นิธิ เอียวศรีวงศ์: จากกองทัพชาวนาถึงกองทัพสมัยใหม่ (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กองทัพกษัตริย์ของรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณล้วนสร้างขึ้นจากชาวนา ทหารอาชีพหรือประจำการอาจมีอยู่ เช่น กลุ่มที่ชำนาญการใช้ปืนไฟและปืนใหญ่ หรืออาวุธเฉพาะอื่นๆ ซึ่งมักทำหน้าที่เป็นทหารราชองครักษ์ไปพร้อมกัน รวมทั้งหมดแล้วมีจำนวนไม่พอจะเป็นกองทัพขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันตนเองจากการรุกรานราชอาณาจักรอื่นได้ ฉะนั้น เมื่อจะทำสงครามจึงต้องเกณฑ์กำลังคนส่วนใหญ่จากชาวนา โดยมีทหารประจำการจำนวนน้อยเป็นแกนกลาง

อันที่จริงพูดอย่างนี้ได้ทั้งเอเชีย แม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งมีชนชั้นซามูไรที่ทำหน้าที่รบเพียงกลุ่มเดียว แต่ก่อนสมัยโตกุงาวา สงครามที่โชกุนหรือเจ้าครองแคว้นกระทำก็ต้องเกณฑ์ชาวนาเข้ากองทัพจำนวนมากทั้งนั้น เช่นเดียวกับจักรพรรดิจีน ซึ่งขุนนางฝ่ายบู๊เพียงอย่างเดียวไม่พอจะประกอบกันขึ้นเป็นกองทัพใหญ่ของจักรวรรดิได้

หลักฐานประวัติศาสตร์บอกเราให้รู้แต่บทบาทของชนชั้นนำซึ่งเป็นนักรบ เพราะที่จริงหลักฐานเหล่านั้นตั้งใจเขียนให้เป็น “ตำรา” สำหรับชนชั้นปกครอง ทั้งในฐานะของนักปกครองและนักรบ จึงไม่ได้ใส่ใจกับบทบาทของทหารชาวนาในกองทัพ นอกจากโห่ร้องไปตามคำสั่งของนายทัพ

เราไม่รู้ว่าทหารชาวนาอย่างนั้นรบเป็นละหรือ และถ้าเป็น เหตุใดจึงรบเป็น

จะรู้ได้ก็ต้องกลับไปดูว่าผู้คนในชุมชนชาวนาสมัยโบราณ มีประสบการณ์การสู้รบหรือไม่ มากน้อยเพียงไร แต่ก็ยากมากที่จะรู้เรื่องนี้ได้ เพราะสังคมชาวนามักไม่ทิ้งหลักฐานลายลักษณ์อักษรไว้ เขาจดจำประวัติศาสตร์กันด้วยเรื่องเล่า ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็ถูกแต่งเสริมเติมต่อจนหาเค้าเดิมได้ยาก ส่วนหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ชนชั้นสูงสร้างไว้ ก็ไม่สนใจจะพูดถึงชีวิตในชุมชนชาวนา

Michael W. Charnay ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์การทหารของเอเชียแห่งวิทยาลัย SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน พยายามมองหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (“Armed Rural Folk” ใน Warring Societies of Pre-Colonial Southeast Asia) สิ่งที่เขาพบคือช่วงสั้นๆ ของประวัติศาสตร์พม่า เมื่ออังกฤษรุกเข้ามายึดมัณฑะเลย์ได้ใน ค.ศ.1885 และผนวกเอาพม่าทั้งหมดเป็นอาณานิคม

ช่วงนี้ในประวัติศาสตร์พม่าปล่อยหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตในชุมชนชาวนาออกมาหลายทางโดยบังเอิญ

ประการแรกที่บังเอิญคือ รัฐบาลกลางล่มสลายลงด้วยการยึดครองของกองทัพอังกฤษ เท่ากับปล่อยให้ชุมชนชาวนาในพม่าตอนบนต่อสู้กันเองเพื่อแย่งชิงทรัพยากรกัน โดยไม่ต้องถูกรัฐบาลกลางปราบปราม การต่อสู้กันเช่นนี้ลามไปถึงการต่อสู้กับทหารอังกฤษด้วย เพื่อปกป้องทรัพยากรของตนหรือแย่งชิงทรัพยากรก็ตาม ทำให้อังกฤษมองว่าเป็นการ “กบฏ” ได้รับความสนใจจากสังคมอังกฤษ (ในอังกฤษและในอินเดีย) จึงมีข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์มาก แม้แต่สิ่งที่ชาวพม่าผลิตขึ้นเองก็ถูกสื่อเก็บเอาไปเผยแพร่ เช่น ศิลปินพม่าคนหนึ่งวาดภาพการรบระหว่างนักรบชาวนาในมิติต่างๆ ก็ถูกสื่อนำไปก๊อปเพื่อพิมพ์เผยแพร่

เรื่องของนักรบชาวนาในพม่าจึงปรากฏรายละเอียดในหลักฐานประวัติศาสตร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่สงครามในชนบทตอนนี้ ถูกเสนอให้เป็นสงครามกับรัฐไปเสียหมด เช่น อังกฤษเรียกปฏิบัติการนี้ว่า pacification หรือการปราบให้สงบ นักชาตินิยมพม่าเรียกว่าเป็นสงครามกู้ชาติหรือสงครามปกป้องชาติ แต่จากหลักฐานที่ปรากฏ นักรบชาวบ้านเหล่านี้รบกันเอง หรือรบกับชุมชนอื่นมากกว่า เพื่อปล้นเอาวัว-ควายบ้าง เอาข้าวในยุ้งบ้าง หรือเอาทรัพย์อื่นบ้าง รวมทั้งสังหาร, ทรมานเพื่อรีดทรัพย์, จับตัวไปเรียกค่าไถ่ ฯลฯ ผู้คนที่ถูกกระทำมีทั้งที่เป็นนักรบ และเด็ก, ผู้หญิง, คนชรา หรือคนไม่มีอาวุธอีกมาก

ขอให้สังเกตด้วยว่า สงครามระหว่างรัฐโบราณต้องการกำลังคน ชนะแล้วก็กวาดต้อนผู้คนไปเป็นกำลังของตนเอง แต่สงครามระหว่างชุมชนชาวบ้านไม่รู้จะเอา “เชลย” ไปทำอะไร ไม่มีกลไกควบคุม, เรียกเก็บภาษีหรือแรงงาน และไม่มีเหตุที่จะบุกเบิกที่ดินมากขึ้น, ตลาดรับซื้อทาสอยู่ห่างไกลและไม่ปลอดภัยแก่คนที่รัฐเห็นว่าเป็นผู้แข็งข้อต่อรัฐ ดังนั้น จึงมีลักษณะนองเลือดกว่าสงครามระหว่างรัฐ พูดง่ายๆ คือฆ่ากันเป็นผักเป็นปลามากกว่า

เมื่อไรก็ตามที่ขาดรัฐบาลกลางที่สามารถใช้อำนาจของตนอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะเมื่อกำลังการผลิตของชุมชนชาวบ้านลดลง ด้วยเหตุภัยพิบัติทางการเมืองหรือธรรมชาติก็ตาม รัฐในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปก็มักเสื่อมลงกลายเป็นสภาพปล้นสะดมแย่งชิงทรัพยากรกัน จะเรียกว่าสงครามกลางเมืองก็ไม่ได้ เพราะไม่มีฝ่ายใดต้องการกุมอำนาจรัฐ


สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บ้านเมืองถึงคราววิบัติ “ล่มสลาย” บ้านแตกสาแหรกขาด ภาพนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังจัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

หลักฐานในประวัติศาสตร์ไทยที่ให้รายละเอียดชัดเจนเช่นที่บังเอิญเกิดในพม่าช่วงเสียเมืองเช่นนี้ไม่มี แต่คงพอมองเห็นสภาพเดียวกันได้ตอนหลังกรุงแตก แม้ว่าเกือบทั้งหมดเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ และเขียนขึ้นภายใต้ประเพณีประวัติศาสตร์นิพนธ์ของราชสำนัก เช่น ชุมชนทางฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จหนีพม่าไปนั้น ชุมชนซึ่งพระองค์ไปปราบหรือเกลี้ยกล่อมเป็นชุมชนขนาดเล็กอยู่มาก อีกทั้งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก นอกจากไม่ขึ้นแก่กันแล้ว ยังบาดหมางกันด้วย

ชีวิตภายใต้ระเบียบของโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน ทำให้จินตกรรมของเราเกี่ยวกับชุมชนเกษตรเป็นความสงบ, เสมอภาค และภราดรภาพสูง และมักทำให้เราลืมการปล้นสะดมไป แท้จริงแล้วการปล้นสะดมเป็นอีกส่วนสำคัญหนึ่งของชีวิตในชุมชนเกษตรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่ว่าถูกเขาปล้นหรือปล้นเขา) ทั้งนี้ รวมถึง “สงคราม” แย่งชิงทรัพยากรอื่นๆ ด้วย เช่น แย่งน้ำ, แย่งของป่า, แย่งผู้หญิง (อย่างที่วรรณกรรมราชสำนักมักใช้เป็นแกนเรื่อง) ฯลฯ

ในทะเลของอินโดนีเซียตะวันออกซึ่งคาบเกี่ยวอยู่กับทะเลของฟิลิปปินส์ตอนใต้ และภาคตะวันออกของมาเลเซีย (มะลูกู-มินดาเนา-ซูลู) เกาะแก่งในทะเลนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดเล็กหรือราชอาณาจักรขนาดเล็ก ซึ่งมักจะทำสงครามกันเสมอ เพื่อปล้นสะดมแย่งชิงทรัพยากรนานาชนิดระหว่างกัน ทั้งนี้ รวมทั้งผู้คนด้วย เพราะสามารถนำไปขายในตลาดค้าทาสซึ่งมีอยู่หลายแห่งในแถบนี้ได้ ดังนั้น หากจะพูดว่าการปล้นสะดมเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนแถบนี้ก็ไม่มีใครรู้สึกแปลกใจเหมือนพูดถึงชุมชนเกษตรที่ตั้งอยู่บนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป

คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ เคยพาไปดูตลาดบ้านเกิดในตำบลหนึ่งของอำเภอสองพี่น้อง คุณวาณิชเล่าว่า ตลาดแห่งนั้นเคยมีหอสูงซึ่งสร้างด้วยไม้ สำหรับคอยส่องดูเวลากลางคืนว่าจะมีโจรยกพวกถือคบไฟเดินในท้องทุ่งเพื่อมาปล้นตลาดหรือไม่ จะได้เตรียมการป้องกันได้ทัน ดูจะสะท้อนความเป็น “ธรรมดา” ของการปล้นสะดมในชุมชนเกษตรกรรมได้ดี

ในประเพณีบุญบั้งไฟของภาคอีสาน เล่ากันมาว่า สมัยก่อนชุมชนในละแวกหนึ่งๆ จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นธรรมเนียมด้วยว่า คนหนุ่มในชุมชนอื่นซึ่งมาร่วมกับคนหนุ่มในชุมชนเจ้าภาพจะจัดพิธีกรรมยกพวกชกต่อยกันขึ้น ไม่ถึงกับตีกันหัวร้างข้างแตก เพราะเป็นการวิวาทกันในเชิงพิธีกรรมเท่านั้น แม้กระนั้นก็เล่ากันด้วยว่ามักจะถึงฟกช้ำดำเขียว ด้วยพลั้งเผลอหรือเจตนาก็ตาม

พิธีกรรมนี้จัดขึ้นทำไม ผมไม่ทราบเหตุผล แต่อยากเดาว่า คงเพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ของคนหนุ่มในชุมชน ด้วยการสร้างศัตรูสมมุติขึ้น ถ้าการเดาของผมใกล้เคียงความจริงบ้าง ก็น่าสนใจที่ชุมชนเกษตรไทยนั้นนอกจากสงบ, เสมอภาคและภราดรภาพแล้ว ยังพร้อมต่อยตีสู้รบด้วย (belligerent)

