มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์ (1) นิธิ เอียวศรีวงศ์

เวทีเสวนา "มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์" และเปิดตัวหนังสือ “ว่างแผ่นดิน” ที่ ม.เชียงใหม่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ให้เห็นปัญหาของประวัติศาสตร์นิพนธ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคก่อนปลายศตวรรษที่ 20 ที่เป็นมรดกตกค้างมาจากสมัยอาณานิคมที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ของภูมิภาคแบบแยกส่วน หน่วยศึกษาที่เป็นส่วนต่อขยายมาจากจีน-อินเดีย การไม่สนใจหลักฐานพื้นเมือง และมีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง จนทำให้มองไม่เห็นภูมิภาคนี้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่จะร่วมมือกันทำงานเชิงเปรียบเทียบ เพื่อทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นการศึกษาภูมิภาคจริงๆ ไม่ใช่แค่ศึกษาเฉพาะรายประเทศ และช่วยเติมเต็มช่องโหว่ทางประวัติศาสตร์ให้แก่กันและกัน

สรุปเนื้อหาจากเวทีเสวนา "มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์ : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ 3 อาณาจักร" และเปิดตัวหนังสือ “ว่างแผ่นดิน” ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 5 มิถุนายน 2562 โดยแผนงานคนไทย 4.0 ร่วมกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ร่วมถกเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการมองอาณาจักรอยุธยา อังวะและไดเวียด ผ่านหนังสือ "ว่างแผ่นดิน" ผลงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์

โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์และอดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และไทเรล ฮาเบอร์คอร์น  รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย, University of Wisconsin-Madison ดำเนินรายการโดย ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยช่วงแรกเป็นการอภิปรายของนิธิ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

สวัสดี ผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมไม่แน่ใจว่าที่จะพูดต่อไปนี้อยู่ในรายการ 4.0 หรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดมาแล้ว 300-400 ปี เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เก่ามากจึงไม่แน่ใจว่าจะ 4.0 ได้หรือไม่ แม้แต่ 1.0 ยังไม่แน่ใจว่าจะถึงด้วยซ้ำไป คราวนี้เมื่อกี้อาจารย์มิ่งสรรพ์บอกว่า คนแก่ ๆ ควรจะค่อย ๆ ออกห่างออกไป ผมจะขอออกห่างโดยไม่พูดถึงสิ่งที่เขียนเพราะเขียนไปแล้วไม่รู้จะพูดทำไมอีก แต่จะขอคุยกันในเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจริง ๆ มันอยู่ในสำนึกที่ทำงานในเรื่องนี้มากกว่าเรื่องที่ปรากฎในตัวหนังสือด้วยซ้ำไป

คืออย่างนี้ ประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถามว่ามันเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ ก็แน่นอนว่าเริ่มขึ้นมาบรมสมกัลป์ เพราะว่าคนในสังคมในโลกนี้ก็ต้องสร้างสำนึกเกี่ยวกับอดีตด้วยเหตุนี้ทั้งนั้น แต่มันไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เราเข้าใจในปัจจุบัน พูดง่าย ๆ กว่านั้นก็คือว่า ฝรั่งไม่ได้คิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประวัติศาสตร์ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง มันเป็นวิธีเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากวิธีที่เราใช้ในปัจจุบัน

ทีนี้เอาเฉพาะประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ที่เริ่มตั้งแต่สมัยอาณานิคม และความเป็นอาณานิคมมันเข้าไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมากทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งอย่างหลังค่อนข้างมีความสำคัญ อันแรกสุดของความไม่ตั้งใจที่ว่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็นของทั้งภูมิภาคหรือเป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่มันแบ่งระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ดัชต์ เพราะฉะนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ การเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยวิธีการแบบตะวันตก มันจึงเป็นการศึกษาประเทศที่แตกแยกออกจากกัน เช่น ดัชต์ก็ศึกษาส่วนที่เป็นอาณานิคมของเขาและค่อนข้างจะเน้นหนักที่ชวา เพราะว่าเขาอยู่กับชวามานานกว่าส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย ก็แน่นอนว่าฝรั่งเศสก็อยู่ในอินโดจีน อังกฤษก็อยู่ในพม่า มลายู ลักษณะการแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้คุณไม่เห็นภูมิภาคอย่างนี้ และเป็นมรดกสืบต่อมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะประเทศที่เป็นอาณานิคมเหล่านี้ โผล่ขึ้นมาเป็นรัฐชาติและแต่ละรัฐชาติเหล่านี้ก็อยากมีอดีตเป็นของรัฐชาติของตน ไม่ว่าจะแต่งบ้าง มั่วบ้าง ออกมาเป็นประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์พม่า ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียก็ตาม

และความพยามที่จะศึกษาดินแดนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นภูมิภาคเดียวกัน มันจึงไม่เกิดขึ้น คุณจะเห็นการเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นแรก ๆ  มันคือประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งหลายในแถบนี้ 10 หรือ 9 ประเทศเอามารวมในเล่มเดียวกันและสร้างชื่อปกว่า A History Of Southeast Asia แต่ข้างในก็เป็นประวัติศาสตร์ของทุกประเทศ ไม่เห็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตรงไหนเลยนอกจากชื่อหนังสือ เป็นต้น

ทีนี้นอกจากนี้แล้วมีประการที่สองที่เป็นมรดกของยุคอาณานิคมเช่นเดียวกัน มันไม่มีนักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน คนที่เข้ามาศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรุ่นแรก ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาอินเดีย Indologist หรือเป็น Sinologist คือ เป็นนักศึกษาอารยธรรมจีน

คือเวลาฝรั่งในศตวรรษที่ 19 สนใจเอเชีย มันก็มีอยู่แค่ 3 จุดก็คือแถวเปอร์เชีย-ตุรกี ที่เป็นอำนาจใหญ่ที่เป็นตัวแทนอารยธรรมอิสลาม อินเดียและจีน ที่เหลือคือ น้องหรือพี่ของชาวแอฟริกันไม่ต้องไปสนใจ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย เหตุดังนั้น ภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนักประวัติศาสตร์ในยุคแรก ๆ  จึงค่อนข้างเน้นหนักไปสู่ยุคสมัย ไปสู่เรื่องราวสมัยที่ยังเป็นคลาสสิคอยู่คือมันใกล้จีนและอินเดีย ถ้าเป็นนักวิชาการฝรั่งเศสที่ศึกษาเวียดนามก็จะไปดูถึงการปกครองจีนในเวียดนามว่ามันมีอะไรบ้าง มันนำอะไรมาให้แก่ชาวเวียดนามบ้างที่ถือได้ว่าเป็นอารยธรรมและเช่นเดียวกับกัมพูชา ปยูในพม่า เป็นต้น  มันจะค่อนข้างเน้นสิ่งเหล่านั้น และนำไปสู่การศึกษาที่คนสมัยนั้นเห็นว่าเป็นอารยธรรม

เป็นต้นว่า ปราสาทหินมหึมาก็น่าตื่นเต้นประทับใจจริง ก็ศึกษาเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก ผลจากการศึกษาสิ่งเหล่านี้ทำให้ทอดทิ้งสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ตั้งใจอยู่ 2-3 อย่าง

อันที่หนึ่ง ไม่สนใจชาวพื้นเมือง คือมองเห็นปราสาทหินก็ตกตะลึง ไปศึกษาแต่ปราสาทหินแต่ไม่สนใจตัวดำๆ ที่วิ่งอยู่ในปราสาทหินว่าพ่อเป็นใคร ปู่เป็นใคร ทวดเป็นใคร สนใจใครก็ไม่รู้ที่เป็นคนสร้างปราสาทหินอันนี้มากกว่า

อันที่สอง ก็เกิดขึ้นตามมาเป็นเหตุคือการไม่สนใจหลักฐานพื้นเมือง เพราะหลักฐานพื้นเมืองที่เป็นหลังสมัยคลาสสิค คุณอ่านแล้วก็ลมจับ มันอ่านแล้วก็นิทานทั้งนั้น เรื่องโกหกทั้งนั้น ไม่มีใครพยายามฟันฝ่าพงศาวดาร ฟันฝ่าตำนานว่ามันบอกอะไรกับเรา ไม่จำเป็นต้องบอกความจริงในยุคโบราณหรือยุคที่เขาเล่าก็ได้ เขาไม่สนใจ มันไม่เหมือนจารึกที่บอกชัดๆ เลยว่าพระเจ้า ก. พระเจ้า ข. อันนี้ยกให้เป็นพ่อตนเอง อันนี้ยกให้เป็นแม่ตนเองอะไรก็แล้วแต่ ชัดเจนเลยเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตกแบบชัด ๆ โดยที่คุณไม่ต้องผ่านการตีความ

ทำให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นหลักฐานพื้นเมืองถูกทิ้งค่อนข้างมาก ทั้งนี้ไม่นับส่วนที่มันใกล้วัฒนธรรม เพื่อความยุติธรรมก็ควรบอก เป็นต้นว่าในชวามีงานศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมชวาที่เขาเรียกว่า กากะวิน เป็นกวีนิพนธ์ชั้นสูงที่ใช้ภาษาโบราณถูกถอดออกมาเป็นอักษรกุเดะเตรยะแล้วก็ถูกแปลออกมาเป็นภาษาดัชต์ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว พวกนี้ก็มีลักษณะคล้ายปราสาท แต่เป็นปราสาทที่อยู่ในหนังสือ เพราะฉะนั้นตัวคนจริง ๆ มักไม่ได้รับความสนใจแล้วก็หลักฐานที่เป็นหลักฐานของคนพื้นเมืองจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น คนที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ของชวาบ้างหนังสือเช่น บาหว่างตานจาวี เป็นต้น มีคนแปลบางส่วนแต่ไม่มีคนสนใจ เพราะคล้าย ๆ กับพงศาวดารไทย เต็มไปด้วยเรื่องแปลกประหลาด อภินิหารอยู่ในนั้นเยอะแยะไปหมด

ประเด็นสุดท้ายที่เป็นมรดกมาจากสมัยอาณานิคม คือ ไม่ได้โทษนักประวัติศาสตร์อาณานิคมว่ามันแย่กว่านักประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน คือมีอคติบางอย่างในการศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านั้น เช่น วารสารของสมาคมวิจัยพม่ามีคนเขียนยิ่งใหญ่มาก แต่พอไปศึกษาจริง ๆ พบว่าจริง ๆ คนทำมีเจตนารมณ์อย่างหนึ่งแต่แรกคืออยากสร้างฟื้นฟูระเบียบสังคมพม่า เพื่อให้พม่าสามารถเป็นประเทศเอกราชได้ในชาติหน้าตอนบ่าย ๆ แต่ระเบียบของสังคมคืออะไรในทัศนะของคนทำเหล่านี้ คิดว่าต้องเอาวัฒนธรรมพม่าเป็นแกนกลางต้องรื้อฟื้นสิ่งที่เป็นพม่า คือคนที่เป็นชาติพันธุ์พม่า ไม่รวมชาติพันธุ์อื่นและมีการภายในกีดกันคนที่ไม่เห็นด้วยออกไปด้วยวิธีต่าง ๆ และวารสารต่าง ๆ ในสมัยนั้นล้วนแล้วแต่มีเบื้องหลังทางการเมืองทั้งสิ้น

ในกรณีกัมพูชามีการส่งเสริมการตั้งสถาบันบาลีขึ้นในกัมพูชา เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนั้นเพื่อไม่ให้พระเขมรเดินทางเข้ามาเรียนเปรียญในวัดบวรนิเวศวิหารของประเทศไทย จะทำยังไงถึงจะทำให้เขมรพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งสยามได้ ก็ทำโดยสร้างโลกเรียนบาลีชั้นเยี่ยมขึ้นมาและสร้างเป็นสาขาของวิทยาลัยฝรั่งเศสภาคตะวันออกไกลขึ้นมาในกัมพูชา โดยผู้หญิงคนที่เก่งภาษาบาลีมาก ๆ และด้วยความที่เธอเป็นผู้หญิง ที่สุดแล้วเมื่อเขาต้องการประธานมหาวิทยาลัย อธิการบดีวิทยาลัยด้วยเหตุที่คนเก่ามันตันไปหรืออะไรก็แล้วแต่ ผู้หญิงคนนี้เหมาะที่สุดเลยที่จะเป็น แต่ไม่เอาเพราะเธอเป็นผู้หญิง

คือมันมีอคติอะไรที่ซ่อนอยู่ในการศึกษาแยะมากในสมัยนั้น ผมไม่ได้หมายความว่าในปัจจุบันนี้ไม่มีอคตินะ แต่เราไม่รู้ว่ามันมีอคติมากขนาดไหนเราก็ไม่ทราบ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นทั้งหมดเหล่านี้ก็ไปย้ำจุดอ่อนทั้งหลาย เช่น การละทิ้งหลักฐานของพื้นเมือง จนถึงปัจจุบันคุณก็ไม่รู้ว่าหนังสือของ Paul ที่เขียนเรื่องพม่านั้นจริง ๆ แล้วเขาอ่านภาษาพม่าได้หรือเปล่าเพราะไม่มีหลักฐานของพื้นเมือง ถ้าจะมีก็มีแต่ที่แปลมาแล้ว แต่ถึงจะแปลไม่ออกก็ไม่เป็นไรเพราะเขาไม่สนใจหลักฐานพื้นเมืองในช่วงหนึ่งๆ ในสมัยนั้น

ทีนี้มาหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ เกิดสำนึกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะเกิดการรบของญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องสร้างตัวฉากการรบตรงจุดนั้นจุดนี้ต่าง ๆ แล้วก็สร้าง South East Asia Command ขึ้นมาเพื่อจะเบี่ยงการทำสงครามกับญี่ปุ่น ฝรั่งเพิ่งเริ่มเข้าใจว่ามันมี Region อย่างหนึ่ง มีเพราะเหตุใด มีเพราะคุณจะรบกับญี่ปุ่น ไม่ได้มีเพราะเหตุที่มันควรจะมีขึ้นมาเรียกว่า South East Asia คือมันน่าประหลาดมากเพราะฝรั่งติดต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนานมาก ไม่ใช่เพิ่งมาเจอ

ที่มันน่าประหลาดเพราะถ้าลองเอามาเทียบประเทศในเอเชียด้วยกันเอง สำนึกว่ามันมีวิพากษ์อันหนึ่ง เรียกคนจีนว่า นันหยาง มันมีตั้งเก่าแก่ คนอินเดียคิดว่ามีส่วนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ก็มีมาเก่าแก่มากคนอาหรับมีต่อดินแดนที่เรียกว่าดินแดนใต้ลมที่พวกอาหรับเรียกว่า Below the wind ก็มีตั้งแต่โบราณและแยกออกจากจีน คือไม่รวมกับดินแดนใต้ลมคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ฝรั่งเพิ่งมีสำนึกต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อมีสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นและหลังจากนั้นก็เริ่มมีการศึกษาภูมิภาคนี้ในมหาวิทยาลัยตะวันตกและเราก็ลอกเลียนต่อมา ซึ่งรับเอามรดกของอาณานิคมในช่วงแรกๆ มาทั้งหมด จนกระทั่งผมเริ่มเรียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอเมริกา ก็ยังมีลักษณะการศึกษาแบบแยกประเทศ ไม่ได้มองว่าเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนับประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในรุ่นสมัยของผม คุณอยากจะเก่งทางด้านประเทศไหน ๆ เลือกเจาะเป็นรู ๆ ไปเรียน แต่กลับไปเรียกรวม ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เลยสืบมา

และเหตุผลทั้งหมดผมขอสรุปสั้นๆ ว่าเพราะขาดแนวคิดบางอย่างที่จะทำให้สามารถมองเห็นภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคหนึ่งที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แนวคิดที่มีไม่เพียงพอเป็นต้นว่า คุณมีความคิดในสมัยอาณานิคมว่าแถวนี้ได้รับอิทธิพลจากจีนหรืออินเดียทั้งนั้นแหละ เป็นแนวคิด Indianization ไม่เพียงพอที่ทำให้มองเห็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ หรือคุณไปศึกษายุโรปด้วยการมองเริ่มต้นว่า ยุโรปดินแดนของ Irelanization มาจากกรีกทั้งนั้น   คุณก็จะมองไม่เห็นยุโรปและก็หันไปศึกษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ซึ่งมันไม่เกี่ยวข้องกัน มันก็มี Conception บางอย่างที่ใหญ่กว่านั้นที่จะทำให้คุณมองเห็นได้ทั้งภูมิภาค เพียงแค่ Indianization อย่างเดียวหรือ Hinduization อย่างเดียวไม่เพียงพอ ทั้งหมดเหล่านี้สืบมาจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อผมจบไปแล้วเท่านั้นแหละ คุณจะเริ่มพบว่านักประวัติศาสตร์ในปลายศตวรรษที่ 20 ต้นศตวรรษที่ 21 รุ่นอาจารย์ไทเรลที่จะเริ่มสร้างประวัติศาสตร์ภูมิภาคขึ้นมาแล้วมองเห็นความเชื่อมโยงกันและกัน

ผมอยากจะแนะนำงานหนึ่งของ Anthony Reid คือ Southeast Asia in The Age of Commerce ผมว่ามันเปรี้ยงเดียวมันมองเห็นทั้งภูมิภาคผ่านประสบการณ์ที่อธิบายกันและกันได้ ซึ่งผลของการศึกษาเชิงเปรียบเทียบอย่างนี้มันทำให้คุณสามารถเติมเต็มส่วนที่เป็นรอยโหว่ของประวัติศาสตร์ในชาติอื่น เช่นเป็นต้นว่า คุณศึกษาประวัติศาสตร์มาเลเซียและคุณจะพบว่าเรื่องนี้มันไม่ปรากฎ และมันไปปรากฎอยู่ในงานบางอย่างของประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ไม่ใช่เรื่องวิธีการวิเคราะห์ แต่มันใช้ได้กับประวัติศาสตร์อินโดนีเซียซึ่งมีหลักฐานในเรื่องนั้นมากกว่า คุณสามารถเอาแนววิเคราะห์นั้นกลับมาใช้ในมาเลเซียได้ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานในมาเลเซียของเรื่องนั้น ๆ ได้ อันนี้ Reid บอกว่ามันเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญมาก ของการศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ

เพื่อกล่าวโดยสรุปก็คือสิ่งที่ผมจะทำ ผมคิดว่าถึงเวลาที่ประเทศไทย ซึ่งเวลานี้ก็ดีมากที่เรามีนักศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไปศึกษาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แยะมาก อาทิ เวียดนาม อินโดนีเชีย อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะร่วมมือกันในการทำงานเชิงเปรียบเทียบเหล่านี้มากขึ้นเพื่อที่จะทำให้การศึกษาแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเดี๋ยวนี้แทบจะมีในทุกมหาวิทยาลัยไปแล้ว กลายเป็นการศึกษาในภูมิภาคจริง ๆ ไม่ใช่ศึกษาแค่เฉพาะบางประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท