Skip to main content
sharethis

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศเลิกปิดกั้นการเดินทาง ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารออนไลน์ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลบังกลาเทศเข้มห้ามเข้าถึงซิมการ์ด รวมถึงกีดกันไม่ให้องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 2 องค์กรเข้าถึงค่า ท่ามกลางปัญหาความไม่ลงรอยเรื่องการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับคืนถิ่นฐานประเทศพม่า

ภาพชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

จากเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้รัฐบาลบังกลาเทศจำกัดไม่ให้มีการซื้อขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือให้กับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ล่าสุดในวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรคมนาคมในบังกลาเทศก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เรื่องนี้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าทางการบังกลาเทศเริ่มทนไม่ไหวเกี่ยวกับความล้มเหลวในการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับคืนถิ่นฐานในพม่า ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถูุกวิจารณ์จากหลายฝ่ายเรื่องที่พม่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยหรือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวโรฮิงญา ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่อยากกลับไป

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจำต้องลี้ภัยไปที่บังกลาเทศหลังจากที่มีการใช้ความรุนแรงจากกองทัพพม่าในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2560 ส่งผลให้บังกลาเทศรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาไว้ราว 1 ล้านรายไว้ทีค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

ถึงแม้จะมีการพยายามทำให้เกิดการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่า 2 ปีหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรง แต่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากระบวนการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับก็ไม่สำเร็จเพราะไม่มีอะไรการันตีความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยถ้าหากพวกเขากลับพม่าอีกทั้งยังไม่มีการให้สัญชาติกับพวกเขาด้วย

นอกจากนี้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวโรฮิงญากับทางการบังกลาเทศก็เป็นไปได้ไม่ดีนักหลังจากที่มีการประท้วงของชาวโรฮิงญาราว 200,000 คน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่และความตึงเครียดกับคนในบังกลาเทศ ซึ่งทางการบังกลาเทศเกรงว่าการให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือจะทำให้เกิด "ความไม่สงบ" มากขึ้นได้ ขณะเดียวกันทางการบังกลาเทศเองก็ยิงชาวโรฮิงญาเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 34 ราย โดยกล่าวหาว่าพวกเขาค้ายาเสพติดอย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

ทั้งนี้บังกลาเทศยังถูกกล่าวหาเรื่องที่พวกเขาสั่งแบนหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม 2 หน่วยงานจากค่ายผู้อพยพโรฮิงญาโดยกล่าวหาว่าดกลุ่มองค์กรเหล่านี้บอกให้ผู้ลี้ภัยปฏิเสธการส่งตัวกลับพม่า โดยที่สำนักงานกิจการเอ็นจีโอของรัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหาว่าองค์การแอดดรา (Adventist Development and Relief Agency) ที่มีสำนักงานในสหรัฐอเมริกา กับองค์กรอัลมาร์คาซูลอิสลามีซึ่งมีสำนักงานในบังกลาเทศว่า "ยุยง" ให้ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไร้รัฐปฏิเสธการคืนถิ่น

ในวันที่ 7 กันยายน ฮิวแมนไรท์วอทช์ก็แถลงเรียกร้องให้บังกลาเทศยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางและจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวโรฮิงญา โดยแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการสาขาเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่ารัฐบาลบังกลาเทศมีปัญหากับการต้องดูแลจัดการผู้ลี้ภัยจำนวนมากแต่พวกเขาก็ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกจากการสั่งห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยติดต่อสื่อสารกันได้หรือมีเสรีภาพในการเดินทาง

เขาเสนอว่ารัฐบาลบังกลาเทศควรจะใช้วิธีการที่มีความสุขุมรอบคอบมากกว่านี้แทนการมีปฏิกิริยามากเกินกว่าเหตุต่อความตึงเครียดที่เกิดขึ้นและทำให้ผู้ลี้ภัยยิ่งถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุอีกว่าในขณะที่ทางการบังกลาเทศมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผู้อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยแต่มาตรการรักษาความปลอดภัยก็ไม่ควร ถึงขั้นปิดกั้นการเดินทาง โดยที่คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติอ้างถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่บังกลาเทศเป็นสมาชิกภาพซึ่งระบุว่าประเทศให้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยก็ควรปฏิบัติกับพวกเขาในฐานะบุคคลที่มีเสรีภาพในการเดินทาง

อดัมส์กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ทางการบังกลาเทศและชุมชนในบังกลาเทศรู้สึกไม่พอใจที่วิกฤตผู้ลี้ภัยโรฮิงญาดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น แต่พวกเขาควรจะตั้งเป้าความไม่พอใจไปที่กองทัพพม่าและรัฐบาลพม่าที่เป็นผู้สร้างปัญหาแทนที่จะเอาความไม่พอใจมาระบายใส่ผู้ลี้ภัย

เรียบเรียงจาก

Bangladesh halts new SIM card sale in Rohingya camps, Channel News Asia, 09-09-2019

Bangladesh: Clampdown on Rohingya Refugees, Human Rights Watch, 07-09-2019

Bangladesh bans two aid agencies from Rohingya refugee camps, Frontier Myanmar, 05-09-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net