Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมพม่าจัดงานรณรงค์ ชวนคนเข้าชื่อก่อนจะทำจดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.10 ให้พระราชทานอภัยโทษ 2 นักโทษประหารชาวพม่าในคดีฆาตกรรมเกาะเต่าเมื่อปี 2557 ระบุ ยังมีหลักฐานว่ากระบวนการตรวจดีเอ็นเอไม่ถูกต้อง มีข้อกล่าวหาเรื่องทรมานให้สารภาพ ทั้งนี้ ชาวพม่าสนใจข่าวนี้อย่างมาก แม้แต่นายทหารที่มาไทยยังพูดถึง

กลุ่มประชาสังคมพม่าร่วมกันรณรงค์ขอพระราชทานอภัยโทษ

12 ก.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) ที่งานมหกรรมการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF) กลุ่มประชาสังคมพม่าได้รณรงค์เข้าชื่อเพื่อทำจดหมายให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.10 พระราชทานอภัยโทษให้กับซอลิน และ เวพิว จำเลยชาวพม่าทั้ง 2 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันข่มขืนผู้อื่นในลักษณะโทรมหญิง ร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดตน ในคดีฆาตกรรม เดวิด มิลเลอร์ และ ฮานนาห์ วิทเธอริดจ์ 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้พบศพบริเวณหาดทรายรี เกาะเต่าเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557

ศาลฎีกายืนประหาร 2 หนุ่มพม่า คดีฆ่านักท่องเที่ยวที่เกาะเต่า ทนายจ่อฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

อองเมียวมิน ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรอีควาลิตี้ เมียนมาร์ ให้ข้อมูลว่า พวกเขาต้องการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษจากโทษประหาร เหตุผลก็คือยังมีหลักฐานว่ากระบวนการตรวจสอบดีเอ็นเอไม่ได้กระทำอย่างเหมาะสม และยังมีข้อมูลว่าพวกเขาถูกซ้อมทรมานเพื่อให้สารภาพ การขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้เป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว หลังจากที่พ่อแม่และสภาทนายความยื่นอุทธรณ์แต่ถูกยกคำร้อง จนกระทั่งศาลฎีกาพิพากษายืนให้มีโทษประหารชีวิต

(ถือไมค์) อองเมียวมิน ขณะรณรงค์บนเวทีในงานเวทีอาเซียนภาคประชาชน

“พวกเราจึงเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับพวกเขา เพราะว่ายังมีข้อสงสัยว่าพวกเขายังไม่ได้เข้าถึงความเป็นธรรมอย่างเหมาะสม รวมถึงสิทธิทางกฎหมายตลอดขั้นตอนของการไต่สวน”

อองเมียวมินยังเล่าว่าข่าวของทั้ง 2 คนได้รับความสนใจอย่างมากในหมู่ชาวพม่า แม้กระทั่งนายทหารพม่าที่มาเยือนไทยยังมีท่าทีในเรื่องนี้

“พวกเขามาจากพม่า พวกเขา (ชาวพม่า) จึงสนใจกันมากๆ มีกระทั่งการเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าไปแทรกแซงในเรื่องนี้ เรื่องนี้ถูกตีแผ่สู่สาธารณะอย่างแพร่หลาย เดือนที่แล้วเมื่อการอุทธรณ์ถูกศาลฎีกาพิพากษายืน ก็มีแผนที่จะประท้วงกันที่หน้าสถานทูตไทย แต่ขณะเดียวกันเราก็คิดว่ารัฐบาลไทยอาจมองเป็นผลลบต่อพวกเขา”

“เมื่อผู้นำทหารพม่ามาเยือนไทยก็ยังพูดถึงเรื่องนี้ และเขายังส่งลูกชายของนายทหารคนหนึ่งไปสัมภาษณ์จำเลยทั้ง 2 ในเรือนจำด้วย”

“เราร้องขอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเป็นชาวพม่า ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนข้ามชาติ แต่เราเรียกร้องให้มีกระบวนการกฎหมายที่ดี และประกันว่าเขามีสิทธิทางกฎหมาย เช่น สิทธิในการอุทธรณ์ ในการปฏิเสธ และไม่ให้มีการทนมานเพื่อบังคับให้สารภาพ” อองเมียวมินกล่าว

ผู้ร่วมงานอาเซียนภาคประชาชนร่วมลงชื่อ

ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนประหารชีวิต ทนายจำเลยยื่นฎีกาคำพิพากษาโดยยืนยันว่าขั้นตอนกระบวนการจับกุมและการสืบสวนสอบสวนไม่ชอบ จำเลยถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ การจัดเก็บดีเอ็นเอที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามศาลฎีกายังคงมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ดังกล่าว

เมื่อ 29 ส.ค. 62 เพจ NSP LEGAL Office โพสต์รายงานกรณีนี้เพิ่มเติมด้วยว่า ทนายความในคดีได้ให้ข้อมูลว่า วันนี้ (29 ส.ค.62) เวลา 10.00 ศาลจังหวัดนนทบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสองฟัง แทนศาลจังหวัดเกาะสมุย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันข่มขืนผู้อื่นในลักษณะโทรมหญิง ร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดตน ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง

เพจ NSP LEGAL Office ยังรายงานด้วยว่า ทนายความจำเลยทั้งสองจะดำเนินการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษภายใน 60 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net