Skip to main content
sharethis

 

ถึงแม้แคร์รี่ แลมประกาศถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน หนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในฮ่องกงแล้ว แต่กลุ่มผู้ประท้วงก็ยังคงหารือกันต่อว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร มีบทวิเคราะห์จากสื่อฮ่องกงฟรีเพรสที่ระบุว่าการประท้วงแบบไร้แกนนำในฮ่องกงนั้นมียุทธวิธีที่เน้นกระจายข้อมูลแบบ "โอเพนซอร์ส" ทำให้เกิดการ "การเรียนรู้ด้วยตนเอง" และกระบวนการตัดสินใจร่วมกัน

ภาพมุมสูง แสดงให้เห็นจำนวนมหาศาลของผู้ชุมนุมเมื่อ 16 มิ.ย. 62
(ที่มา: Apple Daily) 

13 ก.ย. 2562 การประท้วงแบบไร้แกนนำในฮ่องกงดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีจนถึงตอนนี้มีคนเรียกเปรียบเปรยว่าเป็น "ระบบปัญญาประดิษฐ์แบบเรียนรู้ด้วยตนเอง" จากการที่กลุ่มผู้ประท้วงสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสนามการณ์บนท้องถนนได้อย่างทันเหตุการณ์ เคยมีนักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยไชนีสแห่งฮ่องกง ฟรานซิส ลี กล่าวว่าการประท้วงในฮ่องกงมีลักษณะการเลียนแบบเทคโนโลยีแบบโอเพนซอร์สโดยการปล่อยข้อมูลศูนย์กลางออกไปให้คนอื่นๆ นำไปพัฒนาใช้ต่อในแบบของตัวเองได้ง่าย

สื่อฮ่องกงฟรีเพรสระบุว่า ในช่วงตลอดการประท้วง 14 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงไม่เพียงแค่พัฒนากลยุทธ์ของตัวเองในการประท้วงแนวหน้าเท่านั้น พวกเขายังคอยเดินหมากท่ามกลางวงล้อมของของทางการฮ่องกงและทางการจีนด้วย

หนึ่งในเครื่องมือหลักๆ ในการสื่อสารกันของผู้ประท้วงชาวฮ่องกงคือเว็บบอร์ดที่มีลักษณะคล้าย Reddit คือ LIHKG ที่มีลักษณะสามารถให้ลงคะแนนเสียงโหวตความคิดเห็นได้ ทุกๆ ครั้งที่การประท้วงจบลงเว็บบอร์ดนี้จะเต็มไปด้วยข้อความต่างๆ เกี่ยวกับยุทธวิธีการประท้วงและมีการเสนอปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

จากการที่ตำรวจในฮ่องกงมีการวางกำลังมากขึ้นโดยใช้ปืนแรงดันน้ำและมีการยิงเตือนด้วยกระสุนจริง ทำให้ผู้ประท้วงบางส่วนต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีไปตามสถานการณ์แทนการเน้นปะทะกันบนท้องถนนแต่อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงที่สนามบิน การประท้วงด้วยการบอยคอตต์ชั้นเรียน หรืออาจจะเป็นการนัดหยุดงานประท้วง ตราบใดที่ยุทธวิธีของพวกเขาสามารถลดความเสี่ยงต่อผู้ชุมนุมในแนวหน้าให้เหลือน้อยที่สุดได้

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้ยังแตกต่างจากยุทธวิธีของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เรียกว่า "ขบวนการร่ม" ในปี 2557 ที่เน้นการยึดกุมพื้นที่บนท้องถนนเพียงบางแห่งและเน้นการตั้งรับป้องกันพื้นที่เหล่านี้ แต่ในการประท้วงปีนี้ผู้ชุมนุมมีความลื่นไหลยืดหยุ่นมากกว่าและมีการกระจายตัวไปในหลายเขตพื้นที่ ทำให้รัฐบาลต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการรับมือกับพวกเขา

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าผู้ประท้วงมักจะมีการกำหนดเวลาเส้นตายให้กับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไม่เช่นนั้นจะมีการยกระดับการชุมนุม พวกเขายกระดับด้วยการปิดล้อมสำนักงานตำรวจ ล้อมอาคารรัฐบาล และปิดถนน จนทำให้เกิดเหตุปะทะกับตำรวจ ถึงแม้ว่าในตอนนี้รัฐบาลฮ่องกงจะยอมตามข้อตกลงเรื่องการยกเลิกกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่นั่นก็เป็นแค่หนึ่งในข้อเรียกร้อง 5 ข้อของผู้ประท้วงชาวฮ่องกงเท่านั้น ผู้ประท้วงยังคงวางเส้นตายให้กับรัฐบาลในข้อเรียกร้องอื่นๆ

ผู้ชุมนุมยังใช้วิธีการกำหนดล่วงหน้าว่าพวกเขาจะประท้วงรุนแรงระดับไหนในการประท้วงครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังเคยมีการสำรวจความคิดเห็นว่าควรจะขอโทษหรือไม่ในบางกรณีเช่นในกรณีการประท้วงที่สนามบินซึ่งผู้ชุมนุมปิดกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในเขตหวงห้ามเพื่อขึ้นเครื่องบิน ในวันถัดจากนั้นพวกเขาก็มาขอโทษที่สนามบิน การแก้ปัญหาด้วยการออกมาขอโทษก็เป็นที่ถกเถียงกันในเว็บบอร์ดอยู่ แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังออกมาทำยุทธวิธีเช่นนั้น

ในช่วงวันธรรมดาจะไม่มีผู้ชุมนุมมากเท่าวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงที่ให้เวลาและพื้นที่กับผู้ประท้วงในการคิดยุทธศาสตร์ใหม่ๆ

จากเดือน มิ.ย. จนถึงตอนนี้ การประท้วงในฮ่องกงเกิดขึ้นหลายแนวทางมาก ไม่ว่าจะเป็นการพยายามส่งคำร้องถึงสถานกงสุลต่างชาติในช่วงก่อนการประชุม G20 ในเดือน มิ.ย. ในเดือนถัดมาก็มีกรณีการบุกเข้าไปในอาคารสภานิติบัญญัติซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการชุมนุม มีการเดินขบวนในหลายเหตุพื้นที่ มีการส่งสารของพวกเขาให้นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับทราบ มีคนสูงอายุหลายพันคนร่วมชุมนุม มีการเริ่มปักหลักชุมนุมที่สนามบินในเดือน ส.ค. รวมถึงการนัดหยุดงานทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการระบายสีกำแพงในแบบที่เรียกว่า "กำแพงเลนนอน" (Lennon Wall) ทั่วเมืองซึ่งคล้ายกับการประท้วงของคนรุ่นเยาว์ในประเทศเชคเมื่อปี 2531

ในขณะที่จีนขู่จะใช้กำลังกับผู้ชุมนุมและสั่งให้บริษัทไล่พนักงานที่สนับสนุนการชุมนุมด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตามออกจากบริษัท แต่ก็น่าสงสัยว่าพวกเขาจะตามทันกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกงมีการปรับเปลี่ยนวิธีการต่อกรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาในขณะที่รับมือกับแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ

เรียบเรียงจาก

Explainer: How Hong Kong’s ‘self-learning, open source’ protest movement decides what to do next, Hong Kong Free Press, Sep. 11, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net