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ชุมชนเกษตรในสมัยโบราณของไทยนั้น แม้ตั้งกระจายอย่างไม่ไกลกันนัก รายรอบ “เมือง” อันเป็นที่ตั้งของอำนาจรัฐ แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไม่สู้มากนัก ในทางเศรษฐกิจไม่มีสินค้าที่จะแลกเปลี่ยนกัน หากมีสินค้าหรือบริการส่วนเกินก็นำไปแลกเปลี่ยนใน “เมือง” ไม่ได้แลกเปลี่ยนกันโดยตรง ในทางการเมืองและการปกครอง ต่างเชื่อมโยงกับเมือง คือต้องจ่ายหางข้าวและแรงงานให้ “เมือง” แต่ไม่เชื่อมโยงกันเอง ความเชื่อมโยงด้านปัจจัยการผลิตคือระบบเหมืองฝาย มีในล้านนาแต่ไม่มีในเขตปกครองโดยตรงของอยุธยา แท้จริงแล้วในระบบปกครองของราชสำนัก ตั้งใจจะกีดกันมิให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยทางการเมืองภายใต้อำนาจด้วยซ้ำ

ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างชุมชนเกษตรกรรมจึงเป็นไปในทางนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ได้แก่ การแต่งงานจนทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงเครือญาติข้ามชุมชน แต่ระบบเครือญาติไทยก็ไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มทางสังคมที่เข้มแข็งนัก (เมื่อเทียบกับจีน, เวียดนาม หรือแม้แต่พม่า) ความสัมพันธ์เชิงนามธรรมที่สำคัญกว่าคืออุดมการณ์ทาง “ศาสนา” ทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาผี เช่นมีปูชนียสถานเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดงานบุญประจำปีร่วมกัน หรือมีพิธีกรรมเดียวกันและให้ความหมายแก่พิธีกรรมนั้นในทางเดียวกัน

ด้วยเหตุดังนั้น “กองทัพ” (ซึ่งจะเรียกว่ากองโจรหรือกองกำลังก็ได้) ของชุมชนชาวนาจึงไม่ใหญ่นัก “กบฏไพร่” ของไทยนั้นไม่เคยมีกองทัพใหญ่พอจะคุกคามอำนาจรัฐได้จริงจัง และมักดำเนินการอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ลองเปรียบเทียบกับเวียดนามก็จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นเรื่อง “เดะๆ” ทั้งนั้น เพราะกองทัพจัดตั้งขึ้นได้ในวงจำกัดของความสัมพันธ์

การจัดองค์กรของ “กองทัพ” จึงต้องวางศูนย์กลางไว้ที่ตัวบุคคลหรือผู้นำ (เรามีกบฏ “พญาผาบ”, กบฏ “ผีบุญ”, กบฏ “บุญกว้าง” ฯลฯ หรือกองกำลังของ “อ้ายเสือ” ต่างๆ แต่ไม่เคยมีกบฏของอุดมการณ์เดียวกัน เช่น “ไต้ผิง” หรือกบฏของมวลชนขนาดใหญ่ เช่น “โจรโพกผ้าเหลือง” หรือ “ไตเซิน”)

นอกจากตัวบุคคลแล้ว “กองทัพ” ยังค่อนข้างจำกัดศูนย์อยู่ในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ไม่สู้จะกว้างขวาง ใช้ยุทธวิธีไม่สู้จะซับซ้อนนัก ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากความที่ศัตรูไม่ทันระวังตัว (surprised attack) โจมตีเป้าหมายโดยตรง แต่ขาดการประสานงานเพราะการจัดองค์กรภายในที่หลวมเกินไป ทำให้ขยายยุทธการไม่ได้มากนัก ใช้วิธีทำลายล้างผลาญเป็นหลัก เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูรวมตัวกันแก้แค้นเอาคืนหรือตอบโต้ได้ในอนาคต

กองทัพสมัยใหม่ของไทยสร้างขึ้นเพื่อ “ข้าม” จุดอ่อนของกองทัพชาวนา ด้วยการรับเอาแบบอย่างของกองทัพอาณานิคมตะวันตกมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกบางส่วนที่ “ข้าม” ไม่พ้น

ผมอยากอธิบายพื้นฐานทางวัฒนธรรมของกองทัพสมัยใหม่ของไทย แต่ได้ใช้พื้นที่เพื่อเล่าเรื่องกองทัพชาวนามากเสียจนต้องยกไปเป็นตอนหน้า

(ยังมีต่อ)

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_229305

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท