บัตรทองพระสงฆ์ปี 61 ผู้ป่วยใน 'ปอดอุดกั้นเรื้อรัง' มากสุด ผู้ป่วยนอกรักษา 'ความดันโลหิต' กว่า 9.8 หมี่นครั้ง

สปสช. เผยข้อมูลบัตรทอง พระสงฆ์มีสิทธิบัตรทองแล้ว 1.26 แสนรูป ปี 2561 บริการผู้ป่วยใน พระสงฆ์ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากสุดเกือบ 3 พันครั้ง รองลงมาโรคท้องร่วงและปอดติดเชื้อ ส่วนบริการผู้ป่วยนอก ป่วยความดันโลหิตมากสุด รับบริการกว่า 9.8 หมื่นครั้ง รองลงมาทำแผลหลังผ่าตัดและเบาหวาน ระบุภาพรวมพระสงฆ์เจ็บป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง จับมือภาคีเครือข่ายพระพุทธศาสนาและเครือข่ายสุขภาพ เร่งขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มพระสงฆ์     

17 ก.ย.2562 ที่วัดยานนาวา กทม. ในงานแถลงข่าว “การดูแลสุขภาพพระสงฆ์” การประชุมเชิงปฎิบัติการ "สานพลัง เชื่อมปัญญา พัฒนาสุขภาพพระสงฆ์" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อร่วมขับเคลื่อนการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ให้มีสุขภาพที่ดี

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนในส่วน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ว่า  เป้าหมายกองทุนบัตรทองคือทำอย่างไรให้พระสงฆ์สามเณรเข้าถึงระบบบริการมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงดำเนินงานภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ด้วยหลักการมีส่วนร่วม ทั้งจากฝ่ายคณะสงฆ์ วัด ชุมชน ท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อาศัยความร่วมมือกลไกระดับชาติคือ มหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมสำรวจเก็บข้อมูลและลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ จากฐานทะเบียนข้อมูลพระสงฆ์ล่าสุด ณ​สิงหาคม 2562  มีพระสงฆ์ที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 152,283 รูป ตรวจสอบสิทธิแล้วเป็นผู้ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) 126,461รูป หรือร้อยละ 83

ส่วนกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ได้แก่ สปสช. เขต สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศ.จ) และหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ ร่วมสำรวจและลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำให้แก่พระสงฆ์ในพื้นที่ บางแห่งร่วมกับคณะสงฆ์ โดยเจ้าคณะปกครอง สำรวจและประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการเพื่อลงทะเบียนให้กับพระสงฆ์  และบางแห่งพระสงฆ์สำรวจ ตรวจสอบสิทธิและสามารถเข้าใช้บริการสุขภาพได้เองเมื่อมีความจำเป็น 

นอกจากนี้  สปสช.สนับสนุน อปท./อบต/ท้องถิ่น ร่วมดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในทุกมิติ ตั้งแต่ยังไม่ป่วย กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ป่วยแล้ว โดยใช้งบประมาณ “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กปท.) โดยมีตัวอย่างโครงการให้เป็นแนวทางการใช้งบประมาณ. ซึ่ง สปสช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ศึกษาข้อมูลจากพระสงฆ์สามเณร 400 รูป ในพื้นที่ 5 เขตสุขภาพ พบว่าการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นฯ มีความเด่นชัดมากสุด

นพ.ประจักษวิช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปี 2561 ข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีข้อมูลการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) ของพระสงฆ์ พบว่า 5 อันดับโรคสูงสด คือ 1.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จำนวน 2,956 ครั้ง 2.ท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบ จำนวน 1,381 ครั้ง 3.ปอดติดเชื้อ-ปอดอักเสบ จำนวน 1,323 ครั้ง 4.เบาหวาน (Type II)  จำนวน 1,204 ครั้ง และ 5.ต้อกระจกในผู้สูงอายุ จำนวน 1,106 ครั้ง ส่วนการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก (OPD) 5 อันดับโรคสูงสุด คือ 1.ความดันโลหิต จำนวน 98,636 ครั้ง  2.การติดตามทางศัลยกรรมและทำแผลหลังผ่าตัด จำนวน 80,350 ครั้ง 3.เบาหวาน (Type II) จำนวน 69,561 ครั้ง 4.ความผิดปกติของเมตาบอลิซึมและภาวะไขมันในเลือดสูง จำนวน 53,089 ครั้ง 5.ไตวายเรื้อรัง จำนวน 32,032 ครั้ง

“จากข้อมูลการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ที่ป้องกันได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูล 2561 ยังมีจำนวนการเข้ารับการรักษาที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรความร่วมมือกัน ขยายผลพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ ต่อยอดการอบรมพระคิลานุปัฎฐาก และพระอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) ให้พระสงฆ์สามเณรมีความรู้เข้าใจเข้าถึงระบบบริการและทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการดูแลสุขภาะองค์รวมในพื้นที่มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท