ปิยบุตรสอนเรื่องการถวายสัตย์-พระราชอำนาจ 3 ประการ ในรัฐสภาโดยใช้ตำราของวิษณุ

ปิยบุตรชี้ การแถลงสัตย์ปฏิญาณของ ครม. ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของรัฐ ถือเป็นการให้สัญญาสืบทอดไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อมีการพูดไม่ครบประชาชนย่อมตั้งคำถาม แต่ที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง และวิษณุกลับบอกว่า “สักวันจะรู้ว่าทำไมไม่ควรพูด” ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ กลับนำ ครม. ขอเข้ารับพระราชทานพระดำรัสในวันถวายสัตย์ฯ เป็นลายพระหัตถ์ ขอวิษณุ กลับมามาเป็น “อาจารย์วิษณุ” คนเดิม และขอ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเพื่อรักษาความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คลิปปิยบุตร แสงกนกกุล อภิปรายในสภาเมื่อ 18 กันยายน 2562

18 ก.ย. 2562 ในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายถึงกรณีการถวายสัตย์ ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยชี้ว่า เรื่องนี้ตนเป็นคนหยิบยกมาปรึกษาหารือกับประธานรัฐสภาตั้งแต่วันที่มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งครั้งนั้นประธานรัฐสภาขอให้หยุดก่อน เพราะเห็นว่าอาจเป็นการพูดเรื่องที่ผิดข้อเท็จจริงแล้ว ตนจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย วันนี้ข้อเท็จจริงได้เห็นชัดแล้ว จึงต้องการทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร

“หลายคนตั้งคำถามว่าผมรู้ได้อย่างไรว่านายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบ สื่อมวลชนตั้งคำถามว่ามีหนอนบ่อนไส้ในรัฐบาลหรือเปล่า แอบเอาเรื่องนี้มาบอกผม มีใครส่งข้อมูลมาให้ผม ผมยืนยันกับสื่อมวลชนไปว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีหนอนบ่อนไส้แน่นอน เรื่องนี้ผมรู้ด้วยตนเอง เพราะปกติผมติดตามข่าวในพระราชสำนักอยู่เสมอโดยข่าวที่บุคคล หรือองค์กรต่างๆ ไปเข้าเฝ้า เพราะผมต้องการรับทราบถึงพระราชดำรัส พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 16 ก.ค. ผมตั้งใจดูข่าวนี้ นายกรัฐมนตรีนำรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่เมื่อข่าวออกอากาศ ผมก็รู้ทันทีว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ เพราะผมศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาค่อนชีวิต” ปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุต่อว่า ตนสงสัยจริงๆ ว่าเหตุใดนายกฯ จะกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ทำไมจึงพูดแค่นี้ และได้เช็คข้อมูลหลายรอบ ทั้งยังเคยตั้งข้อสังเกตว่านายกฯ ถูกวางยาหรือไม่ จึงเก็บความสงสัยไว้เพื่อที่จะมาถามนายกฯ โดยตรงในวันประชุมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ  เขายืนยันด้วยว่า มีเจตนาเพียงแค่ต้องการคลี่คลายความสงสัยเท่านั้น ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า หลังจากมีการโปรดเกล้าให้คณะรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งแล้ว คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารภเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่จะเข้าทำหน้าที่ได้ก็ต่อเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ  เว้นเพียงกรณีเดียวคือ มาตรา 24 วรรค 2 ที่ระบุว่าในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฎิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน หากพระมหากษัติรย์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนี้ ถือว่าเป็นข้อยกเว้นได้ ดังนั้นบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ได้ต้องผ่านการถวายสัตย์ฯ ก่อน เขากล่าวต่อว่า การถวายสัตย์ฯ จึงเป็นแบบพิธีที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าสู่ตำแหน่ง

ปิยบุตร ชี้ว่า การถวายสัตย์ปฎิญาณคือ การยืนยันความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในการถวายสัตย์ของรัฐมนตรีหรือ องค์กรอื่นๆ จะมีถ้อยคำที่เหมือนกันทั้งหมด คือ ทั้งจะรักษาไว้และปฎิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ซึ่งทำให้เห็นว่าถ้อยคำนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิญาณ เพราะเป็นการยืนยันว่า บุคคลที่มีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เคารพ รักษา และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุด

เขา กล่าวต่อว่า การถวายสัตย์ปฎิญาณต่อคณะรัฐมนตรีคือ การให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชน การที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฎิญาณนั้นมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2492 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็เขียนล้อต่อกันมาเรื่อยๆ สาเหตุที่ต้องเขียนถ้อยคำในการถวายสัตย์ให้ชัดในรัฐธรรมนูญนั้นหาคำตอบได้จากเอกสารประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ 2492 มีคนซักถามเรื่องนี้ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ให้คำตอบไว้

“หลวงประกอบ นิติสาร ให้เหตุผลว่า ที่ต้องเขียนแบบนี้มีเหตุผลอยู่ 3 ข้อ 1 หากไม่เขียนถ้อยคำลงไปให้ชัดคำถ้อยสัตย์ปฏิญาณจะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาส่วนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอ 2 ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญก็บัญญัติถ้อยคำให้ถวายสัยต์ปฏิญาณไว้เช่นเดียวกัน และ 3 เพื่อให้ผู้ที่จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณรู้ตัวล่วงหน้าว่าตัวเองจะให้คำสัตย์ฯ ว่าอะไร และตัวเองมีปัญญาที่จะทำตามได้ไหม ถ้ารู้ตัวว่าทำไม่ได้อย่ามาเป็น.... ถ้าอ่านแล้วรู้ล่วงหน้าว่า ชีวิตนี้เคารพรัฐธรรมนูญไม่ได้ ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ รู้ว่าอีกไม่กี่เดือนจะฉีกรัฐธรรมนูญอีก หรือจะละเมิดรัฐธรรมนูญอีก อย่างนี้อย่ามาเป็นรัฐมนตรี จะได้ไม่ต้องถวายสัตย์ฯ” ปิยบุตรกล่าว

เขากล่าวต่อว่า ยังมีกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกคนที่ให้เหตุผลไว้ คือ พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ หรือ สิทธิ จุณณานนท์ (เป็นอาจารย์กฎหมายของ ขวน หลีกภัย และวิษณุ เครืองาม) โดยให้ความเห็นว่า ต้องการให้เกิดความสม่ำเสมอ ไม่ใช้คนนี้พูดอย่าง อีกคนคนพูดอีกอย่าง

ปิยบุตร กล่าวว่า ถ้อยคำในการคำถวายสัตย์ปฏิญาณมีใจความสำคัญอยู่ 3 ข้อคือ 1 จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน  3 รักษาไว้และปฎิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ แห่งราขอาณาจักรไทยทุกประการ การปฏิญาณตนนี้มีความเกี่ยวข้องกับการให้คำสัตย์สัญญาต่อพระมหากษัตริย์ และประชาชน เพราะระบบรัฐธรรมนูญไทย ที่เขียนไว้ในมาตรา 3 แถบทุกฉบับระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย (บางฉบับช้คำว่ามาจาก) พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” บทบัญญัตินี้เขียนเพื่อยืนยันว่า ปวงชนชาวไทยคือผู้ทรงอำนาจอธิปไตย คือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พระมหากษัติรย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐคือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ

“นี่คือศิลปะการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผสมผสาน 2 องกรค์ที่สำคัญที่สุดในราชอาณาจักรไทยคือ พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขแห่งรัฐ และประชาชน เข้ามาไว้ด้วยกันโดยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ก่อร่างสร้างตัวกันเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจน และเรายืนยันกันเสมอว่า ในราชอาณาจักรไทยปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจ และพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ” ปิยบุตร กล่าว

เขากล่าวต่อว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ จึงเป็นการให้คำมั่นสัญญากับพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ และศูนย์รวมจิตใจของชาติ และเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน และยังให้คำมั่นสัญญาสืบทอดต่อเนื่องไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย นี่คือที่มาของการกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์

“ผมชี้แจงมาทั้งหมดท่านอาจจะไม่เชื่อถือผม งั้นผมขอยกตัวอย่างจากหนังสือของท่านรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ วิษณุ เครืองาม มาประกอบ ในหนังสือในหนังสือหลังม่านการเมือง ในหน้า 28 เขียนไว้ว่า ส่วนการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของการเปล่งวาจา กล่าวคำพูดแสดงความตั้งใจ ถ้าว่าตามธรรมชาติแล้วควรเป็นเรื่องที่ออกมาจากใจ ใครจะพูดอะไรก็น่าจะได้ แต่ถ้ายอมให้ทำอย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องสับสน บางคนเป็นนักสาบานตัวยงอาจปฏิญาณแคล่วคล่องว่องไว บางคนอาจเหนียมอายระมัดระวังปากคำ ด้วยเหตุนี้จึงปล่อยให้ว่าตามหลักธรรมชาติไม่ได้ ต้องเอาหลักกฎหมายมาจับ โดยกำหนดถ้อยคำเป็นระเบียบแบบแผนเข้าไว้ ใครจะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ได้ เว้นแต่ปฏิญาณจบแล้วจะขมุบขมิบปากอธิฐานอะไรต่อในใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ปิยบุตรกล่าว

นอกจากนี้ ในหนังสือหลังม่านการเมืองยังเขียนไว้อีกว่า สำหรับการปฏิญาณตนที่สำคัญคือ ต้องการให้เป็นนิมิตหมายว่า กำลังจะเข้ารับหน้าที่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าไม่กำหนดเอาการปฏิญาณเป็นนิมิตหมายแล้วยากจะรู้ว่า ตำแหน่ง อำนาจหน้าที่เก่าผลัดเปลี่ยนสู่คนใหม่ตั้งแต่นาทีใด ทั้งนี้ปิยบุตร ได้แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อสมาชิกไปหามาอ่านดู

เขากล่าวต่อว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ ไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ตนจึงสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด จึงไปย้อนดูว่าหลังการรัฐประหารเมื่อ 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร และได้เข้าดำรงตำแหน่ง ทั้งได้พาคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดยทุกครั้งพล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณอย่างครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และในการอ่านถ้อยคำปฏิญาณพล.อ.ประยุทธ์ อ่านจากบัตรแข็งที่เสียบอยู่ในแฟ้มที่ทางสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีเตรียมไว้ให้ แต่ในการถวายสัตย์ครั้งที่ผ่านมาปรากฎว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อ่านถ้อยคำปฏิญาณตามบัตรแข็งที่โดยปกติจะมีการเตรียมไว้ให้ ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้หยิบกระดาษแข็งหนึ่งแผ่นขึ้นมาจากกระเป๋าสูทด้านข้าง แล้วนำมาอ่าน

ปิยบุตร อ้างถึงหลังสือหลังม่านการเมืองอีกครั้ง โดยระบุว่า วิษณุ เคยเตือนไว้ว่า ในระหว่างการเปล่งวาจาถวายสัตย์ปฎิญาณ ช่างภาพโทรทัศน์จะบันทึกภาพอยู่ด้วยทุกระยะ รัฐมนตรีแต่ละคนจึงควรระมัดระวังโลกเทคโนโลยียุคสารสนเทศให้มาก เพราะแคยมีคนเขียนมาฟ้องว่า ได้ดูโทรทัศน์ แล้วเห็นว่ารัฐมนตรีคนหนึ่งไม่กล่าวอะไรเลย อีกคนทำปากขมุบขมิบไม่ทันเพื่อน แสดงว่า รัฐมนตรีเหล่านั้นยังไม่ถวายสัตย์ปฎิญาณจึงไม่อาจรับหน้าที่ได้ ใช่หรือไม่ เรื่องอย่างนี้ผมว่า (วิษณุ) รัฐมนตรีจะต้องระวังกันให้มากไม่อย่างนั้นจะต้องส่งเทปให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัย แล้วจะยุ่งกันใหญ่

เขากล่าวต่อไปถึง กรณีที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เคยกล่าวคำปฏิญาณตนผิด ในวันรุ่งนี้เขาก็ได้ปฏิญาณตนใหม่อีกครั้ง แต่กรณีของประเทศไทยเรื่องนี้เพื่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป เช่น มองว่าเมื่อมีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ก็เสมือนกับว่า ไม่มีการถวายสัตย์ฯ และคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถเข้ารับหน้าที่ได้ หรืออีกมุมมองหนึ่งคือ คณะรัฐมนตรีก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพียงแต่การถวายสัตย์ยังไม่ครบ ก็ต้องหาทางแก้ไขต่อไป ไม่ว่าอย่างไรก็ตามหากยังปล่อยไว้โดยไม่มีการจัดการใดๆ จะส่งผลตามมาได้ในอนาคต เช่น นายกรัฐมนตรี มีโอกาสนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณอีกครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจะกล่าวไม่ครบก็ได้อย่างนั้นหรือ

เขากล่าวต่อไปอีกว่า การปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นอาการของโรคที่เรียกว่า โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณคือ แบบพิธีที่สำคัญที่สุดในรัฐธรรมนูญ การที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำไม่ครบจึงเป็นเรื่องที่ประชาชนจะตั้งข้อสังสัยว่า ท่านไม่ได้ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ และมองรัฐธรรมนูญเป็นเครืองมือในการปกครองตามระบอบของตนเอง หากเรื่องใดอ้างรัฐธรรมนูญแล้วได้ประโยชน์ก็จะอ้าง แต่ถ้าไม่ได้ประโยชน์ หรือรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจก็ไม่อ้าง ซึ่งการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นการเครื่องมือในการปกครองตามระบบที่ท่านต้องการ

“หากท่านยังมีพฤติกรรมไม่แยแสรัฐธรรมนูญอยู่แบบนี้ วันดีคืนดีท่านก็จะทำตนขึ้นมาอยู่เหนือรัฐธรรมนูญเสียเอง ในทางปรัชญาการเมือง มันมีตำแหน่งที่เราเรียกว่าองค์อธิปัตย์ ซึ่งคำนี้หมายถึงคนที่บอกได้ว่า อะไรคือข้อยกเว้น ณ วันนี้ ตัวท่านนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีมันจะมีเหตุผลอธิบายหาข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญได้เสมอ ขณะที่คนอื่นต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแต่พวกท่านยกเว้นได้เสมอ.... ถ้าไปอ่านสือโซเชียลมีเดีย เขาตั้งฉายาให้ใหม่แล้วนะครับว่าเป็น บิดาแห่งข้อยกเว้น” ปิยุบุตร กล่าว

เขากลับมาพูดถึงหนังสือ หลังม่านการเมืองอีกครั้งว่า วิษณุ ได้เขียนหัวข้อสุดท้ายในหนังเป็นเรื่องที่ว่าด้วย พระราชอำนาจ 3 ประการในระบอบประชาธิปไตย สาระสำคัญคือ ในระบอบประธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์มีอำนาจตามนิติประเพณีอยู่ 3 ประการ คือ พระราชอำนาจที่จะทรงได้รับการปรึกษาหารือจากรัฐบาล มีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานกำลังใจให้กับรัฐบาล มีพระราชอำนาจที่จะทรงตักเตือนรัฐบาล ซึ่งนี่คือหลักการที่รัฐบาลทุกชุดจะต้องยึดถือ นอกจากหนังสือหลังม่านการเมืองแล้วในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญที่วิษณุเป็นผู้แต่ง ก็เขียนไว้เช่นกันในหน้า 372

“ท่าน(วิษณุ)เขียนไว้ว่า อย่างไรก็ตามเมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำหรือข้อพระราชดำริอย่างใดแกรัฐบาลแล้ว ก็เป็นหน้าที่ต่อไปของรัฐบาลที่จะรับพระราชดำรินั้นใส่เกล้าใส่กระหม่อม และศึกษาทบทวนดูว่าจะเป็นไปได้เพียงใดที่จะสนองพระราชดำรินั้น กล่าวอย่างง่ายๆ ว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารโดยตรง เพราะเมือตัดสินใจใดๆ ลงไป และมีผลตามมาไม่ว่าจะเป็นผลในทางบวกหรือทางลบ ก็ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยแท้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในฐานะที่จะทรงกระทำผิด และทรงรับผิดชอบ” ปิยบุตร กล่าว

นอกจากนี้ในงานของวิษณุยังได้อ้างถึงหยุด แสงอุทัย ที่ระบุไว้ว่า

“ในเวลานี้ในประเทศไทยยังมีรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนเอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ 3 ประการคือสิทธิที่จะได้รับปรึกษาหารือ สิทธิที่จะทรงสนับสนุน และสิทธิที่จะทรงตักเตือนไปใช้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มันจะนำพระราชดำรัสในการที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ตามสิทธิ 3 ประการดังกล่าวนั้นไปเผยแพร่แก่สื่อมวลชนบ้าง แก่บุคคลอื่นบ้าง การที่ทำเช่นนั้นอาจะเห็นว่าเป็นเจตนาดี เห็นว่าเป็นเชิดชูพระเกียรติบ้าง หรือเห็นว่าแสดงว่าได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยบ้าง หรือเป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าและรับสนองพระราชประสงค์ ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งนี้ คำแนะนำหรือคำเตือนของพระมหากษัตริย์ต้องเป็นความลับ เพราะมิฉะนั้นผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ และจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ ถ้าคณะรัฐมนตรีจะรับคำแนะนำตักเตือนไปปฏิบัติต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์มิได้ เพราะเป็นการนำพระมหากษัตริย์ไปทรงพัวพันกับการเมือง” ปิยบุตร อ่านงานเขียนของ หยุด แสงอุทัย ซึ่งถูกอ้างอยู่ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญที่วิษณุ เครืองามเป็นผู้เขียน

เขากล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะไม่ทราบว่า  การที่วิษณุ ให้สัมภาษณ์สือถึกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบว่า “ถึงวันหนึ่งจะรู้เองว่าไม่ควรพูด” ตนไม่รู้ว่าวิษณุหมายถึงอะไร และไม่ทราบอีกว่าเพราะเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงมีการนำคณะรัฐมนตรีเข้าขอพระราชพระราชดำรัสเป็นลายพระหัตถ์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ไม่มีใครทราบว่านายกรัฐมนตรีคิดอะไรอยู่ แต่เรื่องนี้สังคมกำลังตั้งคำถาม “เพราะตัวท่านเองเป็นผู้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ เลย และเลือกที่จะใช้วิธีการแบบนี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าท่านของความเป็นผู้นำ”

ท้ายสุด ปิยบุตร ขอฝากคำถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่า 1. กระดาษแข็งที่นายกรัฐมนตรีหยิบขึ้นมาอ่านนั้นเป็นการเตรียมมาเองใช่หรือไม่ และได้เขียนข้อความการถวายสัตย์ใหม่ที่ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญลงไปใช่หรือไม่ และเหตุใดจึงไม่อ่านจากกระดาษแข็งในแฟ้มของสำนักเลขาคณะรัฐมนตรีเตรียมไว้ 2.หากมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลาออก และมีการตั้งรัฐมนตรีคนใหม่ จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำอย่างไร 3.หากนายกฯ คนต่อไป รัฐมนตรีคนต่อไปมีโอกาสกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน นายกฯ มองว่าทำได้หรือไม่ 4. ถามวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ฐานะรองเลขาธิการนายกฯ  2 ปี, เป็นเลขาธิการนายกฯ 9 ปี และรองนายกฯ​รวมเกือบ 10 ปี ทำงานในทำเนียบรัฐบาล เกือบ 2  ทศวรรษ ทำงานกับครม. 11 ชุด และนายกฯ 8 คน มีโอกาสเข้าร่วมการถวายสัตย์ปฏิญาณตนหลายครั้งเคยเห็นนายกฯ คนใดที่ทำแบบพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

ส่วนข้อเสนอแนะ ปิยบุตรแนะนำให้นายกรัฐมนตรีขอพระบรมราชานุญาตเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการกระทำต่างๆของรัฐบาล ก็ให้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมารับรองการกระทำเหล่านี้หลังจากที่ได้ถวายสัตย์ฯ ใหม่ โดนเรื่องนี้ตนได้เสนอผ่านสื่อไปแล้วหลายครั้ง แต่นายกรัฐมนตรีไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะทำ และได้ปล่อยเวลาผ่านเลยมาจนถึงวันนี้จึงถือเป็นความจงใจละเมิดละเมิดรัฐธรรมนูญ

“ผมขอเรียกร้องให้อาจารย์วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นอาจารย์ในทางตำราของผม เพราะอ่านหนังสือท่านเกือบทุกเล่ม นวนิยายท่านผมก็อ่าน กำลังรอเล่มใหม่อยู่คือลงเรือแป๊ะ ผมอยากให้ท่านกลับมาเป็นอาจารย์วิษณุคนเดิม ยุติการให้ความเห็น การช่วยเหลือในทางกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรี ให้ท่านกลับมาเป็นปูชนียบุคคลในวงการนิติศาสตร์ ขอให้ท่านออกจากเรือแป๊ะ แล้วกลับมาอยู่ในเรือของความยุติธรรม ส่วนข้อเรียกร้องต่อไปคือ ผมไม่ต้องการทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ คนเก่า และ พล.อ.ประยุทธ์คนใหม่ และผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพื่อรักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท