กมธ.ศึกษารถไฟเชื่อมสนามบินและ EEC ถูกล้ม ทั้งที่ “พปชร.-ปชป.” มีส่วนเสนอให้ตั้ง

13 ก.ย. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญ) ในวาระของการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องตั้งคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมเพื่อลงมติให้มีการตั้ง กมธ. ชุดดังกล่าวหรือไม่ 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้ยื่นญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมการธิการวิสามัญเพื่อศึกษาตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการกำหนดพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวปิดการอภิปรายญัตติว่า เหตุที่เสนอให้มีการตั้ง กมธ. เพราะต้องการให้โครงการนี้มีการศึกษาเพื่อที่จะให้โครงการนี้ไม่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ต้องการให้โครงการนี้เป็นไปโดยความไม่รอบคอบจนที่สุดแล้วทำให้ลูกหลานต้องรับกรรม

วันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ได้รับคำร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่โครงการดังกล่าว และจากพนักงานการรถไฟว่า ยังไม่ได้รับรายละเอียดของโครงการดังกล่าว และมีการตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาที่รัฐจะลงทุนกับเอกชนไม่มีความโปร่งใส จึงเห็นว่าสมควรที่จะเปิดเผยสัญญาที่จะมีการลงนามกับเอกชนให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งมีการศึกษาเพื่อให้เห็นประโยชน์และผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้าน เนื่องจากเป็นโครงการแรกที่รัฐจะต้องลงทุนเป็นแสนล้าน ทั้งยังต้องมอบพื้นที่อันมีค่ามหาศาลให้เอกชนไปหาผลประโยชน์เป็นเวลา 50 และสามารถต่ออายุได้อีก 49 ปี รวมแล้วเป็น 99 ปี

“ประชาชนที่มาร้องเรียน และพนักงานการรถไฟ สหภาพการรถไฟ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ทำอย่างรีบเร่ง มีการออก TOR  ที่ไม่โปร่งใส เพราะมีการดำเนินการในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร และไม่มีสภาของประชาชน เมื่อตอนนี้มีสภาของประชาชนแล้ว จึงควรทบทวน TOR นั้นให้เกิดความรอบคอบมาขึ้น เราไม่ได้ขัดขวางโครงการนี้ ที่จะเป็นการพัฒนาเศรษฐของภาคตะวันออก และเศรษฐกิจของประเทศ เพียงแต่เรียกร้องให้มีคณะกรรมการของสภาฯ ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน และกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นนี้ก็จะให้กลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม”วันมูหะมัดนอร์ กล่าว

วันมูหะมัดนอร์ ได้เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น โดยชี้ว่าให้เป็นไปเพื่อการตรวจสอบอย่างรอบคอบ แต่ถ้าไม่มีการตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความโครงการนี้จะทำได้อย่างรวดเร็วอย่างที่รัฐบาลต้องการ เพราะอาจจะล่าช้าเกินกว่าที่คิด และอาจจะหยุดลง เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบที่ดีพอ และเมื่อโครงการต้องหยุดลง แต่รัฐได้เซ็นต์ลงนามกับเอกชนแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ การเสียค่าโง่ เช่น โครงการใหญ่ๆ ที่ผ่านมาในอดีต

“จากที่เราได้ยินการอภิปรายในสภา เกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการทำโครงการนี้ แต่ตั้งการกรรมาธิการเพื่อความรอบคอบ ผมแปลกใจนะครับเมื่อทราบเป็นการภายใน อาจจะจริงหรือไม่ ว่า วิปฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่อยากให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาโครงการนี้ขึ้นมา แต่ต้องขออภัยถ้าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง สภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน เราได้ฟังเสียงประชาชนที่อยากจะให้ตั้งกรรมาธิการ สื่อมวลชนก็อยากรู้ข้อเท็จจริง เราจะเอามือไปปิดช้างที่ตายทั้งตัวได้อย่างไร เกรงว่าถ้าไม่ตั้ง กมธ. ขึ้นมานั้น ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว แต่ฝ่ายรัฐบาลอาจจะเสียใจภายหลังว่าทำไมเราต้องขาดความอิสระที่จะตัดสินใจเพื่อศึกษาข้อมูล

ผมอยากให้เราพิจารณาว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งด้วยสติที่รอบคอบ เราจะลงมติอย่างไรก็แล้วแต่เราต้องอยู่พื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน การลงมติในเรื่องนี้เราไม่น่าจะมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน การลงมติในครั้งนี้จะลงมติโดยเปิดเผย ประวัติศาตร์จะต้องบันทึกว่าใครที่ต้องการให้ประชาชนรับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนนในอนาคต หรือใครจะปล่อยให้รัฐบาล และนายทุนดำเนินการโดยขาดความรอบคอบ” วันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังจากวันมูหะมัดนอร์ กล่าวปิดการอภิปราย ได้มีผู้กล่าวปิดการอภิปรายอีก 3 คน คือ สรุสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ โดยกล่าวว่า โครงการ EEC เป็นสิ่งที่ดี และควรสนับสนุน เพราะจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศพัฒนาขึ้นไปในทิศทางที่ดีได้ ส่วนข้อท้วงติงเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาผังเมือง เห็นว่าโครงการนี้เกิดขึ้นแล้ว และมีกฎหมายบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2561 มีหลายสิ่งที่ได้เริ่มต้นดำเนินการไปแล้ว ทั้งยังเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบน้อยกว่าโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต

เปิดนัยสำคัญ: เมื่อ ปชป. ขอผ่านกฎหมายสำคัญ ก่อนพิจารณาตั้ง กมธ.ทบทวน EEC

ฝ่ายค้านรับหนังสือร้องเรียน กรณีไล่ที่ชุมชนบ่อแก้ว และกรณีจัดผังเมือง EEC เอื้อนายทุน

จิรัฏฐ์ อนาคตใหม่ จี้ถามผังเมือง EEC เอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ ขอเปิดข้อมูลให้ ปชช. ได้ตรวจสอบ

iLaw: "EEC" เขตเศรษฐกิจ "พิเศษ" สำหรับใคร?

นอกจากนี้ยังมี จิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเข้าไปศึกษา โดยเชื่อว่าหากโครการนี้เป็นเรื่องที่ดีจริง การมีคณะกรรมการธิการขึ้นมาศึกษาตรวจสอบ ก็ไม่สามารถส่งผลกระทบใดๆ ต่อโครงการนี้ได้

ด้านบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเป็นคนสุดท้ายก่อนลงมติ โดยชี้ว่า หากที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการนี้ขึ้น ตนจะได้นำรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับโครงการซึ่งยังไม่ได้พูดในสภา เข้าไปส่งให้ที่ประชุมต่อ แต่ถ้าที่ประชุมเห็นว่ายังไม่สมควรตั้งคณะกรรมการธิการ ก็ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ส่งข้อสังเกตทั้งหมดที่ได้มีการอภิปรายกัน รวมทั้งข้อกังวลของประชาขน ให้กับรัฐบาล เพื่อรัฐบาลจะได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือออกมาตราการบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดจากการดำเนินโครงการนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ญัตติให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นี้มีการเสนอทั้งหมด 4 ญัตติ โดยพรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ แต่เนื่องจากเป็นญัตติในลักษณะเดียวกันจะมีการรวมญัตติเป็นญัติเดียวและให้มีการอภิปราย และลงมติในครั้งเดียวกัน

สำหรับผลการลงมติในที่ประชุมได้ผลออกมาดังนี้ มีผู้ร่วมประชุมทั้งหมด 457 คน เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ. 224 คน ไม่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ. 231 คน งดออกเสียง 1 

(มีส.ส.เพื่อไทยโหวตวาจา เนื่องจากบัตรหายหนึ่งคน ข้อมูลการโหวตนี้จึงไม่ตรงกับภาพที่แสดง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท