แถลงการณ์ภาค ปชช. เรียกร้องสันติบาลหยุดเก็บข้อมูลนักศึกษามุสลิม

23 ประชาสังคม บุคคลทั่วไปลงนามในแถลงการณ์ร่วม คัดค้านตำรวจสันติบาลส่งหนังสือขอข้อมูลนักศึกษามุสลิมจากทางมหาวิทยาลัย ระบุ เป็นการเลือกสอดแนมเฉพาะบางศาสนา เสี่ยงต่อการถูกตีตรา ขัดรัฐธรรมนูญ-อนุสัญญาต้านการเลือกปฏิบัติที่ไทยลงนาม ขอให้ยุติการกระทำเช่นนั้นเสีย

ที่มาภาพ: โครงการ Shoot it Rights

19 ก.ย. องค์กรภาคประชาสังคม และบุคคลทั่วไปได้ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีมีตำรวจสันติบาล ออกหนังสือขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี อยุธยาและสงขลา ให้ส่งรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยให้ระบุจำนวนนักศึกษามุสลิม โดยจำแนกตามนิกายและภูมิลำเนาของนักศึกษาว่าอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมของนักศึกษามุสลิมอย่างละเอียด

แถลงการณ์ได้คัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการเลือกสอดแนมเฉพาะคนบางศาสนา อาจทำให้เกิดการตีตรา ขัดกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติเชื้อชาติในทุกรูปแบบที่ไทยได้ลงนามไว้ โดยขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลหยุดการกระทำดังกล่าว ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง

รองโฆษก ตร. แจง สันติบาลขอข้อมูลมุสลิมในมหา'ลัย เป็นงานข้อมูลปกติ

แถลงการณ์มีใจความดังนี้

แถลงการณ์ร่วม ขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ยุติการเลือกปฏิบัติที่ให้มหาวิทยาลัยส่งประวัตินักศึกษามุสลิม

เผยแพร่วันที่  19 กันยายน 2562

แถลงการณ์ร่วม

ขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

ยุติการเลือกปฏิบัติที่ให้มหาวิทยาลัยส่งประวัตินักศึกษามุสลิม

สืบเนื่องจากกรณีกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ออกหนังสือขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี อยุธยาและสงขลา ให้ส่งรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยให้ระบุจำนวนนักศึกษามุสลิม โดยจำแนกตามนิกายและภูมิลำเนาของนักศึกษาว่าอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมของนักศึกษามุสลิมอย่างละเอียด ทางกลุ่มและองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้มีความคิดเห็นคัดค้านและขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลและมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาต่างๆยุติการปฏิบัติดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

การกระทำดังกล่าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจสืบค้นข่าวกรองเพื่อการติดตาม สอดแนมคนเฉพาะกลุ่มโดยอิงตามศาสนา การกระทำในลักษณะนี้เรียกว่า “religious profiling” และอิงอยู่บนฐานคิดว่าชาวมุสลิมเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องสงสัย แปลกแยกจากคนกลุ่มอื่นในสังคม ปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลจึงอาจนำไปสู่การตีตรา (stigmatization) นักศึกษามุสลิมให้กลายเป็น “อื่น” และอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาอันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประชาชนได้

ปฏิบัติการในลักษณะนี้ขัดต่อมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 ซึ่งห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination – ICERD) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้ ปฏิบัติการนี้จึงไม่มีอำนาจอันชอบธรรมรองรับและขัดต่อกฏหมายไทยและระหว่างประเทศ

การข่าวกรองที่ใช้วิธีเลือกสืบค้นข้อมูลบุคคลโดยอิงจากศาสนาถือเป็นการข่าวกรองที่ไร้ประสิทธิภาพ เป็นปฏิบัติการแหว่งซึ่งสิ้นเปลืองทรัพยากรของรัฐและภาษีของประชาชน หน่วยงานความมั่นคงควรหามาตรการที่มีประสิทธิภาพและเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนอย่างแท้จริง

การสอดส่องที่เข้มข้นรุนแรงเป็นการทำลายศักยภาพการเรียนรู้และการเติบโตของเยาวชนมุสลิม ทำให้นิสิตนักศึกษาชาวมุสลิมรู้สึกหวาดกลัวและไม่กล้าแสดงออกความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ในสถาบันศึกษา จนอาจไม่สามารถพัฒนาความรู้และปัญญาได้อย่างเต็มที่ได้เท่ากับนิสิตนักศึกษาที่นับถือศาสนาอื่น

ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางกลุ่มและองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ขอคัดค้านการทำบันทึกประวัตินักศึกษามุสลิมและขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลยุติการปฏิบัติดังกล่าวทันที พร้อมทั้งทำลายบันทึกประวัติดังกล่าว และขอให้รัฐบาลดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจังด้วย

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ noinoipornpen@gmail.com หรือชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ chanatip.tati@gmail.com หรือ 0622868688

รายชื่อองค์กรและบุคคลร่วมแถลงการณ์

1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

2. สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

3. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

4. มูลนิธิมานุษยะ

5. ศูนย์ข้อมูลชุมชน

6. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ Jasad

7. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

8. อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

9. องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)

10. ปาตานี ฟอรั่ม (Patani Forum)

11. อาดีลัน หะยีมายอ

12. ซอลาหุดดีน กริยา

13. ซาฮารี เจ๊ะหลง

14. สถานีวิทยุ มีเดียสลาตัน

15. ปาตานี โซไซตี้ กลุ่มนักเขียนอิสระ

16 นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณะสุข

17. ผศ.ดร.สุรัยยา สไลมาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

18. กลุ่มทำทาง

19. สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)

20. กลุ่มด้วยใจ

21. เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส)

22. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

23. ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท