iLaw: องค์กรอิสระมาจากไหน? ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และ 5 ปีหลังจากนี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในวันพรุ่งนี้ (18 กันยายน 2562) จะเป็นวันชี้ชะตาสถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคสช. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ รับฟ้องคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่ขอให้พิจารณาคุณสมบัติ เนื่องจาก มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งผลตัดสินดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นข้อครหาทางการเมือง

ในอดีตองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่ก้าวหน้ามาก ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการเมือง เมื่อครั้งมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ต้องการให้มีองค์กรแบบใหม่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นอิสระจากจากการควบคุมของนักการเมือง

แต่ดูเหมือนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้องค์กรอิสระกลายเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐประหาร ผ่านการสรรหา-แต่งตั้ง ในยุค คสช. และทำให้องค์กรอิสระไม่ได้เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ และไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเฉกเช่นในอดีต

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งประเทศไทยมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้สัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาของทุกองค์กรต้องมีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองในสภาและมีนักวิชาการซึ่งเป็น อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเข้าไปด้วย อีกทั้ง ผู้ที่จะให้ความเห็นชอบบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระคือ วุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

แต่ทว่า เมื่อมีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอยู่ในมือของศาลและลดสัดส่วนคณะกรรมการสรรหาที่เป็นนักการเมืองลงและตัดส่วนส่วนนักวิชาการออก อีกทั้ง ผู้ที่จะให้ความเห็นชอบบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระคือ วุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 76 คน และการสรรหา 74 คน

พอมาหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ซึ่งรวมไปถึงการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ทำให้คณะรัฐประหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งสรรหาองค์กรอิสระทุกองค์กร ดังนี้

1) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

คสช. เคยใช้ 'มาตรา 44' เข้าไปแทรกแซงกระบวนการสรรหา โดยกำหนดให้ประธาน สนช. และรองนายกรัฐมนตรี เข้าเป็นกรรมการสรรหา และต่อมาได้ส่งรายชื่อดังกล่าวให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบ ซึ่ง สนช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว จำนวน 5 คน จากทั้งหมด 9 คน

2) ศาลรัฐธรรมนูญ

หลังการรัฐประหารปีแรก สนช. ได้เห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างลงจำนวน 2 คน ต่อมามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คนที่กำลังจะหมดวาระ แต่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ต่ออายุให้ตุลาการจำนวน 5 คน ให้ยังทำงานต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง

3) ผู้ตรวจการแผ่นดิน

หลังการรัฐประหาร ได้เปลี่ยนให้พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหา และส่งรายชื่อให้ที่ประชุม สนช. ลงมติเห็นชอบทั้งสิ้น จำนวน 3 คน หรือ เท่ากับว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันทั้งหมด ผ่านการคัดเลือกมาโดย สนช.

4) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

คสช. เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขที่มาของคณะกรรมการสรรหา หลังจากนั้น ที่ประชุม สนช. จึงได้เห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีวาระแค่สามปีเท่านั้นตามการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ต่อมา เมื่อ คตง. และ ผู้ว่าฯ สตง. ชุดดังกล่าวใกล้หมดวาระ คสช. จึงใช้มาตรา 44 อีกครั้ง โดยเพิ่มประธานสนช. เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ก่อนจะส่งให้ที่ประชุมสนช. ก็มีมติเห็นชอบ คตง. ชุดใหม่ จำนวน 7 คน และได้ใช้อำนาจมาตรา 44 อีกครั้ง แต่งตั้งให้พรชัย จำรูญพาณิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนที่ สนช. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ประจักษ์ บุญยัง" ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

5) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
.
คสช. เคยใช้มาตรา 44 ปลด "สมชัย ศรีสุทธิยากร" กกต. ออกจากตำแหน่ง ก่อนที่มีจะมีการจัดทำ พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ฉบับใหม่ เพื่อ 'เซ็ตซีโร่' (ต้องสรรหา กกต. ชุดใหม่) จากนั้นที่ประชุม สนช. จึงได้ลงมติเห็นชอบบุคคลจำนวน 7 คนดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทำภารกิจจัดการเลือกตั้งในปี 2562

6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

หลังการรัฐประหาร กสม. ที่รับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2552 หมดวาระลงในปี 2558 ต่อมา สนช. ได้ลงมติเห็นชอบบุคคลจำนวน 5 คน ดำรงตำแหน่ง กสม. จากทั้งหมด 7 คน และต่อมาได้ลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง กสม. ในภายหลังอีก 2 คน ต่อมา หลังมี พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการเซ็ตซีโร่ และเริ่มกระบวนการสรรหากันใหม่อีกครั้ง

ล่าสุด ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยังคงกำหนดให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมาจากความเห็นชอบของวุฒิสภา แต่ทว่า ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ในระยะเวลา 5 ปีแรก ส.ว. ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน มีที่มาสามช่องทาง ได้แก่

ช่องทางแรก ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน

ช่องทางที่สอง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

และช่องทางที่สาม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย "แบ่งกลุ่มอาชีพ" เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน หรือ พูดง่ายๆ ว่า คสช. จะเป็นคนคัดเลือก ส.ว. ทั้ง 250 คน ด้วยตัวเอง

ดังนั้น องค์กรอิสระที่ต้องมีการแต่งตั้งใหม่ภายใน 5 ปี หลังจากนี้ จะมาจากความเห็นชอบของสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท