Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวนักวิชาการไทยอย่างน้อย 2 คนที่ถูกศาลฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญเรียกเพื่อไปให้ข้อมูลกับศาลเนื่องจากอาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการวิพากษ์วิจารณ์ และการติชมในพื้นที่สาธารณะทำให้บรรยากาศการแสดงความคิดเห็นต่อศาลกลายเป็นสิ่งที่น่าหวาดระแวง 
 
แต่ทว่า ในหลายประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรืออินเดีย กลับเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ทำหน้าที่ตรวจสอบศาลผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เปิดกว้างให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะผิดพลาด หรือมุ่งร้าย หรือไม่เป็นธรรมเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของประชาชนก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาล หากจะเป็นความผิดก็เป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาแทน

สหราชอาณาจักร: วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และเป็นประโยชน์สาธารณะ สามารถทำได้
 
ในสหราชอาณาจักรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ศาล อย่างน้อยสองฉบับ ได้แก่
 
หนึ่ง The Contempt of Court Act 1981 ที่บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนไว้ในมาตรา 2 (2) ซึ่งระบุให้การเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นภัยอย่างชัดแจ้งหรือก่อให้เกิดอคติอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินอยู่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
 
แต่กฎหมายดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับผิดไว้ อย่างเช่น ในมาตรา 4 ที่ระบุว่าการนำเสนอกระบวนการพิจารณาของศาลที่ถูกต้องและโดยสุจริตย่อมได้รับการคุ้มครอง กับ ในมาตรา 5 ระบุว่า การเผยแพร่เนื้อหาของสื่อที่ถูกต้องและเป็นธรรมโดยสุจริตถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และการเผยแพร่ข้อมูลนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์นั้นต้องมีน้ำหนักความสำคัญเหนือยิ่งกว่าปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความลำเอียง หรืออคติต่อคู่ความในคดี การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิด
 
กับ สอง The Court and Criminal Act เป็นกฎหมายที่กำหนดให้การ "ดูหมิ่นวิจารณ์ศาล" ให้เสียหายจนสาธารณะเสื่อมศรัทธานั้น (scandalising) มีความผิด แต่ต่อมาคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษ ได้ทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล และมีรายงานสรุปในปี 2012 แนะนำให้ “เลิก” ความผิดนี้เสีย เนื่องจาก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งจำเป็นในการเปิดช่องให้มีการอภิปรายถกเถียงถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และทำให้กฎหมาย The Court and Criminal Act ปี 2013 ในมาตรา 33 ยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาลออก
 
อินเดีย: วิพากษ์วิจารณ์และติชมศาลโดยสุจริตสามารถทำได้
 
ในอดีตประเทศอินเดียมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาจชื่อว่า The Contempt of Courts Act 1926 แต่ในปี ค.ศ. 1952 ได้มีการออกกฎหมายใหม่ชื่อว่า  The Contempt of Courts Act 1952 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ 3 กรณี คือ การวิพากษ์วิจารณ์ศาลอย่างไม่เหมาะสม การดูหมิ่นคู่ความในคดี และการรบกวนขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง
 
ต่อมา ในปี 1971 มีการแก้กฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง และได้กำหนดการยกเว้นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้สองกรณี [1] ได้แก่
 
หนึ่ง การเผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตไม่ว่าด้วยวาจาหรือการเขียนก็ดี หากผู้เผยแพร่เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าข้อมูลที่เผยแพร่มาจากคดีที่ยุติแล้ว หรือเป็นเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ได้ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิด
 
กับ สอง การติชมและการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ซึ่งรัฐธรรมนูญอินเดียได้ให้การคุ้มครองการติชมและวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีที่ยุติแล้วโดยสุจริต แต่การติชมและการวิพากษ์วิจารณ์นั้นต้องไม่เป็นการลดความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม 
 
อเมริกา: การวิพากษ์วิจารณ์ศาลในคดีที่สิ้นสุดแล้วไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล
 
ในสหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาล แต่มีหลักเกณฑ์ซึ่งอ้างอิงจากคำพิพากษาในอดีตว่า ารตีพิมพ์บทความหรือเนื้อหาไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้เว้นแต่เป็น “ภยันตรายที่เห็นได้ชัดเจน” ต่อกระบวนการยุติธรรม โดยบรรทัดฐานการพิสูจน์ทางกฎหมายนี้ถูกวางขึ้นจากคำพิพากษาคดีระหว่าง บริดเจส (Bridges) กับแคลิฟอร์เนีย ในปี 2484
 
นอกจากนี้ ในคดี Patterson v. Colorado ศาลได้วางหลักไว้ว่า เมื่อคดีถึงที่สุดลงศาลย่อมอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ดุจดังคนธรรมดา นอกจากนี้ในคดี Craig v. Hecht ศาลระบุว่า สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีต่อการพิจารณาคดี ต่อความเห็นหรือคำพิพากษาของศาเป็นสิ่งสำคัญและสมควรได้รับการสงวนรักษาไว้ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล และศาลก็ไม่มีอำนาจในการลงโทษ ไม่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะผิดพลาด หรือมุ่งร้าย หรือไม่เป็นธรรมเท่าใดก็ตาม หนทางที่จะเยียวยามีอยู่เพียงทางเดียวคือ ฟ้องคดีแพ่งฐานหมิ่นประมาทเท่านั้น[2]
 
ทั้งนี้ เหตุที่ศาลมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ยึดมั่นในการปกครองระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ประชาชนต้องมีอำนาจเหนือรัฐบาลและองค์กรทุกหน่วยของระบบการปกครอง การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถวิจารณ์ ติชมกลไกของรัฐบาลอย่างเสรี จึงเป็นการควบคุมให้การดำเนินนโยบายของรัฐ เป็นไปในทางสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
 

ข้อมูลอ้างอิง
 
[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล และคณะ, รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
[2]  พนัส ทัศนียานนท์, "การลงโทษการวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ติชมศาลฐานละเมิดอำนาจศาลในสหรัฐอเมริกา

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) https://freedom.ilaw.or.th/the-contempt-of-court-act-in-UK

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net