พระพุทธรูปอุลตร้าแมน: เสรีแห่งศรัทธา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากข่าวออนไลน์กรณีที่มีนักศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษา ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้นำผลงานศิลปะซึ่งเป็นภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนไปจัดแสดงที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาและทางผู้จัดให้นำผลงานนั้นออกจากนิทรรศการหลังจากภาพดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนา ในข่าวระบุรายละเอียดว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทางไปกราบเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาที่วัดบึงพระอารามหลวง โดยนำนักศึกษาเจ้าของผลงานภาพวาดและอาจารย์ผู้สอนเข้ากราบขอขมาต่อหน้าพระประธานในพระอุโบสถฯ และกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัด ในนามคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา เหตุการณ์นี้หากอาศัยความเคยชินกับรูปแบบวิธีคิดหรือวัฒนธรรมแบบไทยๆ อาจมองว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เรื่องราวเช่นนี้ก็ต้องเป็นไปและลงเอยเช่นนั้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาให้ดีผู้เขียนมองว่าสังคมไทยมีปัญหาที่น่าเป็นห่วงอยู่ 2 ประการหลัก 

ประการที่ 1 การปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด กล่าวคือโดยหลักการสังคมไทยพร่ำพูดกระทั่งระบุเป็นนโยบายทางการศึกษาของประเทศทีเดียวว่าต้องส่งเสริมให้เด็กเยาวชนหรือนักเรียนนักศึกษามีความคิดก้าวหน้าสร้างสรรค์ รู้จักการคิดเชิงวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ กล้าคิดกล้าทำ กล้าสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ฯลฯ มิพักต้องกล่าวถึงประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครองประเทศ หรือสิทธิมนุษยชนที่เป็นหลักการสากลที่เราประกาศความยอมรับต่อชาวโลก โดยที่สิ่งดังกล่าวนี้มีอุดมการณ์หลักการพื้นฐานอยู่ที่การยอมรับและเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ผู้เขียนมองว่าการปฏิบัติต่อนักศึกษาที่วาดภาพพระพุทธรูปอุลตร้าแมนขัดแย้งต่อทุกสิ่งที่กล่าวมา และต้องนับเป็นความแปลกประหลาดและย้อนแย้งอย่างยิ่งเมื่อการปิดกันเสรีภาพนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ของงานศิลปะ ซึ่งโดยหลักการถือว่าเสรีภาพทางความคิดและจินตนาการคือองค์ประกอบสำคัญของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ใช่หรือไม่ว่าสังคมที่อุดมสติปัญญา หรือมีอารยะพอประมาณ หลักการและการปฏิบัติควรสอดคล้องต้องกันพอสมควร ไม่ใช่ไปคนละทิศทางเช่นนี้

หากจะอ้างว่าเสรีภาพของบุคคลต้องไม่ละเมิดความเชื่อหรือศรัทธาของผู้อื่น ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือความศรัทธาที่กล่าวถึงนั้นหมายความว่าอย่างไร เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเมื่อเราศรัทธาต่อสิ่งใด เราย่อมปรารถนาให้สิ่งที่ศรัทธานั้นถูกนำเสนอในลักษณะที่สูงส่งดีงาม ภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนของนักศึกษาเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนาหรือไม่ จากรายงานข่าวระบุว่าผู้วาดกล่าวว่า “การวาดภาพดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาที่จะลบหลูพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการสื่อให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้” จากคำอธิบายดังกล่าว สะท้อนอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้วาดไม่มีเจตนาลบหลู่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสิ่งที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจกระทั่งนำไปสู่การกำหนดให้ต้องมีการกราบขอขมา น่าจะอยู่ที่การไม่ยอมรับรูปแบบความศรัทธาของผู้อื่นที่แตกต่างจากขนบที่ตนคุ้นเคย เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือการยึดถือและกระทำเช่นนี้มีความชอบธรรมหรือไม่ อะไรคือเหตุผลที่สามารถอ้างได้ว่าความศรัทธาของตนสูงส่งดีงามหรือมีคุณค่ากว่าความศรัทธาของคนอื่น อนึ่ง แม้ต่อให้คนอื่นมีมุมมองหรือทัศนะต่อสิ่งที่เราศรัทธาไปในทิศทางตรงกันข้าม อะไรคือเหตุผลที่จะอ้างได้ว่าเขาไม่มีสิทธิคิดเช่นนั้น หากเรายอมรับว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเสมอกัน มนุษย์ทุกคนก็ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะตีความหรือแสดงออกซึ่งความศรัทธาของเขา ดังนั้นการจำกัดหรือการปิดกันเสรีภาพการแสดงศรัทธาของผู้อื่นจึงเป็นการย้อนแย้งต่อหลักการดังกล่าวหรือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่นทีเดียว หากมองภาพกว้างระหว่างสังคมที่ผู้คนถูกจำกัดรูปแบบความคิดความอ่าน ความใฝ่ฝัน ตลอดจนจินตนาการ กับสังคมที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกคนได้แสดงตัวตนและความหลากหลาย สังคมชนิดใดมีความอารยะยิ่งกว่ากัน สังคมชนิดใดเอื้อให้เกิดสันติธรรมยิ่งกว่ากัน เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดความเชื่อหรือศรัทธานี้ หากจะกล่าวอย่างเคร่งครัดในทางตรรกะ การปิดกันเสรีภาพการแสดงศรัทธาของผู้อื่น ก็คือการละเมิดความเชื่อหรือศรัทธาของผู้อื่นนั่นเอง การกล่าวว่าผู้อื่นไม่มีสิทธิกระทำบางอย่างในขณะที่ตนกลับกระทำในสิ่งนั้นเสียเองย่อมไม่ใช่มาตรฐานที่สามารถยอมรับได้ 

ประการที่ 2 การศรัทธาศาสนาที่ไม่สอดคล้องกับคำสอน สังคมไทยนอกจากมีปัญหาเรื่องการปิดกั้นหรือการไม่เคารพในสิทธิเสรีภาพทางความคิดแล้ว การนับถือพุทธศาสนาก็ยังเป็นไปอย่างฉาบฉวย การระบุว่าภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า เป็นการทำลายศรัทธาในพุทธศาสนา นัยว่าเป็นการไม่สมควรที่นำพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์สูงส่งมาผสานเข้ากับอุลตร้าแมนซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่แม้จะมีสถานะเป็นซูปเปอร์ฮีโร่แต่ก็เป็นเพียงปุถุชนเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าท่าทีและวิธีคิดเช่นนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา เมื่อเรามีศรัทธาในศาสนาหรือมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในฐานะชาวพุทธเราควรปฏิบัติเช่นใด ตามหลักพุทธศาสนาการแสดงออกซึ่งความศรัทธาหรือการบูชาที่มีค่าควรแก่การสรรเสริญที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้คือการปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชาดังกล่าวหาได้หมายถึงปฏิบัติตามที่แต่ละคนจะนึกคิดเอาเอง หรือหาได้หมายถึงการปฏิบัติบนพื้นฐานของขนบจารีตของสังคมที่ตนคุ้นเคย หากแต่เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องสัมพันธ์กับสาระพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ  

สาระพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะชี้แนวทางในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ในบริบทเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ขณะนี้คือการตระหนักในธรรมชาติธาตุแท้ของสรรพชีวิตทั้งหลาย ตามหลักพุทธศาสนาสรรพสัตว์ในสังสารวัฏฏ์รวมสิ้น 31 ภพภูมิ มีความเสมอกันด้วยความเป็นธาตุขันธ์ แม้ธาตุขันธ์จะหยาบละเอียดแตกต่างกันบ้างตามชั้นภูมิ แต่ทั้งหมดก็เสมอกันในความเป็นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ เสมอกันในความเป็นผู้เวียนว่ายและพยายามดิ้นรนให้พ้นจากวัฏฏะทุกข์ ในธรรมชาติเช่นนี้ย่อมไม่มีสัตว์ใดสูงต่ำ เพราะชีวิตในวัฏฏะมีธรรมชาติเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลไปตามกระแสของเหตุปัจจัย ปุถุชน กระทั่งเดรัจฉานล้วนเคยเป็นสถานะของพระพุทธเจ้ามาก่อนเช่นกัน ดังนั้นอุลตร้าแมนจะต่ำกว่าพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ความสูงต่ำของสถานะบุคคลเป็นเพียงการกำหนดหมายจากสติปัญญาอันคับแคบที่ไม่เข้าใจความจริง มันเป็นเพียงการฉวยใช้วิธีคิดแบบอำนาจนิยม ชนชั้นวรรณะนิยมเพื่อกดข่มและเอาเปรียบผู้อื่นเท่านั้น เมื่อสรรพชีวิตต่างเป็นผู้ดิ้นรนเพื่อการพ้นทุกข์ และการพ้นทุกข์ของแต่ละชีวิตก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเขาเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ท่าทีในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเหมาะสมหรืออย่างเข้าอกเข้าใจก็คือการเปิดโอกาสการให้เสรีภาพที่เขาจะได้เติบโตทางสติปัญญา เพราะกระบวนการงอกงามทางสติปัญญาของมนุษย์จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเขาเริ่มต้นคิดด้วยตนเองซึ่งนั่นเป็นส่วนสำคัญในการเกิดจิตตามยปัญญา การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อความศรัทธาก็คือการปิดกั้นขัดขวางการเติบโตทางสติปัญญาของผู้อื่น ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่วิถีของปัญญาหรือเมตตาแน่นอน

ในฐานะที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งกัมมวาทะหรือศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการกระทำ เมื่อกล่าวถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาหรือในพระพุทธเจ้าสิ่งที่ต้องตระหนักคือสารัตถะของความศรัทธาในศาสนานี้หมายถึงสิ่งใด มันคือการยกย่องเชิดชูสถานะหรือภาพลักษณ์ของศาสนาหรือของพระพุทธเจ้า หรือคือการมุ่งมั่นประพฤติปฏิบัติให้ตรงต่อสาระคำสอนอันเป็นเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์ หากเราประกาศว่าเรารักและศรัทธาต่อผู้ใดสิ่งใด ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราเข้าใจหลักการอุดมการณ์หรือเราอยู่ใกล้ชิดกับหัวจิตหัวใจกับความคิดของเขามากน้อยเพียงใด หรือเราจะเพียงแต่ลูบคลำอยู่กับเปลือกอันหาความเชื่อมโยงกับผู้ที่เราศรัทธาแทบไม่ได้เลย สถานการณ์ความลักลั่นระหว่างหลักการหรือพระธรรมคำสอนกับวิถีปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ของพุทธศาสนาในสังคมไทยดังปรากฏในกรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมน เป็นสิ่งสะท้อนอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่าพุทธศาสนาในสังคมไทยยังคงมีความหมายเป็นเพียงสิ่งแสดงสถานะหรืออัตลักษณ์ของผู้คนในสังคมยิ่งกว่าเป็นศาสนาที่ผู้คนศรัทธาในองค์ความรู้หรือในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท