ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ 'ประยุทธ์' หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 'พล.อ.ประยุทธ์' หัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ  และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

18 ก.ย.2562 วันนี้ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีสำคัญ เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 15/2562)

ผลการพิจารณา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้ทําความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติในประเด็นว่า ความเป็น รัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุเป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15)หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคําวินิจฉัยให้ความหมาย ของคําว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไว้ดังปรากฏตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคําว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ในมาตรา 109(11) เป็นการตีความ บทบัญญัติจํากัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการจํากัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคําที่มีลักษณะนี้ควรถือว่าคําทั่วไป ที่ต่อมาจากคําเฉพาะหลายคําที่มาก่อนนั้นย่อมมีความหมายในแนวเดียวกันกับคําเฉพาะที่นํามาข้างหน้า การตีความคําว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเป็นคําทั่วไป จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือในแนวเดียวกันกับคําว่า “พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการ ส่วนท้องถิ่น” โดยคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ได้สรุปลักษณะของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ ดังนี้ 1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2. มีอํานาจหน้าที่ดําเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตาม กฎหมายและปฏิบัติงานประจํา 3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกํากับดูแลของรัฐ และ 4. มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย

เห็นว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(15) เป็นถ้อยคําที่บัญญัติเพื่อให้ ครอบคลุมถึงบุคคลผู้มีคุณสมบัติและสถานะเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงาน ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น ประกอบกับลักษณะต้องห้ามเป็นกฎหมายที่จํากัด สิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบตามแนวคําวินิจฉัยดังกล่าว สําหรับตําแหน่ง “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอํานาจและเป็นตําแหน่งที่ใช้อํานาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับ บัญชาหรือกํากับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด ทั้งเป็นตําแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มี กฎหมายกําหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่การดํารงตําแหน่ง โดยมีอํานาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มีอํานาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของ ประเทศและประชาชน ตําแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงไม่มีสถานะตําแหน่งหน้าที่หรือ ลักษณะงานทํานองเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และ มิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(15)  ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(15) ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98(15)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท