ประเทศไทยควรมีกฎหมายคุ้มครองป้องกันเด็กจากการรังแกทางออนไลน์หรือไม่?  

เด็กเป็นอีกกลุ่มบุคคลที่มีการฆ่าตัวตาย มีการอาการซึมเศร้า ขาดที่พึ่ง ไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาหรือวางตัวในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติการณ์หรืออาการเหล่านั้นมักมาจากเรื่องที่สัมพันธ์กับเด็ก เช่น การเรียน ความรัก ครอบครัว รวมถึงการกลั่นแกล้งรังแกทางสื่อออนไลน์ (Cyberbullying)

แม้ประเทศไทยจะไม่มีหลักฐานหรือประจักษ์พยานว่าสาเหตุของพฤติการณ์เหล่านั้นมาจากการกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ แต่หลายครั้งก็มีการคาดการณ์ว่าการกลั่นแกล้งทางออนไลน์เป็นสาเหตุของพฤติการณ์เหล่านั้น เพราะการกลั่นแกล้งทางออนไลน์สามารถทำได้ง่าย สร้างการรับรู้ไปถึงคนในวงกว้างได้ และสามารถรังแกได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ผู้ถูกรังแกจะเกิดความเจ็บปวดจากการกลั่นแกล้งลักษณะนี้ได้มากกว่าเช่นกัน

ฟ้าใส สามารถ

จากสาเหตุข้างต้น ฟ้าใส สามารถ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และคณะ จึงได้ทำการศึกษาเรื่อง “หลักการทางกฎหมายของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์” โดยได้ทำการศึกษาทั้งข้อกฎหมายของไทยและศึกษากรณีศึกษาจากข้อกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง (Federal law) และกฎหมายมลรัฐ (State law) เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาในการพัฒนาข้อกฎหมายไทยต่อไป

สำหรับกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ ฟ้าใส ได้อธิบายว่ามีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสุด 3 ฉบับ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองทางกายภาพ มิให้ถูกทารุณกรรม 2) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ที่มีบทลงโทษการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์บางประการ เช่น ข้อมูลปลอมหรือเท็จ ข้อมูลลามก 3) ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มาตรา 293 และความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง มาตรา 326- 333 โดยหากเป็นความเสียหายต่อเอกชนหรือบุคคล ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดมิฉะนั้นจะขาดอายุความ และสามารถยอมความได้ นอกจาก 3 ข้อกฎหมายของไทยที่กล่าวถึงในข้างต้น ยังมีข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีส่วนร่วม คือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child 1989) ในปี 2532 ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการใช้สื่อออนไลน์ในการยั่วยุให้เด็กฆ่าตัวตาย   

ถึงกระนั้นจะเห็นได้ว่าจากข้อกฎหมายที่มีการใช้อยู่ในไทย ไม่มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์โดยตรง และยังมีการกลั่นแกล้งบางประเภทที่ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย เช่น การกลั่นแกล้งโดยไม่ได้กระทำด้วยข้อความเท็จหรือลามก เช่น การล้อเลียน การติดตามรังควาน การกล่าวถึงโดยเลี่ยงการระบุตัวบุคคลแต่สามารถรับรู้ได้ในสังคมนั้น ๆ หรือชวนให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นตนเอง เป็นต้น

ในขณะที่บางประเทศจะมีข้อกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์โดยตรง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระราชบัญญัติการป้องกันการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Megan Meier Cyberbullying Prevention Act) เพื่อป้องกันและคุ้มครองเด็กผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตมิให้ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในลักษณะต่าง ๆ และเพื่อเป็นการอุดช่องโหว่ของข้อกฎหมายในเรื่องการล่วงละเมิด แต่ละมลรัฐเคยมีจึงมีกฎหมายระดับมลรัฐเพิ่มเติม (จากข้อมูล ณ ปี 2561 มีแล้วทั้งสิ้น 22 มลรัฐ) สำหรับประเทศแคนาดา มีพระราชบัญญัติปกป้องชาวแคนาดาจากอาชญากรรมออนไลน์ (Protecting Canadians from Online Crime Act) ที่มีทั้งบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และแนวทางในการสืบพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะในชื่อ Cyber-SCAN เพื่อทำหน้าที่สืบสวนและเข้าช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบข้อกฎหมาย ฟ้าใส ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการมีข้อกฎหมายคุ้มครองประชาชนโดยเฉพาะเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการบอบช้ำได้มากกว่าจากวุฒิภาวะและประสบการณ์ชีวิตที่ยังมีไม่มาก โดยได้แสดงความเห็นว่าอาจต้องมีการกำหนดข้อกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองประชาชน ทั้งนี้จะต้องมีการศึกษากรณีศึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายเพิ่มเติมและศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิมนุษยชน เพื่อให้ข้อกฎหมายมีความเหมาะสมและรัดกุม และแม้จะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองในเรื่องนี้เราสามารถช่วยลดความเสี่ยงให้แก่คนใกล้ชิดได้โดยการดูแลสภาวะจิตใจกันและกันอย่างสม่ำเสมอ

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีเหตุการณ์สูญเสียที่สามารถระบุสาเหตุว่ามาจากการกลั่นแกล้งรังแกทางสื่อออนไลน์ (Cyberbullying) ได้ แต่เราอาจไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียที่นำพาความเศร้าโศกและเกิดเป็นบทเรียนแก่คนทั่วโลกอย่างเหตุการณ์การเสียชีวิตของ Magan Meier ชาวอเมริกา และการปลีกตัวออกจากสังคมของ David Knight ชาวแคนาดา เกิดขึ้นในไทย   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท