Skip to main content
sharethis

ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต ประเมินผลกระทบการโจมตีแหล่งผลิตพลังงานใหญ่ที่สุดในโลกของ Saudi Aramco และการขยายตัวของวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางต่อเศรษฐกิจโลกและไทย การกลับคืนมาของ QE โดย ECB ต่อตลาดการเงิน ชี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยต้องมีเอกภาพ สามารถรับมือความท้าทายต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน บริหารงานด้วยความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)

15 ก.ย. 2562  ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบเบื้องต้น การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก Saudi Aramco มีผลทำให้น้ำมัน 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันคิดเป็น 5% ของผลผลิตน้ำมันของโลก กระทบอุปทานการผลิตน้ำมัน ethane and natural gas liquids ในซาอุดิอารเบียประมาณ 50% ประเทศเอเชียที่กระทบมากสุดน่าจะเป็นจีนและญี่ปุ่นที่อาศัยการนำเข้าน้ำมันจากแหล่งนี้ประมาณ 1.2-1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หวั่นวิกฤตการณ์การตอบโต้กันด้วยกำลังและการก่อการร้ายลุกลาม กดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและตลาดในประเทศพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น หลายประเทศอาจจำเป็นต้องนำเอาสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์มาใช้หากสถานการณ์ไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในเร็วๆนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจปรับตัวขึ้นไปได้ถึง 5-10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในสัปดาห์หน้าและส่งให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในประเทศช่วงไตรมาสสี่อาจแตะ 2% ได้
    
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าหากการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญในซาอุดิอารเบียนำมาสู่ความขัดแย้งทางการทหารขยายวงในพื้นที่ผลิตและส่งออกน้ำมันของโลก จะส่งกระทบต่ออุปทานของพลังงานโลก ราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน สิ่งนี้จะซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงพร้อมเงินเฟ้อสูงจนเกิดสภาพภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หรือ Stagflation ได้ ก่อนหน้านี้ ที่ปรึกษาทางด้านความมั่นคงสายเหยี่ยวอย่างจอห์น โบลตันลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านลงได้ และทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาเล็กน้อย แต่หลังการโจมตีคลังน้ำมันจะทำให้ราคาน้ำมันกลับมาสู่ขาขึ้นอีก ประกอบกับโรงกลุ่นในภูมิภาคเอเชียปิดซ่อมบำรุง และ มีการส่งออกไปยังยุโรปที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป 

การกลับคืนมาของการใช้มาตรการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษ หรือ QE ของธนาคารกลางยุโรปจะทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลเข้าตลาดการเงินในเอเชียรวมทั้งไทย ทำให้แนวโน้มค่าเงินสกุลเอเชียและเงินไทยปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 3 ปีหลังเศรษฐกิจยุโรปเติบโตต่ำกว่าคาดเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายมาก สะท้อนแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปของยุโรป จะมีเงินระยะสั้นเก็งกำไรไหลเข้ามาพักในตลาดตราสารหนี้ในไทยมากขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในสัปดาห์นี้ คาดเงินบาทมีโอกาสทดสอบระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ได้ในระยะต่อไปหากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามในการประชุมครั้งต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางจีนจะออก Digital currency จะช่วยเพิ่มบทบาทของจีนและเงินหยวนในระบบการเงินโลกและดูแลเสถียรภาพค่าเงินหยวนและอธิปไตยของระบบอัตราแลกเปลี่ยน 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอแนะทิ้งท้ายว่าการที่สถานการณ์ในต่างประเทศมีความผันผวนสูงเช่นนี้จำเป็นที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องมีเอกภาพ สามารถรับมือความท้าทายต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน และรัฐบาลต้องบริหารงานด้วยความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net