Skip to main content
sharethis

ปิยะ ผู้ต้องขังในคดี ม.112 ให้ข้อมูลกับทนายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่า ตัวเขาไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากติดหมายอายัดตัวของ DSI ทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้ว

11 ก.ย.2562 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ปิยะ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ได้เปิดเผยกับทนายความจากศูนย์ทนายฯ ซึ่งเข้าเยี่ยมภายในเรือนจำ ว่าเขาไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากติดหมายอายัดตัว ในคดีมาตรา 112 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินคดี ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้ดำเนินการถอนหมายอายัดตัว ทำให้เรือนจำไม่ทำเรื่องพักโทษให้เขา แม้เขามีคุณสมบัติอื่น ๆ เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพักการลงโทษแล้ว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ ปิยะ นั้น ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ปิยะ อายุ 50 ปี เป็นอดีตผู้จัดการธุรกิจหลักทรัพย์ของธนาคารแห่งหนึ่ง และอดีตโปรแกรมเมอร์เขียนโปรแกรม เขาถูกเจ้าหน้าที่กว่า 30 นาย เข้าจับกุมจากบ้านพักในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557 ก่อนจะถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผ่านเฟซบุ๊กชื่อว่า “นายพงศธร บันทอน” หลังจากนั้นปิยะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตลอดมา โดยไม่เคยได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ

ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ปิยะยังถูกพนักงานสอบสวนจาก ดีเอสไอ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกคดีหนึ่ง เป็นคดีที่ 2 จากกรณีการโพสต์ข้อความและส่งอีเมล ตั้งแต่ในช่วงปี 2551 และ 2553

ปิยะตัดสินใจต่อสู้คดีในชั้นศาลในทั้งสองคดี โดยใน คดีแรก ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี  ส่วนคดีที่สอง ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี ทั้งสองคดีสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 รวมโทษจำคุกในทั้งสองคดีมีกำหนด 14 ปี

เดือนพฤษภาคม 2562 ปิยะได้รับการลดหย่อนโทษจาก พรฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 โดยได้รับการลดโทษเหลือโทษจำคุก 7 ปี และจนถึงปัจจุบัน เขาถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน เหลือโทษจำคุกอีกราว 2 ปี 3 เดือน น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ ทำให้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษ แต่เรือนจำระบุว่าเขายังมีหมายอายัดตัว ตั้งแต่ปี 2557 ในคดีของดีเอสไอค้างอยู่ ทำให้การสำรวจนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษของเรือนจำซึ่งทำในทุกเดือนมีนาคม และกันยายนของทุกปี จะไม่มีชื่อของปิยะ ทั้งที่คดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว (คดีที่สอง) แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดีมาถอนหมายอายัด

ทั้งนี้ การอายัดตัวผู้ต้องขัง หมายถึง กรณีที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้เรือนจำทราบว่า ผู้ต้องขังที่จะปล่อยตัวพ้นโทษนั้น เป็นผู้ต้องหาในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องการตัวไปดำเนินการต่อตามกฎหมายภายหลังปล่อยตัวพ้นโทษ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการอายัดตัวผู้ต้องหาไว้ในข้อหนึ่งว่า “ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นและมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาอายัด หลังจากส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว ให้พนักงานสอบสวนหมั่นติดตามผลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ จนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกอายัดต่อศาล และเรือนจำได้รับหมายนัดพิจารณาของศาลนั้นแล้ว หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาอายัดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรีบมีหนังสือขอถอนอายัดผู้ต้องหาดังกล่าวไปยังสถานที่ขออายัดไว้โดยด่วนที่สุด”

ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า กรณีของปิยะนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ปิยะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ทนายความจากศูนย์ทนายฯได้ติดต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ได้รับแจ้งว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งยังหาสำนวนคดีไม่เจอ ซึ่งทางทนายหรือญาติของผู้ต้องขังต้องไปดำเนินการคัดถ่ายสำเนาของหมายอายัดตัวดังกล่าวมายื่นต่อดีเอสไอ เพื่อที่ดีเอสไอจะได้ดำเนินการต่อไป

แต่เมื่อทนายความของปิยะได้ติดต่อแจ้งเรื่องนี้กับเรือนจำ ทางเรือนจำระบุว่า ไม่สามารถให้คัดถ่ายหมายอายัดได้ ให้ได้แต่เพียงเลขที่ของหมายและชื่อของพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ออกหมาย การขอคัดถ่ายหมายต้องติดต่อไปยังดีเอสไอเอง

ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปิยะยังได้ทำหนังสือแจ้งขอให้ถอนหมายอายัดตัวเขา ส่งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ทำให้จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการถอนหมายอายัดของปิยะได้ และทำให้เรือนจำยังไม่ทำเรื่องพักโทษให้เขา

ทั้งนี้ การพักการลงโทษ คือการที่ทางราชทัณฑ์อนุญาตให้ปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และได้รับโทษมาแล้วในสัดส่วนอัตราโทษตามที่ทางราชทัณฑ์กำหนดสำหรับนักโทษแต่ละชั้นความประพฤติ

นอกจากสิทธิประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาดในเรื่องการพักโทษดังกล่าวแล้ว หากยังไม่สามารถถอนหมายอายัดดังกล่าวได้ ปิยะกล่าวว่า เขาก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น การลดวันต้องโทษจำคุก การออกไปทำงานสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เขาต้องถูกจำคุกจนครบ 7 ปีเต็ม

ปิยะเป็นหนึ่งในผู้ถูกคุมขังด้วยคดีมาตรา 112 จากจำนวนอย่างน้อย 25 ราย ซึ่งศูนย์ทนายฯรายงานไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net