Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องผู้ตรวจฯ ที่ขอให้วินิจฉัยกรณีนายกฯ นำ ครม.ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ชี้เป็นการกระทำทางการเมือง เป็นเรื่องของ ครม. กับพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบในองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่คดีสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ธนาธร กําหนดวันนัดไต่สวนพยาน 30 ปาก 18 ต.ค.นี้

11 ก.ย.2562 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่า วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ซึ่งมี 3 คดีที่สำคัญ คือคดีนายกฯ นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คดีแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และดคี คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลง 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

คดีนายกฯ นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทําที่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทํา ที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ ต.37/2562)

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องแล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ (ผู้ร้องเรียน) ได้ยื่นคําร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) และผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) เห็นว่าการกระทําที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตาม รัฐธรรมนูญเป็นการกระทําที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(11) และมาตรา 46 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47(1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิ ยื่นคําร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทําที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทํา ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อํานาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทําของรัฐบาล” และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “... ถ้าศาลเห็นว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณา” เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทําทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กร ตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทํา ของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคําร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นําคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าว คําถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดํารัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้น้อมนําไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 เวลา 9.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดํารัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้ง ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทําเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1)

คดีที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) ไม่เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้นเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 18/2562)

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องแล้ว เห็นว่า เป็นเพียงกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องไม่กระทําการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และมาตรา 162 ซึ่งเป็นการกระทําที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องได้ดําเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่ผู้ร้อง จะได้ยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อกระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคําสั่งไม่รับ คําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คําขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

และคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 10/2562)

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญกําหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลของศาล จํานวน 30 ปาก ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค.2562 เวลา  9.00 น. ที่ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net