เมื่อสยามพลิกผัน: ศาสนาของเราและของเขา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมไม่ได้รีวิวหนังสือ “เมื่อสยามพลิกผัน” ของธงชัย วินิจจะกูล แต่อยากต่อยอดคำถามสำคัญในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า ทำไมจึงไม่เคยมีแนวคิดโลกวิสัยหรือ secularism เกิดขึ้นมาตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา และประเด็นปัญหาศาสนาเปรียบเทียบในบ้านเรา 

ในบทที่ 6 ธงชัยพูดถึง “กรอบของศาสนาเปรียบเทียบในสยาม” (หน้า 171-172) ว่า ความรู้ศาสนาเปรียบเทียบในสยามไม่ได้เป็นเพียงการศึกษาค้นคว้าอย่างเคร่งครัดทางวิชาการถึงประวัติศาสตร์แนวคิด คำสอน พิธีกรรม การปฏิบัติ และค่านิยมของศาสนาต่างๆ เท่านั้น แต่มีลักษณะเฉพาะที่เป็นปัญหาสำคัญสามประการ

ประการแรก ศาสนาเปรียบเทียบแยกไม่ออกจากการถกเถียงและวิวาทะว่า ความเชื่อในศาสนาถูกและผิด ดีและแย่ เหนือกว่าและด้อยกว่า ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา

ประการที่สอง เนื่องจากเถรวาทเป็นองค์ประกอบสำคัญของอัตลักษณ์ไทย จึงมักจะไม่ถือเป็นศาสนาหนึ่งท่ามกลางศาสนาทั้งหลาย แต่ถือเป็นศาสนาของไทย หรือ “ของเรา” ที่เหนือกว่าศาสนาอื่น 

ประการที่สาม อย่างไรก็ตาม วาทกรรมศาสนาเปรียบเทียบของไทยตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมทางความคิดที่กว้างกว่าสังคมไทย ซึ่งถือว่าทุกศาสนารวมถึงศาสนา “ของเขา” ด้วย ล้วนมีความดีงามและน่าเคารพนับถือพอๆ กัน ดังนั้น วาทกรรมที่เป็นทางการย่อมถือว่าทุกศาสนาควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีอคติ ทั้งศรัทธาของเพื่อนของเราและศาสนาของเราเอง 

ธงชัยอธิบายที่มาของการเกิดขึ้นของกรอบคิดดังกล่าวและผลกระทบตามมาว่ามันก่อปัญหาอะไรบ้างไว้บ้างอย่างละเอียด โดยสรุปก็คือ กรอบคิดศาสนาเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นผลของการปฏิรูปศาสนาในสมัย ร.4 เป็นต้นมา อันเป็นจุดเริ่มประเพณีการปกป้องพุทธศาสนาจากการรุกของศาสนาคริสต์ วิทยาศาสตร์ การล่าอาณานิคม ด้วยการแสดงให้เห็นผ่านการถกเถียง หนังสือ และอื่นๆ ว่า พุทธศาสนาดีกว่าศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ในแง่หนึ่งพุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์แต่มีคำสอนสัจธรรมที่สูงส่งกว่า ขณะเดียวกันก็มีมิติความเป็นการเมืองคือ การตีความพุทธศาสนาให้ความชอบธรรมกับอำนาจรัฐ (ชนชั้นปกครอง) และเน้นสถานะความเป็นศาสนาของคนไทย หรือของชาติไทย

ผมคิดว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เราจะเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น หากเปรียบเทียบกับการปฏิรูปศาสนาในยุโรป พูดให้เห็นภาพรวมสั้นๆ คือ ก่อนปฏิรูป ศาสนาเป็นศาสนาของศาสนจักรโรมันคาธอลิกที่ไม่มีความอดกลั้น (tolerance) ต่อศาสนาหรือความเชื่ออื่นๆ ที่ถูกมองว่า “นอกรีต” หลังปฏิรูปเกิดนิกายโปรเตสแตน์และนิกายย่อยต่างๆ เป็นศาสนาของรัฐต่างๆ ที่ขาดความอดกลั้นต่อกัน ขัดแย้ง และทำสงครามกัน และสุดท้ายเกิดการ “แยกศาสนาจากรัฐ” จึงทำให้ศาสนาหลากหลายนิกายย่อยและศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นศาสนาของปัจเจกบุคคลและของชุมชนทางศาสนาต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันด้วยกลักเสรีภาพทางศาสนาและหลักความอดกลั้นสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

แต่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของบ้านเราคือ พุทธศาสนาไทยเป็น “ศาสนาของรัฐ” (state religion) มาตลอดตั้งแต่สุโขทัยจนปัจจุบัน ดังนั้น ที่ชนชั้นนำยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนไทยหรือของชาติไทย ก็ไม่ต่างจากคริสตจักรโรมันคาธอลิกอ้างความเป็นเจ้าของคริสต์ศาสนาช่วงก่อนปฏิรูป ไม่ต่างจากรัฐต่างๆ อ้างความเป็นเจ้าของนิกายศาสนานั้นๆ ที่ต่างก็อ้างว่าศาสนาของตนดีกว่า แท้กว่าศาสนาอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีมุมองในการตรวจสอบเอาผิดกลุ่มศาสนิกในศาสนาเดียวกัน นิกายเดียวกันที่ถูกมองว่าสร้างคำสอนเท็จ ไม่แท้ ไม่บริสุทธิ์ถูกต้องตามคัมภีร์ดั้งเดิม (unorthodoxy) สรุปคือตัว “จารีตความคิดพื้นฐาน” แบบนี้ระหว่างไทยกับตะวันตกมันไม่ได้ต่างกัน ต่างกันแค่รายละเอียดและระดับความซับซ้อน ความเข้มข้นและความรุนแรงในการปราบปรามกดขี่ความคิด, ความเชื่อที่แตกต่างเท่านั้น ซึ่งเรามักจะมองกันว่าตะวันตกกดขี่รุนแรงมากกว่า ส่วนเราดูดีมาตลอด เพราะร้างมองไม่เห็นว่าระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนายไพร่ ทาสในรัฐนาฏกรรมพุทธผสมพราหมณ์ผีนั้นกดขี่รุนแรงมาอย่างไรบ้าง  

พูดให้ชัดคือ รัฐไทยวางสถานะและบทบาทเป็นเจ้าของพุทธศาสนามาตลอด และกระชับอำนาจในการเป็นเจ้าของพุทธศาสนามากขึ้น ตั้งแต่สมัย ร.4 เรื่อยจนปัจจุบัน ที่เรายืนยันว่าเรามีเสรีภาพทางศาสนามันไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนาบนฐานคิดเสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) ที่ถือว่าเสรีภาพทางศาสนาเป็นเรื่องของอิสรภาพแห่งมโนธรรม (liberty of conscience) ของปัจเจกบุคคลอย่างแท้จริง รัฐและสังคมจะอ้างกรอบคิดเรื่องศาสนาของเรา ของเขามาแทรกแซงขัดขวางไม่ได้ เสรีภาพทางศาสนาเช่นนี้จะมีได้จริง เมื่อแยกรัฐกับศาสนาเป็นอิสระจากกัน รัฐเป็นกลางทางศาสนาและรักษาความเสมอภาคในการนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนาได้อย่างแท้จริงเท่านั้น 

ตราบที่รัฐยังอ้างความเป็นเจ้าของศาสนาของคนส่วนใหญ่ และคนส่วนใหญ่ยังแสดงสำนึกว่าศาสนาของพวกตนคือศาสนาของรัฐ หรือศาสนาประจำชาติ การแบ่งแยกศาสนาของเรา ของเขาก็ยังคงมีต่อไป ความหวาดระแวง ความกลัวภัยคุกคามจากศาสนาที่ถูกมองว่าเป็น “ศาสนาของเขา” เช่น ที่เคยกลัวศาสนาคริสต์มาแต่สมัยอยุธยา, ยุคปฏิรูปสมัย ร.4, ช่วงต้านศาสนาคริสต์ในศตวรรษที่ 20 และปัจจุบันคือกลัวอิสลามก็ยังคงมีต่อไป ขณะเดียวกันการกลัวพุทธไม่บริสุทธิ์ ไม่แท้ หรือ “พุทธเทียม” อย่างสันติอโศก, ธรรมกาย และอื่นๆ ก็ยังคงมีเสมอมา กระทั่งล่าสุดคือ กลัว “พุทธรูปอุลตร้าแมน” ซึ่งเครื่องมือขจัดความกลัวเหล่านั้นก็คืออำนาจรัฐ กฎหมาย กระแสกดดันทางสังคม และอื่นๆ    

อย่างไรก็ตาม พูดอย่างถึงที่สุดการแบ่งแยกเป็นศาสนา “ของเขา” และ “ของเรา” มันคือ “จารีตทางความคิด” และทางปฏิบัติของศาสนาต่างๆ ที่พบได้ในระดับคัมภีร์และตลอดประวัติศาสตร์ของรัฐศาสนาในยุคกลางและยุคสมัยใหม่ (บางประเทศ) อยู่แล้ว ถ้าในสังคมใดไม่เกิดปรากฏการณ์แนวคิด liberalism, secularism, วิทยาศาสตร์ขึ้นมาท้าทายศาสนาของรัฐ หรือไม่เกิดประวัติศาสตร์การท้าทายอำนาจรัฐและศาสนจักแบบยุคกลางและที่ตกทอดมาจากยุคกลาง เสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองมันเกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งแปลว่าประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นไม่ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน 

ที่ธงชัยยกตัวอย่างชนชั้นนำอย่างทิพากรวงศ์, ร.6 เรื่อยมาถึงท่าน ป.อ. ปยุตฺโต, พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) จำนงค์ ทองประเสริฐ, พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์, เสฐียรพงศ์ วรรณปกเป็นต้นที่มีบทบาทโต้แย้งศาสนาอื่นๆ บนกรอบคิดศาสนาเปรียบเทียบว่าพุทธเป็นศาสนา “ของเรา” หรือของรัฐ และเป็นศาสนาที่ดีกว่า สูงส่งกว่าศาสนาอื่นๆ ที่เป็นศาสนา “ของเขา” อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของศาสนาของเราได้เสมอนั้น ก็ไม่ต่างจากการที่ชนชั้นนำอ้าง “ความเป็นไทย” เพื่อสร้าง “ความเป็นอื่น” ให้กับทุกสิ่งที่ท้าทายต่ออุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เช่น อ้างว่าประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชนเป็นของฝรั่ง ไม่ใช่ไทย ต้องปรับให้อยู่ภายใต้ความเป็นไทย ดังที่ปัจจุบันเราถูกกรอกหูหนักขึ้นทุกวันๆ

ยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่แต่เรื่องศาสนาเปรียบเทียบเท่านั้นที่ถือว่า “พุทธเป็นพ่อทุกสิ่ง” แม้แต่การศึกษาปรัชญาในบ้านเรา ก็มักจะทำให้พุทธปรัชญากลายเป็น “พ่อของทุกสิ่ง” เช่นกัน มีที่ไหนเวลาศึกษาปรัชญาตะวันตกหรือปรัชญาศาสนาอื่นๆ เปรียบเทียบกับพุทธปรัชญาด้วยการวิพากษ์ให้เห็นจุดดีจุดด้อยของเขาแล้วนำพุทธปรัชญามาแก้จุดอ่อนพวกนั้นแทบทั้งหมด โดยไม่วิพากษ์จุดอ่อนของพุทธปรัชญาอย่างถึงรากเหมือนที่ทำกับปรัชญาอื่นๆ โดยเฉพาะแทบจะไม่ตั้งคำถามจริงจังว่า ปรัชญาการเมืองพุทธเมื่อนำมาใช้จริงในรัฐพุทธศาสนาในอดีตและระบบที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้าง จะแก้อย่างไร

จึงต้องตั้งคำถามว่า ศาสนาเปรียบเทียบ กระทั่งปรัชญาศาสนาเปรียบเทียบในบ้านเราที่ศึกษากันอยู่ในปัจจุบัน และที่แสดงออกผ่านการถกเถียงทางสาธารณะ งานวิชาการ งานวิจัยต่างๆ มันคือการศึกษาศาสนาและปรัชญาศาสนาแบบยุคกลาง หรือแบบยุคสว่างทางปัญญาเป็นต้นมากันแน่ ทำไมมันจึงส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกเป็นศาสนาของเรา ของเขา เป็นวัฒนธรรมของเราของเขาที่เข้ากันไม่ได้ อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ กระทั่งกลุ่มชาวพุทธด้วยกันเองยังอยู่ร่วมสังคมกันอย่างแปลกแยก ไม่มีเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้อย่างแท้จริงเลย เช่น พุทธแบบสันติอโศก, ภิกษุณี, ธรรมกาย, พุทธที่อยู่ในโอวาทของมหาเถรและรัฐ ย่อมได้รับการปฏิบัติจากรัฐต่างกัน 

วันดีคืนดีก็มีเรื่องดราม่าไล่ล่าคนคิดต่างหรือแสดงออกทางศาสนาที่แตกต่างจากกระแสหลัก อย่างเช่นกรณีพระพุทธรูปอุลตร้าแมนและอื่นๆ เกิดขึ้นได้เสมอๆ นี่เราคิดเรื่องศาสนาแบบมนุษย์ยุคศตวรรษที่ 21 หรือยุคกลางกันแน่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท