Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เข้าร่วมเสวนา

อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ และอดีตกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชายแดนภาคใต้

มูฮัมหมัดอารีฟีน จะปะกิยา อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปัตตานี เขต 2 พรรคประชาชาติ

รักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

มูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ทีปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฏหมายพิเศษ

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ดำเนินรายการ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เวทีเสวนาจัดขึ้นที่สนามฟุตบอลฟาตอนีสเตเดี้ยม วันที่ 12 กันยายน 2562 จังหวัดปัตตานี

ธนาธร เริ่มเปิดเวทีด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงแรกๆที่นำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ เขากล่าวถึงตัวเลขของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งครู พระ ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิม โดยงบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหามากกว่าสามแสนล้านบาท เขากล่าวว่ามันสำคัญมากที่ต้องให้ความสนใจกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยธนาธรได้ถามคำถามต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า แต่ละท่านมีประสบการณ์อย่างไรกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนใต้

อัญชนา ให้ความเห็น่วา คนที่สามจังหวัดตระหนักถึงการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่กฎอัยการศึกกลับสร้างความขัดแย้ง และต่อมาเมื่อมีการผ่านพรก ฉุกเฉิน ก็ยิ่งไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดอิสรภาพของประชาชน ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้ทหารกักตัวผู้ต้องสงสัยได้เจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหมายจับ และจุดประสงค์ในการใช้กฎอัยการศึกคือเพื่อใช้ในศึกสงคราม แต่ที่สามจังหวัดไม่ใช่พื้นที่สงคราม คำถามต่อรัฐคือ กฎหมายพิเศษเหล่านี้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงหรือ? เพราะยิ่งใช้ก็ยิ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน มีประชาชนที่ถูกจับกุมมากกว่าหนึ่งหมื่นคนด้วยกฎหมายพิเศษ บางคนถูกจับซ้ำแล้วซ้ำอีก

กลายเป็นว่ากฎหมายพิเศษถูกใช้ในการเลือกปฏิบัติต่อคนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนชาวมุสลิม เพราะรัฐมองว่ากฎหมายพิเศษจะสามารถควบคุมกลุ่มคนที่รัฐมองว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบได้ คำถามคือ ใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษนี้?

ธนาธรสรุปประเด็นที่อัญชนากล่าวว่า กฎหมายพิเศษเปิดโอกาสให้รัฐเลือกปฏิบัติต่อชาวมลายูมุสลิม และกฎหมายพิเศษไม่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ได้ ต่อมาธนาธรได้ถาม รักชาติ สุวรรณ ว่ารู้สึกอย่างไรกับการใช้กฎหมายพิเศษนี้ ในฐานะชาวพุทธที่อาศัอยู่ในสามจังหวัด

รักชาติ ให้ความเห็นว่า ตนเองไม่ได้เรียกตัวเองว่าไทยพุทธ จริงๆคือมลายูพุทธ ตนเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2556 จุดประสงค์คือต้องการทำงานให้คนไทยพุทธ เพราะช่วงนั้นไม่มีเสียงของคนไทยพุทธเลย แต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะแบ่งแยกเป็นไทยพุทธ ไทยมุสลิม เขาพบว่าคนไทยพุทธขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น ทำไมคนต้องกลัวการผ่านด่านตรวจ หรือทหาร ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่พวกเขาก็มีความรู้สึกเบื่อกับการตรวจเช็คเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็รู้สึกและมีความคาดหวังว่ากฎหมายพิเศษสามารถปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยได้ และรัฐจะปกป้องประชาชนและแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดได้ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ คนไทยพุทธคิดว่าถ้ารัฐเจรจาสันติภาพสำเร็จ กฎหมายพิเศษเหล่านี้ก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป

ธนาธรกล่าวเสริมว่า เขาเคยมาที่ปัตตานีก่อนหน้าที่จะมีความขัดแย้ง ไม่เคยรู้สึกถึงการแบ่งแยกของผู้คนที่นี่ ธนาธรถามผู้เข้าร่วมว่า คิดว่ากฎหมายพิเศษแบ่งแยกคนออกเป็นสองกลุ่มและทำให้ผู้คนไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันรึเปล่า?

รักชาติกล่าวว่า ผู้คนในหมู่บ้านใช้ชีวิตร่วมกันได้ปกติ แต่มันจะมีคนที่มาจากต่างหมู่บ้าน ที่พอเข้ามาในหมู่บ้านแล้วทำให้คนรู้สึกไม่ไว้ใจ และรู้สึกไม่สบายใจถ้ามีคนมุสลิมมาจากหมู่บ้านอื่น ทหารทำให้คนไทยพุทธรู้สึกปลอดภัย แต่บางพื้นที่ทหารก็สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาอยู่อาศัย แต่คนไทยพุทธก็ไม่ได้อยากให้เอาทหารออกจากพื้นที่ เขาคิดว่าตอนที่ไม่มีเหตุการณ์อะไร ชาวบ้านก็อยู่ด้วยกันได้ปกติ แต่เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น มันก็จะเกิดความขัดแย้งและความรู้สึกที่ไม่ดีของคนไทนพุทธ อย่างล่าสุด เหตุการณ์ที่พระถูกยิง เหตุการณ์นี้ก็ทำให้คนไทยพุทธมีอารมณ์โกรธแค้นปะทุขึ้นมาอีก

ธนาธรได้กล่าวสรุปความเห็นของรักชาติและถามคำถามต่อ มูฮัมหมัดอารีฟีนว่าคิดอย่างไรกับกฎหมายพิเศษ

มูฮัมมัดอารีฟีน ตั้งคำถามว่า กฎหมายพิเศษใช้บังคับกับใคร ใครที่ได้รับผลกระทบ โดยเขาได้กล่าวถึงการสูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบไปมากกว่ายี่สิบคน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง มันมีความรู้สึกหลากหลายจากผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย ใครที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ รัฐคิดว่ากฎหมายพิเศษจะควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้ แต่มันไม่จริง นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดยะลา เกี่ยวกับปัญหาการสื่อสารระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากชาวบ้านพูดภาษามลายู ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากทหาร ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเข้าใจวิถีชีวิตของคนมุสลิม ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษชน รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจต่างๆที่เชื่อมโยงกับการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร

ธนาธร กล่าวสรุปว่า ปัญหาความขัดแย้งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีของคนมุสลิมและนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น จากนั้นเขาตั้งคำถามต่อ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายพิเศษว่าได้รับผลกระทบอย่างไร?

อันวาร์ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเขาว่า ตนเองเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ถูกจับด้วยกฎหมายพิเศษตามพรก. ฉุกเฉิน ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ถูกจับกุมและกักขังที่สภอ หนองจิก เป็นเวลาหนึ่งเดือนโดยที่ไม่รู้เลยว่า ทำไมถึงต้องถูกจับกุม และถูกจับกุมด้วยกฎหมายตัวไหน ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพรก ฉุกเฉิน หลังจากนั้นถูกส่งตัวไปศาลปัตตานี ศาลถามว่าจะคัดค้านหรือไม่ แต่เขาต้องการประกันตัวแล้วกลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อสู้คดี ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้คดีและพิจารณาของศาล

ช่วงปี 47-48 คนที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่คือ คนมุสลิม โดยเฉพาะใครที่นุ่งโสร่ง ถ้าเด็กวัยรุ่นผู้ชายคนไหนใส่กางเกงขาสั้น ก็จะไม่โดนตรวจ แต่ถ้าเป็นเด็กนักเรียนปอเนาะ ก็จะโดนตรวจ เจ้าหน้าที่จะตรวจเฉพาะคนมุสลิมเท่านั้น คนที่เคยมีประสบการณ์ถูกจับกุมด้วยกฎหมายนี้จะรู้ดีที่สุด แม้ว่าคนทั่วไปจะมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนี้จากการเข้ารับการอบรม แต่จะไม่มีทางรู้เลยว่ามันยากขนาดไหนในการต่อสู้กับกฎหมายพิเศษเหล่านี้ อำนาจอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถใช้อำนาจในการต่อสู้กับกฎหมายพิเศษได้เลย เขาคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่มาจากที่อื่นควรทำความเข้าใจการใช้ชีวิตของคนที่นี่ มันมีความเข้าใจผิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน มีเรื่องของความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้หญิงมุสลิม และยังมีการเข้าไปแทรกแซงทางด้านการศึกษา อย่างกรณี โรงเรียนตาดีกา ทำไมทหารถึงต้องเข้าไปสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนตาดีกา เพราะตาดีกามีการเรียนการสอนของตัวเอง ทหารไม่ควรเข้าไปแทรกแซง มันไม่เหมาะสมที่ทหารจะถือปืน สวมเครื่องแบบ เข้าไปในโรงเรียนแล้วไปสอนเด็กนักเรียน

ธนาธร กล่าวสรุปประเด็นของอันวาร์ว่า ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการแทรกแซงทางการศึกษา คือปัญหาสำคัญ และการใช้อำนาจอย่างไม่มีการจำกัดเป็นเพราะการมีกฎหมายพิเศษที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ กฎหมายทั้งสามฉบับคือ กฎอัยการศึก พรก ฉุกเฉิน และพรบ ความมั่นคง ยังคงบังคับใช้อยู่ในสามจังหวัด ยกเว้นในบางพื้นที่ เขายังกล่าวว่า กฎหมายพิเศษเหล่านี้มีปัญหา เพราะกฎอัยการศึกให้อำนาจเต็มกับเจ้าหน้าที่รัฐและปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐจากการรับผิดชอบในการกระทำความผิด กฎหมายทั้งสามฉบับให้อำนาจในการจับกุมประชาชนโดยไม่มีเหตุผลอันควร และให้อำนาจเต็มกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ธนาธร ตั้งคำถามต่อผู้เข้าร่วมเสวนาว่า เราควรจะจัดการอย่างไรกับกฎหมายพิเศษเหล่านี้ และอะไรคือทางออกในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและปกป้องประชาชนจากการได้รับผลกระทบจากกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อัญชนา ให้ความเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายมันขยายไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆด้วย ไม่ใช่แค่กับประชาชนที่ถูกจับกุมด้วยกฎหมายนี้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนซิมโทรศัพท์ที่มีการถ่ายรูปเก็บอัตลักษณ์ใบหน้าของผู้ใช้บริการ บริษัทผู้ให้บริการส่งข้อมูลส่วนบุคคลของเราให้กับรัฐ นโยบายการถ่ายรูปและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมีปัญหา เพราะเราไม่รู้เลยว่า รัฐจะเอาข้อมูลเราไปทำอะไร หรือเอกชนจะนำข้อมูลของเราไปให้ใครบ้าง และมันนำไปสู่การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีการตรวจดีเอ็นเอ โดยเฉพาะในหมู่บ้านและโรงเรียน การปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านในธารโต ที่ทำให้คนในหมู่บ้านถูกตีตราว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบ การคงอยู่ของทหารในพื้นที่ เป็นคนละส่วนกับการคงอยู่ของกฎหมายพิเศษ ทหารยังคงทำงานได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ หรืออย่างกรณีบ้านโต๊ะชูด ที่ทำให้สมาชิกครอบครัวถูกตีตราว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่สงบและกลายเป็นการตีตราครอบครัวนี้ว่าเป็นครอบครัวของผู้ก่อความไม่สงบ หรือกรณีเคสของอับดุลเลาะ ที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาบอกได้ว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกฎหมายพิเศษปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐจากการรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้ต้องสงสัยไม่มีโอกาสได้ปกป้องคุ้มครองตัวเองเลย ข้อเสนอก็คือ ควรจะมีการยกเลิกกฎหมายบางมาตราที่นำไปสู่การพ้นผิดลอยนวลของเจ้าหน้าที่ และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งควรมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ธนาธร สรุปประเด็นว่า ไม่ควรมีการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะ ปัญหาการพ้นผิดลอยนวล และการมีส่วนร่วมของประชาชน

รักชาติ กล่าวว่า คนไทยพุทธบางคนเคยได้ถูกจับตามกฎหมายพิเศษ แต่คนไทยพุทธบางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน และคนที่ถูกจับก็ได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความมุสลิมจนได้รับการปล่อยตัว มันมีความเชื่อของคนไทยพุทธว่ากฎหมายพิเศษจะช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเค้าจากความรุนแรงและพวกเค้ารู้สึกปลอดภัย แต่เขาคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นมีข้อบกพร่อง ถ้าพื้นที่ไหนที่ไม่มีความขัดแย้ง รัฐควรยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นั้น เขาเห็นด้วยที่ประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ควรจะมีกระบวนการพูดคุยเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารเวลามีการปิดล้อมตรวจค้นผู้ต้องสงสัยในหมู่บ้าน คนไทยพุทธควรเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายพิเศษด้วยเช่นกัน และประชาชนควรส่งเสียงของตัวเอง โดยเฉพาะในกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมแทนที่จะไม่สนใจหรือเฉยๆ โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าคนที่นี่อยู่ร่วมกันได้ แต่คนข้างนอกไม่ควรเข้ามาทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างประชาชนด้วยกัน 

ธนาธรสรุปประเด็นของรักชาติว่า รัฐควรเปลี่ยนกระบวนการทำงานในสามจังหวัดชายแดนใต้และประชาชนเองควรเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายพิเศษและเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรม และประชาชนควรมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

มูฮัมหมัดอารีฟีน กล่าวว่า กฎหมายทั้งสามฉบับใช้แก้ไขปัญหามากว่า 15 ปีแล้ว กฎหมายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ทำให้เกิดความหวาดกลัว กฎหมายทำให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้น และเสนอว่าควรยกเลิกการใช้กฎหมายทั้งสามฉบับ โดยผ่านกลไกรัฐสภา ประชาชนควรร่วมมือกันผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมาย เราน่าจะใช้กระบวนการพูดคุยกันมากกว่าการใช้กฎหมาย เช่น การใช้ผู้นำตามธรรมชาติในการพูดคุยกับผูู้ต้องสงสัย ควรใช้กฎหมายอาญาทั่วไปแทนกฎหมายพิเศษ เขาคิดว่ากฎหมายนี้สามารถยกเลิกได้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา และโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายพิเศษส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน จริงๆแล้วชาวบ้านไม่ได้แตกแยกกัน แต่กฎหมายเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เดี๋ยวนี้ไปอยู่กันในสวนยาง ไม่ได้เรียนหนังสือ ติดยาเสพติด เยาวชนจำนวนมาติดยาเสพติด ทำไมปัญหายาเสพติดจึงเพิ่มมากขึ้นภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

อันวาร์ กล่าวถึงสีของผ้าพันคอของเจ้าหน้าที่ทหาร สีของผ้าพันคอส่งผลต่อความกลัวของชาวบ้าน โดยเฉพาะสีแดงหรือสีส้ม เพราะนั่นหมายถึงการใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุม ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุม หรือถ้าได้รับอนุญาตก็จะมีเวลาแค่ห้านาทีเท่านั้น ถ้าผ้าพันคอสีส้มมานี่คือใช้กฎอัยการศึกแน่นอน และให้สังเกตว่าเวลาญาติมาเยี่ยม วันแรกอาจจะดูปกติ พอผ่านไปวันที่สองหรือสามจะเริ่มมีความผิดปกติ นอกจากความหวาดกลัวแล้ว ยังมีความรู้สึกชาชินในการอยู่กับกฎหมายพิเศษ อย่างเด็กรุ่นใหม่ๆที่โตมาพร้อมกับกฎหมายพิเศษบางคนก็ไม่รู้ตัวว่าเราอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง แต่วัยรุ่นมลายูที่ถูกจับกุมหรือมีรูปถ่ายอยู่ตามด่านตรวจก็จะกลายเป็นคนพิเศษขึ้นมาภายใต้กฎหมายพิเศษนี้ 

นอกจากนี้อันวาร์ยังเปิดเผยว่าผู้ถูกจับกุมและกักขังส่วนใหญ่ในเรือนจำ ถูกจับด้วยกฎหมายพิเศษนี้ คำถามคือ เราสามารถใช้กฎหมาย ป.วิอาญาได้มั้ยในการสืบสวนสอบสวนจับกุม แทนการใช้กฎหมายพิเศษ เพราะชาวบ้านไม่ไว้ใจกฎหมายพิเศษและกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการสอบสวน ในอดีตที่ผ่านมา ศาลไม่รับพิจารณาเอกสารจากการสอบสวนในศูนย์ซักถาม แต่ภายหลังมีการปรับปรุงวิธีการทำงาน ศาลกลับรับพิจาณาจากการสอบสวนในศูนย์ซักถาม ผู้ต้องสงสัยหลายคนไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม ไม่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม พวกเขายอมอยู่ข้างในเพราะคิดว่าดีกว่าอยู่ข้างนอก 

หลังจากการแสดงความเห็นบนเวทีจบลง ธนาธรเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมท่านอื่นๆถามคำถามกับผู้เสวนาบนเวที 
มีผู้ถามคำถามหลากหลาย เช่น 

จะทำอย่างไรหากเจ้าหน้าที่รัฐต้องการนำตัวไปสอบสวน และจะป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมานหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร?

ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้เรื่องกฎหมายพิเศษ? 

หากธนาธรมีอำนาจ จะทำอย่างไรกับการหาสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับสิทธิมนุษยชน?

ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่ง อ้างถึง งานวิจัยที่ชี้ว่าปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้คือเรื่องของอุดมการณ์ในการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่ม BRN ปัญหาจึงไม่ใช้กฎหมายพิเศษ แต่เป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่ง ต่อข้อสังเกตนี้ นายอารีฟิน โซะ ได้แสดงความเห็นแย้งว่า กลุ่ม BRN ไม่ได้เป็นเจ้าของอุดมการณ์ในการปกครองตัวเองหรือการเป็นเอกราช แต่คนทุกคนสามารถมีอุดมการณ์ดังกล่าวได้ ไม่มีใครสามารถห้ามไม่ให้มีอุดมการณ์หรือแนวคิดการต้องการเอกราชได้ แต่เราสามารถหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือการจัดการปัญหาที่เกิดจากการใช้กฎหมายพิเศษได้

ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่ง ถามธนาธรว่า พรรคอนาคตใหม่ พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถแก้ไขได้ ในเมื่อเสียงของสว.เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำถามนี้ ธนาธรขอไม่ตอบ และให้กลับไปฟังที่เคยพูดไว้ในงานอื่น เนื่องจากงานนี้ต้องการพูดถึงเรื่องกฎหมายพิเศษเท่านั้น

อัญชนา ได้ตอบคำถามเรื่อง การรับมือกับการบังคับใช้กฎหมายพืเศษ โดยเธอกล่าวว่า มีองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ถูกจับกุมหรือถูกคุมขัง เช่น ศูนย์ทนายความมุสลิม หรือ Hap และองค์กรอื่นๆ ประชาชนจำเป็นที่จะต้องรู้สิทธิของตัวเองว่าตนเองมีสิทธิถามคำถามเจ้าหน้าที่ ว่าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอะไรในการจับกุม หรือกระบวนการเข้าค้นผู้ต้องสงสัย ต้องมีการประสานกับผู้นำหมู่บ้าน ถ้าเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องสงสัยไปยามวิกาล ต้องมีการติดต่อญาติให้ทราบ บางครั้งเจ้าหน้าที่จะไม่บอกว่าใช้กฎหมายอะไรในการเข้าจับกุมตรวจค้น เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสอบถาม และยืนยันสิทธิของเรา นอกจากนี้เธอยังชี้ว่า กระบวนการสอบสวนในศูนย์ซักถามมีปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อไปแล้วว่าผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงอย่างแน่นอน ทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่คิดว่า หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐคือปกป้องประชาชนทุกคน

อันวาร์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านมีการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการเข้าค้นบ้านหรือจับกุม เขาเสนอว่า ชาวบ้านควรมีสติ และพยายามสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ทหาร และถามคำถามต่อเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้และจุดประสงค์ในการมา นอกจากนี้ กรณีที่งานวิจัยของรุ่งระวี กล่าวถึงแนวคิดการต้องการปกครองตนเองหรือเอกราช เขาเห็นว่าควรมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยเรื่องนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ปราศาจากความหวาดกลัวจากการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งการพูดคุยแตกต่างจากการใช้ความรุนแรง เราควรจะมีพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยสำหรับคนที่คิดต่างไปจากรัฐไทย ถ้าคนที่ใช้ความรุนแรง มีพื้นที่ทางการเมืองในการพูดคุยทางความคิดมากขึ้น การใช้ความรุนแรงก็จะถูกเปลี่ยนมาเป็นการพูดคุยทางการเมืองและใช้สันติวิธีแทน

รักชาติ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า มีการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดมากเกินไป รัฐควรจะเลือกใช้แค่ฉบับเดียวหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ชาวบ้านไทยพุทธอยากให้ทหารใช้กฎอัยการศึก เพราะเค้าไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมาย รัฐควรจะเปลี่ยนแปลงปฏิบัติการตรวจค้นและเลือกใช้กฎหมายแค่ฉบับเดียว นอกจากนี้เขาเห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องการปกครองตนเองหรือเอกราช ถ้าหากไม่มีการใช้ความรุนแรงเพื่อไปสู่เป้าหมายทางการเมือง เขาคิดว่ามันสำคัญอย่างยิ่งที่คนไทยพุทธจะต้องทำความเข้าใจความต้องการของพี่น้องมุสลิมด้วยเช่นกัน

ธนาธร กล่าวสรุปปิดท้ายการเสวนาในครั้งนี้ว่า เขาไม่คิดว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดแตกต่างจากที่อื่นๆในโลกหรือเป็นเรื่องใหม่ มันคือเรื่องเดียวกันกับที่เกิดในประเทศต่างๆเช่น อังกฤษ สก็อตแลนด์ ความขัดแย้งในฮ่องกงกับจีน หรือในแคชเมียร์กับอินเดีย และบาร์เซโลน่าในสเปน เพราะทั้งหมดคือเรื่องของอำนาจ ระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่น ถ้าเรารักษาสมดุลของอำนาจได้ เราก็อยู่ร่วมกันได้ เขาคิดว่าทางออกของปัญหาสามจังหวัดไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น แต่กระบวนการเจรจาสันติภาพมันหายไปตั้งแต่รัฐบาลทหารเข้ามา มีการดำเนินการทางทหารอย่างเดียว โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษ เพราะมันไม่ใช่ความพิเศษ แต่มันคือความปกติธรรมดาที่ต้องมีการกระจายอำนาจในการจัดการตัวเองในแต่ละจังหวัด เขามองว่าการแก้ปัญหาด้วยการใช้เรื่องเศรษฐกิจนำ จะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดได้ การทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับรัฐก็จะน้อยลง และท้ายสุด เราควรกลับมาที่การสร้างความเป็นธรรม เพราะหากไม่มีความเป็นธรรม ก็ไม่มีสันติภาพ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net