Skip to main content
sharethis

4 นักกิจกรรม โบว์ ณัฏฐา จ่านิว เพนกวิ้น และจีน พุธิตา ชัยอนันต์ เล่าประสบการณ์ในวันรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และผลกระทบที่ยังมีมาจนถึงวันนี้ที่รัฐประหาร 2557 ซ้ำรอยแผลเดิมจนประชาธิปไตย ภาคการเมือง ภาคประชาชนถูกฟาดฟันเป็นแผลเหวอะหวะโดยกองทัพ

วันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว คือวันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐประหารครั้งนั้นสร้างผลสะเทือนต่อประเทศหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการหวนกลับมามีบทบาทของกองทัพและกระแสอนุรักษ์นิยม การใช้อำนาจของประชาชนผ่านกลไกรัฐสภา และเพดานการแสดงออกของประชาชนที่ลดต่ำลงจนถึงขั้นนองเลือด และแน่นอนว่าผลสะสมของรัฐประหารนำมาสู่เนื้อนาดินที่เหมาะสมแก่การรัฐประหาร 2557 อีกครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ของตัวละครที่ออกมาสร้างทางตันทางการเมืองทั้งหลาย

ความทรงจำของการรัฐประหาร 2549 อาจเลือนรางไปในหมู่ผู้ใหญ่ หรืออาจไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่กว่านั้น ประชาไทชวน 4 นักกิจกรรมคุยสั้นๆ ถึงมุมมองต่อรัฐประหาร 2549 ในช่วงนั้น และผลเรื้อรังที่ยังคงเห็นในทุกวันนี้

ณัฏฐา มหัทธนา

ณัฏฐา มหัทธนา หรือ ‘โบว์’ นักกิจกรรมด้านการเมือง เล่าความทรงจำในตอนที่เธอยังทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศในองค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่งว่า ตอนนั้นยังไม่ได้ติดตามการเมืองมาก มีเพียงความรู้สึกว่าสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้มีนายกฯ จากมาตรา 7 นั้นไม่ถูกต้อง แต่เมื่อมีรัฐประหารก็ตกใจ เพราะไม่คาดคิดว่าใน พ.ศ. นั้นจะมีรัฐประหารอีก

“ตกใจแล้วก็ยังไม่ได้ออกมาทำอะไร องค์กรที่ทำตอนนั้นเป็นองค์กรอังกฤษ และหอการค้าอังกฤษที่เราเป็นสมาชิกเขาก็จัดงานเหมือนเสวนา ที่เชิญคุณจักรภพ เพ็ญแขไป เราก็ไปฟังเขาและจำได้ว่าจักรภพพูดว่านี่จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนี่เป็นการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงที่มาก คงจะไม่จบดี”

“หลังงาน ก่อนจะกลับบ้านเราก็เดินไปสวัสดีและบอกคุณจักรภพว่า ถ้ามีอะไรให้เราช่วยได้ก็อยากจะช่วย ตอนนั้นเราเป็นคนออฟฟิศธรรมดา และรู้สึกรุนแรงว่ามันเกิดได้อย่างไร ก็บอกเขาแล้วก็กลับบ้าน”

ณัฏฐายังบอกว่า การรัฐประหาร 2549 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลาน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาคประชาชนและภาคการเมืองอ่อนแอ จนรัฐประหาร 2557 เป็นการซ้ำแผลให้ภาคการเมืองและภาคประชาชนมีสภาพอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

“คิดว่ามันเป็นจุดที่ทำให้ประเทศไทย ถ้าเป็นคนก็เหมือนเป็นคนที่ล้มลงแล้วยังลุกไม่ได้ จากวันนั้นถึงวันนี้ เหมือนจะลุก แล้วก็ล้ม เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในเมืองไทย เราจึงได้เห็นว่ามีการรัฐประหารซ้ำ ตอนปี 2549 เราก็คิดว่าเกินความคาดหมายแล้วที่ พ.ศ. นั้นประเทศเรามีรัฐประหารเกิดขึ้นได้ ก็กลายเป็นว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้าย กลับมามีรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557”

“เหมือน 2557 มาซ้ำกับสิ่งที่ 2549 ทำไว้ อาจจะมุ่งหวังที่จะทำลายภาคการเมืองและภาคประชาชนให้มากกว่านั้น แต่ 2557 มาทำให้สิ่งที่ตั้งธงไว้สำเร็จขึ้นมา ทำให้ภาคการเมืองอ่อนแอได้จริง ทำให้ภาคประชาชนอ่อนแอได้จริง” ณัฏฐากล่าว

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมืองเล่าว่า การรัฐประหาร 2549 สร้างคำถามให้กับเขาในเวลานั้น ที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตย และมันเป็นจุดเริ่มต้นของการถดถอยของกระบวนการประชาธิปไตยจนถึงวันนี้

“ตอนนั้นเป็นอะไรที่แปลก และเราก็คิดว่าสิ่งที่รับรู้มา วิถีทางการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่แบบนี้ที่เกิดขึ้นแน่ๆ ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ ถูกปลูกฝังในสังคมไทยจากการเติบโตมาในช่วงทศวรรษ 2540 ที่เห็นการเปลี่ยนผ่านแบบประชาธิปไตยเสรีมากขึ้น มีความต่อเนื่องทางการเมืองในระดับหนึ่ง เราก็ไม่คิดว่าจะเกิดวิถีทางการเมืองแบบนี้ขึ้นอีกแล้วในสังคมไทย”

“ผมว่ามันเป็นการเริ่มให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และท้ายที่สุดมันเป็นการทำลายระบบทั้งนิติรัฐ นิติธรรม ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่กำลังเติบโต เหมือนเป็นการตัดตอนกระบวนการพัฒนาการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย”

“มันชี้ให้เห็นว่าเป็นจุดที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เรื้อรัง ช่วงปี 2548-2549 ก็จะเห็นการเริ่มออกมาขับไล่คุณทักษิณ แต่ผมคิดว่าถ้ามันจบด้วยการเลือกตั้งก็จะดีกว่าการเกิดรัฐประหารขึ้น มันสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นนำก็ไปไม่ได้กับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และไม่ให้ประชาชนได้เติบโต และได้เรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” สิรวิชญ์กล่าว

พุธิตา ชัยอนันต์ (ที่มา:Facebook/Phuthita Chaianun)

พุธิตา ชัยอนันต์ หรือ จีน นักกิจกรรมรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย ย้อนความหลังให้ฟังว่า ในวันรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ตอนนั้นเธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ตอนที่คณะรัฐประหารประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลทิกษิณ เวลานั้นกำลังนั่งดูทีวีอยู่กับครอบครัว จำได้ว่ารู้สึกตื่นเต้น แต่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เห็นเพียงโทรทัศน์และสถานีวิทยุถูกปิดไม่สามารถออกอากาศได้ตามปกติ จุดนั้นเป็นเหตุที่ทำให้สงสัยและเริ่มตั้งคำถามกับระบอบการเมืองไทยและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นเธอพยายามค้นหาข้อมูล ติดตามการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ สุดท้ายจีนได้คำตอบที่ชัดที่สุดสำหรับตัวเองจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553

สำหรับจีน เธอมองว่า การรัฐประหารในปี 2549 ส่งผลต่อประเทศในหลายมิติ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คณะรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นตัวแบบ เพื่อปูทางให้กองทัพและอำนาจนอกระบบเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง แม้ว่าเราจะมีสภา มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถพูดได้ว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ยังมีทหารเต็มไปหมดในรัฐสภา มีคดียาเสพติดแต่ช่วยเหลือกันจนสามารถเข้ามามีตำแหน่งในการเมืองได้ มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่โจ่งแจ้ง เช่นกรณีจ่านิว เอกชัย (หงส์กังวาน) ฟอร์ด (อนุรักษ์ เจนตวนิชย์) ถูกทำร้ายร่างกาย

สิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้น จีนมองว่า เป็นการสร้างให้ประเทศปกครองในระบอบที่ไม่ต่างจากระบอบมาเฟีย หลักการแบ่งแยกอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจกัน พังทลายไปทั้งหมด

พริษฐ์ ชิวารักษ์ (ที่มาภาพ: facebook/กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG)

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิ้น’ นักกิจกรรม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าว่า เมื่อรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เกิดขึ้นในช่วงที่เขาอยู่ชั้น ป.2

“ตอนนั้นจำได้ว่าอยู่ลำปาง อยู่กับย่าที่เป็นครู ตื่นเช้ามาก็จะไปอาบน้ำแต่งตัว ย่าก็บอกไม่ต้องไปเพราะที่กรุงเทพฯ มียึดอำนาจ ข่าวที่ชอบเปิดตอนนั้นเป็นช่อง 11 ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องการเมือง”

พริษฐ์ที่ต่อมาเติบโตมาพบการชุมนุมของพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2550-2551 และการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. ที่ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสลายการชุมนุม แต่เขามองว่ารัฐประหาร 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานที่มีผลถึงปัจจุบัน

“ผมว่ามัน (รัฐประหาร 2549) เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ เพราะวังวนทางการเมืองในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มันเป็นเหตุการณ์ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลติดตามจากรัฐประหาร 2549 ทั้งสิ้น ถ้าวันนั้นไม่มีรัฐประหาร 2549 ผมอาจจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ วันนี้ผมอาจไม่ต้องเรียกร้องประชาธิปไตย”

“มันน่าอนาถ น่าสลดใจที่ปี 2562 เรายังต้องมานั่งทบทวนหลักการประชาธิปไตย”

พริษฐ์ฝากข้อความถึงคนในรุ่นเดียวกันที่ตอนอยู่อนุบาล-ประถมต้นมีรัฐประหาร เจอการชุมนุมและปราบปรามในช่วงประถมปลาย และมาเจอรัฐประหารอีกครั้งในช่วงมัธยมว่า แม้จะโตมาท่ามกลางความวุ่นวาย อย่าหมดหวัง เพราะว่าทุกความวุ่นวาย หลังจากจบแล้วจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง

แล้วผู้อ่านมีประสบการณ์กับการรัฐประหาร 2549 และรู้สึกว่ามันมีผลกับปัจจุบันอย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net