Skip to main content
sharethis

รองโฆษก สตช. ระบุ หนังสือขอข้อมูลนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัย เป็นของสันติบาลจริงๆ แต่ทำเป็นปกติของงานข้อมูลอยู่แล้ว ด้านสมาพันธ์นิสิต นักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือให้ กมธ. กฎหมาย การยุติธรรม สิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้เลิกการกระทำที่ละเมิดสิทธิ เลือกปฏิบัติดังกล่าว ส.ส.ประชาชาติ ระบุ ที่ขัดแย้งมา 15 ปีเพราะเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ (ที่มา:กองสารนิเทศ สตช.)

18 ก.ย. 2562 มติชนรายงานว่า พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวถึงกรณีที่อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีมีสำเนาหนังสือสันติบาลส่งให้อธิการบดีมหาวิทยาลัย ขอให้แจ้งจำนวน ข้อมูล แนวทางการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม

กฤษณะชี้แจงว่า หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาลจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและบริหารงานข่าวกรองในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ภายใต้การรักษาความปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองความลับในราชการ กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับในราชการ กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารทางราชการ ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ

รองโฆษก สตช. ระบุว่าการทำหนังสือจัดเก็บข้อมูลเช่นนั้นเป็นการดำเนินการไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายสถาบันโดยไม่มีนัยสำคัญใดๆ ถือเป็นวงรอบการจัดทำฐานข้อมูลด้านการข่าวโดยปกติ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้นโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ พึงระลึกถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

สมาพันธ์นิสิต นักศึกษามุสลิมยื่นหนังสือให้ กมธ. การยุติธรรมกรณีหนังสือสันติบาล ย้ำ เริ่มแก้ปัญหาได้ต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อน

ในวันนี้ (18 ก.ย.) ที่รัฐสภา อัสรอฟ อาแว ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทยและคณะ เข้าพบกับตัวแทนกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. พรรคประชาชาติ และพรรณิการ์ วานิช ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ 

อัสรอฟกล่าวว่า ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา จะเห็นตามหน้าสื่อว่ามีเอกสารจากหน่วยงานสันติบาลส่งไปที่มหาวิทยาลัย ขอข้อมูลนักศึกษามุสลิม ในเอกสารขอข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ภูมิลำเนา กิจกรรมที่นักศึกษากระทำในการรวมตัวในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงนิกายของศาสนาอิสลาม ทางสมาพันธ์ฯ เป็นองค์กรกลางของนักศึกษา นำขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธินักศึกษา เห็นว่าประเด็นนี้เป็นการละเมิดและคุกคามความเป็นอยู่ของนักศึกษา จนถึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ว่าด้วย บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่เท่าเทียมกัน 

การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่นักศึกษาและในสังคม เป็นการกล่าวหานักศึกษาโดยไม่มีมูล สมาพันธ์ จึงเสนอไปยังหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า หนึ่ง ขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลทบทวนถึงการกระทำครั้งนี้ และยกเลิกเอกสารดังกล่าว สอง หากรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องการแก้ปัญหาแนวคิดสุดโต่ง ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าแนวคิดสุดโต่งมีในทุกศาสนา แต่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และการทำงานจากหน่วยงานจากรัฐบาล มหาวิทยาลัยหรือกลุ่มนักศึกษาอย่างมีเครือข่ายซึ่งกันและกัน จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

อัสรอฟกล่าวว่า สมาพันธ์ฯ ได้เตรียมเอกสารแถลงการณ์สมาพันธ์ฯ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเอกสารที่หน่วยงานราชการส่งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะมอบให้ตัวแทนพรรคประชาชาติและกรรมาธิการเพื่อนำไปสานต่อ สมาพันธ์ฯ ยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นที่เสรีทางความคิด 

กมลศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะที่พรรคประชาชาติอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเหตุที่เกิดขึ้นดังที่สมาพันธ์ฯ แถลง ขอเรียนว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้ปกครองของนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ผู้มีข้อห่วงกังวลในเรื่องความเป็นอยู่ของลูกๆ หลานๆ ปัญหา 3 จ.ชายแดนภาคใต้ ต้องยอมรับว่าการสร้างและรักษาความรู้สึกที่ดีกับพี่น้องในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องคำนึงถึง

ความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันคือต้นเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ในนามพรรคประชาชาติ และเลขานุการกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะหารือในคณะกรรมาธิการอีกครั้งหนึ่ง เพราะการกระทำของตำรวจสันติบาล ที่แม้จะเป็นการดำเนินตามนโยบายแต่ก็ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกัน เชื่อว่าในมหาวิทยาลัยมีหลายชมรม ไม่ได้จำกัดเฉพาะชมรมมุสลิม และชมรมมุสลิมก็เป็นปกติของศาสนาอิสลามที่การอยู่ร่วมกันจะต้องตั้งเป็นญามาอะห์ คือการรวมกลุ่มเพื่อทำความดี 

กมลศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าพี่น้องมุสลิมใน 3 จ.ชายแดนใต้ เป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ให้ดำเนินการเฉพาะคนใดคนหนึ่ง อย่าไปเหมารวมหรือเหวี่ยงแห เหมือนกับวิธีการแก้ปัญหาใน 3 จ.ชายแดนใต้ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา 

พรรณิการ์ระบุว่า เรื่องนี้กรรมาธิการได้ติดตามจากสื่อมวลชนมาระยะหนึ่งแล้ว และมีความวิตกกังวลต่อการเลือกปฏิบัติ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกกดขี่รังแกจากหน่วยงานรัฐโดยกฎหมาย 

“เราทราบกันอยู่แล้วว่า สาเหตุต้นตอของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเรื้อรังในทุกวันนี้ คือการที่ประชาชนรู้สึกว่าเลือกปฏิบัติทางกฏหมาย ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่บังคับใช้มาแล้ว 15 ปี ไม่ว่าจะเป็น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง การตั้งด่านแล้วเรื่องปฏิบัติโดยการตรวจค้นเฉพาะคนที่มีหน้าตาที่ดูแล้วนับถือศาสนาอิสลาม สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำความรู้สึกคับข้องใจของประชาชนมากพออยู่แล้ว แล้วก็ไหล่หน้าสุดนี้ถือเป็นกรณีที่มีความรุนแรงเนื่องจากเกิดขึ้นในสถานศึกษา เสรีภาพที่มีอยู่น้อยหรืออาจจะไม่มีอยู่จะอย่างไรก็แล้วแต่เราคาดหวังว่ามันจะมีอยู่ในสถานศึกษา แต่เสรีภาพในการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาก็ยังไม่สามารถที่จะทำได้ นี่จึงถือเป็นการคุกคามที่รุนแรงต่อคนที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติ”

พรรณิการ์ กล่าวต่อไปว่า คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบดีว่า กลุ่มนักศึกษาเป็นพลังสำคัญในการพูดคุยหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาและแสวงหาสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นเมื่อมีการคุกคามกลุ่มนิสิตนักศึกษาจึงถือว่าเป็นอันตรายที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาเท่านั้น  แต่เป็นอันตรายต่อการแสวงหาสันติภาพในพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net