Skip to main content
sharethis

ถอดละเอียดคำชี้แจงวิษณุ ให้ความรู้ใหม่? ชี้การถวายสัตย์ฯ แตกต่างจากการปฏิญาณตน เพราะการมีผู้รับการถวายสัตย์ฯ คือพระมหากษัตริย์ ย้ำการปฏิญาณตนไม่มีผู้รับการปฎิญาณ จึงไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำได้ ขออย่ากังวลสถานะของรัฐบาลเพราะหลังจากถวายสัตย์ฯ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ร.10 ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร ระบุเรื่องนี้ยุติที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยเอกฉันท์ ว่าไม่มีองค์กรใดพิจารณาได้แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเอง

18 ก.ย. 2562 ในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบถามของฝ่ายค้านกรณี การถวายสัตย์ปฎิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ที่ได้ตั้งไว้ตั้งแต่ช่วงเช้า โดยก่อนเริ่มตอบคำถาม วิษณุ ขอให้ขีดเส้นใต้คำว่า “ถวายสัตย์ปฏิญาณ” ให้ชัดเจน

ปิยบุตรสอนเรื่องการถวายสัตย์-พระราชอำนาจ 3 ประการ ในรัฐสภาโดยใช้ตำราของวิษณุ

5 เรื่องน่ารู้ก่อนดูอภิปรายทั่วไปปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ

0000000

เมื่อพูดถึงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณทุกคนเข้าใจว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร  แต่บางท่านอาจจะลืมไปแล้ว ยิ่งมีการอธิปรายกัน และถ่ายทอดเสียงออกไปทั่วประเทศ วันเวลาที่ผ่านมาอาจนานเกินไปจนลืมว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่

ขออนุญาตลำดับความว่า เหตุการณ์มันย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 หลังจากที่ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 36 คนแล้ว คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตามมาตรา 161 บัญญัติว่าก่อนเข้ารับหน้าที่ขอขีดส้นใต้อีกครั้งคำว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่”

ก่อนเข้ารับหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ และก็มีข้อความที่เป็นถ้อยคำนั้น

ฉะนั้นวันที่ 16 ก.ค. เวลา 17.45 น. คณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คนก็ได้เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ห้องพระโรงกลาง พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ในการเสด็จออกให้เฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นได้กระทำต่อเฉพาะพระพักตร์ และต่อหน้าคนหลายคนไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร เพราะนอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระมหากรุณาเสด็จออก สมเด็จพระนางเจ้าพระราชินีก็เสด็จออก และยังมีข้าราชบริพารในพระองค์ เช่น ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการราชสำนักชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน แน่นอนฝ่ายรัฐบาลคือ คณะรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีข้าราชอกีหลายคนในฝ่ายรัฐบาล เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น แล้วก็ต่อหน้าผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ที่ไปถ่ายทำด้วย

เมื่อเริ่มเวลาเสด็จออก ท่านนายกรัฐมนตรีก็เปิดกรวยดอกไม้ ถวายบังคมแล้วก็เริ่มกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ด้วยการล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกมาจากกระเป๋าซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเดียวเหมือนกัน กับนายกรัฐมนตรีทุกคนที่เคยผ่านมาในอดีต ไม่ได้หยิบ เปลี่ยน สลับ วาง หยิบบัตรแข็งซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดเตรียมไว้ เช่นเดียวกัยที่เตรียมให้นายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีต

ผมได้เขียนในหนังสือหลังม่านการเมืองที่หลายท่านอ้างถึง ขอบคุณนะครับ คงขายดีขึ้นอีกเยอะ มีนายกรัฐมนตรีอยู่คนเดียวที่ท่านไม่ล้วงกระเป๋าหยิบอะไรออกมา เพราะท่านถวายสัตย์หลายหนแล้ว ท่านจำแม่น คือ ท่านนายกฯ ชวน หลีกภัย นายกฯ อื่นต่อให้แม่น ต่อให้จำได้ก็กลัวพลาดหยิบล้วงมาจากกระเป๋าเสื้อทั้งนั้น

เช่นเดียวกัน นายกฯ ประยุทธ์ หยิบหน้าแรกเป็นการอ่านคำเบิกตัว ซึ่งคนอื่นไม่ต้องกล่าวตาม เสร็จพลิกเป็นหน้าที่สอง นั่นคือคำถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อท่านนายกฯ กล่าวไปแต่ละท่อน คณะรัฐมนตรีทุกคนก็กล่าวตาม จนกระทั่งจบตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผมจะไม่กราบเรียนครับว่า ถ้อยคำที่ท่านนายกฯ อ่าน แล้วทุกคนกล่าวตามมีว่าอย่างไร และผมก็ไม่ทราบว่าเบื้องหน้าเบื้องหน้าของการอ่านไปตามนั้น และอ่านแค่นี้ เป็นเพราะเหตุใด

แต่ตรงนี้จะอธิบายได้ด้วยคำกลางๆ รวมๆ เพียงประโยคเดียวเท่านั้น ที่ไม่อาจจะขยายความต่อไปอีก คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ คำนี้ผมไม่ได้พูดขึ้นเอง ในหนังสือที่บอกถึงเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ซึ่งระบุถึงมาตรา 161 ด้วย จำได้แม่นว่าได้อธิบายเอาไว้ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งคือพระมหากษัตริย์  

เมื่อตอนบ่ายมีสมาชิกบางท่านพูดว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่รวมแห่งอำนาจอธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่นะครับ ที่รวมคือพระมหากษัตริย์ มาตรา 3 ถือบัญญัติว่า  อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล นั่นแปลว่าคณะรัฐมนตรี และศาลก็ร่วมใช้อำนาจอธิปไตยกับสภาด้วย แต่หนึ่งเดียวนั้นคือ พระมหากษัตริย์ นี่ไม่ใช่หลักราชธิปไตย แต่เป็นหลักประชาธิปไตยนี่แหละครับ และรัฐธรรมนูญก็เขียนแบบนี้กันมาหลายฉบับแล้ว

ส่วนหนังสือของกรรมการร่างได้รวบรวมไว้ ก็ระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นการยืนยันต่อองค์ผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อที่จะยืนยันให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณนั้น ใครเป็นเป็นคนไว้วางใจ พระมหากษัตริย์ครับ ไว้วางใจในตัวใคร ก็ผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณคือ คณะรัฐมนตรี

ผมจึงได้เรียนว่า รัฐบาลอาจจะผิด ผมอาจจะผิด ท่านนากยกฯ อาจจะผิด แต่เราเข้าใจตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างนั้น และจะว่าผิดก็คงไม่ใช่แล้ว เพราะเหตุว่า ในคำวินิจฉัย หรือจะเรียกว่าคำสั่งก็ได้ ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้ออกมาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ได้เขียนเอาไว้ในคำวินิจฉัยอย่างน้อยก็ฉบับย่อ คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหน้าที่สอง บรรทัดที่สาม ศาลใช้คำว่า ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ เขียนเหมือนกันกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เป็นการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรี กับพระมหากษัตริย์ ผมจึงได้สรุปว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์

พอพูดอย่างนี้ก็อาจจะมีคนนึกในใจว่าทำไมจึงมีคนบังอาญทำให้มันไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องย้อนกลับมาที่ผมได้กราบเรียนว่าประเด็นวันนี้ เรากำลังกันพูดถึงเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ ขีดเส้นใต้คำว่า “ถวายสัตย์ปฏิญาณ”

ทำไมจะต้องขีดเส้นใต้ ท่านประธานครับว่าเราพูดคำว่า ปฎิญาณ สาบานตัว เราพูดรวมๆ กันไป แต่ที่จริงแล้วในรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดๆ ท่านอาจารย์ปิยบุตร ขออภัยที่เอ่ยนาม บอกว่า เราเริ่มระบบถวายสัตย์มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 ใช่ครับ และตั้งแต่ปี 2492 มาจนถึงปัจุบันเขาไม่ได้พูดว่าปฏิญาณสาบานตัวรวมๆ กันไป เขาจงใจแยกเรื่องปฏิญาณสาบานตัว ภาษาอังกฤษอ่านจะใช้คำเดียวว่า Take oath แต่พอเป็นภาษาไทยจะแตกออกเป็นสองคำใช้สองแห่ง และมีความมุ่งหมายต่างกัน คำหนึ่งคือ “ปฏิญาณตน” อีกคำคือคำว่า “ถวายสัตย์ปฏิญาณ”

ทำไมจึงแยกออกเป็นสองคำ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเมื่อท่านจะเข้ารับหน้าที่ท่านต่อทำอะไร คำตอบคือ ปฏิญาณตน แต่คณะรัฐมนตรีไม่ได้ ปฏิญาณตน แต่ถวายสัตย์ปฏิญาน ในรัฐธรรมนูญนี้ใช้คำว่าปฏิญาณตนอยู่ 3 แห่ง กับบุคคล 3 ประเภท 1.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต้องปฎิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา 2.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และ 3.สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งต้องทำในที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภา โดยการปฏิญาณตนนั้นทำโดยลุกขึ้นยืนแล้วกล่าว สมัยก่อนกล่าวเองด้วยซ้ำไป แต่ตอนหลังต้องกล่าวตามประธาน แต่ก็ไม่ใช่เป็นการปฏิญาณต่อประธาน เป็นเพียงการปฏิญาณในที่ประชุม หมายความว่า อาศัยสถานที่เป็นหลัก จะไปทำสถานที่อื่นไม่ได้ นั่นคือ ปฎิญาณตน

หลายคนผู้ถึงประธานนาธิบดี โอบามา นั่นก็เป็นการปฏิญาณตน แล้วก็จริงที่ท่านพูดผิด นึกขึ้นได้รุ่งขึ้นท่านก็มาพูดใหม่ให้มันถูกเมื่อปี 2552 แต่พอพูดเรื่องนี้ช่วยค้นกลับไปหน่อยนะครับว่า ปี 2516 ประธานาธบดีนิกสัน กล่าวไม่ครบเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ เพราะนั่นคือปฏิญาณตน ส่วนการกล่าวถ้อยคำอีกอย่างหนึ่งรัฐธรรมนูญไทยใช้คำว่า ถวายสัตย์ปฏิญาณ

การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นไม่เหมือนกับ ส.ส. ส.ว. และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะทำที่ไหนก็ได้ คณะรัฐมนตรีเคยถวายสัตย์ปฏิญาณที่พระที่นั่งทักษิณราชนิเวศก็มี ภูพานก็มี ภูพิงก็มี สมัยรัชกาลที่ 9 ตอนปลายรัชกาล ไปทำที่โรงพยาบาลศิริราชก็มี ฉะนั้นสถานที่ไม่สำคัญ สำคัญคือต้องมีผู้รับการถวายสัตย์ปฏิญาณอยู่เท่านั้น(เน้นเสียง) คือพระมหากษัตริย์ และการถวายสัตย์ปฏิญาณจะกระทำต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ก็ไม่ได้ ผู้แทนพระองค์ก็ไม่ได้ ต้องทำกับพระมหากษัตริย์

เพราะเหตุที่ต้องทำกับพระมหากษัตริย์ เขาจึงใช้คำว่า ถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นราชาศัพท์เต็มรูป และเวลาเอ่ยก็ต้องเริ่มต้นด้วยคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า ไม่เหมือน ส.ส. ส.ว และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำไมต้องข้าพระพุทธเจ้า นาย นาง นางสาวไม่ได้เพราะทำกับพระมหากัษัตริย์ เมื่อทำกับพระมหากษัตริย์แปลว่า มีผู้ถวายนั่นก็ต้องแปลว่ามีผู้รับการถวาย ไม่เหมือนกับ ส.ส. ส.ว. และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ไม่มีผู้รับการปฏิญาณ เมื่อไม่มีผู้รับผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ไม่มีผู้ใดที่จะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงคำปฏิญาณตนนั้น ใครจะเป็นคนอนุญาตท่าน

แต่การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นมีผู้ถวาย และผู้รับการถวาย ดังนั้นเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จก็จะจบด้วยการมีพระราชดำรัสตอบทุกครั้งไป การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นทำกับบุคคล 4 ประเภทเท่านั้น 1.องคมนตรี 2.รัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี 3.ผู้พิพากษา และ 4.ตุลาการ เมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณก็ต้องมีการรับการถวายสัตย์ฯ ผู้ที่เป็นผู้รับก็คือ พระมหากษัตริย์

ในการถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 16 ก.ค. 2562 เมื่อสิ้นสุดถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสตอบ ซึ่งไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับ และต่อมายังมีพระมหากรุณาพระราชทานพระราชดำรัสทุกคำมายังรัฐบาลด้วยซ้ำไป ดังที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับพระราชทานเมือวันที่ 27 ส.ค.

ในกรณีอย่างนี้ ในพระราชดำรัสนั้น ผมไม่ถึงกับอ่านหรอกครับ แต่เป็นคำที่คณะรัฐมนตรีทั้ง 36 คนจำได้ขึ้นใจ เพราะพระราชกระแสนั้นเริ่มว่า ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจแก่ท่าน ให้ท่านมีความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฎิญาณ

ให้ปฎิบัติไปตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ และขอให้ท่านเขาทำหน้าที่ รับหน้าที่ ปฎิบัติหน้าที่

เมื่อสักครู่ผมเรียนว่า มาตรา 161 นั้นขึ้นต้นว่า “ก่อนเข้ารับรับหน้าที่” ก็แปลว่าถ้าไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่ไม่ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ คณะรัฐมนตรีรับพระราชกระแสนี้ใส่เกล้าใส่กระหม่อม ไม่ต้องตีความครับ แต่ถือว่านี้คือ พระบรมราชานุญาต แล้วได้ปฏิบัติตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ถ้าวันนี้ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพราะถือว่า ยังถวายสัตย์ไม่จบ ไม่ครบ ไม่ถ้วน พอดี พอร้าย  คสช. ก็ยังอยู่ มาตรา 44 ก็ยังอยู่ รัฐบาลเก่าก็ยังอยู่ รัฐบาลใหม่เป็นโมฆะ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น  เพราะหลังจากวันที่ 16 ก.ค. ที่อ้างถึงกันนั้น รัฐบาลได้เข้าแถลงนโยบายในเวลาต่อมา เอาละมีเสียงค้าน แต่หลังจากแถลงนโยบายเสร็จก็มีการปฎิบัติหน้าที่ของรัฐบาลเต็มเหมือนกับทุกรัฐบาลที่เข้าบริหารราชการแผ่นดิน หลังจากนั้นไม่กี่วันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงกรุณาโปรดเกล้าให้นายกรัฐมนตรีแทนฝ่ายบริหาร ท่านประธานชวน แทนรัฐสภา ท่านประธานศาสฎีกา แทนฝ่ายตุลาการ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ก็นายกฯ คนนี้แหละครับ ที่ส่วมเสื้อครุยไปยื่นถวายพระพรชัยมงคลอยู่ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เป็นการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองในการสถาปนาพระราชอิสริยยศดจ้านายหลายพระองค์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีคนนี้แหละครับที่เสนอกฎหมายเข้ามายังสภานี้ในนามรัฐบาล 2 ฉบับ สภาผู้แทนก็ผ่าน วุฒิสภาก็ผ่าน ถวายขึ้นไปก็ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ไปแล้ว

สุดท้ายหลายท่านวิตก กังวลว่า เมื่อมันถูกผิด มันจะโมฆะ มันจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ท่านอย่าฝันร้าย เพราะเหตุว่า มันไม่เกิดอย่างที่ท่านพูด มันจะไม่มีปัญหาใดๆ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ผมยอมรับเลยครับว่าเป็น คำสั่ง ไม่ใช่คำวินิฉัย คำสั่งนั้นบอกว่าศาลไม่รับคำร้องทั้งหมด และศาลไม่ได้บอกว่าไม่รับคำร้องแล้วจบ แต่ศาลให้เหตุผลต่อไป ซึ่งแน่นอนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจาณราของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ของบอกว่า ถ้าศาลไม่รับคำร้องต้องบออกเหตุผลละมีคำอธิบายประกอบ

ศาลจึงต้องอธิบายประกอบที่ไม่รับเพราะอะไร และที่อธิบายประกอบนั้น เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า ที่ไม่รับเพราะ เรื่องนี้เป็นการกระทำทางการเมือง แต่ศาลไม่ได้จบแค่นี้ ศาลยังบอกด้วยว่า ประกอบกับเมื่อจบการถวายสัตย์ปฏิญาณได้พระราชพระบรมราชโชวาท พระราชทานพร หลังจากนั้น ยังโปรดให้เชิญพระราชกระแสมา พร้อมลายพระหัตถ์ ดังนั้นศาลจึงสรุปจบ ไว้เลยว่า การถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใดๆ ซึ่งแปลว่า แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจตรวจสอบได้

มีสมาชิกอาวุโสบางท่านบอกมันผิด มันโจ่งแจ้ง มันโจ่งแจ้งตรงไหน ใครเป็นคนบอกเหรอครับ มันไม่โจ่งแจ้งอะไรตรงไหน มันยังไม่มีใครพูดเลยศาลรัฐธรรมนูญทั้งศาลยังเอกฉันท์ว่าไม่พูด เมื่อไม่พูดก็ไม่มีใครชี้ เมื่อไม่มีใครชี้ก็แล้วแต่ครับ หากว่า ใครพบก็ไปดำเนินการกัน ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ทุกอย่างก็ดำเนินการไปตามปกติ รัฐบาลก็มีหน้าที่เดียวเท่านั้นคือ ก้มหน้าก้มตาปฎิบัติงานด้วยกำลังใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฎิบัติให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามพระบรมราชโชวาท และพรที่พระราชทาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net