้เข้าร่วม มีใจความดังนี้

สวัสดีครับคุณ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ 

จดหมายนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือในการสื่อสารอย่างสันติ อย่าที่ท่านเคยทำมาตลอด

เนื่องด้วยที่ผ่านมาคุณศิริศักดิ์ ไชยเทศ เป็นบุคคลที่ได้รับความชื่นชม มีชื่อเสียงในวงกรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน ที่ขับเคลื่อน เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ ซึ่งเป็นประเด็นที่คุณศิริศักดิ์ ไชยเทศถนัด อีกทั้งยับขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในรูปแบบตัดขวาง เชื่อมโยงกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย อาทิ สิทธิด้านแรงงาน แรงงานข้ามชาติ ชาจันพันธุ์ ที่ดิน ผู้หญิง สิ่งแวดล้อม ผู้ใช้สารเสพติด ผู้พิการ ผู้ป่วยเอดส์ การทำแท้งถูกกฎหมาย ประชาธิปไตย การยุติการซ้อมทรมาน การยกเลิกโทษประหารและอีกหลายประเด็นที่คุณได้พยายามขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็ง

เนื่องในการประชุมอาเซียนภาคประชาชนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10-12 กันยายน 2562 นี้ เป็นเวทีที่พวกท่านจะได้หารือและแสดงจุดยืนเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนในระดับอาเซียน

ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จึงอยากขอความร่วมมือจากท่านในการสื่อสาร และวิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลในสมาชิกอาเซียนอย่างสันติ ไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและประเทศเพื่อสมาชิกอาเซียน

พวกเราเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การพูดความจริงแบบตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น แต่ในสถานการณ์บางอย่าง เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมทั้งในประเทศและระดับอาเซียนด้วย  

ขอแสดงความนับถือ

ไม่ประสงค์ออกนาม

ซายิด อาลัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ให้ข้อมูลกับประชาไทเช่นกันว่ามีเจ้าหน้าที่สันติบาลมาสอบถามข้อมูลของคนในรายชื่อชาวโรฮิงญาที่จะเข้าร่วมประชุม APF เคยมีการโทรศัพท์มานัดคุยและขอถ่ายภาพบัตรเลข 0 (บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน) ของเขาด้วย

การประชุม APF ย้ายที่ประชุมจากโรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ ไปยัง มธ. รังสิต หลังจากคณะกรรมการจัดงานจากภาคประชาสังคมไม่รับเงินสนับสนุนจำนวนราว 10 ล้านบาทจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายความมั่นคงต้องการเข้าแทรกแซงกระบวนการจัดงาน เช่น การขอรายชื่อผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศ 

อาเซียนภาค ปชช. ถูกรัฐตัดงบ เหตุฝ่ายความมั่นคงแทรกแซงจนคณะทำงานรับไม่ได้

อาเซียนซัมมิท 2562: 'ประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ฝันที่ผู้นำเป็นเจ้าของและเลือกใช้

ทั้งนี้ แสงดาว อารีย์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) กองการต่างประเทศ พม. ให้ข้อมูลว่าเรื่องหลักที่ทำให้ไม่ได้ดำเนินการจัดเวที APF กับภาคประชาชน เป็นเพราะว่าภาคประชาชนไม่ได้จัดส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากต่างประเทศให้กับทาง พม. ดังนั้น ตามระเบียบของหน่วยงานราชการ เมื่อไม่มีรายชื่อมมาแนบก็ดำเนินการทางการเงินไม่ได้ ในส่วนประเด็นเรื่องฝ่ายความมั่นคงนั้นทางกระทรวงไม่ทราบ

พม. จัดอาเซียนภาคประชาชนอีกเวทีคู่ขนาน เชิญเครือข่ายในประเทศร่วมหลักพัน

แม้จะมีการย้ายที่ประชุม แต่ที่โรงแรมเบิร์กลีย์ ประตูน้ำ ยังคงมีการจัดงานอาเซียนภาคประชาชนโดย พม. อยู่ โดยจัดที่ 9-12 ก.ย. 2562 แสงดาวให้ข้อมูลกับประชาไทว่า เวทีดังกล่าวได้เชิญชวนกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในประเทศ เช่น เครือข่ายเด็กและเยาวชน กลุ่มอาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) โดยจะเป็นเวทีให้ความรู้เรื่องการดำเนินงานอาเซียนของประเทศไทยในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า งานที่จัดโดย พม. จะมีผู้เข้าร่วมราว 1,000 คน มีการเชิญเครือข่ายไปยังหน่วยงานระดับกรม หน่วยงานในสังกัดสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ พม. บ้านพักเด็ก อพม. และเครือข่ายทั่วประเทศ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัดและ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการ (สสว.) 12 แห่ง

เดิม เวทีภาคประชาชนอาเซียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณก้อนหลักๆ จาก พม. เป็นจำนวนราว 10 ล้านบาท ตัวเลขผู้เข้าร่วมที่ตั้งโควตาเอาไว้มีจำนวน 1,000 คน โดยเป็นผู้ร่วมงานจากประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 500 คน และคนไทย 500 คน เมื่อไม่ได้รับงบจาก พม. แล้ว คณะทำงานภาคประชาสังคมจึงเปลี่ยนแผน โดยจะยังออกค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหารให้ผู้เข้าร่วมงานชาวไทยที่ลงทะเบียนแล้วตามเดิม และไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ในส่วนของที่พักจะเป็นห้องนอนและห้องน้ำรวม ค่าสมัครในราคา 10-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (300-600 บาท) จะยังต้องจ่ายอยู่ แต่ไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมแล้ว เพียงแต่คนที่เข้าร่วมโดยไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับการบริการอาหารและที่พัก (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมได้ที่ http://acsc-apf2019.org/)

ในปีนี้ที่เป็นเจ้าภาพอาเซียน รัฐบาลไทยมีความอ่อนไหวต่อประเด็นความมั่นคงกว้างจนถึงขั้นเป็นห่วงความมั่นคงของรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียน สะท้อนได้จากทั้งแนวคิดความพยายามแทรกแซงเวทีภาคประชาชนครั้งนี้ และย้อนไปได้ถึงการประชุมอาเซียนซัมมิทเมื่อ 22-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา 

ในการประชุมซัมมิทครั้งนั้น อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' นักกิจกรรมด้านการเมืองและพรรคพวกอีกราว 10 คนนัดเดินทางไปยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้นำอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศในเรื่องปัญหาการโกงการเลือกตั้งและการคุกคามนักกิจกรรมในไทย แต่จะนัดสัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สี่แยกเพลินจิตในเวลา 10.00 น. ทว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับอนุรักษ์ที่บ้านและนำตัวเขาไปยังกองบัญชาการสันติบาล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาอยู่ในนั้นเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมงก่อนถูกนำตัวไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการต่างประเทศโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อตามที่ได้ประกาศ การยื่นหนังสือและแสดงออกกิจกรรมทางสัญลักษณ์เกิดขึ้นที่ กต. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบนับสิบนายคอยเฝ้าสังเกตการณ์

ซายิด อาลัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมีแผนจะเดินทางไปยื่นแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และข้อเรียกร้องต่อผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนในประเด็นชาวโรฮิงญา ณ ที่ประชุมซัมมิทและกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาได้รับสายโทรศัพท์ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นเมื่อ 2-3 วันก่อนวันงาน ด้วยความกลัวจึงตัดสินใจไม่เดินทางไปส่งหนังสือสักที่ ซายิดเล่าอีกว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามหลายครั้ง บางครั้งก็ไปพบเขาที่บ้านเพื่อสอบถามว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ชาวโรฮิงญาของซายิดด้วย

ตามปกติ APF จะจัดคู่ขนานไปกับเวทีอาเซียนซัมมิท แล้วจะมีการทำแถลงการณ์และคัดเลือกตัวแทนไปยังงานพบปะระหว่างผู้นำ แต่ปีนี้คณะทำงานที่ประกอบด้วยภาคประชาสังคม

แม้ความล้มเหลวในการมีการพบปะกับผู้นำในเดือน มิ.ย. จะมีสาเหตุจากการที่ภาคประชาชนไม่สามารถจัดงานประชุม APF ได้ทันกำหนดก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ มีตัวแทนรัฐบาลประเทศสมาชิก 2 ประเทศไม่รับรองให้มีการพบปะด้วย มติดังกล่าวต้องได้รับการรับรองแบบฉันทามติ ทำให้โอกาสการพบปะในรอบเดือน มิ.ย. เป็นอันตกไป (เดิม คณะกรรมการจัดงานภาคประชาชนจะเลือกตัวแทนไปเข้าพบ และใช้แถลงการณ์ของปีที่แล้วไปก่อนก่อน)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net