Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังมีกระแสไม่พอใจเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลในการจัดการปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี จนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจัดรายการ "ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม" เพื่อระดมเงินช่วยน้ำท่วมดังกล่าว โดยได้ยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 263,578,890 บาท ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า  “เงินทุกบาททุกสตางค์จากการบริจาคนี้ จะนำไปช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ให้พี่น้องประชาชนอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทั่วถึง ตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค”[1]


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10218996796086665&set=a.10201027296500406&type=3&theater

คนที่ติดตามกระแสต่าง ๆ ในโลกออนไลน์คงเห็นความคิดเห็นบางส่วนที่มีต่อการรับบริจาคของรัฐบาลดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนจัดกลุ่มเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก คือ การตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพที่หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ถือป้ายบริจาคเงินจำนวนมากในนามของส่วนราชการ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการบริจาค 3,000,000 บาท กระทรวงสาธารณสุข 1,000,000 บาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,000,000 บาท เป็นต้น ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าเงินที่เอามาบริจาคนั้นเอามาจากภาษีของประชาชนหรือไม่? ส่วนราชการมีอำนาจในการเอาเงินภาษีมาบริจาคแบบนี้หรือ?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งรายได้ของส่วนราชการต่างๆ ของไทยก่อน โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าเงินที่ส่วนราชการต่างๆ ใช้จ่ายมาจากภาษีของเราเพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วเงินที่ส่วนราชการนำมาใช้จ่ายยังมาจากแหล่งอื่น อาทิ รายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้มารับบริการ รายได้จากการดำเนินงาน รายได้จากการเรี่ยไรเงิน รายได้จากดอกเบี้ย รายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งการใช้จ่ายเงินที่มาจากภาษีของเรานั้นจะไม่สามารถนำไปใช้จ่ายนอกเหนือจากที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนดตามพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปีได้ นอกจากนี้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ. 2553 ยังระบุชัดเจนว่า “เงินหรือสิ่งของบริจาค” ไม่สามารถเบิกจ่ายได้

คำถามจึงย้อนกลับมาที่แล้วเงินที่กระทรวงต่างๆ นำมาบริจาคในรายการมาจากไหน?

แต่ละส่วนราชการสามารถจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการเงินรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดินได้ เช่น รายได้จากการทำกิจกรรม รายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เงินบริจาค เงินที่มีผู้บริจาคให้ เงินอุดหนุน เป็นต้น ซึ่งอำนาจในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะต้องอิงกับกฎหมายเฉพาะของแต่ละส่วนราชการ โดยทั่วไปที่เห็นกันคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของส่วนราชการบางแห่ง กองทุนสวัสดิการบุคลากรของส่วนราชการ เป็นต้น ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนที่มีหัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ เป็นประธานคณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินในกองทุน ว่าจะเอาเงินจากกองทุนไปจ่ายค่าอะไรได้บ้าง อาทิ เพื่อบริจาคเป็นการกุศลหรือรางวัลในนามของส่วนราชการ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสวัสดิการของบุคลากรของหน่วยงาน เป็นต้น

ตรงนี้นี่เองที่อาจเป็นแหล่งที่มาของเงินบริจาคที่หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ นำมาบริจาคในรายการ "ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม" ตามที่เราเห็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียิ้มแย้มขณะรับป้ายเงินบริจาคหลักล้านบาทตามสื่อต่างๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง คำถามสำคัญที่เราอาจจะต้องถกเถียงกันคือ หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนควรมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณส่วนนี้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม อีกความเป็นไปได้คือ ส่วนราชการมีการเรี่ยไรเงินจากบุคลากรภายในของตนเอง แล้วรวมกันบริจาคในนามของหน่วยงานก็ยังคงเป็นไปได้ เพียงแต่เราจะรู้ว่าเงินมาจากไหนก็ต่อเมื่อส่วนราชการที่นำเงินไปบริจาคที่เราเห็นออกมาชี้แจงกับสาธารณชนให้ชัดเจน

ส่วนที่สอง คือ รัฐบาลไม่มีเงินหรือ? ทำไมต้องมาขอบริจาค คำถามนี้เกิดขึ้นในใจของผู้เสียภาษีทั่วไป เพราะเกิดการเปรียบเทียบกับการใช้เงินของรัฐที่นำไปใช้จ่ายกับการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงหลายหมื่นล้านบาท ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องออกมาชี้แจง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลมีเงินเหลือพอ แต่เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจของประชาชนที่อยากจะบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ไม่รู้จะทำผ่านช่องทางใด ก็สามารถบริจาคมาทางรัฐบาลได้ ซึ่งก็ต้องชี้แจงต่อด้วยว่าแนวทางในการนำเงินบริจาคดังกล่าวไปใช้มีอะไรบ้าง หากมีเงินเหลือจะทำอย่างไร หรือ หากรัฐบาลไม่มีเงินเหลือแล้วจริง ๆ ก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่า เงิน 99,000,000,000 บาทที่เอาไว้ช่วยเหลือภัยพิบัติฉุกเฉินหายไปกับเรื่องอะไรบ้าง

ส่วนที่สาม คือ ความคล่องตัวของหน่วยงานภาครัฐในการใช้เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่หลายคนมีความคิดเห็นว่า บริจาคให้รัฐบาลก็ไม่สามารถนำไปใช้ช่วยผู้ประสบภัยในทันกาลอยู่ดี สู้บริจาคเข้าบัญชี บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญู น่าจะมีประโยชน์กับผู้ประสบภัยมากกว่า นับเป็นสิ่งที่สะท้อนความ (ไม่) ไว้วางใจรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง

ที่มาของความคิดเห็นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการแถลงการณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 เกี่ยวกับเงินบริจาคในบัญชีธนาคารกรุงไทยเลขที่ 985-5-03191-1 ของจังหวัดที่มียอดบริจาค 649,528 บาท จะต้องนำเงินทั้งหมดเข้าสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วทำเรื่องเบิกจ่ายตามความจำเป็นอีกครั้ง[2] ซึ่งมีการแชร์กันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์พร้อมแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่แสดงถึงความล่าช้าของระบบราชการ ที่ทำงานตามระเบียบกฎหมายจนไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น แม้ภายหลัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลดังกล่าวแล้วก็ตาม[3]

เมื่อดูกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำท่วมอุบลราชธานีครั้งนี้ พบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการจัดสรรเงินทดรองจ่ายกรณีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระหว่างที่ยังไม่ได้รับเงินงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในวงเงิน 20,000,000 บาท นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภท “งบกลาง” ที่มีเป้าหมายเพื่อ “สำรองไว้ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย และไม่สามารถปรับแผนการดำเนินงานจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ และไม่สามารถใช้จากแหล่งเงินอื่นใดได้” จำนวน 99,000,000,000 บาท ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ว่า ณ ปัจจุบันงบกลางในแผนดังกล่าวคงเหลือเท่าไร เนื่องจากระหว่างปีงบประมาณที่ผ่านมารัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินดังกล่าวค่อนข้างมาก

การใช้เงินดังกล่าวย่อมมีหลักเกณฑ์การใช้จ่าย ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดอัตราและเงื่อนไขการช่วยเหลือไว้ค่อนข้างละเอียด คำถามคือ แล้วมันคล่องตัวหรือไม่? ในสถานการณ์ฉุกเฉินผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งการ กำกับดูแล สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ รวมถึงอาสาสมัครภายในเขตจังหวัดได้ ซึ่งในรายละเอียดเป็นดุลยพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ “ผู้อำนวยการ” ที่จะสั่งการต่างๆ ซึ่งตรงนี้นี่เองที่เป็นจุดที่จะแสดงให้เห็น “กึ๋น” ของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละคนว่าจะสามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหาต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถูกใจสาธารณชนหรือไม่

กรณีน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีนี้จึงน่าจะเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่ทำให้เราเรียนรู้บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนการทำงานของระบบราชการไทยอย่างแท้จริง  

 

อ้างอิง

[1] กรุงเทพธุรกิจ ยอดบริจาค 263 ล้าน รบ.ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยผู้ประสบภัย https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/847595

[2] สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี เผย ปริมาณน้ำทรงตัว?http://nwnt.prd.go.th/CenterWeb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TCATG190913222809024

[3] รองผู้ว่าฯอุบลแจง กรณีการใช้เงินบริจาค ต้องเข้าสำนักนายกฯ https://news.mthai.com/general-news/759765.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net