5 เรื่องน่ารู้ก่อนดูอภิปรายทั่วไปปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ

พรุ่งนี้ 18 ก.ย. 2562 ถือเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งสำคัญอีกครั้ง เพราะจะมีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เรื่องหลักที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นขออภิปรายในครั้งนี้คือ กรณีการถวายสัตย์ปฎิญาณของคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประยุทธ์ 2  ต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10

 ประชาไทนำเสนอ 5 เรื่องน่ารู้ก่อนดูการอภิปรายนัดสำคัญของฝ่ายค้านต่อรัฐบาล แม้ว่าการอภิปรายครั้งนี้จะไม่ส่งผลต่อสถานะของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพราะไม่มีการลงมติใดๆ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำตอบที่หลายคนเฝ้ารอ เพราะเหตุใด จึงไม่มีการอ่านถ้อยคำถวายสัตย์ปฎิญาณตน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ถ้อยคำถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ 2 ต่อพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562

ฝ่ายค้านพยายามตั้งกระทู้ถามสดกรณีถวายสัตย์ไม่ครบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3  ครั้ง แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยมาตอบคำถามแม้แต่ครั้งเดียว อ้างไม่ได้รับหนังสือแจ้ง

ประเด็นการถวายสัตย์ปฎิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 161 ระบุ ถูกหยิบยกขึ้นมาสอบถามในรัฐสภาในวันที่มีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาโดยปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แต่ในวันนั้นไม่มีคำตอบใดๆ จากรัฐบาล

ต่อมาในวันที่ 31 ก.ค. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยตามกระบวนการครบถ้วน และผ่านพ้นไปแล้ว 1 ส.ค. วิษณุ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า นายกฯ จงใจอ่านคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ หรือมีการเตรียมเอกสารผิดพลาด โดยวิษณุตอบบว่า ไม่ทราบ ก่อนที่จะพูดทิ้งท้ายว่า “แล้วสักวันจะรู้ว่าไม่ควรพูด”

จากนั้นวันที่ 7 ส.ค. วิปฝ่ายค้านเลื่อนการตั้งกระทู้ถามสด เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ติดลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

14 ส.ค. ปิยบุตร ขอตั้งกระทู้ถามสดกรณีถวายสัตย์ในสภาฯ แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่มาตอบคำถาม (ไม่มีการให้เหตุผลว่าทำไม่ไม่มาตอบคำถาม)

21 ส.ค. ปิยบุตร ขอตั้งกระทู้ถามสดกรณีถวายสัตย์ในสภาฯ แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่มาตอบคำถาม (ไม่มีการให้เหตุผลว่าทำไม่ไม่มาตอบคำถาม) นับเป็นครั้งที่ 3

อย่างไรก็ตาม 27ส.ค. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าสาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางไปตอบคำถามนั้นเป็นเพราะ ไม่เคยมีการส่งเรื่องจากรัฐสภาแจ้งให้ไปตอบ

กรณีนี้มีผู้ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ 3 ราย ผู้ตรวจปัดตก 2 คำร้อง ยื่นเพียงคำร้องเดียวซึ่งระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กรณีการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญระบุนี้ มีผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ โดยคำร้องทั้งสองนี้เป็นการข้อให้พิจารณาประเด็นในเชิงข้อกฎหมาย และขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลปกครองพิจารณาต่อ แต่ผู้ตรวจฯ เห็นว่าการถวายสัตย์ปฎิญาณนั้นไม่ใช่ประเด็นในข้อกฎหมาย แต่เป็นการกระทำ ไม่ใช่เรื่องบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่เป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงยุติการส่งศาลรัฐธรรมนูญ และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะส่งไปยังศาลปกครอง เพราะถือเป็นเรื่องของการกระทำ

อย่างไรก็ตามผู้ตรวจฯ มีมติส่งคำร้องของ ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

"การถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง การกระทำนั้นเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไปว่า เห็นด้วยกับข้อวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ อย่างไร" เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

ทั้งนี้การลงมตินี้เกิดขึ้นในวันที่ 27 ส.ค. ช่วงบ่าย  

ประยุทธ์อ้างพระราชดำรัสรัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานให้เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมลายพระหัตถ์ มาใส่กรอบถือโชว์ทั่วทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเวลาที่ฝ่ายค้านกำลังตั้งคำถามกับสถานะของรัฐบาล

27 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญานก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี รับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้เป็นสิริมงคล และเป็นเครื่องกำกับสติเตือนใจสืบไป

ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีนายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับคณะรัฐมนตรี ว่า ขอให้ทุกคนยึดมั่นตามกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะรัฐมนตรี ความว่า (ซึ่งเป็นพระราชดำรัสเดิมของวันที่ 16 ก.ค. 2562 เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการพระราชทานพระราชดำรัสในรูปแบบการตีพิมพ์ และลงพระลายพระหัตถ์ ประทับพระปรมาภิไธย)

“ขอให้มีกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งนี้เพื่อความสุขและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน งานใดๆก็ต้องมีอุปสรรค งานใดๆก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องแก้ปัญหา และเข้าหางานเพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานการณ์ โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุดและมีความเข้มแข็งอดทน ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลมีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีด้วยความถูกต้องต่อไป”

หลังจากคณะรัฐมนตรีเข้ารับพระราชทานพระราชดำรัสแล้ว ได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีต่อที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากประชุมเสร็จได้มีการแถลงผลการประชุม ในช่วงเวลาต่อจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้นำพระราชดำรัสพร้อม พระราชหัตถ์ ที่อัดใส่กรอบแล้ว มาโชว์ให้ผู้สื่อข่าว และช่างภาพ

นอกจากนี้ในวันที่ 4 ก.ย. ขณะลงพื้นที่ตรวจราชการและเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดตอนหนึ่งถึงกรณีการนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ต้องการให้ประชาชนหาความ รู้จากโทรศัพท์ให้มากขึ้น แต่อย่าไปอ่านข่าวที่ทะเลาะกันไปมา ที่มีการเรียกร้องให้นายกฯ ไปถามคำถาม ปล่อยไปเถอะ ตนทำกระบวนการ ถ้าทำแต่วิธีนี้ต่อไปมันก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วทำไมต้องเริ่มต้นใหม่ในเมื่อเราทำมาถึงเวลานี้ตามขั้นตอน

"ผมเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีผิดจากรัฐธรรมนูญ เคยอ่านรัฐธรรมนูญกันไหม เถียงกันจังเลยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ผมก็ปฏิบัติตามทุกอย่าง เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทย แล้วใครลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จบแล้วใช่ไหม ปวงชนชาวไทย และพระองค์ท่านทรงรับสั่งว่าอย่างไร มีพระปฐมบรมราชโองการ ว่าเราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชนใช่ไหม มันสมบูรณ์แล้ว ผมถวายสัตย์สมบูรณ์ไหม ไปบอกให้ผมหน่อย อะไรกันนักกันหนาไม่เข้าใจ"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ชี้ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นการกระทำทางการเมืองของรัฐบาลต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาลไม่มีอำนาจพิจารณา พร้อมชี้ไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดที่จะพิจารณาได้

11 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ซึ่งมี 3 คดีที่สำคัญ คือคดีนายกฯ นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องแล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ (ผู้ร้องเรียน) ได้ยื่นคําร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) และผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) เห็นว่าการกระทําที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตาม รัฐธรรมนูญเป็นการกระทําที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(11) และมาตรา 46 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47(1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิ ยื่นคําร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทําที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทํา ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อํานาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทําของรัฐบาล” และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “... ถ้าศาลเห็นว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณา” เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทําทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กร ตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทํา ของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคําร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นําคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าว คําถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดํารัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้น้อมนําไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 เวลา 9.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดํารัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้ง ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทําเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

สำหรับความวินิจฉัยนี้ ศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เห็นด้วยในส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม วรเจตน์เห็นว่า ปัญหาอยู่ที่การวินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ฯ เป็นการกระทำของรัฐบาล เป็นการกระทำทางการเมือง ในความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะรัฐมนตรี

วรเจตน์ กล่าวอีกว่า ตามหลักวิชา การกระทำของรัฐบาล เป็นการกระทำทางการเมืองชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่อาจตรวจสอบทางกฎหมายได้ การกระทำขององค์กรต่างๆ จะมี 2 มิติซ้อนกันในทางรัฐธรรมนูญคือ มิติทางการเมือง กับมิติทางกฎหมาย การกระทำสามารถตรวจสอบทางกฎหมายได้ ผ่านการวินิจฉัยโดยตุลาการ การกระทำบางอย่างเป็นการกระทำทางการเมืองโดยแท้ ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย ที่ศาลจะตรวจสอบได้ ตัวอย่าง การกระทำของรัฐบาล ที่ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมายที่ศาลจะตรวจสอบได้ เช่น การประกาศสงคราม การทำสนธิสัญญาสันติภาพ การยุบสภาผู้แทนราษฎร การกระทำทางนโยบาย เหล่านี้ ต้องตรวจสอบทางการเมือง ไม่สามารถตรวจสอบทางกฎหมายได้

"การถวายสัตย์ปฏิญาณในความเห็นของผม ไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล หรือการกระทำทางการเมือง ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่การถวายสัตย์ปฏิญาณมีลักษณะเป็นแบบพิธีหรือขั้นตอนที่ต้องกระทำ ก่อนเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ เป็นขั้นตอนที่ทำให้องค์กรได้รับการแต่งตั้งนั้นปฏิบัติบัติหน้าที่ได้ ถ้าไม่ทำก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ มันเป็นขั้นตอนแบบพิธีการ ถ้าทำไม่ครบก็จะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่า ต้องดูเมื่อไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ผลจะเป็นอย่าไงรค่อยว่ากันต่อไป" วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์กล่าวต่อว่า สถานะปัจจุบันของ ครม. ประยุทธ์ 2 ยังถือว่าปฎิบัติหน้าที่ได้ เพียงแต่กล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน กระบวนการแบบพิธีเข้ารับหน้าที่ที่ยังไม่สมบูรณ์ วิธีที่ทำให้สมบูรณ์ก็ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ ในทางการเมืองก็ต้องมีการอภิปราย ซักถามได้ เพราะถือว่า ไม่ทำไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ สภาสามารถเปิดอภิปรายได้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวด้วยว่า จะมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว เป็นคนละประเด็นกัน

จับตา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอาจเปิดไพ่ประชุมลับ พร้อมชี้หากฝ่ายค้านพาดพิงสถาบันต้องรับผิดชอบเอง

เมื่อมีข่าวที่ชัดเจนว่า มีการบรรจุให้มีการอภิรายทั่วไปรัฐบาล ผลันก็มีกระแสข่าวว่วรัฐบาลอาจจะใช้วิธีการชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยการประชุมลับ ซึ่งใช้เพียงการเสนอคณะรัฐมนตรี หรือใช้เสียง ส.ส. เพียง 1 ใน 4 ของที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 18

ประเด็นนี้ วิษณุ เครืองาม ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการประชุมลับ ระหว่างมีการเปิดภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ หากที่ประชุมเห็นว่ามีความจำเป็น โดยอาจจะขอประชุมลับตั้งแต่ต้นจนจบการประขุม หรือขอประชุมลับในบางช่วงบางตอนก็ได้ ซึ่งเมื่อมีการประชุมลับนั้นจะไม่สามารถนำเสนอข่าวได้ แต่ไม่อยากตีตนไปก่อนไข้ เพราะยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะถามเรื่องอะไรบ้าง จึงไม่สามารถคิดไปล่วงหน้าได้ว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่หากมีการดำเนินการประชุมไปถึงจุดหนึ่งอาจจะพอรู้ และเมื่อรู้แล้วก็อาจจะขอให้มีการประชุมลับ

นอกจากนี้ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ว่า ประเด็นนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.ย.นี้ แน่นอน โดยที่ประชุมวิปฯ พิจารณาเรื่องการอภิปรายให้อยู่ในกรอบ และเหตุผลตามญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นมา เชื่อว่า สมาชิกทุกคนมีวุฒิภาวะ อภิปรายอยู่ในกรอบ คงไม่มีการทักท้วงอะไรมากมาย รวมถึงเวลาก็ให้สิทธิฝ่ายค้านอภิปรายมากพอสมควรในฐานะที่เป็นผู้เสนอญัตติ ส่วนฝ่ายรัฐบาลอาจได้อภิปรายบ้างเล็กน้อย ในจังหวะที่มีการประท้วงหากมีสมาชิกคนอื่นอภิปรายนอกกรอบ และอาจอภิปรายสนับสนุนรัฐบาลได้บ้าง มั่นใจว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล จะอยู่ครบทุกคน พร้อมย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้เป็นการตัดสินว่า ฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ เพราะคำตอบขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนข้อกังวลว่า จะมีการอภิปรายกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น วิรัช ระบุว่า ทุกฝ่ายอยากให้การประชุมครั้งนี้เป็นไปโดยเปิดเผย ดังนั้นหากมีการอภิปรายพาดพิงกระทบสถาบัน ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่ต้องรับผิดชอบเอง ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท