สุรพศ ทวีศักดิ์: วัฒนธรรมเคารพอาจารย์กับการแยกโลกสาธารณะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะเริ่มจากผมนำโควทความเห็นของอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ อันเป็น “ความเห็นสาธารณะ” ที่แชร์กันในโลกโซเชียลและที่เป็นข่าวทางสื่อออนไลน์อยู่แล้วมาแสดงความเห็นแย้ง ตามภาพข้างบนนี้

ผมโพสต์แย้งข้อความข้างบนว่า “ด้วยความเคารพ ท่านอาจารย์ครับ ถ้าพุทธศาสนาในไทยล่มสลายง่าย เพียงเพราะความไม่เข้าใจของคนสองคนหรือไม่กี่คนอย่างที่ว่า ก็คงล่มสลายไปนานแล้ว” จากนั้นผมก็ขับรถจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ ถึงที่พักเปิดดูเฟสบุ๊ค ได้พบความเห็นจาก “มิตรสหายท่านหนึ่ง” ในแวดวงพุทธศาสนาโพสต์ไว้ว่า

“เรียนอาจารย์สุรพศ อาจารย์จำนงค์เป็นบุคคลที่ผมนับถือ การที่อาจารย์นำท่านมาให้บางคนใช้วาจาหยาบคายตามที่ปรากฏในที่นี้ อยู่เกินขอบเขตที่ผมจะเป็นมิตรกับอาจารย์ได้ต่อไป ผมขอบล็อกอาจารย์นะครับ เราคิดต่างกันและมีวัฒนธรรมต่างกันมาก แยกโลกกันอยู่น่าจะดีที่สุด”

อันที่จริงการบล็อคกันในเฟสบุ๊คเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เขาจะบล็อกไปเลยหรือหากอยากบอกให้เจ้าตัวรู้ก็จะบอกเป็นส่วนตัวใน “ช่องข้อความ” แต่นี่คือการ “ประกาศตัดสัมพันธ์ทางสาธารณะ” (excommunication) ซึ่งผมก็ไม่สามารถอธิบายกับมิตรสหายท่านั้นได้เลย เพราะถูกบล็อกไปแล้ว จึงขอใช้บทความนี้เป็นการอธิบาย ท่านจะโต้แย้งหรือไม่ก็เป็นสิทธิของท่าน แต่นี่ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่ผมใช้เป็นชื่อบทความว่า “วัฒนธรรมเคารพอาจารย์กับการแยกโลกสาธารณะ” ที่อยากชวนผู้อ่านคิดต่อ

ประเด็นทางวัฒนธรรมเป็นประเด็นที่ผม “เผชิญหน้า” ด้วยความรู้สึก “ขำขื่น” มาตลอดหลายปีมานี้ จากการวิจารณ์โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา และอำนาจครอบงำกดขี่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลสืบเนื่องจากโครงสร้างดังกล่าว ถ้ามิตรสหายท่านนั้นเพียงบอกว่า “ผมไม่ชอบความคิดคุณ เราต่างคนต่างอยู่ดีกว่า” ผมย่อมเคารพความรู้สึกเขาและไม่ว่าอะไร 

แต่คำประกาศตัดมิตรทางสาธารณะดังกล่าว มันมีนัยสำคัญของการใช้ “อำนาจทางวัฒนธรรม” นั่นคือ การใช้ “วัฒนธรรมเคารพอาจารย์” พิพากษาคนอื่น หรือสร้าง “ความเป็นอื่น” โดยผู้ที่ใช้อำนาจที่ว่านี้ จะว่าไปแล้ว ก็คือผู้มีสถานะอยู่ในคนกลุ่มบนของปิรามิดวัฒนธรรมชาวพุทธบ้านเรา

สิ่งที่ผมอยากสื่อถึงมิตรสหายท่านนั้นคือ ที่จริงแล้วอาจารย์จำนงค์ก็เป็นอาจารย์ผม เพราะผมเคยเรียน “วิชาตรรกศาสตร” กับอาจารย์ นี่คือเหตุผลที่ผมต้องแย้ง “ข้อความที่ไม่สมเหตุสมผล” แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็น “โทนเสียงทางการเมือง” ที่ต้องการให้คนถูกถามรับฟัง แต่ผมก็เคารพอาจารย์ในแบบของผม คือ การเคารพอาจารย์สำหรับผม ไม่ได้แปลว่า “ความเห็นทางสาธารณะ” ของอาจารย์จะถูกแย้ง ถูกด่าไม่ได้ หากอาจารย์จำนงค์รู้เรื่องนี้ท่านก็คงไม่โกรธอะไร ผมเชื่อว่าท่านเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะที่จะรู้ว่า เวลาแสดงความเห็นต่อสาธารณะแล้ว เมื่อมีคนเห็นด้วย ชื่นชม และอวยจำนวนมาก (ดังที่แชร์กันแพร่หลายในเพจชาวพุทธกลุ่มต่างๆ) หากจะมีคนสองสามคนเห็นแย้ง เกรียน หรือด่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

อีกอย่างวิญญูชนย่อมรู้ว่า ที่ผมนำความเห็นของอาจารย์จำนงค์มาแย้งไม่ใช่ “การนำท่านมาให้คนบางคนใช้วาจาหยาบคายด่าท่าน” นี่เป็นการตัดสิน “เจตนาภายใน” (เหมือนที่คนนิยมตัดสินผู้ถูกกล่าวหา 112) เพราะการด่าของคนอื่นอยู่นอกเหนือการควบคุมของผม ผมจะบล็อกหรือลบความเห็นเขาก็ได้ แต่ผมถือว่าต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของเขา เพราะทุกคนที่แสดงความเห็นล้วนแต่มีการศึกษาและโตๆ กันแล้วทั้งนั้น มิตรสหายท่านนั้นน่าจะทราบดีว่ามี “คนรักพุทธศาสนา” เข้ามาด่าผมบ่อยๆ และมีกลุ่มชาวพุทธปกป้องศาสนาไปเปิดเพจด่าผมเป็นปีๆ จนเลิกด่ากันไปเอง ผมก็อยู่ในโลกที่เป็นจริงแบบนี้มาตลอด

ที่ผมโพสต์ความเห็นสาธารณะของอาจารย์จำนงค์ ก็ใช้มาตรฐานเดียวกับการโพสต์แย้งความเห็นอื่นๆ (ทุกคนย่อมจะรู้ว่าเฟสบุ๊คใคร เขาก็มีสิทธิกำหนดมาตรฐานเอง) เช่น ท่านพุทธทาส, อ.สุลักษณ์ ผมก็แชร์ความเห็นของท่านทั้งสองมาแย้งบ่อยๆ ก็มีคนเข้ามาแย้ง เกรียน และด่าก็มี แต่นอกจากไม่เคยมีศิษย์ท่านพุทธทาสและ อ.สุลักษณ์ประกาศตัดสัมพันธ์ทางสาธารณะกับผมแล้ว ยังมีบางคนชวนผมและคนอื่นๆ ไปนั่งวิจารณ์ความคิดท่านพุทธทาสเป็นปกติอีกด้วย ส่วน อ.สุลักษณ์ท่านก็ไม่เคยว่าอะไรที่ใครจะด่าหรือวิจารณ์ เพราะต่างเข้าใจกันทั่วไปว่า ในสังคมประชาธิปไตยไม่มีใครเป็น “เทวดา” ที่แตะไม่ได้ 

เราไม่ได้เห็นด้วยกันทุกอย่างดอกครับ แต่เรายืนยันการอยู่ร่วมกันใน “โลกสาธารณะ” ที่ต้องยืนยัน “เสรีภาพในการแสดงออก” พร้อมๆ พยายามที่จะ “ชื่อตรง” ต่อสิ่งที่เรายืนยันให้ได้มากที่สุด และเรียนรู้ที่จะยอมรับการแสดงออกของมนุษย์ในห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยการปะทะทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึก อันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองภายใต้สภาวะครอบงำของอำนาจเผด็จการ อำนาจทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ซับซ้อนว่า มันย่อมเป็นไปได้เสมอ ที่จะมีคนแสดงออกอย่างมีเหตุผล ไม่มีเหตุผล อวย ติ เกรียน กระทั่งด่า กวน... ฯลฯ

ผมไม่ได้ยืนยันว่า การด่ากันเป็นสิ่งที่ควรทำ ที่จริงเราไม่ควรด่ากัน ไม่ควรใช้คำหยาบคายต่อกัน แต่บางทีเราก็ห้ามใครไม่ได้ และเท่าที่เห็นก็ไม่ใช่การ “หมิ่นประมาท” หรือถึงกับขัดหลักเสรีภาพในการแสดงออก เราไม่เห็นด้วยเราก็ติติงวิจารณ์การด่านั้นๆ ได้ หรือเดินหนีเฉยๆ ได้ เหมือนที่ผมเคยวิจารณ์ “บางคน” ที่โพสต์ด่า “ควายแดง” เป็นต้น เห็นไหมครับ การด่ามันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่ “คนดี” ก็ด่าคนอื่นรุนแรงได้เช่นกัน แต่เราไม่ควรใช้ตรรกะแบบ “ฆ่าสัตว์เล็กบาปน้อยกว่าฆ่าสัตว์ใหญ่” (ถามสัตว์เล็กหรือยังว่าชีวิตมันมีค่าน้อยกว่าสัตว์ใหญ่ยังไง?) หรือ “ด่าคนใหญ่คนโต (คนที่เรานับถือ) ผิดมากกว่าด่าคนเล็กคนน้อย คนระดับชาวบ้านธรรมดา” (ถามคนเล็กคนน้อย คนระดับชาวบ้านธรรมดาหรือยังว่าเขามีความเป็นคนน้อยกว่ายังไง?) 

ดังนั้น ในเมื่อมิตรสหายท่านนั้นเคยออกมาแสดงความเห็น “แก้ต่าง” ให้กับ “บางคน” ที่ด่าคนอื่นว่า “ควายแดง” ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผมดูอยู่ ยังเห็นว่าไม่ได้มีอะไรเกินเลย” ใยจะรับไม่ได้กับการที่ “ความเห็นสาธารณะ” ของคนที่เรานับถือถูกด่าบ้างจากคนสองสามคน (ในขณะที่มีคนเห็นด้วยและอวยจำนวนมาก)

นี่ไม่ใช่ผมเรียกร้องให้คนอื่นคิดเหมือนตัวเองนะครับ เพียงแต่ชวนคิดว่า เราจะอยู่ร่วมกันด้วย “มาตรฐานทางจริยธรรม” แบบไหนกัน หรือจะเรียนรู้ที่จะเคารพเสรีภาพและมีขันติธรรมต่อกันอย่างไร ในยุคสมัยแห่งความสับสนและจราจลทางความคิดความรู้สึก ที่เราต่างมีส่วนสร้างมันขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่โดยเจตนาดีแต่ทำให้เกิดผลเป็นความอับจนทางออก

และประเด็นสุดท้ายคือ ผมไม่แน่ใจว่า เราสามารถใช้ข้ออ้าง “วัฒนธรรมเคารพอาจารย์” แบบหนึ่งมาตัดสินวัฒนธรรมเคารพอาจารย์อีกแบบหนึ่งว่าไม่ใช่การเคารพได้อย่างไร เช่น ถ้าผมถือว่าใครจะด่า “ความเห็นสาธารณะ” ของอาจารย์ผมอย่างไรผมก็เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์อาจารย์ เหมือนที่ผมไม่ต้องทำตัวปกป้องพระเจ้าหรือพระพุทธเจ้า เพราะถือว่าระดับท่านไม่จำเป็นต้องให้ใครมาปกป้อง แล้วจะถือว่าผมไม่เคารพย่อมไม่ได้ ไม่งั้นเราก็ต้องใช้ตรรกะแบบยุคกลางที่ว่า

คุณไม่เคารพพระเจ้าของฉัน ต้องแยกโลกกันอยู่
คุณไม่เคารพพระพุทธเจ้าของฉัน ต้องแยกโลกกันอยู่
คุณไม่เคารพกษัตริย์ของฉัน ต้องแยกโลกกันอยู่
คุณไม่มีวัฒนธรรมเคารพอาจารย์แบบฉัน ต้องแยกโลกกันอยู่
ฯลฯ

ที่สำคัญเราจะอ้าง “วัฒนธรรมเคารพอาจารย์” เพื่อ “แยกโลกสาธารณะ” ระหว่างกันได้อย่างไร หรือพูดให้ตรงที่สุดคือ เราจะแยก “การปฏิบัติต่อความเห็นสาธารณะ” ของอาจารย์ที่เราเคารพออกจาก “โลกสาธารณะ” ที่ต้องอยู่บนฐานเสรีภาพภาพในการแสดงออกในฐานะคนเท่ากันได้อย่างไร 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท