'ชาวบ้านบ่อแก้ว' ประชุมแผนจัดการที่ดินนำเสนอรัฐหลังกลับจากชุมนุมพีมูฟ

'ชาวบ้านบ่อแก้ว' ประชุมแผนจัดการที่ดินนำเสนอรัฐหลังกลับจากชุมนุมพีมูฟ ระบุการจัดการที่ดินโดยชุมชนไม่ได้ยึดติดกับการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ชุมชนมีการปฏิรูปที่ดินด้วยวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์ ในรูปแบบโฉนดชุมชน เส้นทางสู่ความมั่งคง สร้างความยั่งยืนให้กับผืนดินและชีวิตของชุมชนและสังคม

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมาชาวบ้านบ่อแก้ว คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประชุมแลกเปลี่ยนเพื่อผลักดันแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน ตามแนวทางแก้ไขข้อพิพาทที่ดินทำกินที่ชุมชนเสนอต่อรัฐบาล หลังกลับจากไปชุมนุมร่วมกับพีมูฟ มีข้อสรุปร่วมกันว่าการจัดการที่ดินโดยชุมชนไม่ได้ยึดติดกับการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ชุมชนมีการปฏิรูปที่ดินด้วยวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์ ในรูปแบบโฉนดชุมชน เส้นทางสู่ความมั่งคง สร้างความยั่งยืนให้กับผืนดินและชีวิตของชุมชนและสังคม

วิชชุนัย ศิลาศรี ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.) บอกว่าหลังกลับจากไปร่วมปักหลักชุมนุมในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ในวันที่ 9 – 12 ก.ย. 2562 ณ บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อติดตาม ผลักดัน เร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายภาครัฐ โดยที่ผ่านมาพีมูฟได้เรียกร้องมาตลอดระยะเวลา แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ครั้งนี้พีมูฟจึงได้นัดหมายมาชุมนุมกันอีกครั้ง และมีเป้าหมายชุมนุมอย่างยืดเยื้อ

กระทั่งในวันที่ 12 ก.ย. 2562 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มาพบผู้ชุมนุม พร้อมนำหนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มาแสดงต่อผู้ชุมนุม ซึ่งในคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง 10 กระทรวง รวมถึงตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีตัวแทนของกลุ่มพีมูฟ จำนวน 20 คน

วิชชุนัย บอกอีกว่าหลังจากชาวบ้านสมาชิก คปอ. รวมทั้งทางกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในนามพีมูฟ เห็นว่ารัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีกำหนดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งทางพีมูฟมองว่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 12 ก.ย. 2562 ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของ คปอ.หลังจากเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา ก็ได้มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์กัน

โดยในวันนี้ (14 ก.ย. 2562) ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์การไปชุมนุม และยังได้ร่วมกันประชุมจัดทำแผนบริหารจัดการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนบ่อแก้ว ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราได้จัดทำแผนจัดการที่ดินดังกล่าว และเคยไปยื่นข้อเสนอให้กับหน่วยงานภาครัฐร่วมแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง แต่รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับเมินเฉย ไม่เคยคิดจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร

จนกระทั่งในวันที่ 26 ก.ค.-26 ส.ค. 2562 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดหมายบังคับคดี ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน จนในวันที่ 26 ส.ค.2562 คณะยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ลงพื้นที่เข้ามาร่วมเจรจากับชาวบ้านบ่อแก้ว พร้อมให้คำมั่นกับชาวบ้านว่าจะไม่มีการไล่รื้อตามคำสั่งศาลฎีกาที่มีการปิดหมายบังคับคดี

ที่ปรึกษา รมว.ทรัพยากรฯ ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ สั่งชะลอบังคับคดีให้ออกพื้นที่ทำกินไปก่อน 1 เดือน

“การไปชุมนุมของพีมูฟ ครั้งนี้ได้มีตัวแทนหน่วยงานรัฐในแต่ละกระทรวง เข้ามาร่วมหารือเพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาตามที่แต่ละพื้นที่นำเสนอ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ทางผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับตัวแทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จะลงพื้นที่บ่อแก้วร่วมกับคณะยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 22 – 23 ก.ย. 2562 นี้ เพื่อมาดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในที่ดินทำกิน ตามแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรฯ จำนวน 830 ไร่ ตามที่ชาวบ้านบ่อแก้วนำเสนอ พวกเราจึงได้นัดหมายร่วมกันมาประชุมเพื่อเตรียมนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรต่อตัวแทนรัฐบาล ซึ่งแผนการจัดการที่ดินฯ เกิดจากการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนเพื่อเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคง สร้างความยั่งยืนให้กับผืนดินและชีวิต โดยที่สมาชิกชุมชนไม่ได้ยึดติดกับการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการการปฏิรูปที่ดินด้วยวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์ ในรูปแบบโฉนดชุมชน โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจ เช่นไม้ยูคาฯ ที่ อ.อ.ป.นำเข้ามาปลูกโดยการยึดที่ดินทำกินของพวกเราไปนั้น ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชุมชน”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท